fbpx

Digital Footprint หลักฐานใหม่ที่บอกว่า “อำนาจด้านข่าวสารไม่ได้อยู่ในมือชนชั้นนำอีกต่อไป” 

มหากาพย์ปลุกผี ITV สร้างกระแสครึกโครมให้กับข่าวการเมือง ด้วยการขุดคุ้ยข้อมูลหลักฐานมาโจมตีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย  นำไปสู่การตั้งคำถามและสืบหาข้อมูลโดยสื่อมวลชนและประชาชนที่ต้องการค้นหาความจริง ซึ่งหากมองลึกลงไป นี่คือการใช้ข้อมูล ข่าวสาร ในการต่อสู้ทางการเมือง และในอดีตก็มีกรณีคล้ายกันนี้ในหลายๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย  

แต่ในยุคที่เทคโนโลยีครองโลก “Digital Footprint” หรือร่องรอยทางดิจิทัล กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารโดยผู้มีอำนาจทำได้ยากมากขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้มีอำนาจจะไม่สามารถควบคุมข่าวสาร กล่อมเกลา หรือล้างสมองประชาชนได้อีกต่อไป 

การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลต่อการเมืองนั้นมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง The Modernist จะพาไปส่องกัน ณ บัดนี้ 

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 

แม้ว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์จะยังไม่มีการประดิษฐ์ตัวอักษร แต่การสื่อสารก็สามารถทำได้ผ่านภาพ  หลักฐานที่ปรากฏคือการวาดภาพเขียนสีตามฝาผนัง สะท้อนภาพความเชื่อของสังคมของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าผู้ที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ย่อมเป็นคนที่อยู่บนสุดของสังคม สามารถกำหนดมติการสะท้อนแนวคิดออกมาผ่านภาพเขียน ให้สังคมในยุคนั้นรับรู้ และคนรุ่นต่อไปที่มาเห็นรับรู้สิ่งนี้ ซึ่งเราไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเรื่องที่เล่าผ่านภาพเป็นจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นสังคมผ่านภาพที่กำหนดโดยชนชั้นนำเท่านั้น 

ยุคประวัติศาสตร์  

เป็นยุคที่มนุษย์ใช้ภาษาสะท้อนความคิด ปลูกฝังแนวคิดทางการเมืองกับผู้คนที่ร่วมภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน ในประเทศไทยยังปรากฏหลักฐานการใช้ความคิดของชนชั้นนำต่อผู้ใต้ปกครอง สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “พงศาวดาร” ที่เขียนโดยชนชั้นนำ พวกเขาส่งต่อความคิดและความทรงจำแต่ฝ่ายเดียวมาโดยตลอด และมักให้เขียนหรือบันทึกในลักษณะเข้าข้างฝ่ายตนเอง เช่น พงศาวดารสมัยอยุธยาที่ตกทอดมา มักอ้างเรื่องบุญญาธิการของกษัตริย์ ความชอบธรรมของผู้ชนะ การปราบดาภิเษกเหนือผู้พ่ายแพ้ หรือการชำระพงศาวดาร ที่ราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งมองว่าราชวงศ์ก่อนหน้านี้ทำผิดพลาด โดยเขียนโจมตี ด้อยค่าความชอบธรรมต่อราชวงศ์ดังกล่าว เช่น ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยา  

ความทรงจำของชนชั้นนำใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีอคติต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง จึงใช้พงศาวดารโจมตีราชวงศ์ดังกล่าว ว่าเป็นยุคเสื่อมสลาย และสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ลักษณะดังกล่าวนี้ถูกปรับเปลี่ยน ถ่ายทอดมาถึงยุคชาตินิยม เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ โดยการสร้างศัตรูร่วมกันอย่างพม่า ทำให้คนไทยเกลียดชังชาวพม่า ขณะที่หากเราศึกษาจริงๆ ความคิดเรื่องชาตินิยมสมัยอยุธยา หรือความเป็นรัฐชาติสมัยอยุธยายังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ 

รัตนโกสินทร์ จุดเด่นของการใช้ข้อมูลกับการเมือง 

จุดเด่นที่เห็นได้ชัดที่สุดเรื่องการป้อนข้อมูลข่าวสารของชนชั้นนำที่หวังผลทางการเมือง คือพงศาวดารที่บันทึกในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงความจำเป็นในการโค่นล้มอำนาจพระเจ้าตากสิน ซึ่งถูกบันทึกโดยผู้ชนะและขึ้นปราบดาภิเษก คือเจ้าพระยาจักรี โดยอ้างว่ามีความจำเป็นต้องเข้ามาปราบยุคเข็ญ เหตุเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) สติวิปลาส ทำให้พระสงฆ์และราษฎรเดือดร้อน จำเป็นต้องขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทน เป็นการบันทึกที่สร้างความชอบธรรมให้กับผู้ชนะ และสร้างจิตสำนึกร่วมให้คนรุ่นต่อมาคล้อยตาม 

เช่นเดียวกับสมัยต้นรัชกาลที่ 2 การอ้างเหตุเพื่อกำจัดศัตรูที่แปลกประหลาด และเกิดขึ้นจริงๆ คือเหตุการณ์กบฏเจ้าฟ้าเหม็น (พระโอรสของพระเจ้าตากสิน) มีความเด่นชัดเรื่องการใช้ข้อมูล เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม คือมีอีกา (อีกาจริงๆ ตามที่บันทึก) คาบบัตรสนเท่ห์ มาตกในพระราชวัง บัตรสนเท่ห์ดังกล่าวระบุว่า มีการร่วมกันวางแผนโค่นล้มรัชกาลที่ 2 โดยมีพระนามของเจ้าฟ้าเหม็นและพรรคพวก รวมถึงรายชื่อศัตรูทางการเมืองกลุ่มอื่นๆ พ่วงมาด้วย เพื่ออ้างความชอบธรรมกำจัดศัตรูฝ่ายตรงข้ามให้หมด โดยไม่รู้ว่าข่าวสารนั้นจริงเท็จแค่ไหน 

อีกรณีที่เห็นได้ชัดคือการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยช่วงยุคสงครามเย็น สร้างความเกลียดชังให้กับฝ่ายซ้าย สร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายทุนนิยมและฝ่ายเจ้า ผ่านสื่ออย่างวิทยุยานเกราะ หรือหนังสือพิมพ์ดาวสยาม นำไปสู่การฆ่าเพื่อนร่วมชาติ อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

3 ตัวอย่างนี้ คือตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องการใช้ข้อมูลข่าวสารมาเป็นอาวุธ และสามารถหวังผลได้ในการกำจัดศัตรู รวมถึงสร้างความรับรู้ร่วมทางสังคมส่งต่อมาเรื่อยๆ โดยชนชั้นนำ และผลิตซ้ำวิธีการเหล่านี้ จนกระทั่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนเกมทั้งหมด  

อินเทอร์เน็ตก้าวแรกแห่งการท้าทายอำนาจชนชั้นนำ 

อินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2512 โดยองค์กรทางทหารของสหรัฐอเมริกา และเข้ามาในประเทศไทยใน พ.ศ.2538 และได้สร้างคุณูปการมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่ไร้พรมแดน การหาความรู้ได้ทั่วโลก เพียงแค่นั่งกับหน้าจอ การซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การส่งต่อข้อมูลจากที่ไกลๆ ถึงผู้รับสารอย่างสะดวกสบาย ข้อมูลเหล่านี้ หากไม่ถูกลบออกไป ก็จะเป็นหลักฐานที่เรียกว่า “Digital Footprint”  ที่บันทึกสิ่งที่เราทำไว้บนโลกออนไลน์ เป็นข้อมูลสาธารณะ และย้อนกลับไปตรวจสอบได้ทุกเมื่อ  

อินเทอร์เน็ตและ Digital Footprint ทำให้โลกของข้อมูลข่าวสารที่แต่เดิมผูกติดไว้กับชนชั้นนำ เข้าถึงได้อย่างกว้างขวางโดยประชาชน รวมทั้งทำให้สื่อมวลชนและประชาชนสามารถนำหลักฐานข้อมูลเหล่านี้มาตอบโต้กับผู้มีอำนาจได้ อย่างกรณีการปลุกผีความเป็นสื่อของ ITV ที่สื่อมวลชนและประชาชนช่วยกันสืบค้นและขุดคุ้ยข้อมูลมากมายมาตอบโต้ “นักร้อง” และทำให้ฝ่ายที่ต้องการโจมตีนายพิธาต้องล่าถอยไปในที่สุด 

นี่คือเหตุการณ์ที่ประชาชนสู้กลับ ตอบโต้และท้าทายอำนาจของชนชั้นนำ โดยใช้ข่าวสารที่จากเดิมชนชั้นนำเป็นผู้ครอบครองแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งโลกยุคใหม่นี้ ผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมข้อมูลได้อีกต่อไป และหากพวกเขาตามเทคโนโลยีไม่ทัน ก็อาจจะหมายความว่า เครื่องมือที่พวกเขาเคยใช้เพื่ออ้างความชอบธรรม สร้างสำนึกร่วมของสังคม กำลังหลุดออกจากมือของพวกเขาไป  

และนี่คือโลกแห่งใหม่ที่ Digital Footprint คือ Digital Footprint หลักฐานใหม่ที่บอกว่า “อำนาจด้านข่าวสารไม่ได้อยู่ในมือชนชั้นนำอีกต่อไป” ถึงเวลาต้องหาวิธีอื่นแล้วล่ะ ประชาชนกำลังทำให้ท่านเห็น ยุคสมัยใหม่ได้เริ่มต้นแล้ว  

แหล่งข้อมูล : thaiware / kaspersky / primal / prachatai / silpamag / matichon / thestandard

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า