fbpx

ย้อนรอย “ประชาธิปัตย์” จากพรรคอนุรักษ์นิยม สู่วันขื่นขม สส. ต่ำร้อย

“ประชาธิปัตย์” ยุคใหม่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ กลองศึกเลือกหัวหน้าพรรคกำลังรัวลั่น หลังจากที่ประชุมหลายครั้ง หลายหนล่ม เพราะว่าการประสานผลประโยชน์คลื่นใต้น้ำในพรรคยังไม่ลงตัว ในที่สุดก็จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในวันที่ 9 ธันวาคม ที่กำลังจะถึงนี้

เพราะประชาธิปัตย์ยุคนี้มีหลายขั้ว หลายขุม แต่ไม่โดนเด่นสักขั้ว นอกจากขั้วภาคใต้ที่นำโดย เดชอิศม์ ขาวทอง ผู้มี สส.ในมือพร้อมหนุน นราพัฒน์ แก้วทอง หรือเฉลิมชัย ศรีอ่อน ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ขณะที่ขั้วนายหัวชวน หลีกภัย และอดีตหัวหน้าพรรคผู้ดี ทำอะไรไม่ได้นอกจากประวิงเวลาในการเลือกหัวหน้าพรรค

แต่กระนั้นกลับมีม้ามืดหน้าใหม่วัยละอ่อนโผล่มา ลุกขึ้นท้าชิงหัวหน้าพรรค คนคนนั้นคือ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ที่ไม่รู้ว่าจะมีขั้วไหนในประชาธิปัตย์หนุนจริงหรือเปล่า เพราะในพรรคล้วนมีแต่ผู้เจนการเมือง ที่สามารถพลิกแพลงทางการเมืองได้ตลอดเวลา เพื่อให้กลุ่มของตนขึ้นมาโดดเด่น

ต้องบอกว่าประชาธิปัตย์ยุคนี้สมัยนี้ วุ่นวายและสับสนยิ่งนัก จากพรรคที่เคยอยู่ในจุดที่โดดเด่น มี สส. มากกว่าร้อย จนถึงปัจจุบันต่ำร้อย เหตุเพราะประวัติศาสตร์การเมืองของประชาธิปัตย์นั้นสร้างบาดแผลให้กับตัวเองตลอดมา จนนับวันยิ่งถดถอย

The Modernist พาไปย้อนรอย มองลอดมวยผมพระแม่ธรณี ถึงความเป็นมาของพรรคประชาธิปัตย์ จากพรรคที่ไม่มีใครทำร้ายเธอได้ สู่พรรคที่ทำร้ายตัวเอง และคุณจะรู้ว่าประชาธิปัตย์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

การเมือง 3 เส้าก่อนมีพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งในสถานการณ์ที่การเมืองระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎรกำลังเข้มข้น ขณะเดียวกันก่อนจะมีพรรคประชาธิปัตย์นั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก ซึ่งมีแนวคิดเอนเอียงไปฝ่ายนิยมกษัตริย์ ออกกฎหมายไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่กระนั้นใน พ.ศ. 2476 คณะราษฎรจึงแก้เกมด้วยการจัดตั้งสโมสรคณะราษฎรขึ้นมา และรับสมัครรวบรวมบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้ามาอยู่ในสโมสรแห่งนี้

ต่อจากนั้นคณะราษฎรก็กุมอำนาจภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมา มีนายกรัฐมนตรีจากคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงสมัยปรีดี พนมยงค์ แต่กระนั้นคณะราษฎรก็เริ่มมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์แตกแยกกันเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่แผนโค่นจอมพล ป. ให้ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น 

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์การเมืองภายในเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงจากอำนาจ เพราะแพ้โหวตในสภา 2 ครั้งติดใน พ.ศ. 2487 จากกรณีพิจารณาพระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง และกรณีพิจารณาพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑล เพื่อจะตั้งเขตมณฑลทางพระพุทธศาสนาขึ้น

ร่องรอยความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคณะราษฎรแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือขั้วทหารบกที่สนับสนุนจอมพล ป. และอีกหนึ่งขั้วคือขั้วพลเรือนและทหารเรือ ที่สนับสนุนปรีดี เป็นโอกาสที่ทำให้ฝ่ายเจ้าเริ่มกลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้ง

สมการการเมือง ณ ขณะนั้นจึงมีสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปรีดี ฝ่ายจอมพล ป. และฝ่ายเจ้า ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายจะมีทั้งเป็นศัตรูกันและจับมือกันเพื่อทำลายอีกกลุ่ม เป็นไปตามวัฏจักรการเมืองแบบ 3 เส้าที่คอยชิงไหวชิงพริบ บ่อนทำลายฝ่ายตรงข้ามทุกวิถีทาง เสมือนดั่ง 3 ก๊กก็ว่าได้

ภายหลังจากการกดดันให้จอมพล ป. ลงจากอำนาจได้ ปรีดีได้สนับสนุนให้นายควง อภัยวงศ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้มีอำนาจเต็มอะไร ทำให้ได้ฉายา “ตลกหลวง” เสมือนคนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเพื่อขัดตาทัพเท่านั้น และในที่สุดเขาก็ลาออก เปิดทางให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คนที่ปรีดีสนับสนุน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

สถานการณ์นั้นต้องบอกว่าฝ่ายปรีดี พยายามรอมชอมกับฝ่ายเจ้า ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อภัยโทษนักการเมือง ซึ่งบางส่วนเป็นชนชั้นสูง หรือข้าราชการเก่าที่ใกล้ชิดกับชนชั้นนำในระบอบเก่า ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488

พรรควัดรอยเท้าคณะราษฎร

หลังจากนั้นไม่นานเริ่มมีความขัดแย้งระหว่างปรีดี กับกลุ่มของ ม.ร.ว.เสนีย์ และควงเรื่อยมา ทำให้ในที่สุดถึงแม้จะไม่มีกฎหมายจัดตั้งพรรคการเมืองออกมารองรับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ประกาศจัดตั้ง “พรรคก้าวหน้า” ประกาศตนเองว่าเป็นรอยัลลิสต์ มีบุคคลจากระบอบเก่าเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ และ สอ เสถบุตร เป็นต้น

ด้านคณะราษฎรสายปรีดี ได้ก่อตั้ง “พรรคสหชีพ” ขึ้นมา เพื่อแข่งขันกับพรรคก้าวหน้า โดยมีอุดมการณ์อย่างคณะราษฎรเป็นที่ตั้ง

แต่กระนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ ควงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมีพรรคก้าวหน้าและกลุ่มอนุรักษ์นิยมสนับสนุน ทำให้เขาไม่ใช่คณะราษฎรอีกต่อไป เห็นได้จากโควตารัฐมนตรีแต่ละคน พระยาศรีวิสารวาจาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พระยาศรีเสนาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่กระนั้นรัฐบาลควงก็อยู่ไม่ได้นาน ในที่สุดต้องลาออก เปิดโอกาสให้พรรคสหชีพของกลุ่มคณะราษฎรสายปรีดี จัดตั้งรัฐบาล

ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มรวมตัวกันถือโอกาสสนับสนุนอดีตคนของคณะราษฎรอย่างควง อภัยวงศ์ ก่อตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” หรือ “พรรคเมียน้อย” เพราะมีการประชุมจัดตั้งพรรคที่บ้านภริยาคนที่ 2 ของนายควงในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยให้นายควงขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชย์ เป็นเลขาธิการพรรค ขับเคี่ยวกับรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ เรื่อยมา

ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นถือว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ไม่ใช่พรรคแนวก้าวหน้า เห็นได้จากอุดมการณ์แนวคิดที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม สมาชิกพรรคล้วนเป็นคนของระบอบเก่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ หรือ พล.ท.หลวงสินาดโยธารักษ์ หากจะบอกว่าเป็นพรรคประชาธิปไตยนั้นคงพูดได้ไม่เต็มปาก

ที่สำคัญหากกล่าวว่าพรรคไม่มีเจ้าของก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเช่นกัน เพราะเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนขึ้นมาจาก “ฝ่ายเจ้า” หรือ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” เพื่อขึ้นมาต่อต้านอุดมการณ์คณะราษฎร นี่จึงเป็นพัฒนาการที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในแง่ประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์

พรรคใต้บูทจอมพล ป.

อย่าลืมว่าการเมืองไทย ณ ขณะนั้นยังคงเป็นการเมืองแบบ 3 เส้า เรื่อยมาระหว่างกลุ่มคณะราษฎรสายปรีดี ในนามพรรคสหชีพ กลุ่มทหารบกของจอมพล ป. และกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่การเมืองในสภา พรรคประชาธิปัตย์ยังคงขับเคี่ยวกับพรรคที่สนับสนุนนายปรีดีเรื่อยมา จนในที่สุดเกิดเหตุการณ์การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 รัฐบาลปรีดี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแก้ปัญหาล่าช้า ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ และธนบุรี ต่างก็ตั้งป้อมวิจารณ์ ด้วยแรงกดดันต่างๆ ถึงแม้นายปรีดี จะมีผู้สนับสนุนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์มากหลายขุม ก็ต้องจำยอมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสให้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์ หาหนทางในการกำจัดฝ่ายปรีดีตามระบบสภาของระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ในที่สุดจึงเลือกตัวเลือกสำคัญกลับมา คือการไปจับมือกับจอมพล ป. ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ และสุดท้าย นายปรีดีจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศ

นับตั้งแต่นั้นมาประชาธิปัตย์ขึ้นมามีอำนาจได้โดยคณะรัฐประหาร ที่เชิญนายควงมาเป็นนายกรัฐมนตรี และในการเลือกตั้งภายหลังรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมาก แต่กระนั้นก็เกิดการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ที่เคยอุ้มชูพรรคประชาธิปัตย์ นำไปสู่เหตุการณ์จี้นายควงและการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. อีกครั้งหนึ่ง แต่กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกรัฐประหารก็ไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคกับคณะรัฐประหารของจอมพล ป. กลับทำตัวพินอบพิเทาเสียอย่างนั้น ถึงแม้จะเป็นพรรคฝ่ายค้านในยุคนั้นบ้างก็ตามที แต่แทบจะไม่มีบทบาทโดดเด่น

เรียกได้ว่าประชาธิปัตย์เป็นมิตรกับรัฐบาลทหารที่รัฐประหารตัวเองเสียด้วยซ้ำ

สมัยประชาธิปไตยครึ่งใบอุ้มเปรมาธิปไตย

ภายหลังเหตุการณ์เดือนตุลา เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำตัวดีกับฝ่ายทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมเช่นเคย เพราะตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลเปรมตั้งแต่เปรม 1 ถึง เปรม 5 พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรม เรื่อยมา ไม่เคยแตกแถว แตกต่างจากพรรคอื่นที่สลับเป็นรัฐบาลบ้างฝ่ายค้านบ้าง

แต่กระนั้นก็มีเกร็ดเกี่ยวกับความแตกแยกเล็กน้อยภายในพรรคประชาธิปัตย์ คือเหตุการณ์กลุ่ม 10 มกราคม

กลุ่ม 10 มกรา ตั้งโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคใน พ.ศ. 2530 โดยที่มาของชื่อกลุ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2530 ณ โรงแรมเอเชีย ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งกลุ่มของนายวีระได้เสนอชื่อนายเฉลิมพันธ์ ส่วนกลุ่มของนายชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ส่วนตัวนายวีระได้ลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรค แข่งกับ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ปรากฏว่าทั้งนายเฉลิมพันธ์และนายวีระพ่ายแพ้ต่อนายพิชัย และ พล.ต.สนั่น 

กลุ่ม 10 มกรามีความไม่พอใจในการบริหารงานของพิชัย เช่น ไม่เห็นด้วยที่พิชัยสนับสนุน พิจิตต รัตตกุล ลูกชายของตน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน แทนที่ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่ถึงแก่กรรมไปด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรม หรือการที่เสนอรายชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรี ที่ทางกลุ่มเห็นว่าไม่เหมาะสม

ต่อมากลุ่ม 10 มกรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับกลุ่มวาดะห์ ภายหลังจากการที่ทั้งสองกลุ่มไม่ยกมือสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร จนทำให้ พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภาเมื่อ พ.ศ. 2531 ซึ่งกลุ่ม 10 มกราบางส่วนและทางกลุ่มวาดะห์ได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า พรรคประชาชน

พรรคเทพ พรรคมาร

ภายหลังยุค พล.อ.เปรม ใน พ.ศ. 2534 ได้มีการรัฐประหารอีกครั้งโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ คณะรัฐประหารเองดึงพรรคการเมืองกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมรัฐบาล

พรรคที่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหารจะเรียกว่าพรรคมาร รวม 195 เสียง ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง) ชาติไทย (74 เสียง) กิจสังคม (31 เสียง) ประชากรไทย (7 เสียง) และ ราษฎร (4 เสียง)

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านต่อต้านคณะรัฐประหารประกอบไปด้วย 4 พรรค รวม 163 เสียง คือ ความหวังใหม่ (72 เสียง) ประชาธิปัตย์ (44 เสียง) พลังธรรม (41 เสียง) เอกภาพ (6 เสียง) เป็นพรรคเทพต่อสู้เคียงข้างประชาชาชน

นี่จึงเป็นเหตุการณ์ที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ ในการต่อต้านคณะรัฐประหารที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาโดดเด่นอีกครั้งในเชิงอุดมการณ์ตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่บ้านเมืองถูกคณะรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชนไป

พรรคไม้เบื่อไม้เบากับระบอบทักษิณ

พรรคไทยรักไทย ที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สามารถตั้งรัฐบาลได้ที่ได้เสียงข้างมากอย่างถล่มทลาย ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544 ซึ่งในครั้งนั้น มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ทั้งหมด 42,759,001 คน มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งจริงจำนวน 29,904,940 คน คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 69.94 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และผลการเลือกตั้งก็ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทย ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมกัน 248 คน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด

ประชาธิปัตย์เองได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านต่อพรรคไทยรักไทยเรื่อยมา แน่นอนว่าในสายตาพรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยรักไทยคือเผด็จการรัฐสภา และนายทักษิณเองใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อน ด้วยภาพลักษณ์ “คนโกง” และการทุจริตต่างๆ วาทกรรมเหล่านี้ถึงจะเป็นคำกล่าวอ้างหรือเป็นเรื่องจริงประการใดก็ตาม ก็เป็นปัจจัยบ่อนทำลายรัฐบาลทักษิณเรื่อยมา จะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้

เดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ตระกูลชินวัตรขายบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น ให้กับบริษัทเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นเงิน 73 พันล้านบาท โดยไม่เสียภาษี เป็นเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ชุมนุมประท้วงก็โหมกระหน่ำโจมตีถึงการเป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มต่อต้านทั้งในสภาคือพรรคประชาธิปัตย์ และนอกสภาคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่สนับสนุนทักษิณอย่างกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (น.ป.ช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง ขับเคี่ยวทางการเมืองซึ่งกันและกัน เรียกได้ว่าการเมือง ณ ขณะนั้นแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน คือขั้วที่ไม่เอาทักษิณ และขั้วที่สนับสนุนทักษิณ

ในช่วงเวลาวิกฤตการณ์การเมือง ภายหลังจากที่นายทักษิณยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ ประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันได้ทำการฟ้องร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในขณะนั้น ให้ดำเนินคดียุบพรรคไทยรักไทย เหตุเพราะพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กพรรคน้อยลงแข่งขันเลือกตั้ง แต่ก็ถูกตีตก

แต่ในที่สุดเมื่อมีการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญชั่วคราว นำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย

ภายหลังรัฐบาลคณะรัฐประหารยอมให้มีการจัดการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชูสโลแกน “ประชาชนต้องมาก่อน” ต่อสู้กับพรรคของทักษิณ คือพรรคพลังประชาชนแต่ประชาธิปัตย์ก็ยังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง กลายเป็นพรรคฝ่ายค้ายพรรคเดียวในหน้าประวัติศาสตร์ ส่วนพรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนส่งนายสมัคร สุนทรเวช สู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ

แต่กระนั้นด้วยวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ถาโถมและเป็นเอาตายทำให้ นายสมัคร ที่จัดรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พลังทางการเมืองของฝ่ายทักษิณ ยังยากอยู่ที่ประชาธิปัตย์จะเอาลง เพราะต่อมาพลังประชาชนชนมีเสียงข้างมากในสภา ส่งนายสมชาย วงสวัสดิ์ น้องเขยของนายทักษิณ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกคน

ตั้งรัฐบาลในค่ายทหารและวิกฤตนิรโทษสุดซอย

ประชาธิปัตย์เลือกยืมมือทหารอีกครั้งในการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยดึงพรรคภูมิใจไทยของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตคนสนิทของนายทักษิณ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยกมือให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากเสียงประชาชนอย่างสุจริต ภาวการณ์เช่นนี้จึงนำไปสู่การประท้วงของประชาชน และผู้ที่สนับสนุนนายทักษิณ ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ตัดสินใจยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคสืบต่อจากพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง ส่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้อีกคน แน่นอนว่าประชาธิปัตย์ต้องกลายเป็นฝ่ายค้านต่อไป

แต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ อยู่ได้เพียง 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 – 2557 ด้วยผลกระทบที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วม การกล่าวหาเรื่องการทุจริตในโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นนโยบายเอื้อต่อชาวนา แต่ด้วยปัญหาการจัดการทำให้โครงการนี้มีปัญหา มีการตรวจสอบโดยฝ่ายค้าน นำโดยนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นผู้อภิปรายและตรวจสอบ ความไม่พอใจของฝ่ายค้านทวีขึ้นทุกช่วงทุกเวลา 

ปัญหาที่สำคัญของรัฐบาลนี้ที่เปรียบเสมือนการนำไปสู่วิกฤตสูงสุด คือการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเสนอโดย นายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ อย่างที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเป็นการ “เหมาเข่ง” หรือ “นิรโทษกรรมสุดซอย” เห็นได้จากบทความสถาบันพระปกเกล้า  ที่กล่าวไว้ว่า

“พ.ร.บ. ดังกล่าวให้มีผลนิรโทษกรรมครอบคลุมหลายฝ่าย ทั้ง “ฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่าย นปช.” ที่สำคัญยังรวมถึง “นายทักษิณ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ“ ซึ่งกรณีหลังนี้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 พรรคฝ่ายค้าน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้งแกนนำ นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คดีอาญา “ฆ่า-เผา” และ “ผู้ทุจริต” ด้วย”

ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถึงแม้จะมีเสียงข้างน้อยในสภา จึงใช้วิธีการนอกสภา ด้วยการประท้วงที่นำไปสู่การชุมนุมของเสื้อหลากสี นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ปลุกระดมคนไม่เอาระบอบทักษิณ ได้เสียงสนับสนุนจากผู้ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเข้ามาเพิ่มเติม กลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส., กลุ่มเสื้อหลากสี  พ.ศ. 2556 – 2557) ที่ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์

การประท้วงครั้งนั้น ในช่วงต้นได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง นักร้อง นักแสดง นักวิชาการบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น กลุ่มนี้สามารถกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ และที่สำคัญกองทัพยังปฏิเสธช่วยเหลือรัฐบาลในการแก้ปัญหาการชุมนุม การประท้วงเริ่มบานปลายมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยกระดับการชุมนุม ที่มีชื่อเรียกว่า Shutdown Bangkok ในวันที่ 13 มกราคม 2557 และในที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

แต่กระนั้นก็ไม่ทันท่วงที เพราะกองทัพได้ออกมาทำรัฐประหารอีกครั้ง ในชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการปิดฉากยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้ฝ่าย กกปส. ที่มีคนประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ต่างภาคภูมิใจว่าสามารถชนะระบอบทักษิณได้แล้ว

แต่ในความเป็นจริง การเดินเกมการเมืองครั้งนี้กลับยิ่งทำให้ประชาธิปไตยไทยตกต่ำลง สร้างความเกลียดชังให้กับประชาชน ซึ่งต่อมาจะมีผลต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่จะกลายเป็นพรรคต่ำร้อยในไม่ช้า เพราะได้เดินหน้าถอยห่างจากประชาธิปไตย ไปเป่านกหวีดเรียกทหารออกมายึดอำนาจ แทนที่จะชนะด้วยระบบเลือกตั้ง 

ตระบัดสัตย์ร่วมรัฐบาลคณะรัฐประหารสู่วันต่ำร้อยเหลือแต่ชื่อเสีย

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพวกคณะรัฐประหารปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 ประชาธิปัตย์นำโดย นายอภิสิทธิ์ ออกตัวว่าจะไม่เข้าร่วมกับรัฐบาลกับพรรคที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

แต่กระนั้นพรรคประชาธิปัตย์กลับตระบัดสัตย์ นำ สส. ที่ได้รับการเลือกตั้งจำนวน 52 คน เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร พร้อมกับที่นายอภิสิทธิ์ลาออกจากกการเป็นหัวหน้าพรรค ส่งไม้ต่อให้กับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส่งผลให้นับวันประชาธิปัตย์ตกต่ำลงจากความหมดศรัทธาของประชาชน ความแตกแยกภายในพรรคนำไปสู่การที่สมาชิกพรรคทยอยออกจากพรรคไปหลายคน

จนในที่สุดในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ความอัปยศก็มาเยือนอีกครั้ง ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคที่มีจำนวนน้อยมากมี สส. เพียง 25 คน ในสภา ทำให้นายจุรินทร์ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคจนถึง ณ ขณะนี้ก็ยังไม่ชัดว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรคและกุมอำนาจพรรค

แต่ที่แน่ๆ ขั้ว สส. จำนวน 21 คนที่นำโดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส. สงขลา พร้อมหนุนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่ขั้วหัวหน้าพรรคเดิมไม่ว่าจะเป็น นายชวน หลีกภัย, นายอภิสิทธิ์ หรือ อดีต สส.กทม. ล้วนต้องการสนับสนุนฝ่ายตนป็นหัวหน้าพรรค แต่แทบไม่มี สส. ในมือ ขณะที่สมาชิกหน้าใหม่อย่าง มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค กระโจนขึ้นมาท้าชิงหัวหน้าพรรค 

มองอนาคตและอุปสรรค

อนาคตของประชาธิปัตย์ครั้งนี้ไม่ใช่ฝากไว้แต่เพียงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในครั้งนี้เท่านั้น เพราะการเลือกหัวหน้าพรรคเป็นการแก้ปมที่ประชาธิปัตย์ผูกไว้มาอย่างยาวนาน หากจะทำให้พรรคยืนอย่างสง่างามในเวทีการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้จริง ประชาธิปัตย์ต้องหัดเล่นการเมืองในสภาให้สมกับที่ตัวเองเคลมว่าเป็นพรรคเก่าแก่ แต่ในอดีตกลับเล่นการเมืองนอกสภาจนสภายับเยินจนมาถึงปัจจุบัน

ที่สำคัญต้องถอยห่างออกจากทหาร ไม่ยืมมือกองทัพเป็นบันไดในการขึ้นสู่อำนาจ มองหาพันธมิตรทางการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่เล่นการเมืองแบบสกปรกอย่างที่เคยทำมา ไม่งั้นอย่าหวังว่าเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่จะเปลี่ยนใหม่

ที่ต่ำร้อยครั้งนี้และถึงจุดเสี่ยงครั้งนี้ถ้าหากมองย้อนประวัติศาสตร์การเมือง ไม่มีใครทำร้ายประชาธิปัตย์ได้เลย แต่เหตุเพราะทำลายตัวเองเรื่อยมา

หากไม่แก้ไขอุปสรรคดังกล่าว อนาคตอย่าว่าแต่ต่ำร้อยเลย มีสิทธิสูญพันธุ์แน่นอน

แหล่งอ้างอิง

ไทยรัฐ / ไทยพีบีเอส / ประชาไท / สถาบันพระปกเกล้า1 / สถาบันพระปกเกล้า2 / สถาบันพระปกเกล้า3 / มติชน1 / มติชน2 / มติชน3 / ทูเดย์ / ศิลปวัฒนธรรม /

  • ภูริ ฟูวงศ์เจริญ .การเมืองการปกครองไทย : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ.2475-2540) .สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย.มติชน
  • ณัฐพล ใจจริง .ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ .ฟ้าเดียวกัน
  • รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ .แปลจาก Thailand’s Color War: Why Red Hates Yellow .ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า