fbpx

สรุปเรื่องร้อน กรณีเคสถูกตัดเงินจากบัตรของตนเอง มากจนผิดสังเกต

กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อผู้คนบนโลกออนไลน์ มีการแชร์เรื่องราวว่า ถูกตัดเงินจากบัญชี โดยรายการดังกล่าวเป็นการทำรายการจากเครื่องรูดบัตร หรือ EDC (Purchase via EDC)

โดยเฟซบุ๊กแฟนเพจ Drama-Addict ได้แชร์เรื่องราวของผู้คนบนโลกออนไลน์ที่เจอกรณีการตัดเงินจากบัตรของตนเอง ทั้งที่ไม่ได้ทำธุรกรรมนั้นๆ โดยมีกรณีตั้งแต่การตัดรายการเดียว จำนวนเงินหลักพันถึงหมื่น ไปจนถึง การตัดเงินในจำนวนหลักสิบถึงร้อย แต่ตัดเป็นจำนวนหลายรายการภายในชั่วโมงเดียว ซึ่งทั้ง 2 กรณีที่กล่าวมา เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และมีบางกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับการแจ้งเตือนการใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ เพจ Drama-Addict ได้มีการแชร์ว่า มีผู้ใช้ facebook ตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า “แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว” ซึ่งปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวแล้วกว่า 5 หมื่นคน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค. 2564 เวลา 07.45 น.) และมีการแชร์เคสที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเกิดขึ้นกับผู้ใช้ทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิต

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้เกิดความกังวลใจในการใช้งานบัญชีเงินฝาก บัตรต่างๆ และโมบายล์แบงก์กิ้งเป็นอย่างมาก

ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ไทยทุกแห่ง ต้องประชุมเร่งด่วน เมื่อคืนที่ผ่านมา (17 ต.ค. 2564) เพื่อตรวจสอบสถานการณ์และหาแนวทางช่วยเหลือลูกค้า และชี้แจงในช่วงดึกที่ผ่านมา ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการที่ข้อมูลธนาคารรั่วไหล แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยลูกค้าที่เกิดกรณีการตัดเงินผิดปกติ ทางธนาคารได้ทำการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้ และลูกค้าของธนาคารต่างๆ ที่ตรวจสอบด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติลักษณะนี้ สามารถติดต่อไปยังธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อตรวจสอบรายการได้ทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารโดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังได้แนะนำให้ผู้เสียหาย สามารถรวบรวมเอกสาร รายการเดินบัญชี (Statement) แล้วเดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจท้องที่ใกล้บ้าน เพื่อสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวผู้กระทำผิดและดำเนินคดีต่อในลำดับต่อไป

ขณะที่ พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเคสดังกล่าวว่า เหตุการณ์การดูดเงินลักษณะนี้ เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเริ่มจากการถูกมิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นหน่วยงานต่างๆ ส่ง SMS ลิงก์ต่างๆ หลอกถามข้อมูลทางบัญชี บัตรเดบิตและเครดิต ทำให้ถูกนำข้อมูลไปใช้เพื่อหักเงินได้ และอาจเกิดจากการซื้อสินค้าออนไลน์ที่อาจมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปซื้อ-ขายต่อในตลาดมืด รวมทั้งระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่ระบบฐานข้อมูลของธนาคารจะถูกแฮก เพราะหากระบบธนาคารถูกแฮก จะต้องแฮกทั้งระบบ และลูกค้าธนาคารทุกคนจะโดนเหมือนกันหมด

ผู้บัญชาการ สอท. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยประสานกับ สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อให้ข้อมูลบัตรกับใครง่ายๆ

แม้กรณีดังกล่าว จะยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนว่า เป็นความผิดพลาดจากส่วนไหน แต่สิ่งหนึ่่งที่ผู้ใช้บริการอย่างเราสามารถทำได้ คือ การมีสติ พยายามตรวจสอบการทำรายการต่างๆ ของเราอย่างสม่ำเสมอ และไม่ทำรายการผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัยของเงินในบัญชีเงินฝากของเรา

ที่มา:

https://web.facebook.com/bankofthailandofficial/posts/1529721810710574

https://web.facebook.com/workpointTODAY/posts/1738709769831627

https://web.facebook.com/DramaAdd/posts/10160115451518291

https://web.facebook.com/longtunman/posts/1166389567226983

https://web.facebook.com/groups/1555785341424628/

https://web.facebook.com/sorrayuth9115/posts/428278378659107

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า