fbpx

‘ถ้าพูดถึงการเมืองเราจะนึกถึงผู้ชายก่อน ประธานสภาก็เช่นกัน’ เพศและประธานสภาในมุมของ ‘ชานันท์ ยอดหงษ์’

      ‘ถ้าพูดถึงการเมืองเราจะนึกถึงผู้ชายก่อน ประธานสภาก็เช่นกัน’

      คิดว่าประโยคนี้เป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริง ประโยคที่ว่าสะท้อนให้เราเห็นภาพรวมของสังคมและการทำงานในระบบรัฐสภาอย่างไรบ้าง?

      เราได้พูดคุยกับ ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศพรรคเพื่อไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับเราตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ถึงมุมมองส่วนตัวของเขาที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ 

      ประเด็นในการพูดคุยกับครั้งนี้คือ ‘การเมืองเรื่องเพศ’ ว่าด้วยคำถามง่ายๆ อย่างทำไมเราถึงไม่เคยมีประธานสภาเป็นผู้หญิงมาก่อน เป็นเพราะสัดส่วนนักการเมืองหญิงที่น้อยกว่านักการเมืองชาย หรือจริงไหมกับคำครหาที่ว่า ‘นักการเมืองหญิงไม่มีความสามารถมากพอ’ ในการดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง 

เพราะเหตุใดการเมืองไทยถึงไม่เคยมีประธานสภาเป็นผู้หญิง? 

      “เราไม่เห็นด้วย”

      คำแรกของชานันท์คือการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่เพื่อไทยจะคว้าตำแหน่งประธานสภา 

      “นี่เป็นเรื่องที่ไม่อยากใช้คำว่าปกติ แต่ถูกทำให้ปกติกับการมองว่าพื้นที่ทางการเมืองภาครัฐทั้งนิติบัญญัติ รัฐสภา ตลอดเวลาที่ผ่านมา บทบาท ตำแหน่ง การบริหารสถาบันใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศจะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ผูกขาดอยู่กับเพศชาย และพื้นที่นี้ก็มีความเป็นชายด้วยตัวของมันเองมาตั้งนานแล้ว ตามที่เราเรียกกันว่าเป็นรัฐแบบ Male State

      “มันเป็นเช่นนั้นมาตลอด แล้วเราก็คุ้นชินกับสิ่งนี้โดยไม่ตั้งคำถาม พอพูดถึงประธานสภา ตำแหน่งนี้มีบทบาทเหมือนเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ มีบทบาทหน้าที่ในการควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในสภา จึงผูกโยงกับความน่าเคารพ ความอาวุโส ความน่าเชื่อถือยำเกรง เพราะประธานสภาเหมือนเป็นพ่อบ้าน เป็นผู้อาวุโสสูงสุด ก็เลยถูกจัดวางว่าต้องเป็นเพศชายตามมายาคติของ Male State ที่เราต้องมานั่งตีความอีกครั้งว่าความน่าเคารพยำเกรง ความอาวุโส ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ว่านี้จะถูกยัดอยู่ในคุณสมบัติของความเป็นชายในพื้นที่การเมืองภาครัฐ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องทลายกรอบภาพจำนี้  เพราะคำถามเรื่องความสามารถของนักการเมืองหญิงเวลาจะเสนอให้รับตำแหน่งสำคัญๆ ก็สะท้อนถึงมายาคติที่ยังหลงเหลืออยู่ในการมืองปัจจุบัน”

      ชานันท์ยังได้เปรียบเทียบบทบาทความเป็นหญิงในการเมืองภาครัฐ กับการมักถูกนำไปเปรียบเทียบว่าเป็นน้องใหม่ เป็นเด็กใหม่ ถูกมองว่ายังด้อยประสบการณ์ รวมถึงยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้นกับคำหรือสิ่งที่เจอได้ทั่วไป เพราะความเป็นเพศมันสอดแทรกอยู่กับเรื่องพวกนี้ด้วย

      ถ้าพูดว่า ‘นักการเมือง’ สังคมก็จะนึกถึงนักการเมืองชายก่อน หากเป็นผู้หญิงก็จะต้องเติมว่าคำว่า ‘หญิง’ ท้ายคำว่านักการเมือง หรือคำว่า ‘ประธานสภา’ ในกรณีที่ผู้หญิงได้ตำแหน่งนี้จริง สังคมก็จะขยายความว่าเป็น ‘ประธานสภาหญิง’ และมักไม่ถูกเรียกว่าประธานสภาเฉยๆ เหมือนกับที่ผู้ชายได้ดำรงตำแหน่งนี้  

      “ถ้าผู้หญิงเข้าไปเป็นนักการเมือง ก็จะมีคำว่า ‘น้อง’ นำหน้าเสมอ น้องคนนั้น น้องคนนี้ มองด้วยมุมด้วยอาวุโสกว่า นักการเมืองหญิงจะต้องได้รับการดูแลเหมือนน้อง ขณะที่นักการเมืองชายไม่มีคำว่าน้องนำหน้าเลย มันเป็นอย่างนั้นมาตลอด

      “ผู้หญิงถูกสนใจเรื่องการแต่งตัวมากกว่าผู้ชาย สนใจว่าจะแต่งชุดฉูดฉาดไหม แต่งตัวโป๊ไหม สื่อมวลชนและสังคมมักไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องการทำงานเพื่อประชาชนของนักการเมืองหญิงเท่านักการเมืองชาย แม้ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศในปัจจุบันดูเหมือนจะเบาบางลงขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม 

      “พอพูดถึงตำแหน่งสำคัญอย่างประธานสภา ก็ไม่มีผู้หญิงอยู่ในลิสต์เลย ซึ่งมันน่าเศร้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนที่ทำให้เรามีตัวเลือกนักการเมืองหญิงน้อยกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็จะต้องพูดถึงเจนเดอร์โควตา (gender quota) ที่สร้างการถกเถียงมากๆ แต่คิดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสัดส่วนความไม่เท่าเทียมทางเพศได้ 

      “ถ้าเป็น ส.ส.เขต ก็จะยากหน่อย เพราะเป็นคนในพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่อาจไม่ได้มองเรื่องเพศเป็นตัวตั้งในการที่จะเลือก ส.ส.เขต แต่ถ้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เราคิดว่าเจนเดอร์โควตาเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการทำให้เห็นว่าพรรคนั้นให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศไหม เท่ากับว่าช่วยเพิ่มจำนวนนักการเมืองหรือผู้แทนประชาชนที่เป็นเพศต่างๆ เข้าไปด้วย ซึ่งจุดนี้จะต้องตีความอีกทีหนึ่งเพราะเพศมีความลื่นไหล ต้องดูว่าแต่ละคนเป็นตัวแทนของกลุ่มประชาชนใด จัดเรียงลำดับอย่างไร ก็จะเป็นรายละเอียดที่ต้องมาคิดกันต่อ”

มองอย่างไรกับการที่ประชาชนเรียกการเมืองช่วงนี้ว่าเป็น ‘สภาชายแท้’ 

      “สำหรับเราคำว่าชายแท้กลายเป็นศัพท์ทางการเมืองไปแล้ว ไม่ใช่แค่ผู้ชายที่เป็น Heterosexual (การชอบบุคคลที่เป็นเพศต่างกัน) แต่กลายเป็นการพูดถึงชายแท้ในความหมายผู้ชายที่เป็น Hegemonic masculinity (ความเป็นชายแบบเจ้าโลกหรือพฤติกรรมชายเป็นใหญ่ที่เป็นพิษ) หมายถึงผู้ชายที่มีอำนาจนำ มีอำนาจเหนือกว่า และมองไม่เห็นความหลากหลายทางเพศใดๆ ในสภา 

      “พอบอกว่าสภาเป็นสภาชายแท้ทั้งที่จริงในสภาก็มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด เป็นตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ สรีระ เพศสภาพ แต่รวมไปถึงเรื่องของชาติพันธุ์ ความพิการ ที่เขาจะต้องทำการบ้านเป็นปากเป็นเสียง เป็นตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มจริงๆ อันนี้ก็เป็นภาระหน้าที่ของผู้แทนราษฎร แต่ถ้าดูโดยสัดส่วนแล้ว ผู้ชายยังเยอะกว่าจริงๆ รวมถึงบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม กลไกต่างๆ ได้เอื้ออำนวยให้ผู้ชายมีบทบาทมากกว่า จึงไม่แปลกเลยถ้าจะมีใครโจมตีหรือแซวว่าสภาไทยคือสภาชายแท้”

      แต่ถ้าถามว่าการที่ประชาชนบางส่วนเรียกสภาว่าเป็นสภาชายแท้นั้นน่ากังวลหรือแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมศรัทธาที่คนมีต่อสภาหรือไม่ ชานันท์มองว่าจะไม่กระทบมากขนาดนั้น เพราะตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่มุ่งหวังว่าพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคที่มีคะแนนสูงสุดควรจะมีอำนาจ มีบทบาทในการเป็นประธานสภา และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

      “ย้อนหลังกลับไป ที่ผ่านมาพรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับหนึ่งจากการได้คะแนนจากประชาชนมากที่สุด ก็ได้เป็นประธานสภากันทั้งนั้น ยกเว้นปีที่ผ่านมากับสถานการณ์ไม่ปกติ เราจะอ้างสิทธิ์แบบนั้นจากสถานการณ์ไม่ปกติมันไม่ได้ เพราะรอบนี้ประชาธิปไตยเป็นผู้ชนะ

      “อันนี้เป็นเรื่องที่จะเรียกว่าสามัญสำนึกและมารยาททางการเมือง เพราะฉะนั้น เราเองคาดหวังและเอาใจช่วยพรรคก้าวไกลให้สามารถจัดตั้งได้

      “แต่ถ้าพูดถึงศรัทธากับคำว่าสภาชายแท้ เราคิดว่ามันไม่ใช่ถึงกับทำลายศรัทธาในรัฐสภา แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ประชาชนพยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองด้วย ไม่ใช่แค่ว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วจบกัน ปล่อยให้เป็นกลไกของผู้แทนราษฎร แต่ประชาชนยังติดตาม ตั้งข้อสังเกต และวิจารณ์การทำงานของพรรคการเมืองต่อไป ตรงนี้เรามองว่าเป็นเรื่องดีมากๆ” 

      ชานันท์หวังว่าในอนาคตอันใกล้ สภาจะมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม แต่ในความหลากหลายนั้น ผู้แทนที่เป็น LGBTQ+ ก็จะต้องทำงานเพื่อประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ ไม่ใช่ว่าเราได้นักการเมืองหญิงเขาไปในสภา นักการเมืองหญิงรายนั้นก็จะผลักดันแต่เรื่องของผู้หญิงอย่างเดียว 

      “เราอยากเห็นประธานสภาที่มีความหลากหลายมากขึ้นเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นชายอาวุโสเสมอไป ขณะเดียวกันเราก็คาดหวังว่าคุณค่าความหมายของคำว่าอาวุโส จะไม่อยู่ที่เพศชายหรือความแก่เท่านั้น แต่อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นเพศใดก็ได้ ยังอายุไม่มาก แต่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถเหมาะสมพอที่จะเป็นได้ และโดยตำแหน่งประธานสภา คนในสภาก็ต้องเคารพเขา เพราะเขามีตำแหน่งตรงนี้ ซึ่งเคารพที่ตำแหน่ง ไม่ได้เคารพที่เรื่องเพศหรือช่วงวัย”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า