fbpx

เปรียบเทียบมาตรการรับมือโคโรนาไวรัสของรัฐบาลไทย


ความเข้าใจและข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส

ข้อมูลผู้ติดเชื้อ Coronavirus ทั่วโลกจากรายงานของ WHO

การระบาดของไวรัสอู่ฮั่นหรือ Coronavirus (2019-nCoV) ยังคงเป็นประเด็นอันดับหนึ่งที่ถูกพูดถึงในปัจจุบันทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลก (WHO) พบผู้ติดเชื้อรายแรกในมลฑลอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และได้รับการยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อ Coronavirus สายพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562

จากรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2563 พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นจำนวน 7,818 คนทั่วโลก ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อในจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไทเปจำนวน 7,736 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 170 คน ซึ่งในประเทศไทยได้รับรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 14 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้

ทั่วโลกให้ความสนใจ Coronavirus เนื่องจากเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านทางสารคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำลาย ซึ่งสารคัดหลั่งเหล่านี้สามารถแพร่กระจายทางอากาศได้ รวมถึงมีการแพร่กระจายจากคนสู่คน และเมื่อติดเชื้อแล้วจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจะทำให้ป่วยจนเสียชีวิตได้

จากข้อมูลของ WHO กล่าวว่า Coronavirus คือกลุ่มหนึ่งของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เช่นอาการไข้หวัด ปอดอักเสบ และอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่นเดียวกับโรคSARS และ MERS ที่เคยระบาดในปี 2546 และปี 2555 กลุ่มไวรัสชนิดนี้มีการติดต่อจากสัตว์เช่นแมว อูฐ หรือค้างคาวสู่คน ซึ่ง Coronavirus ที่กำลังระบาดในตอนนี้นั้นคือ novel Coronavirus (nCoV) ซึ่งไม่เคยพบในคนมาก่อน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสน่าจะติดต่อสู่คนผ่านตลาดค้าเนื้อสัตว์ในมลฑลอู่ฮั่น ซึ่งยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าติดต่อผ่านสัตว์ชนิดใด (ข้อมูลจาก www.cdc.gov )

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ในประเทศไทย

ในส่วนของสถานการณ์ Coronavirus ในประเทศไทย จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 29 มกราคม 2563 พบผู้ติดเชื้อไวรัส Corona สายพันธุ์ใหม่จำนวน 14 ราย กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 9 ราย และควบคุมอาการจนสามารถกลับบ้านได้ 5 ราย ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อคนแรกเป็นนักท่องเที่ยวจีนจากมลฑลอู่ฮั่น ซึ่งในตอนนี้สามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว 

โซเชียลมีเดียได้มีการแชร์รายงานจาก University’s WorldPop Team ระบุว่า กรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Coronavirus มากที่สุดรองจากประเทศจีน สาเหตุหนึ่งคือช่วงที่ไวรัสกำลังระบาดเป็นช่วงตรุษจีน ซึ่งชาวจีนมาเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ประกอบกับนายโจว เซียนหวัง นายกรัฐมนตรีอู่ฮั่นได้ยอมรับว่า ไม่มีการควบคุมการเดินทางออกนอกประเทศของประชาชนจีน และไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคให้ประชาชนได้รับรู้ในช่วงแรกที่ตรวจพบไวรัส ทำให้มีชาวจีนจากอู่ฮั่นกว่าห้าล้านคนเดินทางออกนอกเมืองก่อนที่จะประกาศปิดเมือง และประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวจีนนิยม อีกทั้งทางรัฐบาลไทยได้มีการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์นี้

ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 1 ในเอเชีย ประชาชนควรไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลและกรมการควบคุมโรค ไม่ควรตื่นตระหนกจากข่าวอื่นๆ ในโซเชียลมีเดีย 

ในขณะเดียวกันกลับมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่มั่นใจในการทำงานของรัฐบาล เนื่องจากนายอนุทิน ได้โพสต์ข้อความทางเฟสบุ้คเกี่ยวกับความหละหลวมของมาตรการตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินไทย และยังได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า Coronavirus มีความรุนแรงไม่มากไปกว่าไข้หวัด อีกทั้งมีรายงานจากประชนที่ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนว่ามาตรการตรวจคนเข้าเมืองมีความหละหลวมจริง รวมถึงรัฐบาลยังไม่มีการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองกับประชาชน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐในโซเชียลมีเดียจนมีแฮชแทค #รัฐบาลเฮงซวย ขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ควบคู่กับแฮชแทค #โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตคือมาตรการอพยพคนไทยจากประเทศจีน ซึ่งทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า คนไทยที่ประเทศจีนนั้นไม่อยากกลับประเทศไทย ทำให้ไม่จำเป็นต้องส่งเครื่องบินไปรับ แต่ก็มีนักศึกษาไทยบางส่วนโพสต์ข้อความทางเฟสบุ้คว่าอยากกลับประเทศไทยและกำลังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ทำให้ประชาชนมองว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ใส่ใจปัญหาเท่าที่ควร รวมถึงมีรายงานเกี่ยวกับการอพยพคนไทยออกจากประเทศจีนมีความล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลไทยมีความน่าเชื่อถือลดลงไปอีก 

ย้อนมองการรับมือโคโรนาไวรัสของรัฐบาลในอดีต

จากข่าวการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตย้อนกลับไปในช่วงปี 2555 เคยมีการระบาดของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือ MERS ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจาก coronavirus เช่นกัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นสามารถให้ความั่นใจกับประชาชนได้ดีกว่า รวมถึงมีมาตรการคัดกรองคนเข้าประเทศอย่างเข้มงวด ทำให้ประเทศไทยมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเป็นชายชาวโอมานเพียง 1 คน และไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อในประเทศไทยอีก

ในปี 2546 ได้มีการระบาดของโรค SARS ซึ่งเป็นเชื้อ Coronavirus สายพันธุ์หนึ่ง มีที่มาจากประเทศจีนเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 14 และไม่พบผู้เสียชีวิต (ข้อมูลจากรายงานฉบับที่ 10 เกี่ยวกับNovel Coronavirus ของ WHO ) 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ้คเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่กระจายของโลก โดยอ้างประสบการณ์การทำงานและนโยบายของรัฐเมื่อปี 2546 โดยมีการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวและคนเข้าประเทศอย่างเข้มงวดโดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิและการสัมภาษณ์ รวมถึงไปควบคุมการทำงานด้วยตนเอง มาตรการคัดกรองคนเข้าประเทศที่เข้มงวดทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสน้อย และกระทรวงสาธารณสุขไทยยังได้รับความเชื่อมั่นจากองค์การอนามัยโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถตัดสินได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลในช่วงใดสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดีมากกว่ากัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและการกระจายข่าวเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ไม่ได้รวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน แต่สิ่งที่สังเกตได้คือความตื่นตัวต่อสถานการณ์ที่ลดลงของรัฐบาลไทยและการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อของรัฐมนตรี ทำให้รัฐบาลมีความน่าเชื่อถือลดลงทั้งจากประชาชนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการดำเนินงานในด้านต่างๆของรัฐในอนาคต

สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อรับมือการระบาดของโคโรนาไวรัส

นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้ในหลายๆประเทศมีการตื่นตัวและมีมาตรการรับมือกับcoronavirus โดยในประเทศจีนได้ปิดการเข้าออกเมืองอู่ฮั่น และประกาศหยุดงานทั่วประเทศเพื่อลดการสัญจรและลดโอกาสการได้รับเชื้อของประชาชน ในประเทศใกล้เคียงเช่นญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ได้เพิ่มมาตรการคัดกรองคนเข้าประเทศอย่างเข้้มงวด และสายการบินในหลายประเทศเริ่มมีการระงับเที่ยวบินไป-กลับประเทศจีนอีกด้วย

ในขณะเดียวกันรัฐบาลหลายๆประเทศได้มีการอพยพคนออกมาจากมลฑลอู่ฮั่น เช่นรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินโดยสารไปรับพลเมืองออกจากอู่ฮันเป็นที่เรียบร้อย

สิ่งที่รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อของประชาชน อย่างแรกคือเพิ่มมาตรการการคัดกรองคนเข้าประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมากทำให้เพิ่มโอกาสการแพร่กระจายของไวรัสถ้ามาตรการตรวจสอบไม่เข้มงวดมากพอ หรืออาจจะปิดรับเที่ยวบินจากประเทศจีนในกรณีที่สถานการณ์รุนแรง 

ล่าสุดมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเป็นคนขับ Taxi ซึ่งไม่เคยมีประวัติการเดินทางไปประเทศจีน สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจจะมีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล รัฐบาลควรตื่นตัวกับสถานการณ์และเพิ่มมาตรการควบคุมตามประกาศขององค์การอนามัยโลก  อีกทั้งจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชน

การรับมือและป้องกันโคโรนาไวรัสด้วยตัวเอง

โคโรนาไวรัสอาจไม่เป็นอันตรายมากเมื่อเทียบกับไวรัสชนิดอื่นเช่น อีโบลาหรือ SARS แต่ข้อได้เปรียบของไวรัสชนิดนี้คือสามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายทางอากาศ ทำให้ในปัจจุบันการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัสเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก นอกจากนั้นประเทศไทยยังเสี่ยงต่อการรับเชื้อเป็นอันดับสองของโลกอีกด้วย

เราสามารถป้องกันตัวเองการติดเชื้อได้โดยการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาก็เพียงพอสำหรับการป้องกันโรค รวมถึงการหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น สนามบิน รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้าและที่ชุมชน รวมถึงหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศจีน

สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการเกี่ยงกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ทันที


อ้างอิง :
https://www.news-medical.net/news/20200128/Experts-identify-cities-most-at-risk-from-global-spread-of-Coronavirus.aspx?fbclid=IwAR2qFphI2ABQZFDGJnMrR5_g3Zirf-7hdjhHBo6T8oQAqo2POmHGHvSCL4A
https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/situation-reports/20200130-sitrep-10-ncov.pdf?sfvrsn=d0b2e480_2
https://www.who.int/csr/don/14-january-2020-novel-coronavirus-thailand-ex-china/en/?fbclid=IwAR2W1ssOg3yKeEPZdtqzZ6KsJlQjDQfOgTwAsIWjzLU1Sqik_wVWv14hpmA
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_3483352
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/863592
https://www.hfocus.org/content/2015/06/10214
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-nCoV/summary.html?fbclid=IwAR0Y6tGbhqxp40ccErQEJe5BFH69Ch12GGFBlJSiD4uM7Jp8hn4_vOeE0gE#anchor_1580079137454
https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า