fbpx

ตั้งฮับรถสันดาปกับเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ความย้อนแย้งของรัฐบาลเศรษฐา

ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายในการที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายต่างๆ และส่งเสริมภาคเอกชนทุกภาคส่วน ภาคประชาชน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งจากภาคการขนส่ง ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร พร้อมออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในนั้นคือมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งอาจเป็นแรงผลักเร่งให้รถเครื่องยนต์สันดาปและไฮบริดตกยุคไวขึ้น

ทว่าในงานสัมมนา  Next Chapter ประเทศไทย  จัดโดย ประชาชาติธุรกิจ  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ตนจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการพร้อมหารือเรื่องยานยนต์กับสมาคมยานยนต์ญี่ปุ่นว่าทำอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตรถยนต์สันดาป โดยอาจให้มาตรการสนับสนุนบริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ส่วนจะเป็นมาตรการอะไรนั้น ขอไปคิดก่อน เพื่อทำให้ซัพพลายเชนของรถยนต์สันดาปมีอนาคตยาวต่อไปได้อีก ทำให้ช่วงเวลาที่เขาจะปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ค่ายรถญี่ปุ่นมีความกังวลที่จะเข้ามาแล้วทำให้เขาเสียเปรียบในเชิงธุรกิจ ซึ่งอาจจะมีมาตรการแพคเกจที่สนับสนุนในเรื่องนี้

ขณะเดียวกันได้หารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วว่าในเรื่องการดึงการลงทุนเราไม่ลืมประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนที่มีการลงทุนทางตรงในประเทศไทยสูงที่สุดและช่วยเหลือเรามาโดยตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมาถึงปัจจุบัน  ถึงแม้ไทยจะสนับสนุนด้านอีวี แต่การดูแลธุรกิจเดิมๆ ก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะรถยนต์สันดาปต้องมีต่อไปอีก 10-15 ปี ทำอย่างไรที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมนี้อยู่ต่อไปได้ พราะว่าตลาดรถยนต์สันดาปในไทยนั้นเป็นตลาดใหญ่ และมีการจ้างงานอยู่จำนวนมาก หากอยู่ดีๆ หายไปไม่ได้รับการสนับสนุน ประชาชนคนไทยที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้ก็จะเดือดร้อน

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถสร้างรายได้ส่งออกมากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 8 แสนตำแหน่ง และเมื่อรวมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น การผลิตและการค้าอะไหล่ และชิ้นส่วน อุตสาหกรรม การซ่อมแซม การดัดแปลงยานยนต์ คาดว่ามีแรงงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง หากรัฐไม่มีมาตรการรองรับ แรงานกลุ่มนี้จะต้องกลายเป็นผู้ตกงานอย่างไร้ทางเลือก ดังนั้นความย้อนแย้งของนโยบายรัฐบาลระหว่างการเร่งเดินหน้าตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์กับความมุ่งหมายของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เตรียมดึงค่ายรถยนต์สันดาปมาลงทุนที่ไทยเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือฮับรถยนต์สันดาป ในอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจจะเป็นส่วนช่วยให้แรงงานภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปยังมีงานทำต่อไป

ภาพรวมของการผลิตรถยนต์ทุกประเภท ณ เดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 149,709 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อหน้าคิดเป็น 4.72% ปัจจัยหลักมาจากการผลิตเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมการผลิต 7 เดือนแรกปีนี้ (เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566) อยู่ที่ 1,071,221 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.66% ทุบยอดขายในประเทศลดลงต่อเนื่อง 5.54% เนื่องจากสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ประกอบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น

โดยสถิติยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 81,863 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 307.54 % ประเภท HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 311,150 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 33.33% ประเภท PHEV มีจำนวนทั้งสิ้น 49,587 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 31.04%

เมื่อเร็วๆ นี้ไทยได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ลง 50,000 คัน จากเดิมวางเป้าหมายการผลิตรวมอยู่ที่ 1,950,000 คัน เป็นผลิตรวม 1,900,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกคงเดิม 1,050,000 คัน แต่ลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลงเป็น 850,000 คัน จากเดิม 900,000 คัน ซึ่งจะลดลงอีกหรือไม่คงต้องติดตามยอดขาย EV และปัญหาหนี้เสียในรถยนต์ ที่จะทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยกู้เพิ่ม แต่ค่ายรถยนต์สันดาปได้แต่หวังอย่างมีหวังว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีที่จะมาฟื้นยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นได้

ท้ายที่สุดแล้วมาตรการอุ้มค่ายรถยนต์สันดาปจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะมีมาตรการอะไรบ้าง แน่นอนว่าคำตอบที่ชัดเจนจะเริ่มปรากฎได้เด่นชัดหลังนายกฯ เดินทางเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือนสุดท้ายของปีนี้ จากนี้ก็ได้เพียงตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะเน้นเรื่องใดเป็นสำคัญ จะเลือกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือเดินหน้าผลิตรถยนต์สันดาปก็สุดแท้แต่ที่จะสรุปได้ทันทีทันใด คงต้องติดตามกันต่อไป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า