fbpx

คลายข้อสงสัย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” หนุนเศรษฐกิจโตกี่เปอร์เซ็นต์

         หนึ่งในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงคือ ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในสังคม หลังจากที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี THE MODERNIST จะชวนอ่านหาคำตอบไปพร้อมๆ กันถึงประเด็นข้อสงสัยว่าจะจบลงอย่างไร เริ่มจากคำถามที่ว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เริ่มใช้ได้เมื่อใด ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลังเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะเริ่มใช้ได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่วนจะเป็นวันไหนนั้น ต้องรอนำเข้าถกที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ยืนยันว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ขณะนี้กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล หากพร้อมเมื่อใดจะดำเนินการทันที

         สำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะต้องเป็นคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก สำหรับประชาชนที่มีบัตรสวัสดิการอื่นๆ เช่น คนชรา คนพิการ ก็จะได้รับเงินเต็มจำนวน 10,000 บาทเช่นกัน คาดว่าจะมีคนไทยทั่วประเทศได้รับเงินดิจิทัลประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งเงื่อนไขของเงินดังกล่าวกำหนดให้สามารถซื้อสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเท่านั้น เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เครื่องมือทำกิน ฯลฯ ตามร้านค้าในชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตร หรือตามบริบทของพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยห้ามใช้กับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น ยาเสพติด การพนัน เป็นต้น และไม่สามารถแลกหรือเบิกถอนเป็นเงินสดได้ ต้องใช้จ่ายเงินผ่านร้านค้าที่รับชำระดิจิทัลเท่านั้น หากประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีแอปพลิเคชัน สามารถใช้บัตรประชาชนพร้อมโค้ดส่วนตัวในการชำระได้

         แล้วแหล่งเงินของนโยบายดังกล่าวจะมาจากช่องทางใด ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินใช่หรือไม่ ทางด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า มาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้มีการหารือร่วมกันไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราว 5.6 แสนล้านบาท ยืนยันว่างบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ ไม่มีปัญหา สามารถเดินหน้าไปได้แน่นอน  โดยจะมีช่องทางการใช้เงินมาจากหลายส่วน เช่น การกู้เงิน ส่วนจะเป็นการกู้ในลักษณะใดนั้นยังไม่มีข้อสรุป 

         “ยืนยันว่าจะไม่มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินมาใช้ในโครงการเหมือนช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาแน่นอน”

         ขณะเดียวกันยังมีแหล่งรายได้การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้วงเงินนอกงบประมาณ ภายใต้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ โดยในปี 2567 คงเหลืออยู่ราวหมื่นล้านบาท ที่อาจจะนำไปใช้ได้ และคาดว่าจะมีวงเงินทยอยชำระคืนจากส่วนนี้ ในปีงบประมาณ 2567 อีกราว 1 แสนล้านบาท ที่ยังนำมาใช้ได้เช่นกัน เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้ไม่มีการใช้วงเงินมากในการช่วยเหลือเกษตรกร และบางโครงการที่อาจจะไม่ทำแล้ว ก็เฉลี่ยมาใช้ได้ ที่นอกเหนือจากการกู้เงิน

         ขณะที่ทีดีอาร์ไอหรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ให้ความเห็นไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า พรรคเพื่อไทย มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง และการแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท คาดว่าจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบามท พร้อมระบุที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่ รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท  การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท  การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท  และการบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท 

         ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลทางด้านการเงินของประเทศก็ได้ออกมาพูดถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า  โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่แบงก์ชาตินำมาประเมินภาพความเสี่ยงจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะมีเม็ดเงินจำนวนมาก แต่เป็นความเสี่ยงด้านบวกที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการแจกเงินดิจิทัลในคนอายุ 16 ปีขึ้นไป จะใช้เงินประมาณ 560,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3% ของจีดีพี ถ้าเงินเข้าระบบหากหมุน 1 รอบก็จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้ 3% ซึ่งเท่าที่ติดตาม หากเป็นการหมุนโดยเงินโอน อาจจะหมุนน้อยกว่าเงินสดนิดหน่อย จะต้องติดตามว่าเมื่อเงินลงไปจริง จะหมุนได้กี่รอบ         อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน จะทำมาตรการหลักอย่างเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้ตามที่ป่าวประกาศเหมือนช่วงตอนหาเสียงไว้ได้จริงหรือไม่และทำได้เร็วสุดเมื่อใด และสร้างการขยายตัวเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจได้ 5% หรือไม่ รวมถึงจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กี่รอบ เป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามต่อไป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า