fbpx

 เลือกหัวหน้าที่ใช่ โดนใจคน “Gen Z” ของ “InsideSC” กับแคมเปญ ‘เริ่มงานใหม่ ใครเป็น Boss?’

เวลาคนส่วนใหญ่สมัครงานมักจะมีปัจจัยหลักที่ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจเลือกที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งงาน รายได้ สวัสดิการ โบนัส และชื่อเสียงของบริษัท ทว่าอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญแต่ไม่ค่อยมีใครนำมาเป็นเกณฑ์ตัดสินใจเลือกที่ทำงานมากนักก็คือ ‘หัวหน้า’ ผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการทำงาน จึงทำให้หลายคนอาจจะคุ้นหูกับวลีที่ว่า “เราเลือกงานได้ แต่เลือกหัวหน้าไม่ได้” 

ดังนั้น การเป็นหัวหน้าจึงต้องมาควบคู่กับภาวะผู้นำ ไม่เพียงแค่มีหน้าที่บังคับบัญชาและมอบหมายงานเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานเป็นตัวของตัวเองที่สุด ดึงศักยภาพของพนักงานออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสในการเติบโตให้กับพนักงานด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรด้วยหน้าที่การทำงานที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เราจะได้รู้จักกับหัวหน้าจริงๆ ในช่วงเวลาการตัดสินใจเลือกที่ทำงานนั้นมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย เพราะในขั้นตอนของการสมัครงานส่วนใหญ่มักจะเป็นเราที่ต้องเตรียมโปรไฟล์ตัวเองเพื่อนำเสนอให้กับบริษัทนั้นๆ เริ่มตั้งแต่การเขียนเรซูเม่ที่บอกประวัติส่วนตัว การทำงาน การศึกษา และคุณสมบัติที่ตรงตาม Job Description จนไปถึงวันสัมภาษณ์งานก็ต้องเตรียมตัวสำหรับการตอบคำถามและการนำเสนอตัวเองให้บริษัทรู้สึกสนใจในตัวเรา มีเพียงไม่กี่คำถามที่พอจะถามถึงหัวหน้าได้ อย่างคำถามที่ว่า “คุณมีคำถามอะไรเพิ่มเติมไหม?” ซึ่งก็ไม่ได้เพียงพอที่จะได้ทำให้รู้จักหัวหน้ามากขึ้นซะทีเดียว อีกทั้งการสัมภาษณ์งานบางบริษัทก็ไม่ได้สัมภาษณ์กับหัวหน้าโดยตรง บางคนได้สัมภาษณ์กับฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้าทีมอื่นแทน นั่นหมายความว่าเราจะได้รู้จักกับหัวหน้าจริงๆ ก็ต่อเมื่อตกลงปลงใจทำงานที่นี่ ซึ่งก็คงไม่ต่างกับการวัดดวงว่าหัวหน้าของเรานั้นเป็นคนแบบไหน

ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้คาดหวังที่จะทำงานในบริษัทใดบริษัทหนึ่งไปตลอดชีวิต พวกเขาพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน จากการศึกษาของ CareerBuilder พบว่า พนักงาน Gen Z ที่เกิดระหว่างปี 1996 ถึง 2012 มีระยะเวลาในการทำงานในที่ที่หนึ่งเฉลี่ยสูงสุด คือ 2 ปี 3 เดือนเท่านั้น อีกทั้งผลสำรวจล่าสุดของ GoodHire ได้สำรวจพนักงาน 3,000 คน พบว่า 82% พิจารณาการลาออกเนื่องจากหัวหน้างาน จึงอาจหมายความได้ว่าวิสัยทัศน์ของหัวหน้ามีความสำคัญมาก หากพนักงานและหัวหน้ามีวิสัยทัศน์ไม่ตรงกัน ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างการทำงานได้

ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยในประเด็นนี้ต่อว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถเลือกหัวหน้าได้เองและมองหาหัวหน้าที่มีวิสัยทัศน์ที่ตรงกับเรา ซึ่งการพบกันระหว่างพนักงานที่ชอบและหัวหน้าที่ใช่ อาจจะเป็น Perfect Match ที่คาดไม่ถึงในการทำงานก็เป็นได้

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ดูหนังโฆษณาล่าสุดของ InsideSC กับแคมเปญที่ชื่อว่า ‘เริ่มงานใหม่ ใครเป็น Boss?’ โดยหยิบเอาสถานการณ์ของการสัมภาษณ์งานมาเล่าในมุมที่แปลกใหม่กว่าเดิม ด้วยการสลับบทบาทระหว่างผู้สมัครงานและหัวหน้า 3 คู่ ทั้งหมด 6 คน โดยให้ผู้สมัครงานเป็นคนสัมภาษณ์หัวหน้าแทน เพื่อทำความรู้จักกับหัวหน้าที่จะต้องร่วมงานด้วยในอนาคต

ความพิเศษของโฆษณาชิ้นนี้คือการใช้บุคคลจริงในบริษัทมาเป็นตัวกลางในการสื่อสาร โดยหัวใจหลักของเรื่องคือ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สัมภาษณ์และทำความรู้จักหัวหน้าในตำแหน่งงานที่ตัวเองสนใจ

“ก็ตื่นเต้นนะที่ได้มาให้น้องสัมภาษณ์ เพราะทุกทีก็จะเป็นคนสัมภาษณ์น้องในการเข้ามาทำงาน ก็ไม่รู้จะตอบคำถามถูกใจน้องหรือเปล่า กลัวตอบผิดแล้วเดี๋ยวน้องจะไม่มาทำงานกับพี่” บทสนทนาจากพี่หัวหน้าท่านหนึ่งในเรื่อง ที่ชี้ให้เห็นว่านี่คือความแปลกใหม่ของการสัมภาษณ์งานที่ปกติแล้วหัวหน้ามักจะเป็นผู้สัมภาษณ์มากกว่าเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์

ด้านผู้สัมภาษณ์ได้มีการยิงคำถามตามสไตล์รุ่นใหม่เพื่อวัดใจหัวหน้าอย่าง “บ้านพี่เลี้ยงสัตว์ไหมคะ” “พริกน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกครับ” “เวลาว่างพี่ชอบทำอะไร” แม้จะดูเป็นคำถามแปลกๆ ที่ไม่เคยมีที่ไหนสัมภาษณ์แบบนี้มาก่อน แต่ทำให้เห็นถึงสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังสนใจได้เป็นอย่างดี

“ในอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้าผมจะเป็นอย่างไรบ้าง” เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ทำให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของหัวหน้าที่มีต่อพนักงานในอนาคต เพราะไม่ใช่แค่หัวหน้าที่อยากรู้เป้าหมายของพนักงานแต่ละคน พนักงานเองก็อยากรู้ว่าหัวหน้าจะพัฒนาพวกเขาให้เติบโตไปในทิศทางไหนเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าแคมเปญนี้ทำขึ้นเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมทำงานกับทาง InsideSC ทางแบรนด์จึงได้ต่อยอดแคมเปญด้วยการทำ Microsite (เว็บไซต์ขนาดเล็ก) รวบรวมเรซูเม่และคลิปแนะนำตัวของหัวหน้าทีมต่างๆ ในบริษัท เพื่อให้ผู้ที่สนใจอยากร่วมงานได้ทำความรู้จักและเลือกหัวหน้าที่ใช่ในการทำงานที่ตอบโจทย์กับตัวเอง

ทั้งหมดนี้ คือภาพตัวอย่างขององค์กรที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้มีสิทธิเลือกหัวหน้าที่ใช่สำหรับตัวเอง ซึ่งแคมเปญนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า งานที่ดีนั้นไม่ได้มีแค่เงินเดือนและสวัสดิการที่เป็นปัจจัยหลัก เพราะชีวิตการทำงานจริงๆ หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราอยากทำงานในทุกๆ วัน สิ่งที่สำคัญคือการสื่อสารระหว่างวัยที่โฆษณาชิ้นนี้ได้ถ่ายทอดมุมมองจากทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เป็นการเชื่อมช่องว่างระหว่างวัย ลดการเกิด Generation Gap ในบริษัทตั้งแต่การสมัครงาน ที่เป็นประตูด่านแรกของการเข้ามาทำงานเลยทีเดียว

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า