fbpx

กา “ก้าวไกล” ประเทศไทยมีอะไรไม่เหมือนเดิมบ้าง ?

ณ ขณะนี้ คงไม่มีละครเรื่องใดปังเท่ากับละครการเมืองไทยในช่วงนี้อีกแล้ว เพราะนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 สังคมไทยก็มีเรื่องให้เซอร์ไพรส์กันตลอดเวลา เพราะหลังจากพรรคก้าวไกลได้เป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง

บรรดาผู้มีอำนาจต่างก็ดิ้นรน พยายามพลิกเกมกันสุดฤทธิ์ เพื่อรักษาผลประโยชน์มหาศาล เรียกได้ว่า “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” เพราะเปลี่ยนแปลงกันแทบจะรายชั่วโมง ด้วยฝีมือของตัวละครมากหน้าหลายตา ที่ทยอยกันเปิดตัวในฉากการเมืองช่วงนี้ 

ชัยชนะของพรรคก้าวไกล นำมาซึ่งอะไรที่ไม่เหมือนเดิมบ้าง The Modernist รวบรวมมาไว้ที่นี่แล้ว

กาก้าวไกล แต่ฝ่ายชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นรัฐบาล

หลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงจากประชาชนกว่า 14 ล้านเสียง ซึ่งกลายเป็นผู้ชนะแบบเหนือความคาดหมาย ตามด้วยพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับสอง ชัยชนะของพรรคที่แสดงจุดยืนในฝ่ายประชาธิปไตย นำมาซึ่งความหวังและกลิ่นความเจริญที่เริ่มจะอบอวลในสังคม 

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลกลับไปไม่ถึงฝั่งฝันในการจัดตั้งรัฐบาล ที่นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เนื่องจากไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ สว. ได้ครบ 376 เสียง บวกกับเงื่อนไขเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ สว. และ ส.ส. หลายคนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ส่งผลให้พรรคก้าวไกลต้องส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทย ที่มีคะแนนเป็นอันดับสอง ให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลต่อไป

กาก้าวไกล สว. ถูกไล่แบนธุรกิจ

หลังจากที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่สามารถรวมเสียงสนับสนุนในสภา ในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะความไม่พอใจต่อสมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่กลับเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี และทำให้นายพิธาไม่ได้ไปต่อ

การไม่เคารพในเสียงของประชาชน ส่งผลให้เกิดแคมเปญ #ธุรกิจสว ในโลกออนไลน์ โดยเป็นการคว่ำบาตรธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สว. และครอบครัว ทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่มีชื่ออยู่ในรายชื่อธุรกิจของ สว. ต่างออกมาแถลงว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน ขณะเดียวกัน บรรดาธุรกิจห้างร้านต่างๆ ก็ประกาศไม่ให้การต้อนรับ สว., กกต. และสมาชิกในครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ด้วย

ต่อจาก #ธุรกิจสว ชาวเน็ตได้ยกระดับการแสดงออก ผ่านแฮชแท็ก #เมียน้อยสว หลังจากมีผู้ประกาศจะช่วยกันสืบหาอนุภรรยาของบรรดา สว. ซึ่งสามารถชี้เป็นชี้ตายความอยู่รอดของ สว. คนนั้นๆ เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้เห็นด้วยและสะใจกับแคมเปญเหล่านี้ แต่ก็มีประชาชนบางส่วนมองว่าเป็นการล่าแม่มด สว. มากกว่า

กาก้าวไกล เพื่อไทยและช็อกมินต์ไม่เหมือนเดิม

นับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนกระทั่งถึงตอนนี้ พรรคเพื่อไทยเป็นตัวละครหนึ่งที่มีท่าทีไม่ชัดเจนและคาดเดายาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งหมาดๆ ที่แกนนำพรรคหลายคนยืนยันเป็นร้อยรอบว่าจะไม่จับมือกับพรรคที่มีจุดยืนฝ่ายเผด็จการ และยินดีสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล ทว่าในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พรรคเพื่อไทยกลับร่วมประชุมกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีภาพ “ชนแก้วช็อกมินต์” อย่างชื่นมื่น ปรากฏในสื่อ

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยืนยันว่า การพบปะกันครั้งนั้น เป็นเพียงการหารือเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่ก็ยังไม่อาจต้านทานกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากพรรคที่มาร่วมหารือนั้น ถือเป็นขั้วตรงข้ามกับจุดยืนของพรรคเพื่อไทยอย่างสิ้นเชิง และการประชุมดังกล่าวก็สร้างความไม่ไว้วางใจในตัวพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

กระแสโจมตีดังกล่าว ส่งผลให้เครื่องดื่มอย่างช็อกโกแลตมิ้นต์ ที่เคยได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากการโปรโมตของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย ถูกประณามว่าเป็นเครื่องดื่มทรยศเพื่อนบ้าง ช็อกมินต์ใส่กัญชาบ้าง และคาเฟ่หลายแห่งก็ประกาศยกเลิกขายเมนูนี้ในที่สุด

ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 แกนนำพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้พบปะหารือกันอีกครั้ง โดยในช่วงบ่ายวันนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยประกาศ “ถอนตัวจากการร่วมมือกับพรรคก้าวไกล” และเพื่อไทยจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พร้อมทั้งยืนยันว่าจะ “ไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วมฯ” และ “พรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน”

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้โลกออนไลน์เดือด โดยมีการตั้งแฮชแท็ก #มันจบแล้วครับนาย และ #เพื่อไทยการละคร เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจการกระทำของเพื่อไทยครั้งนี้

และล่าสุด “ดีลช็อกมินต์” ก็สร้างความช็อกอีกระลอกให้กับประชาชน เพราะเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยได้แถลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีคะแนนเป็นอันดับ 3 ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชน เนื่องจากขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 ผิดพลาด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีผู้ทวงถามถึงแคมเปญ “ไล่หนูตีงูเห่า” ที่พรรคเพื่อไทยเล่นใหญ่เพื่อมุ่งโจมตีพรรคภูมิใจไทย ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กลับตอบว่า แคมเปญดังกล่าวเป็นเพียง “เทคนิคในการหาเสียง” เท่านั้น

กาก้าวไกล ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่เหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 8 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ,พรรคก้าวไกล ,พรรคประชาชาติ ,พรรคไทยสร้างไทย ,พรรคเป็นธรรม ,พรรคเสรีรวมไทย ,พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้แถลงข่าวมอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล โดยในช่วงท้ายของการแถลงข่าว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้กล่าวถึงการหาคะแนนโหวตนายกรัฐมนตรีเพิ่มว่า สว. แจ้งมาว่า ถ้ามีพรรคก้าวไกล ก็จะไม่ลงคะแนนให้ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ แต่เพื่อไทยก็ไม่ควรตัดขาดกับก้าวไกล ดังนั้น พรรคก้าวไกลก็ควรจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย พร้อมกล่าวประโยคเด็ดโดนใจคนรุ่นใหม่ว่า

“เปรียบเสมือนอยู่กลางทะเล เรือมันล่ม มีคนแก่ มีผู้หญิง มีเด็ก แล้วเราคนหนุ่ม เราต้องขึ้นเรือก่อนเหรอ เราก็ต้องให้เด็ก คนแก่ ผู้หญิงขึ้นก่อน เราค่อยยอมเสี่ยงภัยไปซะก่อน เดี๋ยวเรือลำที่ 2 มา เราก็ค่อยไป ไม่ใช่ว่าหนุ่มก็กระโดดขึ้นเรือก่อน ปล่อยให้เด็ก ผู้หญิงเผชิญกรรม แบบนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องมีผู้เสียสละ เพื่อให้ประชาธิปไตยไปต่อได้ ถ้าไม่เสียสละก็ไปต่อไม่ได้” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว

คำพูดของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่เรียกร้องให้คนหนุ่มสาวเสียสละให้คนแก่ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเรื่องการที่ผู้อาวุโสไม่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้ไปต่อ หลังจากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็มีทีท่าที่แสดงออกถึงการสนับสนุนพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายอนุทิน หรือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาล และยังย้ำอีกด้วยว่า พรรคก้าวไกลควรสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการ “ตอบแทนบุญคุณ”

ยิ่งกว่านั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังได้กล่าวถึงผู้ชุมนุมที่เดินทางไปชุมนุมที่พรรคเพื่อไทยว่า อาจจะต้องดำเนินคดีติดคุกถึง 7 ปี ตามกฎหมาย และยังตำหนิหยก เยาวชนที่เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมว่า “ถ้าเป็นลูกผม ผมฆ่าทิ้งเลย เด็กแบบนี้เอาไว้ได้ที่ไหน ถ้าเป็นลูกผม ผมไม่เอาหรอก”

ท่าทีที่เปลี่ยนไปของ “ผู้หลักผู้ใหญ่” อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ สร้างความไม่พอใจและความผิดหวังให้กับคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นท่าทีที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับก่อนการเลือกตั้ง ที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีภาพลักษณ์เป็นผู้ใหญ่ที่เด็ดขาด แต่มีเมตตา จนกระทั่งหลายคนขนานนามว่า “ป๊าเสรี”

ด้านผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งคือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ได้รับตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วยความอาวุโสและท่าทีที่เป็นกลาง ทว่าเมื่อดำรงตำแหน่งแล้ว กลับมีการตัดสินใจที่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน ทั้งการวินิจฉัยให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเลือกการเสนอญัตติ มีสถานะที่ใหญ่กว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในกรณีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และการปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม โดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่มีสมาชิกมาเข้าร่วมประชุมจนครบองค์ประชุม และมีญัตติที่จะต้องพิจารณา จนเป็นที่ครหาว่าเป็นเพราะเกรงว่ามี สว. มาประชุมน้อย และจะทำให้ญัตติหลายเรื่องต้องพ่ายแพ้แก่เสียงของ ส.ส.

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์วิพากษ์การกระทำของนายวันมูหะมัดนอร์ ว่า นายวันมูหะมัดนอร์ “ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง เหมาะสม” และจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความเหมาะสมมาทำหน้าที่แทน

ด้านตัวละครจากฝั่งเพื่อไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนนายพิธา ก็มีดราม่าจนได้ โดยในวันที่ 4 สิงหาคม นายเศรษฐาได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยระบุว่า “มีผู้ไม่ประสงค์ดี แฮกทวิตเตอร์แอคเคาท์ของผม และทำการแก้ไขข้อความเดิม เพื่อปลุกปั่นและสร้างความเข้าใจผิด เอาเรื่องให้ถึงที่สุดครับ”

แต่แล้วก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขข้อความในทวิตเตอร์สามารถทำได้ภายในระยะเวลาที่จำกัด และประเด็นนี้ได้ลุกลามบานปลาย เมื่อมีชาวเน็ตขุดข้อความเก่าในทวิตเตอร์ของนายเศรษฐา และพบว่ามีข้อความที่แสดงถึงการเหยียดเพศและมุกตลกเกี่ยวกับเพศ จนสุดท้าย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นายเศรษฐาได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง โดยยอมรับว่าข้อความดังกล่าวนั้น เขาเป็นผู้ทวีตเอง และจะเก็บข้อความเหล่านี้ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ พร้อมตั้งใจจะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

กาก้าวไกล ทักษิณ (เกือบจะได้) กลับบ้าน

อีกหนึ่งฉากสำคัญท่ามกลางความวุ่นวายในละครการเมืองไทย คือกรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร บิดาของเธอ จะได้เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ทว่าตัวตึงการเมืองอย่างนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้โพสต์ข้อความที่ทำเอาชาวเน็ตนอนไม่หลับว่า “เกมพลิก ทักษิณถอย ยกเลิกกลับไทย สถานการณ์เปลี่ยน” และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย

หลังจากนั้น นางสาวแพทองธารได้เข้ามาคอมเมนต์ใต้สเตตัสของนายชูวิทย์สั้นๆ ว่า “เพ้อเจ้อ” แต่ไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงกรณีนี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายทักษิณได้ทวีตข้อความระบุว่า “ผมขอเลื่อนวันเดินทางกลับไทย จากวันที่ 10 ไปอีกไม่เกินสองสัปดาห์ วันเวลาจะแจ้งอีกครั้ง หมอเรียกให้ไปตรวจร่างกายก่อนครับ” ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งครั้งในหลายๆ ครั้ง ที่นายทักษิณประกาศจะกลับประเทศไทย แต่ก็พลาดหวังทุกครั้ง ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจจะเป็นเพราะ “ดีลทางการเมือง” ไม่สำเร็จหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คำว่า “เพ้อเจ้อ” กลายเป็นคำฮิตในโลกออนไลน์ภายในชั่วข้ามคืน

จะเห็นได้ว่า ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงแบบพลิกไปพลิกมาอยู่ตลอดเวลา และหลายครั้งก็ทำให้ประชาชนเซอร์ไพรส์ อึ้ง เหวอ ช็อก กับท่าทีที่ไม่คาดฝันของนักการเมืองที่พวกเขาเลือกมา เรียกได้ว่าแค่ไม่กี่เดือนนี้ มีนักแสดงมากฝีมือทั้งดาวรุ่ง ดาวร่วง ที่ควรค่าแก่การมอบรางวัลทางการแสดงให้หลายคนทีเดียว

ทว่าสำหรับรางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” คงต้องมอบให้กับการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม เพราะเป็นการทุ่มทุนสร้างฉากแห่งประชาธิปไตยเกือบ 6 พันล้านบาท ก่อนจะตลบหลังประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 52 ล้านคน ให้กลายเป็นเพียงตัวประกอบ และบัดนี้ เราได้กลายเป็นผู้ชมละคร ที่ทำได้เพียงโกรธ ด่าทอ และสะท้อนใจไปกับความกลวงเปล่า ไร้หลักการ และไร้แก่นสารของหลายๆ ตัวละครในเวทีการเมืองนี้ โดยที่ตัวละครเหล่านี้ไม่ได้สนใจผู้ชมอย่างเราๆ ด้วยซ้ำ

Sources: bbc 2 / posttoday / dailynews 2 / sanook / pptvhd36 2

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า