fbpx

มังกรแดง “อำนาจ” และ “อันตราย” ที่แทรกซึม ความหวาดกลัวต่ออำนาจนำ “จีน” ใน “สังคมไทย”

  • การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน และกลุ่มชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยทั้งชั่วคราวและถาวร ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยสังเกตได้จากตั้งขึ้นของร้านอาหารและร้านค้าที่มีภาษาจีน
  • แต่ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศของสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลกระทบต่อไทยในเรื่องจุดยืนในการเมืองโลก 
  • ผลกระทบทั้งการเข้ามาของชาวจีนและการขยายอิทธิพลทางการเมืองของรัฐบาลจีนในประเทศไทย ส่งผลให้สังคมไทยเกิดภาพลบที่มีต่อจีน ทั้งปัญหาสังคม และการต่างประเทศ

สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ จงกั๋ว (中国 ) ในภาษาจีนที่แปลว่า “ประเทศศูนย์กลางของโลก” นับแต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศจีนเคยถูกมองว่าเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” เคยถูกชาติตะวันตกเข้าแทรกแซงในช่วงสมัยราชวงศ์ชิง เคยมีสงครามทั้งจากภายในและภายนอก ปัญหาความอดอยากในช่วง สมัยการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (The Great Leap Forward) และ การปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) ที่กลายเป็นรอยด่างของประวัติศาสตร์ของประเทศจีน แต่ในปัจจุบัน ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับสองของโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง รองจากสหรัฐอเมริกา และมีความต้องการที่จะก้าวสู่การเป็นอันดับหนึ่งมหาอำนาจของโลก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

สำหรับประเทศไทยนั้น ประเทศจีนถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินมาเที่ยวไทย ที่ได้สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาล แต่ในปี 2566 นี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะลดหวบลงไปอันด้วยปัญหาโควิด-19 ทั้งการใช้มาตรการ Zero Covid ที่ส่งผลให้ชาวจีนไม่พอใจอย่างมาก จนเกิดการประท้วงขึ้นในจีนนับแต่การประท้วงในจัตุรัสเทียอันเหมินในปี 2532  และผลจากการใช้มาตรการดังกล่าวที่ส่งผลให้ภาวะทางเศรษฐกิจจีนหดตัวลง บวกกับกำลังซื้อของคนจีนลดลง ทำให้การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการการควบคุมโควิดดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แน่นอนว่า ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่หากว่าในช่วงหลายปีมานี้ คนจีนเริ่มที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น การเข้ามาของร้านค้าจีน ร้านหม้อไฟหม่าล่า หรือหนักสุด “ธุรกิจจีนสีเทา” ทั้งการเปิดบ่อนกาสิโนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้กลายเป็นปัญหาที่สังคมไทยที่ต้องเผชิญ และก็เป็นปัญหาที่หนักใจสำหรับนักท่องเที่ยวจีน เพราะความหวาดกลัวในปัญหาดังกล่าว จนถึงขั้นมีการทำหนังจีนอย่างเรื่อง No More Bets (2566) ที่เล่าถึงกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนที่หลอกคนจีนมาทำงาน และปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีตีมหลังเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่หากมองให้ลึกลงไป เราจะเห็นเรื่องของการเมืองระดับชาติ ผ่านการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียของจีน อันเกิดจากการทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา โดยนำไปสู่ยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road Initiative)” ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการค้าและอำนาจทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคยูเรเซีย ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะครอบงำระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยจีน

อาจจะฟังดูยากและไกลตัวเกินไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประเทศลาวกับกัมพูชา ที่มีการลงทุนจากจีนในเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง โครงสร้างพื้นฐานอย่างเขื่อนไฮดรอลิก ทางด่วน ถนนในประเทศลาว ที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ และรวมถึงการลงทุนของธุรกิจจีนทั้งการสร้างโรงแรม บ่อนกาสิโนและอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา ที่เอาไว้รองรับทัวร์ท่องเที่ยวชาวจีนเอง อย่างเช่นเมืองติดชายทะเล สีหนุวิลล์

แน่นอนว่า ผลที่ตามมาของสองประเทศตัวอย่าง คือการที่ลาวอาจกำลังจะเจอภาวะเศรษฐกิจ “ล้มละลาย” ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินกีบที่ลดลงอย่างน่าตระหนก จากการที่รัฐบาลลาวไม่สามารถหาเงินใช้จ่ายหนี้ต่างประเทศที่ยืมจากจีนได้ โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ข่าว CNBC ของสหรัฐอเมริกา พบว่า

จากการคาดการณ์ของธนาคารโลก หรือ IMF พบว่า หนี้สาธารณะของประเทศลาว ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงถึง 122 % โดยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของจีนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมใหม่” หรือ One Belt And Road Initiative

ตัดมาที่กัมพูชา จีนได้ทำการขยายความสัมพันธ์ทางทหารกับกัมพูชา ทั้งการฝึกซ้อมรบ การเสริมสร้างกองทัพกัมพูชาโดยอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน และรวมถึงการปรับปรุงฐานทัพเรือเรียมในเมืองสีหนุวิลล์ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจีนอาจใช้เป็นฐานทัพลับในการปกป้องผลประโยชน์และเสริมความมั่นคงทางทะเลในแถบคาบสมุทธอินโดจีน

ในส่วนของเมืองสีหนุวิลล์ที่ควรจะได้เป็น “ลาสเวกัสของคาบสมุทธอินโดจีน” ก็ได้มลายหายไป อันเกิดจากการห้ามไม่ให้มีการเล่นกาสิโนนับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2019 และวิกฤตโรคโควิด-19 ที่เป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจของจีนไม่โตเท่าที่ควร ผลคือทำให้กาสิโน โรงแรมต่างๆ ถูกทึ้งร้างมากมายภายในเมืองสีหนุวิลล์ และอีกทั้งยังเป็นพื้นที่ของกลุ่มค้ามนุษย์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย

ความกังวลในหมู่คนไทยที่อาจกลัวการแย่งงานของชาวจีน หรือหนักถึงขั้นครองงำเศรษฐกิจประเทศ มีผลส่งต่อไปถึงมุมมองด้านการเมือง อย่างกรณีจีนกับไต้หวันที่มีความขัดแย้งในเรื่องปัญหาช่องแคบไต้หวัน ซึ่งก็ได้มีประเด็นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้

โดยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นดราม่าย่อมๆ ในโลกอินเตอร์เน็ต เมื่อหลังจากที่ทางเพจสถานฑูตสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย ได้โพสต์ถึงกรณีของสื่อโทรทัศน์ของประเทศไทย ได้สัมภาษณ์นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไต้หวัน  ถึงกรณีของปัญหาช่องแคบไต้หวัน และการสร้างสันติภาพในพื้นที่ดังกล่าว โดยทางเพจสถานทูตจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ออกโรงต่อว่าสื่อไทยดังกล่าวว่า สื่อไทยได้นำเสนอข้อมูลข่าวที่เป็นเท็จและ “เหลวไหล” และได้ตอบโต้นายอู๋เจาเซี่ยว่าเป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการแยกไต้หวันออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ และไม่เคารพหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่อยู่ภายใต้หลักการ “จีนเดียว”

เมื่อทางสถานทูตจีนโพสต์ข้อความดังกล่าวใน Facebook ก็ได้มีคนไทยเข้าไปพิมพ์โดยการใส่อิโมจิธงชาติประเทศไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) และพิมพ์เชียร์ไต้หวันประมาณว่า ไต้หวันเป็นประเทศ หรือ “Taiwan is a Country”

ในส่วนของคลิบบทสัมภาษณ์ระหว่างสื่อไทย (ทราบว่าเป็นThaiPBS) กับนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไต้หวันนั้น ได้พบว่ามีการลบคลิปออกไปแล้ว ซึ่งอาจมาจากผลพวงของการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวที่อาจทำให้ทางการจีนไม่พอใจ

โดยเนื้อหาสำคัญของการสัมภาษณ์ สามารถดูได้จากในเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย โดยเนื้อหาการสัมภาษณ์สรุปได้ว่า จีนกำลังพยายามที่จะยั่วยุไต้หวัน ทั้งการข่มขู่ทางการทหาร การใช้พื้นที่ทางการทูตบีบบังคับไต้หวันให้เหลือพื้นที่ในสมาคมโลกน้อยลง และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่จีนใช้กับไต้หวัน แต่นั้นก็ไม่ทำให้ชาวไต้หวันอ่อนข้อต่อการกระทำของจีน และเลือกที่จะปกป้องตัวเอง และในการสัมภาษณ์ก็ได้มีการพูดถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนอีกด้วย โดยไต้หวันจะสนับสนุนยูเครนในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเรียนรู้การต่อสู้ของชาวยูเครน เพื่อนำมาเป็นบทเรียนสำคัญของชาวไต้หวันในการปกป้องตัวเองจากการรุกรานของจีน และสุดท้ายทางประเทศไต้หวันยังขอให้ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ได้ตระหนักถึงการแข็งกร้าวของจีน และช่วยปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีนในอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เรื่องนี้อาจไม่ได้มีการพูดถึงเป็นวงกว้างนักในกรณีของจีน จนกระทั้งได้มีข่าวเรื่อง น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้มีการให้สัมภาษณ์นักข่าวถึงการจัดการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ที่เกิดจากปัญหาทุนจีนสีเทาที่หลอกคนจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวในไทย โดยการเสนอให้มีการนำตำรวจจีนมาร่วมทำงานกับทางการไทย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของชาวจีนที่มีต่อทางการไทย เพราะคนจีนกลัวตำรวจมาก

สื่อจีนอย่าง Global times (สื่อภาษาอังกฤษของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ก็ได้เขียนข่าวถึงกรณีของไทยได้เสนอแนวคิดนำตำรวจจีนมาช่วยดูแลนักท่องเที่ยวจีนในไทย ซึ่งแน่นอนว่า สื่อมีท่าทีที่เห็นด้วยกับการเสนอแนวคิดดังกล่าว

แต่หลังจากมีการเสนอข่าวออกไป กระแสสังคมก็ได้ตีกลับไปยัง ผู้ว่า ททท. ตำรวจ และนายกรัฐมนตรีฯ และถูกล้อว่าเป็นมณฑลไท่กั๋ว (ไทกั๋ว หรือไทยในภาษาจีน) เพื่อเป็นการสื่อถึงการโอนอ่อนต่ออำนาจจีนของไทย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง และถึงอาจกลายเป็นเมืองประเทศราชที่ต้องทำตามคำสั่งหัวเมืองใหญ่ และมีกรณีศึกษาในอิตาลีที่มีการรับตำรวจจีนมาช่วยในการดูแลนักท่องเที่ยวจีน อันมาจากความติดขัดทางด้านภาษาของตำรวจอิตาลีกับคนจีน แต่ในภายหลังได้ยกเลิกไป หลังจากมีกรณีของสถานีตำรวจลับจีน ที่ถูกนำมาใช้ในการข่มขู่ คุกคาม ผู้เห็นต่างชาวจีนให้กลับประเทศ แม้ว่าภายหลังทางอิตาลีจะมาแก้ต่างว่า ที่ต้องยกเลิกเพราะการมาของโควิด -19

ความหวาดกลัวนี้ถึงขั้นทำให้นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กับพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาประสานเสียงไม่เห็นด้วยที่จะมีตำรวจจีนเข้ามาทำงานในไทย เพราะมองว่าตำรวจไทยมีศักยภาพในการทำงานอยู่แล้ว และหากให้ตำรวจจีนเข้ามา ต่อไปตำรวจชาติอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาได้ ซึ่งต่อมาทางผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ออกมายกเลิกโครงการดังกล่าว และได้ขออภัยต่อสังคม

สิ่งที่เราได้มองหาจะหลายๆ เรื่องก็คือ การที่จีนได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างชัดเจน และความไม่พึงพอใจอย่างยิ่งของสังคมไทยที่จีนเข้ามามีบทบาทนี้ ราวกับว่าประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งของจีนไปแล้ว โดยไม่ต้องใช้กำลังทางทหารยึดมา แต่ใช้วิธีแบบ Soft Power อย่างการเข้ามาของทัวร์จีน และคนจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยในไทยมากขึ้น วัฒนธรรมการกินพวกหม้อไฟหม่าล่า ดูหนังจีน การเปิดกิจการบริาัทร้านค้าหรือเดินทางเข้ามาซื้อบ้านซื้อคอนโดอาศัยของคนจีนที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นได้จากพื้นที่ในกรุงเทพมหานครฯ อย่างเขตห้วยขวางที่มีการเข้ามาของคนจีน และร้านค้าที่มีภาษาจีนมากขึ้น จนถูกเรียกว่า นิวไชน่าทาวน์ (New Chinatown) ที่จะมาแทนที่ย่านเยาวราช หรือ Old Chinatown

และวิธีแบบ Hard Power อย่างการมีท่าทีทางการทูตที่แข็งกร้าว ดุดันไม่เกรงใจใคร ที่มีชื่อเรียกว่า การทูตหมาป่า หรือ Wolf Warrior Diplomacy อันมีส่วนมาจากการขยายอำนาจของจีนในทั่วโลก การทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน

มาที่กรณีของไทย หลายคนอาจจะจำได้ ในช่วงปี 2563 ที่มีดราม่าของไบร์ท วชิรวิชญ์ เมื่อแฟนสาวของไบร์ทได้แสดงความคิดเห็นหรือรีทวิตใน Twitter เชิงสนับสนุนไต้หวันและฮ่องกงเป็นประเทศ จนทำให้สถานฑูตจีนตอบโต้กับเหตุการณ์ดังกล่าว และมองว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ไม่สิ่งใดแยกได้

ผลคือการตอบโต้ของชาวเน็ตไทยที่มองว่าการกระทำของจีนเป็นเรื่องน่าขันและไร้สาระ จนทำให้เกิดการตอบโต้ไปมาระหว่างชาวเน็ตไทยกับกองกำลัง Wumao หรือ 50 Cent Army หรือ IO จีน ตามที่ชาวเน็ตไทยได้ตั้งชื่อไว้ จนเป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้งพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ที่ไม่ได้ตั้งใจ

และสุดท้ายนี้ สังคมไทยควรจะตระหนักถึงต่อภัยอันตรายของการขยายอิทธิพลของจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะมาด้วยทางตรงหรือทางอ้อม แต่ถึงอย่างไร ผู้เขียนก็ไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ของไทยกับจีนต้องขาดสะบั้นลง แต่หากต้องการสังคมไทย หรือรัฐบาลไทยนั้นมีหลังที่ตั้งตรง และกล้าเผชิญหน้ากับประเทศมหาอำนาจถูกฝ่าย ให้สมกับมีชื่อว่า “ประเทศไทย” หาใช่ทำอย่าง “มณฑลไท่กั๋ว” อย่างที่ใครๆ เขาล้อกัน และกำลังเป็นอยู่

แหล่งอ้างอิง : Komchadluek / Matichon / Matichon /ChineseEmbassyinBangkok / ChineseEmbassyinBangkok /BBC Thai / BBC Thai /Voathai /TheStandard / TheStandard /CNBC / Bangkokiznews / Researchcafe / Brandside / Workpointoday / Global Time / Roc-Taiwan

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า