fbpx

ปั้นยอดขายบน “TikTok” Show Don’t Sale-เน้นคุณภาพ-รักษาตัวตน

แอปพลิเคชัน TikTok เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายน 2559 จากนั้นอีก 2 ปีถัดมาก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีจุดเด่นคือการสร้างและแชร์คลิปวิดีโอสั้น ๆ ช่วงแรกเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นคลิปเต้นสั้น ๆ ลิปซิงค์เพลง คอนเทนต์ตลก จนกระทั่งการมาของโควิด-19 ทำให้แอปฯ นี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จากการที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่แต่บ้าน ผู้คนจึงหันมาอัดคลิป และแชร์ลงแอปฯ จนมีตำนานไวรัลเกิดขึ้นมากมาย ด้วยความนิยมดังกล่าวทำให้หลายแฟลตฟอร์มบนโลกออนไลน์พยายามปรับตัวให้เหมือน TikTok จนครั้งหนึ่งมีคนผุดแคมเปญใน Change.org เรียกร้องให้ Instagram หยุดพยายามเป็น TikTok เพราะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานแอปพลิเคชันโดยไม่รับฟังเสียงของผู้ใช้งาน  

ที่มาภาพ: เส้นทางเศรษฐี

บนเวทีเสวนาในงาน Upskill Thailand 2023 “จักรวาลสร้างอาชีพ” จัดโดยเส้นทางเศรษฐี ‘แอ๊ม’ ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต เจ้าของช่อง TikTok ‘การตลาดการเตลิด’ กล่าวถึงความนิยมของแอปพลิเคชัน TikTok ที่ทำให้แอปพลิเคชันใหญ่ยักษ์ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram และ YouTube ต้องหันมาเปิดตัวเลือกวิดีโอสั้น หรือ Short Video พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้ใช้งานหันมาทำคลิปสั้น ๆ ไม่กี่นาที ลงในบัญชีผู้ใช้ของตนเอง สะท้อนถึงความนิยมของผู้คนที่นิยมถ่ายวิดีโอสั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วพฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย

หากย้อนกลับไปราว ๆ เกือบ 10 ปีก่อน ครั้งหนึ่งแอปพลิเคชัน Socialcam ก็เคยได้รับความนิยม เกิดเป็นกระแสถ่ายคลิปกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่คงต้องเรียกว่าเป็นแอปพลิเคชันที่มาก่อนกาล เนื่องจากยุคนั้นสมาร์ทโฟนยังมีราคาสูง และคุณภาพของกล้องมือถือยังไม่ดีนัก พอถึงจุดหนึ่ง Socialcam ก็ต้องปิดตัวลงไป แต่ทุกวันนี้โครงสร้างพื้นฐานทางอินเตอร์เน็ตมีความพร้อม ประกอบกับราคาสมาร์ทถูกลงจนราคามือถือเครื่องแค่หลักพันก็สามารถสร้าง Content ดี ๆ ได้แล้ว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนนิยมหันมาทำเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอมากขึ้น

จากจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศไทยประจำปี 2565 จะพบว่า แอปพลิเคชัน TikTok อยู่ในอันดับ 3 ของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย โดยมีจำนวนผู้ใช้งานที่ 44 ล้านคน เป็นรองแค่ Facebook ที่มีจำนวนผู้ใช้งาน 60 ล้านคน และ Line จำนวน 45 ล้านคน ตามลำดับ แต่ที่น่าจับตาคือผู้ใช้งาน TikTok ที่เป็นวิดีโอสั้น มีมากกว่าผู้ใช้งาน YouTube ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นสร้างวิดีโอขนาดยาว

หากประเมิน ณ เวลานี้ ศรัณย์มองว่าผู้ใช้งาน TikTok น่าจะแตะอยู่ที่ 50 ล้านคน และหากเจาะลงไปยังสถิติผู้ใช้งาน TikTok ในประเทศไทยของปี 2565 จะพบว่าผู้หญิงใช้งานแอปฯ นี้มากถึง 60% ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ 40% 

เมื่อไปดูที่ช่วงอายุจะพบว่าผู้ใช้งานที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี อยู่ที่ 29.2% ผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี อยู่ที่ 34.8% ต่อมาเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุ 35-44 ปี อยู่ที่ 18.34% เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 22% เช่นเดียวกับกลุ่มอายุ 45-54 ปี ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 41% และกลุ่มสุดท้ายผู้ที่มีอายุระหว่าง 55 ปีขึ้นไปเป็นผู้เล่น TikTok อยู่ที่ 8.2% ตัวเลขเหมือนน้อย แต่เมื่อไปดูการเติบโตกลับพบว่า ผู้ใช้งานกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นมากถึง 75%

หากมองจากตัวเลขจะพบว่าสถิตินี้ระบุชัดว่า TikTok เป็นโลกของคนเจเนอเรชั่น Z อย่างแท้จริง เพราะตัวเลขผู้ใช้งานไปกองอยู่ที่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี แต่ตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้งาน 3 กลุ่มหลังที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก ๆ สะท้อนว่าคนวัย 35 ปีขึ้นไปเริ่มไหลมาเล่น TikTok มากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสของผู้ค้าออนไลน์บนโลก TikTok ที่ควรหันมาหาตลาดลูกค้าที่มีอายุมากขึ้น เพิ่มเติมจากสินค้าที่เน้นขายกลุ่มคนที่มีอายุน้อย เพื่อเพิ่มยอดขาย

ที่มาภาพ: uschamber.com

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้ที่จะลงมาสู่สนามการค้า TikTok ต้องมีความเข้าใจ ก็คือการทำงานของระบบอัลกอริทึม (Algorithm) หรือระบบการทำงานหลังบ้านของแอปพลิเคชันนี้ว่า TikTok มีระบบอัลกอริทึมที่เรียกว่า Content Graph ซึ่งเป็นระบบที่แอปพลิเคชันจะฟีดคอนเทนต์ให้กับผู้ใช้งานตามความสนใจ กล่าวคือ ต่อให้เราไม่ได้เป็นเพื่อนกับอีกคน แต่เราก็สามารถเห็นคอนเทนต์ของเขาได้ ซึ่งเกิดจากการที่ระบบ AI เป็นคนจัดสรรเนื้อหาที่เราสนใจมาให้ ด้วย Engagement โดยระบบ AI ของ TikTok จะจับกลุ่มเป้าหมายหรือคนที่ผู้ใช้งานกดติดตาม รวมไปถึงการกดไลก์ กดแชร์ และตรวจจับว่าผู้ใช้งานดูคลิปจบหรือไม่ จากนั้น AI ก็จะเป็นผู้ที่นำส่งคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ตรงกับความชอบของผู้ใช้งานมายังหน้าฟีดของ TikTok

ระบบดังกล่าวแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบของ Facebook ที่อัลกอริทึมทำงานแบบ Social Graph กล่าวคือต้องเป็นเพื่อนกันถึงจะเห็นคอนเทนต์ ให้น้ำหนักเรื่องความสนใจของเนื้อหาไม่เท่ากับเรื่องของผู้ใช้งาน ทำให้เนื้อหาเมื่อถูกเผยแพร่ใน TikTok จึงถูกมองเห็นมากกว่าแอปพลิเคชันอื่น 

“ไม่ว่าคุณจะ ‘ไม่ดัง’ มาจากไหนก็ตาม TikTok จะทำให้คนที่เป็น Nobody เป็นใครก็ไม่รู้โด่งดังขึ้นมาได้” ศรัณย์กล่าวถึงคำพูดของผู้บริหารแอปพลิเคชัน  TikTok 

จุดนี้เอง TikTok จึงเป็นแพลตฟอร์มสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้มีแสงในสังคม เหมาะกับการสร้างตัวตนขึ้นมาจากศูนย์ เพราะระบบของ TikTok ไม่สนใจว่าจะต้องมีผู้ติดตามเยอะถึงจะมีผู้ใช้งานอื่นมองเห็นคอนเทนต์ของเรา

ที่มาภาพ: femalefounderspace.com

เคล็ดลับขายของบน TikTok ให้ปัง

ด้วยคุณสมบัติของแอปพลิเคชันและพฤติกรรมของผู้คนที่นิยมดูและสร้างวิดีโอสั้นมากขึ้น TikTok จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับเหล่าพ่อค้าแม่ขายออนไลน์  

“ไม่ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน เราต้องไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าอยู่ ถ้าลูกค้ามาอยู่ใน TikTok ที่ทุกวันนี้มีผู้ใช้งานเกือบ 50 ล้านคน เราก็ต้องพาสินค้าเรามาอยู่ในแฟลตฟอร์มนี้” ศรัณย์เน้นย้ำถึงโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ค้าโดยเฉพาะเหล่า SMEs 

1. Show Don’t Sale

เทคนิคนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่หลายคนหลงลืม จงแสดงหรือสาธิตให้เห็นว่าสินค้าตัวนี้ใช้งานอย่างไร หรืออาจจะใส่เรื่องราวต่าง ๆ ลงไปในขณะสาธิตการใช้สินค้าเช่น ประสบการณ์ของผู้ค้า หรือที่มาที่ไปของสินค้า 

2. เน้นคอนเทนต์ ‘คุณภาพ’ มากกว่า ‘ปริมาณ‘

หลายคนหลงเข้าใจผิดว่าจำเป็นต้องลงคอนเทนต์ถี่ ๆ อย่าง 3 คอนเทนต์ใน 1 วัน แต่จริง ๆ แล้ว สัปดาห์หนึ่งลงแค่ 3 คอนเทนต์ก็พอแล้ว อย่าใช้ความถี่มากลบคุณภาพ เช่น การลงคลิปดิบ ๆ กล้องส่าย ๆ ไม่มีเสียงดนตรีประกอบ หรือ เนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพ เพราะทุกวันนี้ไม่มีคนดูแล้ว 

3. รีวิวจากผู้ซื้อ

ผู้ค้าต้องสร้างสินค้าและบริการที่ดีเพื่อให้ผู้ซื้อเกิดการสร้างรีวิวสินค้าที่ดีตามมา

4. สินค้าควรมีราคาที่ตรงตามนิสัยผู้ใช้งานใน TikTok 

ผู้ที่ซื้อสินค้าในแอปฯ นี้มักจะซื้อของในราคาอยู่ 3 ช่วง ได้แก่ ราคาต่ำกว่า 300 บาท ราคาต่ำกว่า 500 บาท และราคาต่ำกว่า 1,000 บาท ซึ่งหากเกิน 1,000 บาทสินค้าจะขายยากมากบน TikTok 

5. เรียนรู้กฎระเบียบอยู่เสมอ

สิ่งที่ต้องตระหนักอย่างหนึ่งเมื่อลงมาเป็นผู้เล่นในสนามการค้าบน TikTok ก็คือ แอปพลิเคชันนี้เปลี่ยนกฎเกณฑ์บ่อยมาก ผู้ค้าต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

6. ทีมงานต้องเข้าใจระบบของ TikTok

หลายร้านขายของบนแอปฯ นี้จนมีลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสาย ทำให้ต้องจ้างทีมงานมาไลฟ์สด ซึ่งเจ้าของร้านต้องถ่ายทอดประสบการณ์ให้ทีมงานมีความเข้าใจระบบของ TikTok อย่างถ่องแท้ก่อน

7. เลือกสินค้าที่เหมาะกับตัวเอง

ข้อนี้สำคัญมาก หลายคนอาจมองข้ามไปจนคิดว่าขายอะไรด็ได้ที่เขาบอกว่าขายดี แต่ผู้ค้าควรมีสินค้าที่เข้ากับตัวตน เหมาะกับตัวเอง

อ้างอิง Sentangsedtee – เส้นทางเศรษฐี

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า