fbpx

“ถ้าต้องสาบานว่าจะภักดีต่อกษัตริย์ เราขอสาบานจะภักดีกับแมวดีกว่า” ชาวอังกฤษเสียดสีหลังพบว่าต้องสาบานตน

“Not my king!”

“เป็นคำขอที่น่ารังเกียจ ตกยุค และดูหมิ่นประชาชน”

“ถ้ากษัตริย์ขอให้เราสาบานว่าจะจงรักภักดี เราขอสาบานว่าจะจงรักภักดีกับแมวดีกว่า”

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2023 ถือเป็นงานที่เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์และมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น ทั้งการตั้งคำถามถึงแขกรับเชิญที่จะมาร่วมงาน ข่าวคนดังอังกฤษปฏิเสธที่จะขึ้นแสดงบนเวที คำถามเรื่องงบประมาณกว่าสิบล้านปอนด์ที่ถูกใช้ไปในงานนี้ รวมถึงเสียงวิจารณ์ของ กลุ่มรีพับลิก หรือ กลุ่มสาธารณรัฐ (Republic) ที่รณรงค์ต่อต้านการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์มาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญคือการขอให้อังกฤษเปลี่ยนแปลงระบบการสืบราชสันตติวงศ์แบบเดิม ให้เป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเลือกตั้งประมุขแห่งรัฐแทน

นอกเหนือจากประเด็นที่ว่ามา เสียงต่อต้านของประชาชนบางส่วนยังมาจากถ้อยแถลงของ สำนักงานอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) ซึ่งเป็นผู้นำหลักของคริสตจักรแห่งอังกฤษ เชิญชวนประชาชนร่วมชมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและร่วม ‘ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท’ ซึ่งการสาบานที่ว่านี้แต่เดิมมีแค่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น 

นั่นหมายความว่ามีการเปลี่ยนกระบวนการในงานพระราชพิธี จากเดิมขุนนางสาบานต่อกษัตริย์ เปลี่ยนเป็นขุนนางสาบานต่อประชาชนแทน แล้วประชาชนที่ไม่เคยต้องสาบานต่อกษัตริย์ ก็จะต้องสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์และรัชทายาท

คำเชิญชวนให้ประชาชนถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เชิงลบทันที โดยความคิดเห็นส่วนใหญ่มองว่าล้าหลัง ไม่ทันยุคทันสมัย ไม่ควรมีอยู่อีกต่อไปในศตวรรษที่ 21 และไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นจะต้องอยู่ในงานพิธีบรมราชาภิเษก ก่อนจะพูดถึงความนิยมของชาวอังกฤษที่มีต่อราชวงศ์อังกฤษอีกครั้ง 

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งระบุตรงกันว่า เดิมทีความนิยมของกลุ่มรีพับลิกในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีน้อยมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มชายขอบ แต่พอเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเป็นสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสียงของกลุ่มรีพับลิกเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ มีประชาชนให้ความสนใจกับแคมเปญยกเลิกระบบกษัตริย์มากขึ้น และกลายเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่า 130,000 คน ยังไม่รวมกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีแนวคิดเดียวกัน 

ผลสำรวจของ YouGov องค์กรที่ทำโพลสำรวจความคิดเห็นหรือทัศนคติเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ แสดงให้เห็นว่าคนอังกฤษประมาณ 58% ยังคงสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าแบบสำรวจของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี มีเพียง 32% เท่านั้นที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ และอีก 38% ต้องการเห็นประมุขแห่งรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง 

เกรแฮม สมิธ (Graham Smith) ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มรีพับลิก มองว่าคะแนนสนับสนุนเกินครึ่งที่ YouGov ลงพื้นที่ทำแบบสำรวจ เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็นแบบจืดชืดไร้อารมณ์ร่วม เขาเชื่อว่าผู้คนที่อยากเข้าร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพราะแค่อยากเห็นหรืออยากเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ มากกว่าความรู้สึกเชื่อมั่นและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์

มุมมองของเกรแฮม สมิธ ตรงกับการที่สื่อมวลชนสัมภาษณ์ เอเดรียน แรมซีย์ (Adrian Ramsay) นักการเมืองจากพรรคกรีน (Green Party) ที่ระบุว่า ตัวเขาต้องการเข้าร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อยากเฝ้าดูช่วงเวลาสำคัญของชาติ แต่คำมั่นสัญญาที่ว่านั้นค่อนข้างล้าสมัย รวมถึงความคิดเห็นอื่นๆ ที่ระบุว่าประชาชนไม่ค่อยชอบการถูกขอให้สาบานตนต่อกษัตริย์เช่นกัน  

เสียงของสมาชิกกลุ่มรีพับลิกมองว่า การขอให้ประชาชนสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อชาร์ลส์และรัชทายาทเป็นเรื่องชวนหดหู่ ทั้งที่จริงๆ แล้วประมุขแห่งรัฐควรสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อประชาชนมากกว่า ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานของอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีระบุว่าคำสาบานนั้นเป็นแค่การเชิญชวน ไม่ใช่การบังคับ ไม่ใช่การคาดหวังว่าทุกคนจะต้องทำ

กระแสบนโซเชียลมีเดียต่อประเด็นดังกล่าวก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งคาดว่าเป็นแฟนหนังเรื่อง School of Rock (2003) เขียนข้อความว่า ‘ผมขอสวามิภักดิ์ต่อวงดนตรีของ Mr Schneebly’ 

ส่วนผู้ใช้งานทวิตเตอร์อีกคนใช้ชื่อบัญชี Louise (ลูอีส) เขียนข้อความว่า ‘ฉันไม่ได้อยู่ในยุคกลาง ฉันสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อตัวเองเท่านั้น …God save Louise.’

ผู้ใช้งานอีกรายแสดงความคิดเห็นเชิงขำขันว่า เขาจะให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อแมวของตัวเอง ในฐานะคนรับใช้ที่ต่ำต้อยของพวกมัน

กลุ่มรีพับลิกและประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีระบอบกษัตริย์ จะนัดหมายรวมตัวกันใกล้พื้นที่จัดงานในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ พร้อมกับสวมเสื้อสีเหลืองที่มีข้อความว่า Abolish the monarchy (ยกเลิกระบบกษัตริย์) และตะโกนใส่กษัตริย์ชาร์ลส์ว่า “Not my King.”

ที่มา : thethaiger / digitaljournal / theguardia

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า