fbpx

191 ปี การปฏิรูปเลือกตั้งของอังกฤษ ที่ไทยไม่เคยมองเห็น และไม่คิดจะมอง

ไปให้สุด หยุดไม่อยู่กับการที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระมหาดไทย ออกมาเปิดเผย สูตรการแบ่งเขตเลือกตั้ง อาจต้องนับประชากรที่อายุไม่ถึง 18 ปี และนับรวมชาวต่างด้าวในพื้นที่ด้วย ก่อนที่จะคำนวณ แบ่งสันปันส่วนเขตเลือกตั้งที่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาถึง ณ ขณะนี้ คนรับลูกอย่าง กกต.เตรียมรับไม่ต่อ ชงสูตรแบ่งเขตเลือกตั้งที่มหาดไทยโยนลูกมา ให้เข้าเป้าโดยฉลุย แต่ๆ โอละพ่อสิครับ ยุคนี้เทคโนโลยีโซเชียล นั้นแรง แถมการเมืองขณะนี้ชาวบ้านเขาตื่นตัว ล้วนจับจ้องรัฐบาลที่ได้ฉายาว่า “แปดเปื้อน” ตาวิเศษเห็นนะ ประชาชนเขาเห็นกันหมด ว่าทำอะไร อย่าให้มันเละทะไปกว่านี้เลย  

แหม่ The Modernist เราเห็นแล้วก็จี๊ด ต้องตีปี๊บร้องป่าวไปถึงสักหน่อย ว่าที่พี่ไทยทำแบบนี้ในปี 2566 อังกฤษเขามีการปฏิรูปครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1832 หรือ พ.ศ.2375 โอ้วโหวววว ห่างกัน 191 ปีเลยนะครับ ว่าแต่อังกฤษ ทำไมต้องฏิรูปเลือกตั้ง The Modernist พาทุกๆ ท่าน ไปดูต้นสายปลายเหตุกันเลยดีกว่า 

ที่มาแห่งการปฏิรูป

ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1295 ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 1 ยุคกลางของยุโรป ให้เพื่อนๆ นึกภาพ ยุคที่มีอัศวินขี่ม้าชนกันวุ่น หรือมีปราสาท มีเจ้าหญิงเต็มไปหมด กฎหมายอังกฤษเดิม แบ่งให้แต่ละมณฑลส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมสภา ที่เมืองหลวงได้ เมือง ละ 2 คน แต่ว่ากฎหมายที่ว่ามานี้ใช้มาจนถึง ศตวรรษที่ 19 ไม่ได้ปรับปรุงและแก้ไข ขณะที่พื้นที่ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง ไปมากมาย ไม่ว่าช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชาชนเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ กันหมด จนบ้านทุ่งประชากร เบาบาง ก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงการเลือกตั้งแต่อย่างใด จนกระทั่งพรรคการเมืองหนึ่งของอังกฤษ มีนามว่าพรรควิก เข้ามามีอำนาจ ทำให้พรรควิกเล็งเห็นปัญหา และนำไปสู่การปฏิรูปเขตเลือกตั้งที่เรียกว่า Great reform bill 1832 ให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรในที่สุด  

“ปฏิรูปอย่างไรไปดูกันครับ” 

คนล้นเมืองผู้แทนเท่าเดิม 

ไม่ว่าเมืองที่เราคุ้นหูชื่อเสียงเรื่องฟุตบอล อย่างเมืองแมนเชสเตอร์ หรือเมืองลีดส์ ในศตวรรษที่ 19 ต่างเติบโตเป็นเมืองใหญ่ แต่ๆๆ กลับไม่มีสิทธิส่งผู้แทนของตนเอง เข้าร่วมประชุมสภา เพราะในอดีตเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ กลับกันกฏหมายที่ยึดติดแต่อดีตแบบนี้ๆ (ไม่ได้จิกกัดนะครับ 5555) ทำให้มณฑล บางมณฑลของอังกฤษ อดีตเคยเป็นเมืองใหญ่ แต่ในศตวรรษที่ 19 คนหนีเข้าเมืองกรุงเหลือแต่ทุ่งใหญ่อันอ้างว้าง กลับมีผู้แทนถึง 2 คน งงไหมล่ะครับ ไม่รู้ว่านับคนต่างด้าวเข้าไปด้วยหรือเปล่า ไม่มีหลักฐานเสียด้วย มีก็น่าจะเอามาเปิดหน่อย เผื่อพี่ไทยจะได้อ้างได้ (ฮา) เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น นึกถึงภาพกรุงลอนดอน นะครับ สุดจะเป็นมหานคร ในยุคนั้น คนต่างชาติไกลโพ้นยังรู้จัก แต่ทั้งกรุงลอนดอน มีผู้แทนในสภา แค่ 4 คนเท่านั้น สุดแปลไหมละครับเพื่อนๆ  

เขตเลือกตั้งเน่า แม้กระทั่งเมืองใต้ทะเลยังมีสิทธิส่งผู้แทน 

ปัญหาที่หลายคนอ่านชื่อหัวแล้วก็ตกใจ เมืองใต้ทะเลจะส่งใครมาเป็นผู้แทนได้ล่ะ แต่ที่อังกฤษ เกิดขึ้นแล้วครับ เพราะสภาพภูมิประเทศของอังกฤษนั้น ติดทะเล แน่นอนว่าปัญที่เจอคือ น้ำทะเลกัดเซาะจนพื้นที่หาย ประชากรต้องทิ้งเมือง จนกลายเป็นเมืองร้างบ้างก็มี เช่นที่ มณฑลซัฟฟอล์ก เมืองนี้อยู่ก้นบึ้งทะเลเหนือไปแล้ว แต่ๆๆ ในกฎหมายเดิมยังระบุให้ส่งผู้แทนได้ถึง 30 คน ก็วุ่นนะสิครับ เมืองอยู่ในทะเล แล้วจะส่งใครมาเป็นผู้แทนได้ หรือจะส่งผีทะเล พลร่ม ไพ่ไฟ คำนวณมั่วซั่วเหมือน กกต.ไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้ 

เขตเลือกตั้งกระเป๋า เมื่อคนมีเงินควบคุมสิทธิ์เลือกตั้ง 

นึกภาพง่ายๆ ว่าอังกฤษได้ชื่อว่าเมืองผู้ดี แน่นอนว่ามีขุนนาง หรือผู้ทรงอิทธิพล เจ้าที่ดิน เต็มไปหมด เพราะฉะนั้นเขตเลือกตั้งหลายเขตมักมีอยู่ในอำนาจของกลุ่มคนเหล่านี้ และคนกลุ่มนี้มักคุมการลงคะแนนเสียงในเขตอิทธิพลของตนเองได้ตามประสงค์ การปฏิรูปในเรื่องนี้มักผ่านสภายากเสมอ เพราะมีทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม และ สมาชิกสภาขุนนาง (คล้าย สว. บ้านเรา) คอยต่อต้านอยู่เสมอ เช่น เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๓๑ พรรควิกซึ่งเป็นรัฐบาลคาดว่าร่างกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งจะถูกตีตกอีกเป็นครั้งที่ ๓ ดังนั้นจึงกราบทูลให้พระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงตั้งขุนนางใหม่ ๕๐ คน เพื่อจะได้มีสมาชิกที่เห็นด้วยกับนโยบายปฏิรูปอยู่ในสภาขุนนางมากขึ้นและฝ่ายตนจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในการผ่านร่างกฎหมาย ในขั้นแรกนั้นพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ทรงไม่ยินยอม จึงนำไปสู่การลาออกของรัฐบาลพรรควิก รัฐบาลชุดใหม่จากพรรคทอรี่ และด้วยแรงกดดันทั้งจากในและนอกสภาทรงยินยอมแต่งตั้งสมาชิกสภาขุนนางเพิ่มอีก ๕๐ คนเอิร์ลเกรย์และพรรควิกจึงกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง และในที่สุดจึงนำไปสู่การผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปการเลือกใหม่ได้สำเร็จ 

“เรียกได้ว่าการปฏิรูปดังกล่าวทำให้อังกฤษเปลี่ยนโฉมใหม่เรื่องการเลือกตั้งไปตลอดการ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้” 

พลิกสูตรเลือกตั้ง เส้นทางประชาธิปไตยอังกฤษ 

1.ยุบเขตเลือกตั้งเน่า เขตเลือกตั้งใต้อิทธิพล ๕๖ เขต ซึ่งมีประชากรน้อยกว่า ๒,๐๐๐ คน แต่เคยได้สมาชิกสภาสามัญ ๒ คน 

2.ลดจำนวนผู้แทนสภาสามัญที่อญุ่ในเขตที่มีประชากร ๒,๐๐๐-๔,๐๐๐ คน จาก ๒ คน เหลือ ๑ คน 

3.เพิ่มเขตเลือกตั้ง ๔๒ เขตมีจำนวนผู้แทน ๖๔ คน 

4.เพิ่มที่นั่งในสภาสามัญอีก ๖๕ ที่นั่ง เฉลี่ยทั่วทั้งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ-เวลส์-สกอตแลนด์-ไอร์แลนด์) 

5.ผู้แทนในมณฑลต่าง ๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก ๙๔ คน เป็น ๑๕๙ คน 

6.สมาชิกสภาสามัญมีทั้งสิ้น ๖๕๘ คน 

7.ลดข้อจำกัดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถือครอง ทำให้ผู้มีทรัพย์สินน้อย ๒๕๔,๐๐๐ ได้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๘๓๒  

8.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมือง เป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน มีที่พักอาศัย เสียภาษีบำรุงท้องที่ ๑๐ ปอนด์หรือมากกว่านั้นต่อปี ส่วนในเขตมณฑลต้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่ทำรายได้อย่างต่ำปีละ ๔๐ ชิงลิง และพักอาศัยในที่ดินที่ตนมีกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง  

9.กรณีเป็นผู้เช่ามีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นผู้เช่าทำสัญญาเช่าระยายาว ระยะเวลาของสัญญามีอายุการเช่า ๖๐ ปีขึ้นไป ทั้งสองกรณีต้องจ่ายค่าเช่าต่อปี อยู่ที่ ๑๐ ปอนด์เทียบเท่าหรือมากกว่าขึ้นไปต่อปี 

10.ผู้เช่าไม่มีสัญญาเช่า ถ้าจ่ายสัญญาเช่า ๕๐ ปอนด์ต่อปีหรือมากกว่าจึงมีสิทธิเลือกตั้ง 

11.ลดจำนวนวันเลือกตั้งจาก ๑๕ วัน เหลือเพียง ๒ วัน 

เห็นไหมครับว่าอังกฤษที่เป็นต้นแบบการปกครองของไทย ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง พอเขาเห็นปัญหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้สะดุด มีผลต่อระบอบประชาธิปไตย ผู้แทนราษฎร มักเล็งเห็นปัญหา และพร้อมแก้ไขเสมอ แต่สิ่งที่สำคัญคือการแก้ไขอะไรแล้ว มักไม่เอาปัญหาเดิมๆ เข้ามาใส่ หรือปัญหาใหม่ยังไงๆ ก็ไม่เอามาใส่ให้ปวดเศียรเวียนเกล้า เช่นปัญหา นับคนต่างด้าวเข้าไปในเขตเลือกตั้ง หรือปัญหาการนับคนที่ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าไป เพื่อคำนวณ เขตใหม่ เพราะมองแล้วว่าแค่นับประชากรให้ถูกอิงพื้นที่จริงก็ต้องใช้เวลานาน หลายคนอาจเถียง อ้าว นี่ไงใช้ทรัพย์สินในการกำหนดสิทธิผู้มีสิทธิเลืกตั้ง อย่าลืมนะครับ ศตวรรษที่ 19 ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็น GPS หรือดาวเทียมก็ยังไม่มี เขาก็หาวิธีทำยังไงก็ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงการเลือกตั้ง หรือแบ่งเขตให้เหมาะสมกับประชากร 

The Modernist คิดว่าเราต้องกลับมาคิดแล้วครับว่าประเทศไทยจะเอาอย่างไร กับการเลือกตั้งที่จะถึงจะอายอังกฤษเขาไหมที่ปฏิรูปการเลือกตั้งมาก่อนเรา 191 ปี หรือเราจะเถียงกันไม่จบไม่สิ้น เหมือนภายเรือวนไปในอ่าง แถมเล่นการเมืองที่สุดจะทน ใช้เทคนิคเล่ห์กล ทำยังไงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เช่นคำนวณ ส.ส.ปัดเศษบ้าง นับรวมต่างด้าวบ้าง รวมถึงนับคนที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งมาแบ่งพื้นที่บ้าง The Modernsit คิดว่าถ้าทำแบบนี้ต่อไปจริงๆ อังกฤษมีเลือกตั้งเน่า ประเทศไทยอาจมีเลือกตั้งที่เรียกว่า “โคตรน้ำเน่า” ที่น่าชิงชัง ที่เหม็นไม่น้อยกว่าท่อระบายน้ำก็ได้ 

เอาล่ะครับ เพื่อนๆ รู้สึกอย่างไร บอกเล่าแสดงความคิดเห็น ผ่าน TheModernist ได้นะครับ เพราะเราเชื่อว่าทุกๆ ความคิดเห็นของทุกคนล้วนมีความหมาย และสร้างสรรค์อนาคตของประเทศได้เสมอ แล้วพบกันครับ 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า