fbpx

เบรลล์บล็อก บ(ล็)อกทาง : สำรวจทางเดินผู้พิการในเมืองหลวง

หากพูดถึงผู้พิการทางสายตาในกรุงเทพมหานครก็คงพบเห็นได้ทั่วไป และส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพอย่างขายล็อตเตอรี หรือ เปิดหมวกร้องเพลง แต่ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม คนเหล่านี้จะต้องเดินทางไปมาเพื่อทำงานหาเงิน การเดินไปตามทางของคนตาบอดนั้นถือว่าค่อนข้างยาก ทั้งต้องหลบคน หลบสิ่งกีดขวาง หรือเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ขายหาบเร่แผงลอย ไหนจะต้องคอยระวังพื้นทางเท้าที่ไม่เรียบอีก อย่างไรก็ตาม ก็มีหนึ่งสิ่งที่ทำให้คนตาบอดสามารถเดินไปบนทางเท้าได้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนั่นคือ เบรลล์บล็อก (Braille Block) หรือที่เราเห็นบล็อกสีเหลืองๆ ที่อยู่บนทางเท้านั่นเอง

ปริพนธ์ นำพบสันติ หรือ “โบ๊ท JapanPerspective” เล่าถึงที่มาของเบรลล์บล็อกไว้ในหนังสือ “Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง” ว่ามีต้นกำเนิดมาจากชาวญี่ปุ่นชื่อ เซอิชิ มิยาเกะ ในปี 1965 และมีการทดลองใช้ในโรงเรียนสอนคนตาบอดในเมืองโอกายามะจนค่อยๆ แพร่หลายไปทั่วโลก หากเราลองก้มมองดูเบรลล์บล็อกจะเห็นว่ามีพื้นผิว 2 รูปแบบ คือ แบบมีลายเส้นนูนๆเป็นเส้นตรง และเมื่อนำบล็อกมาต่อกันจะสามารถนำทางให้คนตาบอดได้ และแบบที่สอง คือ เป็นลักษณะกลมๆ นูนๆ กระจายอยู่เต็มแผ่น ใช้เพื่อเตือนให้เปลี่ยนทิศทางหรือชะลอความเร็ว

นอกจากเบรลล์บล็อกจะช่วยนำทางคนตาบอดได้แล้ว ยังสื่อให้เห็นอีกว่าภาครัฐใส่ใจและให้ความสำคัญแก่กลุ่มผู้พิการทางสายตา และอยากให้กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ไม่ต่างจากคนธรรมดามากนัก แต่ในประเทศไทยหรือกรุงเทพมหานครเองยังถือว่ามีหลายพื้นที่ที่ไม่ได้มีการติดตั้งเบรลล์บล็อกอย่างทั่วถึง หรือติดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม วันนี้จะพาไปสำรวจพื้นที่ต่างๆในกรุงเทพฯกันว่าแต่ละย่านเอื้อต่อผู้พิการทางสายตามากน้อยแค่ไหน

ย่านชุมชนไม่มี โผล่อีกทีย่านธุรกิจ

ตามพื้นที่ชุมชนจะเห็นได้ว่ามีเบรลล์บล็อกลักษณะกลมนูนแค่หัว-ท้ายของทางเท้าเท่านั้นเพื่อให้คนตาบอดชะลอความเร็ว ระวังรถที่เข้าออกในซอย แต่ระหว่างทางไม่มีเบรลล์บล็อกแบบลักษณะนำทาง นอกจากนั้นพื้นที่ทางเท้าที่แคบบวกกับร้านแผงลอยที่ตั้งอยู่ อาจทำให้คนตาบอดต้องค่อยๆ เดินอย่างระมัดระวังมากที่สุด หากไม่มีคนช่วยนำทาง และตามซอกซอยก็ยังไม่มีการติดตั้งเบรลล์บล็อกทั้งสองรูปแบบ

ในทางกลับกันหากเป็นย่านการค้าใหญ่หรือย่านธุรกิจ เราจะเห็นเบรลล์บล็อกทั้งสองรูปแบบ ทั้งแบบนำทางและแบบเตือนชะลอความเร็ววางเป็นแนวยาว นอกจากนี้ บริเวณนี้ยังมีพื้นที่ทางเท้าที่กว้างอีกด้วย น่าจะสะดวกต่อคนตาบอดมากพอสมควรเพราะมีพื้นที่มากพอที่คนทั่วไปจะไม่มาเดินเหยียบหรือยืนขวางที่เบรลล์บล็อก

สุดเขตการให้บริการ…

ในพื้นที่ที่คนกรุงเทพฯ มารวมตัวกันมากที่สุดคือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นจุดคมนาคมทั้งขึ้นรถตู้ ต่อรถประจำทางที่ค่อนข้างใหญ่ ถึงแม้ว่าเราจะพบเบรลล์บล็อกทั้งสองรูปแบบ ทว่าเบรลล์บล็อกนั้นนำทางไปยังสิ่งกีดขวาง…ไม่อยากจะนึกเลยว่าหากคนตาบอดใช้นำทางแล้วเดินชนเข้ากับตู้รถเมล์จะเป็นอย่างไร 

เดินมาอีกหน่อยก็เจอกับเบรลล์บล็อกที่บอกมาตลอดทาง แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็สิ้นสุด! หมดหนทางไปต่อ แล้วแบบนี้คนตาบอดจะเดินต่อยังไงล่ะ นอกจากค่อยๆ คลำทางต่อไป บางจุดก็ดันมีคนวางของขวางไว้ หรือติดตั้งชิดที่นั่งรอรถประจำทางเกินไป

แถมอีกนิด เดินมาเรื่อยๆ ก็ไปเจอกับ ‘เบรลล์บล็อกยืน1’ อยู่ดีๆ ก็โผล่มา ไร้รอยต่อ ไม่อะไรกับใครและใช้งานไม่ได้…

การมีอยู่ของ ‘เบรลล์บล็อก’ อย่างมีคุณภาพที่สามารถใช้งานได้ ครอบคลุม และติดตั้งในพื้นที่ที่เหมาะสม สามารถสะท้อนให้เราเห็นถึงการให้ความสำคัญกับผู้พิการทางสายตาในสังคมไทยของภาครัฐ ทำไมบางพื้นที่ถึงมีครบทั้งสองรูปแบบ ทำไมบางที่ถึงติดตั้งในที่ที่ไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่เป็นย่านพลุกพล่าน หรือทำไมในซอยถึงยังไม่สามารถติดตั้งเบรลล์บล็อกได้ คำถามเหล่านี้อาจทำให้ประชาชนหลายคนแอบคิดว่าหรือจริงๆแล้ว ‘เบรลล์บล็อก’ มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตาให้ได้ใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป หรือมีไว้ตามระเบียบเท่านั้น?

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า