fbpx

สำรวจงาน “สัปดาห์หนังสือ 66” กำแบงก์พันมากี่ใบถึงจะพอช้อปหนังสือกลับบ้าน ?

ผู้คนทยอยเดินทางมารอที่หน้าฮอลล์ 5 – 7 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พร้อมถือถุงผ้า กระเป๋าย่ามที่ข้างในว่างเปล่า บ้างก็สะพายกระเป๋าเป้บางฟีบ บ้างก็นำรถเข็นหรือกระเป๋าเดินทางล้อลาก มายืนออบริเวณประตูทางเข้าก่อนเวลาเปิดให้เข้าชมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2566 ที่ในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงถัดมาพื้นที่ในกระเป๋าเปล่านี้จะถูกจับจองโดยหนังสือมากมาย 

มหกรรมหนังสือระดับชาติ หรือที่เราเรียกกันติดปากจนชินหูว่า งานหนังสือ งานประจำปีที่เสมือนเป็นหมุดหมายสำคัญที่เหล่าสำนักพิมพ์จะได้ใช้พื้นที่เปิดตัวหนังสือใหม่ ขนทัพนักเขียนนักแปลมาพบปะผู้อ่าน ขณะเดียวกันนักอ่านก็ได้จับจองหนังสือในราคาโปรโมชั่น มีโอกาสพบเจอหนังสือบางเล่มที่อาจขาดตลาดไปแล้วจากร้านหนังสือทั่วไป แต่กลับมาปรากฏให้เห็นภายในงาน เป็นโมงยามมหัศจรรย์ที่ได้เดินทอดน่องไล่ดูหนังสือไปทีละบูธ ท่ามกลางหนังสือมากมายตลอดทางเดินซ้ายขวาที่กำลังเพรียกหาเจ้าของ เรื่องราวนับล้านเล่มที่รอให้ผู้คนเปิดอ่าน หรือนำขึ้นไปประดับบนชั้นหนังสือที่บ้าน 

ความมหัศจรรย์ของหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอายุหลักพันปี ยังคงต้องมนต์ผู้คนอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย การเดินงานหนังสือจึงเป็นกิจกรรมประจำปี ที่หลายคนต่างตั้งตารอคอย แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในช่วงหลายปีมานี้ก็คือ ประเด็นเรื่องราคาหนังสือที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากว่าแพงขึ้น จากเมื่อก่อนแบงก์พันหนึ่งใบอาจพาหนังสือกลับบ้านได้ถึง 5 – 6 เล่ม แต่ปัจจุบันมากสุด ในกรณีนิยายแปล อาจจะพาหนังสือกลับบ้านได้เต็มที่จริง ๆ แค่ 3 เล่มเท่านั้น

งานหนังสือปีนี้ นักอ่านแต่ละคนพกเงินมาเท่าไร ?

จากการพูดคุยกับนักอ่านที่มางานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 พบว่าส่วนใหญ่แล้วแต่ละคนจะตั้งโควตาสำหรับการซื้อหนังสืออยู่ที่ 1,000 บาท เต็มที่ไม่เกิน 2,000 บาท โดยผู้ซื้อรายหนึ่งอายุ 25 ปี ซึ่งเป็นคอหนังสือวิชาการแนวการเมือง บอกกับทาง The Modernist ว่าตนนั้นสนใจหนังสือวิชาการเป็นอย่างมาก มักจะมางานหนังสือเกือบทุกครั้ง รวมไปถึงงานหนังสือย่อย ๆ ที่จัดขึ้นในระหว่างปี โดยงานหนังสือที่จัดขึ้นครั้งนี้ ตนได้หนังสือวิชาการทางการเมืองไปทั้งหมด 4 เล่ม ในราคาประมาณ 1,600 บาท 

ขณะที่เยาวชนกลุ่มหนึ่ง อายุ 16 ปี จำนวน 3 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้เดินทางมางานหนังสือในช่วงสายของวัน ระบุว่า ตั้งวงเงินมาซื้อหนังสือจำนวน 1,000 บาท แต่ก็เผื่องบเอาไว้ไม่ให้เกิน 2,000 บาท โดยได้หนังสือกลับไปจำนวน 5 เล่มด้วยกัน ซึ่งตนรู้สึกเลยว่าช่วงนี้หนังสือมีราคาแพงขึ้น แต่ก็เข้าใจดีถึงสถานการณ์ต้นทุนหนังสือที่สูงไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตีพิมพ์หรือค่าหมึกต่าง ๆ 

ส่วนนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบมาหมาด ๆ คนหนึ่งเปิดเผยว่างานหนังสือคราวนี้ได้ลิสต์รายการที่อยากได้มาเรียบร้อยแล้ว เป็นนิยายแปลจีนทั้งหมด โดยได้หนังสือกลับบ้านไปทั้งสิ้น 4 เล่ม ราคารวมประมาณ 1,500 บาท ซึ่งงานหนังสือครั้งที่ผ่านมาที่เพิ่งจัดไปเมื่อต้นปี 2566 ใช้เงินซื้อหนังสือไปทั้งสิ้นประมาณ 4,000 บาท ได้หนังสือมาทั้งหมด 8 เล่ม คละแนวกันไป ทั้งนวนิยาย หนังสือรวมรูปภาพ หรือ Photobook และวรรณกรรมแปลเล่มเล็ก ๆ ขณะที่เพื่อนซึ่งมาด้วยกับก็เล่าให้ฟังว่า ตนชอบอ่านการ์ตูน หรือมังงะ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมารู้สึกได้เลยว่าราคาขยับสูงขึ้น จากสมัยอยู่มัธยมต้น ราคาต่อเล่มจะอยู่ที่ประมาณ 40 – 60 บาท แต่ปัจจุบัน 90 บาท คือราคาขั้นต่ำของมังงะหนึ่งเล่ม บางเล่มราคาก็ออกสตาร์ทอยู่ที่ 140 บาท สำหรับบางเล่มที่มีลิขสิทธิ์แพงราคาจะทะยานพุ่งไปถึง 170 – 190 บาทเลยทีเดียว สำหรับการมางานหนังสือรอบนี้ ตั้งใจมาซื้อมังงะโดยเฉพาะ โดยพาการ์ตูนเล่มโปรดกลับไปได้จำนวน 15 เล่ม ด้วยงบประมาณ 2,000 กว่าบาท 

ราคาหนังสือที่แพงขึ้นกับจำนวนหนังสือเล่มที่ผู้อ่านสามารถซื้อได้ลดลงนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุใหญ่มาจาก อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่ไม่สอดรับกับรายได้ของคนไทย โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศของไทยที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 328 บาท ถึง 354 บาทต่อวัน โดยขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด นั่นหมายความว่าค่าแรงวันหนึ่งอาจซื้อหนังสือได้เพียงแค่ 1 เล่ม 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยก็ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะยิ่งเงินเฟ้อมากขึ้นแถมกินระยะเวลายาวนานก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าต่าง ๆ  ที่ขยับขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยภายนอกอย่างราคาน้ำมัน ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากน้ำมันถือเป็นต้นทุนพื้นฐานทุนอย่างในทุกอุตสาหกรรมการผลิตและเป็นต้นทุนที่แฝงเข้าไปอยู่ในรูปแบบของค่าขนส่ง ซึ่งในปี 2565 ระดับเงินเฟ้อของประเทศไทยสูงขึ้น 6.08% เป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี จากราคาพลังงานที่ตึงตัวมากขึ้น

เปิดมุมมองสำนักพิมพ์รายย่อย กับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

เพราะราคาหนังสือสัมพันธ์กับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ The Modernist ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของสำนักพิมพ์วรรณกรรมแปลแห่งหนึ่งที่มาออกบูธในงานหนังสือถึงเรื่องต้นทุนการผลิตและสาเหตุที่ทำให้ราคาหนังสือปรับตัวสูงขึ้น โดยจากการพูดคุยพบว่าต้นทุนการผลิตหนังสือมีหลายอย่างที่เข้ามาพัวพันเป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่ค่าลิขสิทธิ์ ค่านักแปล ค่าพิสูจน์อักษร ค่าออกแบบปก 

“ต้นทุนค่าทำปก เรทเราคาก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ศิลปินผู้ออกแบบ มีตั้งแต่ 5,000 บาทต่อหนึ่งปก ไปจนถึง 50,000 บาทต่อปกก็มี สำหรับศิลปินที่มีชื่อเสียง ส่วนเรื่องการทำพิสูจน์อักษรก็มีรายละเอียดที่ลึกลงไปอีก สำนักพิมพ์บางราย ใช้นักพิสูจน์อักษรมากถึง 3 คน ต่อหนึ่งเล่ม เพื่อความละเอียดถี่ถ้วน เพราะ 6 ตา ย่อมดีกว่า 2 ตาอยู่แล้ว ซึ่งการมีพิสูจน์อักษรเพียงคนเดียวอาจมีความเสี่ยงที่คำผิดอาจหลุดลอดสายตาออกไปได้”

อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนค่าจัดพิมพ์ เมื่อกระบวนการแปล จัดรูปเล่ม ออกแบบปกเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือการส่งสเปคหนังสือที่มีให้กับโรงพิมพ์ ว่าจะใช้กระดาษชนิดไหน เป็นปกแข็ง หรือปกอ่อน เย็บกี่ หรือไสกาว ราคาก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งการเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กการส่งหนังสือเพื่อจัดพิมพ์จะไม่ได้เห็นรายละเอียดต้นทุนยิบย่อยต่าง ๆ เพราะจะทราบแค่ราคารวมทั้งหมด แต่จากประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานอยู่ในสำนักพิมพ์ใหญ่ ก่อนปลีกตัวออกมาทำสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง เจ้าตัวกล่าวว่าต้นทุนการจัดพิมพ์หนังสือต่อเล่มของสำนักพิมพ์ใหญ่จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าสำนักพิมพ์รายเล็ก

“ในสำนักพิมพ์ใหญ่เขาจะมีฝ่ายผลิต แล้วฝ่ายผลิตก็จะเป็นผู้สั่งกระดาษเอง ส่วนโรงพิมพ์ก็จะเป็นผู้เตรียมการเข้าเล่มและกระบวนการอื่น ๆ ตามมา ซึ่งสำนักพิมพ์เจ้าใหญ่เขาสามารถสั่งกระดาษเข้ามาเป็นล็อตขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากมีจำนวนการพิมพ์ที่เยอะ ทำให้ได้ราคากระดาษที่ถูกกว่า เหมือนเวลาเราซื้อของยกแพ็ค ซึ่งแน่นอนว่าได้ราคาดีกว่าการซื้อปลีกอยู่แล้ว หากจะกล่าวให้เห็นภาพชัดขึ้นไปอีกก็คือสำนักพิมพ์รายย่อยเป็นการซื้อของแบบชิ้นเดียว ส่งผลให้ต้นทุนต่อเล่มจึงสูงกว่าเจ้าใหญ่ที่เขาสามารถสั่งซื้อของมาทีเดียวได้เป็นโกดัง” 

นอกจากนี้เจ้าของสำนักพิมพ์รายนี้ยังเล่าต่ออีกว่า สิ่งที่ดันเพดานให้ราคาหนังสือสูงขึ้นก็คือ ค่าสายส่ง ที่จะกระจายหนังสือไปตามร้านหนังสือต่าง ๆ ซึ่งก็จะถูกหักไปราว ๆ 42% – 45% จากราคาหนังสือ กลายเป็นปัจจัยการผลิตที่ทำให้ต้นทุนหนังสือต่อเล่มแพงขึ้น ทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก บางเจ้าเริ่มที่จะหันมาขายผ่านหน้าร้านออนไลน์เอง ประกอบกับบางรายเลือกที่จะไม่ส่งสายส่งก็เพราะไม่ได้พิมพ์หนังสือออกมาเยอะ จึงไม่คุ้มเสีย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยังตามมาเป็นต้นทุนอีกอย่างก็คือค่าขนส่งเอกชนที่ปรับราคาขึ้น บางเจ้าค่าจัดส่งอยู่ที่ 70 – 80 บาทต่อกล่องเลยทีเดียว  

“การที่หนังสือแพงขึ้น ผมว่ามันขึ้นอยู่กับค่าครองชีพด้วย เป็นไปไม่ได้เลยที่หนังสือจะถูก กระบวนการผลิตมันก็ต้องใช้คน มีเรื่องค่าแรงเข้ามาเกี่ยว โรงพิมพ์เองก็มีค่าใช้จ่ายอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนส่ง เงินเดือนพนักงาน ทุกอย่างมันกระทบกันไปหมด ปัจจุบันพิมพ์หนังสือเรื่องหนึ่งพิมพ์ 2,000 ก็หรูแล้ว หืดขึ้นคอกว่าจะขายหมด ทุกวันนี้สิ่งที่ยังทำให้ตัดสินใจเดินหน้าทำสำนักพิมพ์ต่อก็คือใจรักล้วน ๆ ” 

เจ้าของสำนักพิมพ์รายนี้ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ตอนนี้เริ่มมีความหวังกับวงการหนังสือไทยมากขึ้น จากนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลที่มีนโยบายส่งเสริมวงการหนังสือไทย โดยจะลดภาษีกระดาษเป็น 0% ซึ่งตนมองว่าจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวลดลง

ส่องนโยบายส่งเสริมตลาดหนังสือ

การส่งเสริม Soft Power ในส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือไทย มีหลัก ๆ อยู่ 5 ข้อด้วยกัน โดยมีนายจรัญ หอมเทียนทอง กรรมการภาคเอกชน เป็นตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาหนังสือ ซึ่งนโยบายที่เกี่ยวข้องมีดังนี้

  1. ลดภาษีมูลค่าเพิ่มกระดาษ 0%  ลดภาษีมูลค่าเพิ่มกระดาษและภาษีอุปกรณ์ศิลปะต่างๆ เหลือ 0% เพื่อลดต้นทุนในการพิมพ์หนังสือ
  2. ปลดปล่อยทุกจินตนาการ  หยุดตีกรอบ ไม่ปิดกั้นเสรีภาพ เลิกแบนหนังสือ ระเบิดทุกพลังสร้างสรรค์
  3. ขยายห้องสมุดทั่วประเทศ  พัฒนาห้องสมุดและขยายห้องสมุดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ถ้วนหน้า
  4. กองทุนพัฒนาหนังสือ นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ สามารถเข้าถึงทุนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ถูกกีดกัน
  5. แปลหนังสือไทยสู่สายตาทั่วโลก  สนับสนุนทุนการแปลหนังสือไทยเป็นภาษาต่างประเทศ และส่งเสริมการส่งออกหนังสือไทยสู่สายตาคนทั่วโลก

อ้างอิง : ptp / bangkokbiznews / workpointtoday / mol

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า