fbpx

รู้จัก 5 การทุจริตสะเทือนแผ่นดิน รับวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ

วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ วันที่ 6 กันยายนของทุกปี เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากความทุ่มเทของ นายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย ที่ทุ่มเทขับเคลื่อนสร้างความตื่นตัวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน จนกลายเป็นวาระระดับชาติที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาและป้องกัน โดยวันที่ 6 กันยายน ที่ถูกปักหมุดเป็น “วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ” มาจนถึงทุกวันนี้ มาจากวันเสียชีวิตของ อดีตประธานหอการค้าไทย เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผู้มุ่งมั่นในการสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมในการรับรู้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

วันนี้ Modernist รวบรวม 5 โครงการคอร์รัปชันที่น่าสนใจ มาให้ทุกคนได้ย้อนไปเรียนรู้ในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติมาฝากกัน


1. โฮปเวลล์ – ความหวัง ที่กลายเป็นหมดหวัง

โครงการโฮปเวลล์ (Hopewell) หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทางรวม 63.3 กิโลเมตร เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยมี บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐบาลไทย ในสัญญาสัมปทาน รัฐบาลให้สิทธิ โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายเอกชน ได้รับสัมปทานบริการเดินรถไฟบนทางยกระดับ การหารายได้จากระบบขนส่งสาธารณะในโครงการนี้ และสิทธิในการใช้ประโยชน์บนที่ดินของ รฟท. ที่มากถึงกว่า 600 ไร่ ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี รวมผลตอบแทนที่ได้ สูงถึง 3 แสนล้านบาท แลกกับการที่ โฮปเวลล์ จะลงทุนการก่อสร้างเอง ตามมูลค่าโครงการที่ 8 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นความหวังของการมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี แต่สุดท้าย กลายเป็นหวังที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ท่ามกลางปัญหาความปลอดภัยในการก่อสร้าง และปัญหาสภาพคล่องในช่วงปี พ.ศ. 2539-2540 และการก่อสร้างที่เดินหน้าไปได้แค่เพียง 13% โดยประมาณเท่านั้น ทำให้ในที่สุด รัฐบาล “ชวน 2” ของ นายชวน หลีกภัย บอกเลิกสัญญาเมื่อปี พ.ศ. 2541 และทำให้กลายเป็นกรณีพิพาทกันมายาวนาน

กระทั่ง วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำร้องที่ กระทรวงการคลัง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นอุทธรณ์ขอให้พิจารณาคดีใหม่ และมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ให้ รฟท. ชดเชยค่าเสียหายให้ โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม มูลค่ารวมกว่า 25,411 ล้านบาท โดยเป็นค่าชดเชย 11,888.75 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย 7.5% ซึ่งคำนวณตั้งแต่ ตุลาคม 2551 ถึง เมษายน 2562 โดยให้ชำระภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา


2. จัดซื้อ GT200 – ตำนานอุปกรณ์ลวงโลก

อุปกรณ์ตรวจหาระเบิด หรือ เครื่อง GT200 ที่หลายคนต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เริ่มต้นเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี 2546 จากการที่กองทัพอากาศให้บริษัทผู้นำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวเข้ามาทดสอบการใช้งาน จนกระทั่งปี 2548 กองทัพอากาศจัดซื้อเพื่อเข้ามาใช้งานในเบื้องต้น ณ เวลานั้น เครื่องนี้สามารถตรวจจับวัตถุระเบิดได้หลายต่อหลายครั้ง หลังจากนั้น ปลายปีเดียวกัน กองทัพบก โดย กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดซื้อเข้ามาใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการกองทัพบกในช่วงรัฐบาลนั้น เป็นรัฐบาลที่มีการจัดซื้ออุปกรณ์ GT200 เข้ามามากที่สุดถึง 547 เครื่อง และในช่วงเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศ นำเสนอข่าวว่า เครื่อง GT200 เป็นอุปกรณ์ลวงโลก ไม่สามารถใช้งานในการหาวัตถุระเบิดได้จริง ทำให้นายอภิสิทธิ์ เปิดทางให้ทดสอบความสามารถของเครื่องดังกล่าว จนกระทั่งผลการทดสอบจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกมา ระบุว่า เครื่อง GT200 ไม่มีความสามารถในการตรวจสอบระเบิดได้ และไม่ต่างอะไรกับการสุ่ม หลังจากนั้น กลายเป็นปัญหายาวนาน และยังมีความพยายามในการใช้เครื่อง GT200 ต่อไป

ท้ายที่สุด ตุลาคม 2560 ศาลแขวงดอนเมือง พิพากษาปรับ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำนวน 18,000 บาท และจำคุกนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำเลยที่ 2 ของคดีหลอกลวงขายเครื่อง GT200 เป็นเวลา 9 ปี และร่วมชดใช้ค่าเสียหาย รวม 6.8 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การได้ค่าเสียหาย 6.8 ล้านบาทก็ไม่ช่วยอะไร สุดท้าย กองทัพบก และประเทศ ต้องสูญเงินกับการซื้อเครื่องมือดังกล่าวไปถึง 1,134 ล้านบาท


3. โรงพักทดแทน 396 แห่ง – เสาแห่งความว่างเปล่า และเคราะห์ของคนฟ้อง

คดีโรงพักทดแทน 396 แห่ง อีกหนึ่งแผลของการทุจริตที่เกิดขึ้นช่วงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น เป็นผู้ถูกฟ้อง เพราะเป็นผู้อนุมัติโครงการนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยใช้วงเงินของโครงการก่อสร้าง “ไทยเข็มแข็ง” วงเงินสูงถึง 5,848 ล้านบาท (คิดเป็นวงเงินเฉลี่ยสถานีละ 14.7 ล้านบาท)

หลังจากมีการทยอยทิ้งงานของผู้รับเหมาที่รับทำโครงการนี้ ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ขึ้นมากมาย จนนำไปสู่การขุดรากถอนโคนของปัญหานี้ ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้าง จากเดิมจัดจ้างเป็นรายภาค เป็นการจัดจ้างแบบมัดรวมกันที่ส่วนกลางในครั้งเดียว และเกิดข้อสงสัยขึ้นว่า อาจมีการช่วยเหลือประโยชน์ให้กับบริษัทที่เข้ามาทำสัญญา

ขณะเดียวกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งมี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี DSI ณ เวลานั้น เริ่มสอบสวนคดีดังกล่าว กระทั่งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายต่อ สตช. และทางราชการอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แก่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคดีนี้ก็เงียบหายไปพักใหญ่ จนปี 2558 DSI แจ้งข้อหาคดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก แก่นายสุเทพ พร้อมพวกอีก 17 คน โดยนายสุเทพ ณ ขณะนั้น จะจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทำให้การตั้งพรรคของประชาชนมีปัญหา และทำให้ยื่นฟ้องนายธาริต ในคดีหมิ่นประมาท

คดีนี้จบลงด้วยการที่ นายสุเทพ และบริษัทผู้รับเหมาโครงการนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ไม่ถูกฟ้อง แต่นายธาริต ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการดูแลคดีนี้ กลับถูกศาลสั่งจำคุกคดีหมิ่นประมาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อปี พ.ศ. 2561 เป็นเวลา 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา


4. บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ – ค่าโง่ที่แลกกับความว่างเปล่า

บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2538 จากแนวคิดที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ณ เวลานั้น ต้องการริเริ่มระบบบำบัดน้ำเสีย และได้เริ่มโครงการขึ้น เมื่อปี 2540

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดเป็นข้อสงสัย คือ กิจการร่วมค้า NVPSKG ซึ่งเป็นการรวมบริษัทรับเหมาไว้ถึง 6 บริษัท แต่ในจำนวนผู้ร่วมค้า 6 ราย มีแค่ N รายเดียว ที่เป็นไปตามทีโออาร์ และได้ถอนตัวไป ก่อนการเซ็นสัญญา จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่ามีการทุจริตกันหรือไม่? และนำมาสู่การร้องเรียนจากภาคประชาชนให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว

ปี 2546 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้กำกับดูแล กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ณ เวลานั้น ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการดังกล่าว จนพบความผิดปกติหลายประการ และนำมาสู่การยุติโครงการและระงับการจ่ายเงิน ทั้งที่มีการจ่ายเงินไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท และโครงการเดินหน้าไปแล้วกว่า 95% ด้วยเหตุนั้น ทำให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการขอให้ไกล่เกลี่ยกรณีนี้ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้จ่ายเงินส่วนที่เหลือ

การดำเนินคดีต่าง ๆ จึงเริ่มขึ้น และลากยาวมานาน การดำเนินคดีอาญาที่ ป.ป.ช. เอาผิดนักการเมืองในคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคลองด่าน หนึ่งในนั้น คือ นายวัฒนา อัศวเหม รมช.มหาดไทย สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย พ.ศ. 2540 ซึ่งโดนดำเนินคดีถึง 2 คดีพร้อมกัน 

ขณะที่การฟ้องอนุญาโตตุลาการของ NVPSKG ผลปรากฎว่า คณะอนุญาโตตุลาการ สั่งให้รัฐจ่ายเงินค้างชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยกว่า 9 พันล้านบาทให้แก่ NVPSKG และในปี 2563 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ 2 อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ 1 อดีตผู้อำนวยการกองจัดการน้ำ คพ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ คพ. รวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากทั้ง 3 มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายในโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ดี โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่น่าสนใจ เพราะประเทศไทยต้องเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้อะไรกลับมาอีกตามเคย


5. ด่านมอเตอร์เวย์ “ทับช้าง” – โกงใต้พรม โกงซับซ้อน

คืนวันที่ 14 พ.ย. 2545 ด่านเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ ทับช้าง เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เมื่อกำลังตำรวจเดินทางเข้าจับกุมพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางประจำด่านฯ หลังได้รับรายงานว่า มีการโกงเงินค่าผ่านทางเกิดขึ้น

แม้ว่าเหตุการณ์การจับกุมดังกล่าว จะเกิดขึ้นแบบฉับพลันก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว การทุจริตในด่านเก็บค่าผ่านทาง มีความซับซ้อนมากกว่านั้น และหากคุณลองค้นหาบนออนไลน์ คุณจะไม่ค่อยพบเรื่องนี้บนเว็บไหนเลย ประหนึ่งเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เรื่องราวการโกงค่าผ่านทางมีความซับซ้อนและทำกันเป็นขบวนการ โดยการใช้ใบเสร็จรับเงินค่าผ่านทางที่ผู้ใช้บริการบางคนไม่รับ มาหมุนเวียนซ้ำ เพื่อนำใบเสร็จเก่า ให้ผู้ที่ต้องการใบเสร็จรับเงิน หรือถ้าซับซ้อนกว่านั้น คือ การให้ใบเสร็จรับเงินค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ กับผู้ใช้บริการที่เป็นรถ 6 ล้อขึ้นไป ซึ่งในความเป็นจริง ค่าผ่านทางจะสูงกว่ารถ 4 ล้อด้วยซ้ำ

การจัดการล้างบางการทุจริตครั้งนี้จึงเริ่มขึ้นในทุก ๆ ด่านเก็บเงินอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ด่านทับช้าง ทั้งการตรวจสอบระบบวงจรปิด ระบบคอมพิวเตอร์ และรายได้ค่าผ่านทางในช่วงก่อนหน้านี้ หนักสุด คือ การนำกำลังทหาร นั่งประจำแต่ละช่องเก็บเงิน เพื่อบันทึกสถิติจำนวนรถที่เข้า-ออก และนำข้อมูลต่าง ๆ มาเปรียบเทียบว่า ที่ผ่านมา สูญเสียรายได้ไปมาก-น้อยเพียงใด? ผลสรุปคือ สูญเสียรายได้ประมาณ 290 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครรู้ว่า ความเสียหายที่เกิดจริง จะไปสูงขนาดไหน

จากเหตุการณ์นี้ มีการขยายผลการสอบสวน จนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทั้งระดับผู้ช่วยผู้จัดการด่าน และพนักงานขายบัตร ทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว มีมูลความผิดร้ายแรงรวมกันถึง 132 คน และกรมทางหลวง มีมติเลิกจ้างทั้ง 132 คน


แม้ว่าการทุจริตต่าง ๆ เหล่านี้จะมาถึงจุดสิ้นสุด หรือ ยังคงต้องสอบสวนกันต่อไปก็ตาม สุดท้ายแล้ว ภาพเหล่านี้ก็ทำให้เห็นว่า การทุจริต ไม่เคยทำให้ชีวิตใครดีไปตลอดกาล


ที่มา:
https://thestandard.co/onthisday6sep/
https://www.bbc.com/thai/thailand-48010383
https://www.thairath.co.th/business/economics/1895557
https://www.bbc.com/thai/thailand-41636203
https://www.thairath.co.th/news/politic/1070190
https://themomentum.co/defaming-suthep-of-corruption-in396-police-stations-construction-project/
https://thaipublica.org/2015/11/klongdan-21-11-2558/
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/132601
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/20286
https://news.thaipbs.or.th/content/270781
https://www.youtube.com/watch?v=Tj5tP-2ypus

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า