fbpx

“อโยธยา” ในการรับรู้ของแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย ก่อนกรณี “โครงการรถไฟความเร็วสูง”

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน เมกะโปรเจ็กต์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนกับจะเจอเข้ากับตอปัญหาใหญ่ จากกรณีที่เส้นทางผ่านในตัว อ. เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา นั้นอาจส่งผลให้ “เมืองมรดกโลก พระนครศรีอยุธยา” ถูกถอดถอนจากการเป็นเมืองมรดกโลกจากยูเนสโก (UNESCO) รวมถึงโครงการก่อสร้างทางรถไฟอาจจะทำลายโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ยังไม่มีการขุดค้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟภายในพื้นที่ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นพื้นที่ของเมืองโบราณที่เชื่อกันว่าคือ “เมืองอโยธยา”

เมื่อพูดถึง “เมืองอโยธยา” หลายคนในที่นี้อาจจะไม่รู้จักชื่อดังกล่าวเพราะเป็นเมืองโบราณที่ไม่ได้มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือประวัติศาสตร์ชาตินิยม แต่หารู้ไม่ว่าการศึกษาค้นคว้าเรื่อง “เมืองอโยธยา” นั้นได้เกิดขึ้นพร้อมๆกับแนวคิดการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์กับโบราณคดีและการอนุรักษ์ในประเทศไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5

การศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์กับโบราณคดีและการอนุรักษ์ในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้ง “โบราณคดีสโมสร” หรือ “สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม” ที่ จ. พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2450 โดยจุดประสงค์ของการตั้งสมาคมดังกล่าวคือ “ศึกษาและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตของประเทศไทย เพื่อให้เกิดความรู้สึกรักชาติรักแผ่นดินเกิด” แนวทางการศึกษาค้นคว้าของรัชกาลที่ 5 นั้น คือการศึกษาค้นคว้าเมืองโบราณทุกเมืองที่อยู่ในอาณาเขตและดินแดนของประเทศไทยในขณะนั้น และไม่มีการแบ่งช่วงทางประวัติศาสตร์เป็นยุคสมัยต่างๆ คือ ยุคสุโขทัย อยุธยา ฯลฯ 

“เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใดชาติใดวงษ์ใดสมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเปนเรื่องราวของประเทศสยาม จับเดิมตั้งแต่ 1000 ปีลงมา เรื่องราวเหล่านี้คงจะต้องจับตั้งแต่เมืองหลวง ไนยหนึ่งเรียกว่าหาง ห้าง ฤาช้าง ซึ่งเปนที่ตั้งของชาติไทยแต่ต้นเดิม ลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุทธยาเก่า อยุทธยาใหม่ แลเมืองลโว้ ลพบุรี นครไชยศรี นครศรีธรรมราช ฤาเมืองซึ่งเปนเจ้าครองเมือง เช่น กำแพงพชร ไชยนาท พิศณุโลกย์ เมืองสรรค์ สุพรรณ กาญจนบุรี เพชรบุรี เหล่านี้เปนต้น บรรดาซึ่งได้เปนใหญ่ในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง แล้วรวบรวมมาเปนประเทศสยามอันหนึ่งอันเดียวนี้”

“ความหลงพระราชพงษาวดารนี้ทำให้ทอดธุระเสียว่าเรื่องราวของชาติแลประเทศเรา อยู่เพียงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา เรื่องราวที่เก่ากว่านั้นน่าจะพิจารณาก็ได้ละเลยทิ้งเสียทั้งสิ้น เพราะเหนว่าปีก็ล่วงถึง 400 , 500 ปี พอแก่ความปรารถนาที่จะรู้อยู่เพียงนั้นแล”

“ความเหนอันคับแคบเช่นนี้ตลอดจนถึงชั้นหลังที่สุดคือกรุงศรีอยุทธยาฤาอโยชฌิยา ซึ่งตั้งอยู่ ณ ฝั่งตะวันออกตรงปละท่าคูจาม (ประทาคูจาม) ที่พระเจ้าอู่ทองมาตั้ง ก่อนสร้างพระนครทวาราวดี ซึ่งมีเจดียฐานปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แลเปนที่เจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีได้ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นแทบทั้งนั้น เช่น วัดพนัญเชิง วัดใหญ่ไชยมงคล อันอยู่ในท่ามกลางพระนครเก่า วัดศรีอโยชฌิยาวัดเดิมซึ่งเปนคณะอรัญวาสีเหนือเมือง วัดกุฎีดาว วัดมเหยงคณ์ ซึ่งในอรัญวาสีฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง เปนต้น ทั้งที่เหนอยู่เช่นนี้ แลที่ได้ไปบุรณปฏิสังขรณ์ขึ้น” 

ข้อความบางส่วนจาก พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงเปิดโบราณคดีสโมสร

เมื่อวิเคราะห์พระราชดำรัสดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่า น่าจะมีเมืองโบราณที่ชื่อ “อโยธยา” ที่มีอายุเก่าแก่กว่ากรุงศรีอยุธยา โดยเมืองดังกล่าวตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงศรีอยุธยาด้านแม่น้ำป่าสัก โดยสังเกตได้จากโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังทรงเชื่ออีกว่า พระเจ้าอู่ทอง ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา น่าจะมาจากเมืองอโยธยามากว่าที่จะมาจากเมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี

พระราชดำริดังกล่าวนั้นขัดแย้งกับแนวคิดของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ที่ทรงเชื่อว่า พระเจ้าอู่ทองได้หนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง แล้วจึงก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชุดแนวคิดนี้ถือเป็นชุดแนวคิดที่มีอิทธิพลอย่างมากถึงขนาดถูกบรรจุเข้าไปในการศึกษาประวัติศาสตร์แบบกระแสหลักหรือประวัติศาสตร์ชาตินิยมมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนแนวคิดอโยธยาคือต้นกำเนิดของกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลที่ 5 นั้นค่อยๆ ถูกลืมและหายไปในกาลเวลา

ต่อมาในปี 2509 เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าเมืองอโยธยาอย่างจริงจังโดยมานิต วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรในขณะนั้นได้ทำการค้นคว้าจากเอกสารโบราณรวมถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏในขณะนั้นมาเรียบเรียงขึ้นเป็นบทความที่ชื่อว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีศรีอโยธยา” ซึ่งเป็นบทความที่มีลักษณะเล่าเรื่องราวของเมืองอโยธยาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเกือบๆ 300 ปี และมีความเกี่ยวเนื่องกับ “รัฐละโว้” เนื่องจากได้กลายเป็นเมืองหลวงของรัฐละโว้ในเวลาต่อมา ในตอนท้ายของบทความก็ได้มีการบันทึกรายนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองอโยธยาถึง 10 พระองค์ด้วยกัน และพระองค์สุดท้ายที่ครองเมืองนี้คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ยังเสนอแนวคิดที่ว่า กรุงศรีอยุธยาถือกำเนิดมาจากการรวมกันระหว่างรัฐละโว้ที่มีอิทธิพลอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กับรัฐสุพรรณภูมิที่มีอิทธิพลอยู่บริเวณทางด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยานั้นเป็นกษัตริย์เชื้อสายละโว้ ซึ่งภายหลังได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงจากรัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรได้กล่าวว่า “เมืองอโยธยา” คือ “รัฐละโว้” ด้วยเช่นกัน

การศึกษาค้นคว้าเรื่องเมืองอโยธยาหลังจากปี 2509 มีเพียงศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม เท่านั้นที่ทำการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ทว่าการศึกษาค้นคว้าเรื่องของเมืองอโยธยานั้นกลับไม่เป็นที่สนใจในแวดวงวิชาการมากนัก จนกระทั่งโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ปลุกความสำคัญของเมืองนี้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในบทความหน้าจะเสนอเรื่องผลกระทบของโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีต่อเมืองมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาและเมืองโบราณอโยธยาโดยกลุ่ม SAVEอโยธยา กลุ่มเคลื่อนไหวที่ออกมาคัดค้านการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมเนื่องจากโครงการดังกล่าวอาจจะทำลายคุณค่าที่สำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีในอนาคต

ผู้เขียน : ณัฐชนน จงห่วงกลาง

อ้างอิง : silpa-mag 1 2 / theactive / matichonweekly 1 2 / matichon

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า