fbpx

ตั้ง “พลเรือน” คุม “กลาโหม” เสถียรภาพบนฐานที่ไม่มั่นคง

“ท้ายที่สุดแล้ว หนังสือเล่มนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่การปฏิรูปกองทัพไปจนถึงยุคประชาธิปไตย ทหารในกองทัพไทยไม่เคยได้รับการปลูกฝังหรือสร้างสำนึกให้ตระหนักว่าพวกเขามีหน้าที่รับใช้ประชาชนและรัฐบาล ในทางกลับกัน พวกเขากลับถูกปลูกฝังให้เชื่อฟังพระมหากษัตริย์รวมไปถึงผู้นำเผด็จการที่มาจากกองทัพ”.

“ด้วยปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เราเข้าใจปรากฎการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย ว่าเหตุใดรัฐบาลพลเรือนจึงไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ ยิ่งกว่านั้นกลับต้องเตรียมตัวเตรียมใจที่จะถูกโค่นล้มอำนาจโดยกองทัพได้ตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของกองทัพรวมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์”

“ทว่าในทางตรงกันข้าม รัฐบาลทหารเผด็จการหรือรัฐบาลพลเรือนที่ยืนยันและแสดงออกอย่าชัดเจนว่าพวกเขามีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ก็จะรักษาเสถียรภาพทางการเมืองไว้ได้ โดยมีกองทัพคอยทำหน้าที่ค้ำจุน การเมืองไทยจึงมีสภาวะผันผวนสลับไปมาระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกับรัฐบาลทหารเผด็จการอยู่เรื่อยไป” 

ข้อความบางส่วนจากหนังสือ ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี โดย เทพ บุญตานนท์

ข้อความดังกล่าวข้างต้นบ่งบอกถึงสถานภาพของ “กองทัพไทย” ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหลังจากการสิ้นสุดอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการรัฐประหารวันที่ 16 กันยายน 2500 ที่กองทัพได้กลายเป็น “เครื่องมือ” ในการรักษาอำนาจของชนชั้นนำอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการรัฐประหาร 2549 และ 2557

เมื่อค้นดูทำเนียบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วก็พบว่า มีพลเรือนที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่เพียง 4 คนด้วยกัน นั่นคือ นายชวน หลีกภัย, นายสมัคร  สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยทั้ง 4 คนนี้มาจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน พรรคพลังประชาชน 2 คน และพรรคเพื่อไทย 1 คน 

เมื่อครั้งที่นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประกอบกับนายชวนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบคู่ไปด้วย ทำให้นายชวนมีนโยบาย “รัดเข็มขัด” ต่อกองทัพในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศปรับโครงสร้างกองทัพ ลดอัตรากำลังพล 80,000 อัตรา วางกฎขยับขึ้นนายพลไม่เกิน 1,000 คน เดินหน้ายุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น เช่น สำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร 3 เหล่าทัพ เหลือสำนักงานเดียว ไม่ให้เบิกงบลับ ส่วนกองทัพเรือ “ห้ามออกเรือฝึกซ้อมรบ” โดยให้เหตุผลประหยัดงบประมาณและน้ำมัน

การกระทำของนายชวนทำให้ผู้มีอำนาจในกองทัพหลายคนไม่พอใจอย่างยิ่ง ทำให้เกิดข่าวลือในขณะนั้นว่าอาจมีการรัฐประหารล้มรัฐบาลของนายชวน ทว่าก็ไม่ได้เกิดการรัฐประหารเนื่องจากเพิ่งผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 มาไม่นาน และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวงกลาโหมรวมถึงผู้บัญชาการทหารบกก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เป็นสาเหตุของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

ถึงแม้ว่านายชวนจะมีนโยบายรัดเข็มขัดกองทัพ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีการจัดซื้ออาวุธด้วยเช่นกัน นั่นคือการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 แทนเครื่องบินขับไล่แบบ F-18 ที่ทางกองทัพไม่มีเงินมาผ่อนชำระให้กับสหรัฐอเมริกา จนต้องโดนยึดเงินไป หรือการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ที่มีสถานะเปรียบเหมือนกองอำนวยการรักษาความมั่นคง (กอ.รมน.) ทางทะเล เพื่อดูแล สกัดกั้นการทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ และการส่งทหารไทยไปรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก เป็นต้น

ต่อมาในรัฐบาลของนายสมัคร  สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ได้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะการต่อต้านรัฐบาลจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และนอกจากนี้ ท่าทีของกองทัพโดยเฉพาะ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้กดดันให้รัฐบาลยุบสภาและลาออกเพื่อให้ความขัดแย้งทางการเมืองยุติลง

สำนักข่าวอิศราได้เขียนบทความวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตทางการเมือง  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็จะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปด้วยอีกตำแหน่ง เพื่อ “กระชับอำนาจ” ให้เข้ามาอยู่ในการดูแลของฝ่ายการเมืองอย่างใกล้ชิด จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาพบว่า คนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องมีแนวทางที่สอดคล้องกับรัฐบาลและต้องมีความเข้าใจในงานด้านการทหารพอสมควร หรือไม่ก็ต้องไปด้วยกันได้กับผู้นำกองทัพในยุคนั้นๆ ซึ่งกรณีที่นายสมัครและนายสมชายได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควบไปด้วยนั้นก็เพื่อ “กระชับอำนาจ” สร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล

ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ กองทัพคือกลไกของรัฐในการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด เพียงแต่ว่ากองทัพของประเทศไทยไม่ได้เหมือนกับประเทศที่ปกครองในระบอบเดียวกัน หรือมีสถานะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะสถาบันหลักของไทยมีความเชื่อมโยงกับกองทัพทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และอำนาจ 

ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ผ่านมาจึงถูกแต่งตั้งตาม “ฝ่ายจารีต” โดย เลือกจาก “นายทหารอาวุโส” ที่ผ่านการรับราชการในตำแหน่งระดับสูงของกองทัพมาก่อน แต่ต้องมีสายสัมพันธ์ของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในขณะนั้นในระดับที่ “ได้รับการยอมรับ”

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว การคัดเลือกตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้องฟังจาก “ผู้นำทางทหาร”  ยิ่งถ้าอำนาจกองทัพมีความเข้มแข็งมากขึ้นเท่าไร การเสนอบุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งให้ฝ่ายบริหารรับไปแต่งตั้งก็ทำได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นยุคที่ “บูรพาพยัคฆ์” มีอำนาจที่เข้มแข็ง ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็พร้อมใจเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามที่กลุ่มตัวเองหนุน

ต่อมาในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้มีพลเรือนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง นั่นคือ นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี โดยไทยรัฐออนไลน์ได้วิเคราะห์ว่า การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งนี้ก็เพื่อลดทอนอำนาจในกองทัพ โดยเฉพาะอิทธิพลของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ที่ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก

และนอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีกระแสการต่อต้านรัฐบาลจากโครงการจำนำข้าวกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างเสถียรภาพให้กับตนเอง โดยการดึงกองทัพเข้ามาเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองรัฐบาลที่กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการทุจริตในโครงการจำนำข้าวและนิรโทษกรรมนายทักษิณที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ. เหม่าเข่งดังกล่าวของรัฐบาล แต่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของรัฐบาลดีขึ้นแต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุป การที่พลเรือนเข้ามาควบคุมกระทรวงกลาโหมนั้น จุดประสงค์หลักคือ “การกระชับอำนาจ” ให้เข้ามาอยู่ในการดูแลของฝ่ายการเมืองอย่างใกล้ชิด หากพิจารณาจากข้อความในหนังสือข้างต้นและย้อนดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “กองทัพ” ไม่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ยกเว้นแต่การแต่งตั้งพลเรือนจากฝ่ายการเมืองเข้าไปควบคุมกระทรวงกลาโหมเพื่อกระชับอำนาจตามที่กล่าวข้างต้น

ดังนั้น จากกรณีที่พรรคเพื่อไทยให้นายสุทิน คลังแสง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ก็เพื่อกระชับอำนาจให้กองทัพใกล้ชิดกับรัฐบาลมากขึ้น พร้อมกับเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับชนชั้นนำโดยมีจุดมุ่งหมายคือ การสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลในอีก 4 ปีต่อจากนี้ ที่กำลังเผชิญกับมรสุมของการเปลี่ยนแปลงจากกรณีของพรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ผู้เขียน : ณัฐชนน จงห่วงกลาง

ที่มา : isranews / thairath / mod / prachatai / bangkokbiznews

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า