fbpx

“เสรีภาพไม่เท่ากับภัยความมั่นคง” เสียงยืนยันจาก “อันนา” นักเรียนเลวคนหนึ่ง

นับตั้งแต่การพังทลายเพดานการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเมื่อ พ.ศ. 2563 และเปิดศักราชแห่งการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน และแทบไม่ซ้ำรูปแบบ ก็ตามมาด้วยการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่เข้มข้นขึ้น พร้อมกับการตอบโต้จากฝ่ายรัฐที่เข้มงวดไม่แพ้กัน สถานการณ์อันตึงเครียดระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชน บีบให้คนรุ่นใหม่เพิ่มดีกรีความร้อนแรงในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

เราได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่หลายคนตัดสินใจอดอาหารขณะอยู่ในเรือนจำ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองและเพื่อนๆ และล่าสุด เราได้เห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งปีนรั้วเข้าไปเรียน หลังจากที่โรงเรียนไล่เธอออก โดยอ้างเหตุผลว่าเธอแต่งกายและทำสีผมผิดระเบียบ รวมทั้งไม่มีแม่ที่แท้จริงมารายงานตัวเข้าเรียน

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่ทั้งหนักแน่น จริงจัง และมีสีสัน “กลุ่มนักเรียนเลว” ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเยาวชนหลักที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทย และหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนี้ ได้แก่ “อันนา อันนานนท์” ที่เข้าร่วมขบวนการตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี จนกระทั่งบัดนี้ เธอมีอายุ 17 ปี เป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และล่าสุด อันนาได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมในการสนทนาระดับนานาชาติ ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ปี ปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นเวทีที่เธอได้สะท้อนเรื่องราวของเยาวชนที่เป็นนักกิจกรรมในประเทศไทย ให้ชาวโลกได้รับรู้

เด็กผู้หญิงที่ถูกอุ้มเพราะ “กินแมคโดนัลด์ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

อันนาเล่าให้เราฟังว่า ขณะที่เธอยังอยู่มัธยมต้น เรื่องราวการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนนักกิจกรรมและประชาชน เป็นเพียงข่าวตามสื่อต่างๆ ที่อยู่ไกลตัวเธอ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2563 ที่เธอได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่องราวเหล่านี้เริ่มขยับเข้าใกล้ตัวเธอมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเธอหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม บางคนโดนหมายเรียก บางคนถูกจับกุมตัว และในที่สุดก็เป็นตัวอันนาเองที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลายสังกัดคุกคามใน พ.ศ. 2565 ขณะที่เธอมีอายุเพียง 16 ปี ทั้งการติดตามคุกคามเธอและครอบครัว เข้าถึงที่พักอาศัย การสอดส่องเพื่อถามไถ่ถึงการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน และไปรับไปส่งตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลานานราว 1 เดือน

และเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุด คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565 ขณะที่อันนาและเพื่อนๆ กำลังรับประทานอาหารอยู่ในร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยน้ำหวานกว่า 20 – 30 นาย เข้าควบคุมตัวเธอและเพื่อนๆ โดยอุ้มพวกเธอออกจากร้าน ไปยังอาคารของกระทรวง พม. ก่อนจะย้ายไปควบคุมตัวต่อที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต นานกว่า 6 ชม. และถูกปล่อยตัวโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา อันนาเล่าว่า เจ้าหน้าที่ใช้ข้ออ้างเพื่อควบคุมตัวเธอและเพื่อนไว้ เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวจะมีขบวนเสด็จ และอันนากับเพื่อนเป็นบุคคลเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว

“แรกๆ เรากลัว ด้วยความที่ภัยคุกคามมันอยู่แค่หน้าประตูบ้านเราแล้ว วันนี้คือตำรวจมานั่งรออยู่หน้าป้ายรถเมล์แล้ว วันนี้ตำรวจไปบ้านตา ไปเคาะประตูบ้านแล้ว โดนครั้งแรกมันกลัว แต่โดนครั้งที่สอง มันกล้า พอโดนครั้งที่สอง เรารู้สึกว่าแล้วไง ก็คุณทำเราได้แค่นี้ มันไม่เหลืออะไรแล้ว ไปตามหาบ้านตาเราเจอขนาดนี้ เรารู้สึกว่าเราไม่มีอะไรให้ต้องกลัว” อันนากล่าวถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนจากความกลัวเป็นความชินชา พร้อมมองถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเธอ ที่อาจจะลงท้ายด้วยความตาย

“กรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คงตายแหละ แต่เราเชื่อว่ายังมีจุดที่เลวร้ายกว่านั้น คือการได้เห็นคนรอบตัวเราหายไปจากเรา คนรอบตัวเราอยู่ๆ ต้องลากันไป ติดคุก คือประเทศไทยก็มีคนโดนอุ้มหายเยอะ สมัย 6 ตุลา สมัยพฤษภาทมิฬ ถ้าวันหนึ่งมันเป็นเพื่อนของเรา หายไปทีละคน หายไปทีละสองคน อันนั้นก็เป็นเรื่องที่เลวร้ายกว่าเราตายเยอะ”

ถ้าเราไม่เปลี่ยนประเทศวันนี้ แล้วจะให้เรารออีกกี่ปีล่ะ ไม่งั้นก็ต้องมีสยาม ธีรวุฒิ คนที่สอง วันเฉลิมคนที่สอง หรืออาจจะมีอันนา 2 ที่โดนอุ้มเพราะกินแมค มีน้องหยก 2 ก็จะต้องมีหลายๆ คนอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็คือ มันก็ต้องจบในวันนี้แหละ ให้อันนาเป็นคนสุดท้ายที่ต้องติด watch list ให้หยกเป็นคนสุดท้ายที่ต้องโดน 112” อันนากล่าว

คนรุ่นใหม่สุดโต่ง หรือสังคมเปิดพื้นที่ไม่พอ?

เมื่อถามถึงสิ่งที่พัฒนามากขึ้นหลังกระแสการชุมนุมทางการเมืองเมื่อ 3 ปีก่อน อันนามองว่า ทุกวันนี้สังคมมีพื้นที่ในการถกเถียงมากขึ้น แม้ว่าปัญหาเดิมจะยังคงอยู่ก็ตาม และสิ่งที่ยังต้องปรับปรุง คือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กอย่างทรงผมนักเรียน สิทธิเสรีภาพในโรงเรียน สิทธิในการเลือกตั้งของพระสงฆ์ ส.ว. 250 คน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงกฎหมายมาตรา 112 ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี

คนต้องกล้าออกมาพูดถึงปัญหาก่อน และเราต้องกล้าพูดกับพรรคการเมืองว่า ในฐานะที่เราเลือกคุณมา เราอยากให้คุณแก้ปัญหานี้ และเราต้องซีเรียสกับคำนี้ เพราะว่าการที่เราเลือกพรรคการเมืองเข้าไป มันไม่ใช่แค่เราเข้าไปกากบาทแล้วก็จบ คือถ้าเข้าไปกากบาทแล้วจบ เรากากบาทใส่มือเราก็ได้ แต่พรรคการเมืองมีไว้สะท้อนเสียงของประชาชน เพราะฉะนั้น การกดดันพรรคการเมืองไม่ผิด” อันนาแสดงความเห็น

สำหรับประเด็นของ “หยก” เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพียงเพราะใส่ชุดไปรเวทและทำสีผม ซึ่งต่อมาโรงเรียนได้อ้างเหตุผลในการไล่ออกเพิ่มเติมว่า หยกไม่มีผู้ปกครองตัวจริงมารายงานตัวเข้าเรียน จนทำให้หยกต้องปีนรั้วและปีนหน้าต่าง เพื่อเข้าเรียนตามปกติ ภาพดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ หลายคนมองว่าเป็นการกระทำที่สุดโต่ง และไม่เคารพสิทธิของคนส่วนใหญ่ กรณีนี้ อันนากล่าวว่า

“กับคำถามที่ว่ามันดูรุนแรง ก็ต้องมองกลับไปว่ารัฐรุนแรงกับเขาก่อนหรือเปล่า หยกโดนจับไปขังตั้ง 51 วัน รัฐรุนแรงกับเขาหรือเปล่า ตะวัน แบม ก่อนที่เขาจะออกมาเคลื่อนไหว เขาแค่ตั้งคำถาม เขาก็โดนคดีได้ นั่นแหละ รัฐรุนแรงกับเขาก่อนหรือเปล่า

“วิธีการที่เป็นปัญญาชนไม่ใช่ single gateway ในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ก็ต้องย้อนกลับไปว่า ก่อนหน้านี้ ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง เป็นปัญญาชนไหม ก็ชุมนุมเฉยๆ แค่รวมตัว กินแซนด์วิชต้านรัฐประหาร อันนั้นแค่กินแซนด์วิชเฉยๆ ก็ปัญญาชนนะ คือปัญญาชนหรือไม่ปัญญาชนไหมไม่รู้ แต่ว่าสิ่งที่เขาได้รับกลับมาจากรัฐ ความรุนแรงที่เขาได้รับกลับมาจากรัฐ มันรุนแรงกว่า” อันนากล่าว

นอกจากนี้ หลังมีหลายคนแสดงความเห็นต่อกรณีของหยกว่า “เห็นด้วยกับแนวคิด แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ” คือเข้าใจและเห็นด้วยว่าควรยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียน แต่ไม่เห็นด้วยกับการที่หยกตอบโต้โรงเรียนด้วยการปีนรั้ว ประเด็นนี้อันนามองว่าเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ แต่ก็ควรช่วยกันผลักดันแนวคิดด้วย

“ถ้าเห็นด้วยกับแนวคิดแล้ว ก็ช่วยกันผลักดันแนวคิด เพราะว่าอย่างน้อยเราก็ยืนอยู่บนจุดเดียวกันว่า เรามีจุดร่วมบางอย่างที่เราต้องผลักดันให้สำเร็จไปด้วยกัน แต่ว่าถ้าไม่เห็นด้วยกับวิธีการ คุณก็จงลุกขึ้นมาทำด้วยวิธีการที่คุณเห็นด้วย คนละไม้คนละมือ ให้แนวคิดนั้นถูกผลักดันให้สำเร็จ”

“เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กทุกคนต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียนแบบหยก คือเด็กทุกคนก็มีวิธีแสดงออกแบบของตัวเองแหละ อย่างนักเรียนเลวก็คือทำมาทุกอย่างแล้ว เคยไปกราบกระทรวงด้วยซ้ำ แต่ว่าทำไมสิ่งนี้ไม่สำเร็จล่ะ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เราสู้กับรัฐ เราสู้กับความไม่เป็นธรรม พอเราสู้กับความไม่เป็นธรรม เราก็ต้องเรียกร้องหนักกว่าเดิม” อันนากล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอที่มีต่อโรงเรียนในกรณีความขัดแย้งครั้งนี้ อันนากล่าวว่า โรงเรียนต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนสามารถส่งเสียงของตัวเองได้อย่างปลอดภัย ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าสมัย และนำกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากโรงเรียน

และในยุคที่สังคมมีประเด็นที่ต้องเรียนรู้มากขึ้น บนพื้นที่ในการถกเถียงที่กว้างขึ้น และเรายังต้องอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้ต่อไป อันนาก็มองว่า

“เราดีใจที่มีพื้นที่เปิดให้เถียงกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยืนยันคือ ไม่ควรมีคนที่ออกมาเถียงแล้วโดนจับติดคุก คือจะเปิดพื้นที่เถียงก็ได้ แต่คนที่ออกมาเถียงทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันหมด ไม่ควรมีใครต้องมาติดคุก ติดคดี เพียงเพราะว่าออกมาเถียงกับคนอื่น ถึงแม้ว่ามันจะเป็นข้อเท็จจริงที่คนฟังแล้วอึดอัด ไม่สบายใจเลย แต่ว่าคนคนนั้นก็ไม่ควรติดคุกเพียงเพราะว่าออกมาพูด ใช้สิทธิเสรีภาพของเขา เราชอบด้วยซ้ำที่คนในสังคมเป็น active citizen มีอะไรก็ออกมาเถียงกันเลย” อันนาสรุป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า