fbpx

มัดรวมเทรนด์ที่น่าสนใจในวงการสร้างสรรค์แห่งปี 2024 จากเวที CTC 2023 ในที่เดียว

‘วงการสร้างสรรค์’ ในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมอันหลากหลายที่หลอมรวมกันเพื่อพัฒนาสังคมโลกให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ในยุคสมัยหลัง 10 – 20 ปีมานี้ ด้วยวิทยาการใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทำให้เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้าไปแบบก้าวกระโดด นั่นหมายความว่า มนุษย์เองก็ต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีเหล่านี้ และในบางทีก็อาจจะต้องก้าวนำหน้า เพื่อคาดการณ์โลกแห่งอนาคตข้างหน้าต่อไป

ด้วยเหตุนี้บนเวที ‘AP Thailand Presents Creative Talk Conference 2023’ จึงมี session ‘Trends 2024’ ที่แยกย่อยออกเป็น 5 แง่มุมที่แตกต่างกัน เพื่อเปิดฉากทัศน์ที่น่าสนใจในวงการสร้างสรรค์ ทั้งด้าน Creative, Marketing, Innovation, People และ Entrepreneur เพื่อทำให้ผู้คนมองไปยังอนาคตอันใกล้ได้ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง

เราเลยขอรวบรวมเทรนด์ทั้ง 5 ด้าน ที่น่าสนใจ และเป็นประเด็นที่คนทำงานยุคใหม่จำเป็นต้องตามให้ทัน จะมีประเด็นอะไรบ้างนั้น ไปดูกันได้เลย

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

Creative Trends 2024

ร่วมวิเคราะห์เทรนด์แห่งอนาคตในโลกครีเอทีฟโดย ‘ชวนา กีรติยุตอมรกุล’ Managing Director ‘CJ Worx’ และ ‘ฐิติพันธ์ ทับทอง’ Executive Creative Director ‘Brilliant&Million’

ในวงการครีเอทีฟยุคปัจจุบัน เป็นหนึ่งวงการที่ทำงานแข่งกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบความสนใจในการรับชมของคน จากที่เคยยอมอ่าน หรือดูเนื้อหายาว ๆ ก็อาจจะต้องทอนให้สั้นลง หรือต้องปรับวิธีการเล่าใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้ทันความสนใจของคน ที่พร้อมจะเบนสายตาออกจากเราไปได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ในการเข้ามาของนวัตกรรมใหม่ ๆ วงการสร้างสรรค์ หรือวงการโฆษณาก็ต้องตามเก็บเรื่องเหล่านี้ให้ทัน ไม่ว่าจะเป็น AI ที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ หรือ Vision Pro ที่ช่วยตอกย้ำเทคโนโลยีโลกเสมือนให้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น หลังจากที่โลกเรามีเทคโนโลยีจำพวก VR (Virtual Reality) AR (Augmented Reality) MR (Mixed Reality) หรือ XR (Extended Reality) มาก่อนแล้ว 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้เทรนด์ในวงการสร้างสรรค์ในปี 2024 มีความเคลื่อนไหว ดังนี้

1. Reality Technology จะยิ่งใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น

สาเหตุหนึ่งก็มาจากการเปิดตัวสินค้าหลาย ๆ อย่างที่คนทั่วไปสามารถซื้อมาใช้ได้ จำพวก VR หรือ Vision Pro ที่เพิ่งเปิดตัวไป ซึ่งจากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ อุปกรณ์เหล่านี้ยิ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เชื่อมโยงตัวมันเองกับประสาทสัมผัสทั้งห้าของผู้ใช้งานได้มากขึ้น และในแง่ของเทคโนโลยีต่อจากนี้ไป เจ้า Vision Pro ก็จะยิ่งมีเพื่อนมากขึ้นในตลาด ที่ทำให้ราคาถูกลง จับต้องได้มากขึ้น และอาจเป็นอุปกรณ์ที่คนซื้อติดบ้านกันทั่วถึงมากขึ้น

ดังนั้น วงการ Creative ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบเข้าไปเล่นในตลาดนี้ ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิด Business Transformation ตามมาด้วยก็เป็นได้

2. Human Interaction มนุษย์จะเริ่มถวิลหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

สืบเนื่องจากข้อก่อนหน้า พอเทคโนโลยีเหล่านี้มีแววจะปัง นั่นหมายถึงว่า ผู้คนอาจจะไม่จำเป็นต้องออกไปไหนอีกแล้วก็ได้ นั่งอยู่กับบ้านก็ติดต่อสื่อสารกับมนุษย์อีกฝ่ายได้เกือบทุกรูปแบบ จึงทำให้เทรนด์ในฝั่งตรงกันข้ามก็จะยิ่งมีบาร์ของความสนใจจากผู้คนที่อาจจะเท่ากัน นั่นคือการถวิลหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

เมื่อเทคโนโลยีค่อยๆ ผลักผู้คนให้ห่างกันมากขึ้น ทุกวงการสร้างสรรค์นับจากนี้จึงต้องมุ่งสร้าง ‘ประสบการณ์อันน่าจดจำ’ เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมกันกับผู้ชมให้ได้ เพราะคุณสมบัตินี้เป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถสร้างได้อย่างลึกซึ้งเท่ากับมนุษย์เป็นผู้สร้างเอง

ตัวอย่างที่เห็นชัดมากที่สุดคือสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้คนห่างเหินกันในทางกายภาพ และทำให้สังคมถวิลหาการออกมาเจอกันมากขึ้น คอนเสิร์ตที่เคยถูกหยุดไป ก็กลับมาจัดถี่เป็นดอกเห็ดเหมือนเก็บกด หรืองานศิลปะประเภท Installation Art ตามแกลอรี่ต่าง ๆ ก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเช่นเดียวกัน

3. H(AI)brid Workers ต้องติดสกิล AI ควบคู่กับสกิลการทำงานสร้างสรรค์

“AI ไม่ได้เข้ามาแย่งงานคนโดยสมบูรณ์ แต่คนทำงานที่ใช้ AI เป็น อาจจะเข้ามาแย่งงานคนทำงานที่ใช้ AI ไม่เป็นแทน”

ประโยคนี้จริงแสนจริงในยุคนี้ AI ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่เราจะต้องตามให้ทัน แต่มันเป็นตัวช่วยที่ดีในการสังเคราะห์ข้อมูลก่อนหน้าทั้งหมดบนโลกที่มีบันทึกไว้ เพื่อตอบคำถามที่เราต้องการได้ ซึ่งเป็นได้ทั้งการหาคำตอบสุดท้าย หรือการสร้างคำถามใหม่ที่เกิดขึ้นในใจเรา

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเอาสิ่งนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานหลักของวงการสร้างสรรค์หรือวงการการทำงานอื่น ๆ ยุคนี้ และถัดจากนี้ต่อไป ที่นอกจากคนทำงานต้อง Hybrid สกิลการทำงานอันหลากหลายให้ได้แล้ว ยังจำเป็นต้อง Hybrid ความสามารถของ AI เข้าไปเป็นอีกหนึ่งสกิลที่จะต่อยอดการทำงานของเราออกไปให้ไกลมากขึ้นในยุคพลวัตของวงการสร้างสรรค์เช่นนี้

4. Analytical Thinking คิดเชิงวิเคราะห์เป็นเมื่อไร ควบคุม AI ได้เมื่อนั้น

การคิดเชิงวิเคราะห์ถือเป็นอีกสกิลหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิดของผู้คนได้เป็นอย่างดี และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานยุคนี้ ถ้าเราคิด วิเคราะห์เป็น เราจะสามารถออกแบบเงื่อนไขในการสร้างสรรค์ของ AI ได้ เพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงจุด ชัดเจนมากขึ้นจากการตั้งคำถามไปหามัน

เราสามารถเริ่มต้นการคิดแบบนี้ได้ง่าย ๆ จากการตั้งคำถามว่า “ทำไม ?” เพราะทุกการเริ่มต้นว่า “ทำไม ?” จะช่วยสร้างความเป็นไปได้อีกมากมายไม่รู้จบ อาจจะลองตั้งคำถามจากความสงสัยใกล้ตัว แล้วค่อย ๆ ทำความเข้าใจ และหาคำตอบ รวมถึงคำถามต่อยอดใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วนั่นจะทำให้กระบวนการคิดของคุณกลายเป็นไอเดียสำหรับการสร้างสรรค์ต่อไป

Marketing Trends 2024

ร่วมวิเคราะห์เทรนด์แห่งอนาคตในโลกการตลาดโดย ‘สิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์’ CEO ประจำ ‘Content Shifu’ และ ‘สุนาถ ธนสารอักษร’ CEO & Co-Founder ของ ‘Rabbit’s Tale’

ด้วยสภาวะโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ที่ยากจะคาดเดา โลกของการตลาดที่ต้องสร้างลูกค้าให้มากที่สุดก็จำเป็นต้องศึกษาความแตกต่างเหล่านี้ ที่ยิ่งมีรายละเอียดของความสนใจแยกย่อยเต็มไปหมดด้วยความเข้าใจ

อีกทั้งประเด็นเรื่องความต่างระหว่างวัยที่ทุกวงการให้ความสำคัญ หรือประเด็นเรื่อง Value Gap (ความแตกต่างของการให้คุณค่าของผู้คนในสังคม) ที่เริ่มจะกลายเป็นคำตอบที่แน่ชัดขึ้นของความสนใจของมนุษย์ที่แตกต่างกันในสังคม ซึ่งอาจจะไม่ใช่การมองว่าคนอายุมากกว่า จะคิดแตกต่างกับคนที่มีอายุน้อยกว่าเสมอไป แต่คนต่างอายุที่คิดเหมือนกันก็อาจจะมีก็ได้ หากเขามีความสนใจในเรื่องคล้าย ๆ กัน

นั่นจึงทำให้แบรนด์ต้องเข้ามาประสานความเข้าใจ รวมถึงทำให้ทุกช่องว่างในสังคมใกล้ชิดกัน และยอมรับในการเดินเข้าหากันท่ามกลางความแตกต่างนั้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ใช่แค่ผู้คนในสังคมจะมีวิธีคิดที่แตกต่างออกไปเรื่อย ๆ แต่แบรนด์ที่ไม่เอาตัวเองลงมาเล่นในการตลาดแบบนี้ก็จะยิ่งมีวิธีคิดที่แตกต่าง และออกห่างจากผู้คนในสังคมด้วยเช่นกัน

จึงทำให้เทรนด์ในวงการ Marketing ที่น่าสนใจของปี 2024 มีดังนี้

1. New Economy, New Opportunities โอกาสใหม่ ๆ ในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ

ด้วยพลวัตทางสังคมที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี หรือประเด็นทางสังคมที่ทำลายกรอบเดิม ๆ ล้วนส่งผลให้เกิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น รถ EV สินค้าแห่งโลกอนาคตที่เป็นจริงแล้ว แต่ยังขาดแคลนระบบนิเวศที่รายล้อม จำพวกจุดชาร์จรถ หรือผู้ให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ยังรอการเติมเต็มในทุกมิติ

หรืออย่างกฎหมายจำพวกสุราก้าวหน้า หรือสมรสเท่าเทียม ที่จะทำให้โลกทางการตลาดก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ทั้งการครอบครองทรัพยากรของมนุษย์ขยับขยายขึ้นเป็นเท่าตัวจากใบทะเบียนสมรสที่จะมีมากขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจทางการเงิน หรือพื้นที่ทางธุรกิจในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะคึกคักและสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้อีกมาก ซึ่งล้วนแต่เต็มไปด้วยช่องทางแห่งโอกาสมากมายเต็มไปหมด

แม้แต่วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมที่มีจุดร่วมใกล้เคียงกัน ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นเทรนด์ที่สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับการตลาดบนโลกใบนี้ได้มากขึ้น

2. Privacy Policy ความเป็นส่วนตัวกำลังจะทำให้โลกของการตลาดยากขึ้น

เทรนด์สำคัญส่วนบุคคลในช่วงนี้ที่ไม่พูดไม่ได้เลยคือเรื่องของความเป็นส่วนตัว ในโลกออนไลน์ที่เรารู้จักคนได้ง่ายขึ้น ก็ยิ่งทำให้พื้นที่ส่วนตัวเริ่มน้อยลงไปทุกที มนุษย์จึงต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น หรือหากไม่ได้รับความยินยอม ก็จะไม่ได้รุกล้ำทุกพื้นที่ความเป็นส่วนตัวใด ๆ เลย

ในโลกการตลาดก็มีวิธีการเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของผู้คนผ่านสิ่งที่เรียกว่า Cookie ซึ่งเป็นวิธีการเก็บข้อมูลการเข้าเว็บนู้นเว็บนี้ของเรา เพื่อนำไปต่อยอด ปรับปรุง หรือพัฒนาด้านเนื้อหา และทำการตลาดให้ตรงใจเราต่อไป

โดยในปีหน้าจะมีหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สิ่งนี้เป็นปัญหากับคนในวงการมาร์เก็ตติ้ง นั่นคือการที่ Google Chrome จะนำ ‘3rd Party Data’ หรือข้อมูลผู้ใช้ที่รวบรวมและสรุปผลมาจากหลายแหล่ง แล้วธุรกิจสามารถซื้อข้อมูลเพื่อใช้ยิง Ads โฆษณา ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจมากที่สุด ออกไปจากหน้า Chrome

นั่นจึงทำให้สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับนักการตลาดในยุคที่กำลังจะถึงนี้ คือการที่สามารถเก็บข้อมูลจำพวก ‘Zero-Party & First-Party Data’ หรือข้อมูลด้านความชอบของผู้ใช้งาน และข้อมูลส่วนตัวพื้นฐานของผู้ใช้งาน จำพวกชื่อจริงหรืออีเมลไว้ได้เอง ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ใช้ทำการตลาดได้แบบไม่ต้องแบ่งใคร ใครมีข้อมูลส่วนนี้เยอะ ก็จะได้เปรียบเยอะด้วยเช่นเดียวกัน

3. Martech Connection การเชื่อมโยงเทคโนโลยีแห่งโลกการตลาดให้ทำงานร่วมกัน

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า Martech คือซอฟต์แวร์ที่นักการตลาดนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาด เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวในการวางแผน ดำเนินการ และวัดผล ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยทำให้งานของนักการตลาดง่ายยิ่งขึ้น

ในรอบปีที่ผ่านมา โลกของซอฟต์แวร์ทางการตลาดเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนคนทำงานได้เป็นอย่างดี แต่จะยิ่งดีกว่านั้น หากผู้ใช้งานสามารถเชื่อมโยงชุดข้อมูลทั้งหมดของแต่ละซอฟต์แวร์ระหว่างกัน เพื่อทำให้ข้อมูลแต่ละชุดโอนถ่ายไปตามแต่ละโปรแกรมที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน และหากเจ้าโปรแกรมเหล่านี้สนับสนุนกันเอง ก็จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำการตลาดยุคใหม่เติบโตขึ้น

ฉะนั้นใครก็ตามที่เชื่อมโยง Martech เหล่านี้ได้ นั่นจะเป็นแต้มต่ออย่างมากในวงการมาร์เก็ตติ้งต่อไป

4. The Rise of Offline Event ฟื้นคืนชีพงานอีเวนต์หลังวิกฤตโลก

ประเด็นนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกับเทรนด์ของฝั่งสร้างสรรค์ นั่นคือการที่มนุษย์ถวิลหาการออกมาเจอกัน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง พื้นที่ของการเจอกันบนโลกออนไลน์ยังเป็นเรื่องรองเสมอในสังคมมนุษย์

เม็ดเงินทางการตลาดหลังวิกฤต COVID-19 อันดับต้น ๆ ในพื้นที่ออฟไลน์ จึงถูกจับตามองไปที่โลกของงานอีเวนต์ ที่สามารถทำให้เราเห็น Engagement ที่ไม่ได้เป็นเพียงอวาตาร์บนโลกออนไลน์ แต่เป็นมนุษย์จริง ๆ และยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับผู้ใช้งานที่อาจจะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าประจำของแบรนด์นั้น ๆ ได้ด้วย

5. Affiliate Marketing การตลาดช่วยขาย คนขายได้เงิน คนช่วยขายก็ได้ส่วนแบ่ง

อีกหนึ่งรูปแบบการตลาดที่มาแรงมาก ๆ ในยุคนี้คือการตลาดแบบช่วยขาย ซึ่งถ้าให้อธิบายแบบง่าย ๆ ในมุมคนซื้ออย่างเรา ก็คือพวกคลิปใน TikTok ที่รีวิวสินค้า อาจจะทำอาหารให้ดู โม้ให้ฟัง ใช้ให้เห็นกันจะ ๆ แล้วบอกท้ายคลิปว่าทิ้งลิงก์สั่งซื้อไว้ด้านล่าง แล้วเราก็หลงกดสั่งกันไม่ยั้งมือ นั่นแหละคือการตลาดช่วยขาย

สิ่งนี้กำลังเป็นรูปแบบการตลาดที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในยุคที่อินฟลูเอนเซอร์ดัง ๆ มีอยู่มากมายในหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งก็มีบุคลิก ความสนใจ หรือกลุ่มของฐานคนดูที่แตกต่างกันออกไป แต่รับรองได้ว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงได้มากพอสมควร

การตลาดช่วยขายจึงเป็นทางออกที่ดีของแบรนด์ในการต่อสู้กับการตลาดในยุคนี้ การทำให้คนมองเห็นสินค้าหรือแบรนด์เรามากขึ้นจากคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว และอาจจะดีไปกว่านั้นถ้าคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วเกี่ยวข้องกับแบรนด์ของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็จะทำให้สินค้าของเราขายดี ในทางเดียวกัน อินฟลูเอนเซอร์คนนั้น ๆ ก็จะสร้างรายได้ให้ตัวเองได้อีกด้วย วิน-วิน กันทั้งสองฝ่าย

6. สกิล 3 ร. ที่จะทำให้โลกของการเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

– เรียนรู้ที่จะ ‘เรียนรู้’: นี่คือสกิลที่สำคัญที่สุดของนักการตลาดแห่งอนาคต เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว เราต้องตามให้ทัน ถ้ามัวแต่อยู่กับที่ ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็จะไม่ไปไหน

– เรียนรู้ที่จะ ‘เลิกรู้’: ความรู้บางอย่างที่เคยรู้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจจะเก่าเกินกว่าจะใช้กับโลกยุคนี้แล้ว อย่ายึดติดกับชุดความรู้เดิม ๆ เพราะมันอาจจะทำให้คุณช้ากว่าคนอื่น

– เรียนรู้ที่จะ ‘เลิกเรียน’: โลกนี้มีความรู้ให้เลือกเรียนอยู่หลากหลาย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราไม่ได้จำเป็นต้องเรียนมันทุกอย่าง เพื่อให้รู้ทุกอย่างอย่างถ่องแท้ ลำดับความสำคัญของชุดความรู้ที่สมควรจะถูกโยนเข้าคลังสมอง อันไหนควรรู้ก่อนก็รีบเก็บเกี่ยว อันไหนที่อาจจะไกลตัว ก็รู้เท่าที่พอรู้ก็เพียงพอแล้ว

Innovation Trends 2024

ร่วมวิเคราะห์เทรนด์แห่งอนาคตในโลกนวัตกรรมโดย ‘ศุภเดช สุทธิพงศ์คณาสัย’ อดีตพิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทคและล้ำหน้าโชว์, ผู้ก่อตั้งบริษัท ‘VR Online Co.,Ltd.’ และ ‘ที่รัก บุญปรีชา’ หรือ ‘พี่หลาม จิ๊กโก๋ไอที’ แห่ง ‘ล้ำหน้าโชว์’

โลกแห่งนวัตกรรมในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงจะหนีไม่พ้นการเปิดตัว ‘Vision Pro’ นวัตกรรมแว่นวิเศษแห่งโลกอนาคต ที่สั่นสะเทือนคนในวงการนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่ใช่น้อย และก็เป็นที่จับตามองทั้งในหมู่คนวงการไอที หรือคนซื้อเองที่เริ่มมีไอเดียเก็บเงินสำหรับซื้อเจ้านวัตกรรมนี้แล้ว

แต่เรื่องของนวัตกรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่จีรังยั่งยืนจริง ๆ นัก หากย้อนกลับไปไม่นานนี้ ‘Metaverse’ ‘Cryptocurrency’ หรือ ‘NFT’ ก็เป็นนวัตกรรมล้ำโลกที่ทำให้ผู้คนในสังคม hype กันมาก ๆ แต่ hype กันได้ไม่นานความนิยมก็ซาลงอย่างเห็นได้ชัด

Vision Pro จึงเป็นอีกหนึ่งกรณีที่น่าจับตามองในกระแสโลก ว่าผู้คนในสังคมสนใจสิ่งนี้กันจริง ๆ หรือมองมันเป็นเพียงนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่มาแล้วเดี๋ยวก็ไป และสะท้อนถึงนวัตกรรมอื่น ๆ ที่ต่อยอดจากกระแสความสนใจตรงนี้ ว่าอนาคตข้างหน้า โลกนวัตกรรมจะพาเราไปเจอกับสิ่งของวิเศษอะไรต่อไปได้อีกบ้าง

นี่จึงนำมาซึ่งการมองเทรนด์ในวงการ Innovation ที่น่าสนใจของปี 2024 ที่ประกอบไปด้วยเรื่องดังต่อไปนี้

1. AI as a Service กำเนิดเอไอเฉพาะทาง ที่ใช้สร้างเฉพาะเรื่อง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ AI กลายเป็นที่นิยม นั่นคือการที่ AI ถูกพัฒนาขึ้นในนามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ใช้ AI เป็นตัวสร้างสรรค์คอนเทนต์ขึ้นมา แต่อยู่ภายใต้ ‘วิธีการ’ และ ‘รูปแบบ’ ของข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่แตกต่างกัน อย่างเช่น AI สำหรับการสนทนาถามตอบ หรือ AI สำหรับประดิษฐ์ภาพวาดเสมือนจริงขึ้นมาเพียงแค่ใช้คำสั่งตามเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นได้

นั่นแสดงให้เห็นว่า AI สร้างสรรค์และประมวลผลอะไรก็ย่อมได้ทั้งนั้น เพียงแต่ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเริ่มต้น ทำให้ผู้สร้างสรรค์ยังพัฒนา AI ให้สร้างอะไรที่ดูเป็นงานด้านสร้างสรรค์เสียส่วนใหญ่

จึงเกิดการคาดการณ์ว่าในอนาคตข้างหน้า จะมีการสร้าง AI เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านที่เจาะจงกว่าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ผ่านการว่าจ้างให้ทำแพลตฟอร์ม AI แบบ custom ขึ้นมาได้ตามใจสั่งเลย วันดีคืนดีเราอาจจะเห็น AI สำหรับธุรกิจข้าวราดแกงโดยเฉพาะ หรือ AI ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อบทสวดขอพรเฉพาะด้านเลยก็เป็นได้

2. EV Car กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากแค่ ‘ทางผ่านแห่งเทคโนโลยี’

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ผู้คนหันมาเลือกซื้อกันมากขึ้น ด้วยความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี และเต็มไปด้วยข้อดีมากมายที่น่าสนใจ และน่าเก็บเงินเพื่อเสียค่าใช้จ่ายให้กับมัน

แต่อย่างไรเสีย หากมองเป็นนวัตกรรมที่กำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้น EV Car ก็แทบไม่ต่างอะไรกับ PDA (Personal Digital Assistants) หรือสมาร์ทโฟนในยุคแรกสุด ที่ยังเป็นไอเดียของการลดขนาดคอมพิวเตอร์มาอยู่ในขนาดเท่ากับโทรศัพท์มือถือ ที่ยังมีความประดักประเดิดอยู่มาก แม้จะดูล้ำสมัยก็ตาม

สิ่งนี้กำลังเปรียบเปรยถึงนวัตกรรม EV Car ที่ดูล้ำอนาคต แต่อาจเป็นแค่เพียงทางผ่านของเทคโนโลยีในขั้นเริ่มต้น ที่กำลังพัฒนาไปสู่ EV Car ที่ดีกว่าในอนาคตก็ได้ ดูจากเทคโนโลยีที่ยังดูไม่ใหม่นัก อย่างตัวแบตเตอรี่ที่ใช้ก็ยังเป็น ‘ลิเธียมไอออน’ ซึ่งเป็นแบตเตอรี่เดียวกับถ่านไฟฉาย ที่เหมาะสมกับการใช้งานในรถที่ต้องใช้เทคโนโลยีชาร์จไฟสำหรับขับเคลื่อน เพราะเก็บประจุได้เยอะ กำลังไฟสูง ความร้อนน้อย แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการชาร์จนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือหากเลือกเดินทางไกล ๆ ก็อาจจะต้องแวะชาร์จระหว่างทางอีกด้วย

หากในอนาคตมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กลายเป็นแบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid-state battery) ซึ่งเปลี่ยนของเหลวในถ่านให้กลายเป็นแก้ว จะทำให้รถ EV Car ในไทยน่าใช้มากขึ้น เพราะจะทำให้ชาร์จเร็วขึ้นถึง 10 เท่า และเก็บประจุไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม 4 เท่า คล้ายกับเราซื้อโน้ตบุ๊กมา แล้วยอมอัพเกรดฮาร์ดดิสจาก SSD ให้กลายเป็น HHD ที่เร็วกว่า และแรงกว่านั่นเอง

3. Internet Safety ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต เรื่องเล็กที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่

โดยปกติสังคมการทำงาน หากเราใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัท ความปลอดภัยของระบบภายในนั้นเชื่อว่าเต็มไปด้วยมาตรการป้องกันที่แน่นหนา และยากต่อการเจาะระบบ หรือการแฮกที่อาจเกิดขึ้นได้

แต่หลังจากโลกเข้าสู่ยุค COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนต้องทำงานที่บ้าน ทำให้อุปกรณ์ที่เคยปลอดภัยผ่านสายตาของระบบบริษัท กลับกลายเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงานที่ใช้ทำงานแทน ซึ่งเต็มไปด้วยความอันตรายแสนเงียบที่พร้อมจะถูกเจาะข้อมูลได้ทุกเมื่อ ที่หมายถึงผู้ใช้งานในบริษัทจำเป็นต้องดูแลความปลอดภัยตรงส่วนนี้ และเป็นอีกหนึ่งสกิลที่ต้องติดตัวคนทำงานยุคนี้ด้วยเช่นกัน

ไล่เรียงจากการแยกโปรไฟล์สำหรับทำงาน และโปรไฟล์ส่วนตัวออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่อาจดึงมัลแวร์ไปสู่ระบบบางอย่างของบริษัท หรือบริษัทอาจจะต้องซื้อโปรแกรมป้องกันไวรัสใส่ในเครื่องของพนักงานให้ด้วย ถัดมาคือ VPN Connection ที่หมายถึงการเลือกใช้งาน Wi-Fi ให้ถูกวิธี ระวัง Wi-Fi อันตรายที่อาจจะทำให้ข้อมูลส่วนตัวเราถูกแฮกไป รวมถึงการโจมตีทางอีเมล ซึ่งเป็นจุดอันตรายที่สุดของคนทำงานที่มักโดนเจาะข้อมูลกันบ่อย จากอีเมลที่ไม่พึงประสงค์

People Trends 2024

ร่วมวิเคราะห์เทรนด์แห่งอนาคตของมนุษย์วัยทำงานโดย ‘อภิชาติ ขันธวิธิ’ CEO แห่ง ‘QGEN Consultant’ และ ‘ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา’ Co-Founder, Managing Director ‘Cloud & Ground Co.,Ltd’

โลกยุคนี้น่ากลัวอย่างไร ?

เมื่อก่อนคำว่า “เกิดไม่ทัน” “ตามไม่ทัน” อาจจะใช้ระยะเวลาที่ห่างกันสัก 10-20 ปี อาจจะห่างกันถึง 1 Gen ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้การรับรู้สิ่งเดียวกันของคนสองวัยมีความแตกต่างกันพอสมควร หรืออาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยก็ได้ โดยความห่างตรงนี้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ในขณะที่เมื่อก่อนเทคโนโลยีไม่ได้พัฒนารวดเร็วนัก

ผิดกับโลกยุคนี้ที่เทคโนโลยีมาไว ไปไว ก้าวหน้าไวจนไม่ว่าใคร ๆ ก็ตามไม่ทันได้ จนทำให้ช่วงเวลาแห่งการ “เกิดไม่ทัน” “ตามไม่ทัน” เหล่านั้นมันสั้นลงเรื่อย ๆ อย่างน่าตกใจ

ซึ่งความไวนี้ก็เกิดขึ้นในหลาย ๆ ด้านของวิถีชีวิตคนทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ อย่างการเลือกเปลี่ยนงานไวขึ้น จากสภาวะการอยากมีตัวตนที่ชัดเจนในพื้นที่การทำงานที่ใช่สำหรับตัวเอง หากเมื่อไร ที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้มองไม่เห็นตัวตนที่พอใจ เขาก็พร้อมจะย้ายตัวเองได้ในทันที

มาดูกันว่าอะไรคือเทรนด์ในวงการ People ที่น่าสนใจของปี 2024 บ้าง

1. HR (Human Resource) จะเปลี่ยนไปเป็น RM (Resource Management)

มนุษย์เคยเป็นฟันเฟืองหลักของการทำงานทุกแขนง ก่อนที่จะถูกเทคโนโลยีค่อย ๆ กลืนกินตำแหน่งงานไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือโรงงานอุตสาหกรรม ที่พนักงานหายไปจากระบบมากพอสมควร จากการแทนที่คนด้วยหุ่นยนต์

และยิ่งการที่ AI เข้ามามีบทบาทในการทำงานของคนยุคนี้มากขึ้น จากที่ HR (Human Resource) จะต้องดูแลและจัดการทรัพยากรบุคคลของบริษัท ในอนาคตข้างหน้า ตำแหน่งนี้อาจจะกลายเป็น RM (Resource Management) ตัดคำว่า Human ออก เพราะทรัพยากรของบริษัทในโลกอนาคตจะไม่ได้มีเพียงมนุษย์ แต่ยังมีหุ่นยนต์ และ AI ที่ช่วยทำงานในระบบ

นั่นทำให้ตำแหน่ง HR นี้จำเป็นต้องบริหารทรัพยากรดังกล่าวเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างที่องค์กรต้องการ ซึ่งหากมองในตอนนี้ มันคงเป็นส่วนผสมที่แปลกไปเสียหน่อย แต่ในอนาคตมันอาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานภายในองค์กรไปเลยก็ได้

2. สกิลสร้างสรรค์ยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่เสมอ ตลอดมา และตลอดไป

‘ความคิดสร้างสรรค์’ คือการที่เราหาสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอเพื่อทำให้เราไปสู่เป้าหมายเดิม ๆ ฟังแล้วอาจจะรู้สึกแปลก แต่ทุกการค้นหาหนทาง หรือวิธีการที่ต่างออกไปเพื่อบรรลุเป้าหมาย จะยิ่งทำให้การเดินทางระหว่างนั้นสนุกมากขึ้น ทั้งในมุมคนทำ หรือคนดูเอง

อย่างช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา เราจะเห็นความคิดสร้างสรรค์รายล้อมโลกออนไลน์เต็มไปหมด ทั้ง ๆ ที่มนุษย์ต่างถูกจำกัดกรอบ และถูกสร้างเงื่อนไขมากมายเต็มไปหมด แต่ความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมดนั้นล้วนหาญกล้าพอที่จะแหวกพงหญ้ารกที่ขวางกั้นเป้าหมาย ที่ไม่ว่าจะวิธีการใด ท่าไหน หรือทำอะไรก็ตาม ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่สิ้นสุดจะนำพาประสบการณ์ร่วมมาให้อยู่เสมอ

ฉะนั้นไม่ต้องรอให้เกิดวิกฤตอีกครั้งก็ได้ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์จะยังคงหาญกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างออกไปอยู่เสมอ

3. ต้องรู้จักตัวเองให้ดีพอ

มนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าตัวเองเป็นคนยังไง ต้องการอะไรกันแน่ และตอบตัวเองได้เสมอว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร มีความสุขกับมันหรือเปล่า

บางคนอาจจะกำลังทำบางสิ่งที่ไม่ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เคยตั้งไว้แต่แรก บางคนชอบช่วยเหลือคนอื่นจนลืมดูแลตัวเอง บางคนเน้น performance จนลืมทุกอย่างที่ขัดขวางตัวเลขและเป้าหมาย บางครั้งมนุษย์ก็หลงลืมตัวเองไปบ้างว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไร

ถ้าเรารู้จักตัวเองดีพอ แล้วพาตัวเองไปสู่งานที่ใช่ และเป็นตัวเอง มันจะเป็นการทำงานที่มีความสุขและสนุก สิ่งนี้คือเรื่องสำคัญ

เมื่อเปรียบสิ่งนี้กับองค์กรหรือแบรนด์ มันคือการที่แบรนด์จำเป็นต้องหาตัวเองให้ชัดเพียงพอที่จะทำให้ผู้คนที่มองเข้ามาเข้าใจเรา และเข้ามาหาเราง่าย ๆ ด้วยบางสิ่งบางอย่างที่เกื้อหนุนกัน

Entrepreneur Trends 2024

ร่วมวิเคราะห์เทรนด์แห่งอนาคตของผู้ประกอบการโดย ‘มัณฑิตา จินดา’ Founder, Managing Director ‘Digital Tips Academy’ และ ‘ภาดารี อุตสาหจิต’ Co-Founder, CEO ‘Lightwork Technologies’

วงการผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นอีกหนึ่งวงการที่ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงที่มากมายเต็มไปหมด จากทั้งวงการครีเอทีฟ การลาด นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต้องตามให้ทัน หรือการเรียนรู้คนทำงานของตัวเองเพื่อพัฒนาองค์กรไปข้างหน้า ผู้ประกอบการยุคนี้แบกปัจจัยหลายอย่างที่ต้องตามให้ทัน ในยุคที่โลกมีพลวัตไปไกลมากขึ้นทุกที

จึงนำมาซึ่งการมอง Trends ในวงการ Entrepreneur ที่น่าสนใจของปี 2024 ที่ประกอบไปด้วยเรื่องดังต่อไปนี้

1. No Office Organization บริษัทไร้ออฟฟิศ

โลกการทำงานหลัง COVID-19 เปลี่ยนแปลงจะสภาวะก่อนหน้าอย่างมาก คุณค่าหรือรูปแบบการทำงานขององค์กรก็ปรับเปลี่ยนไป จากเดิมที่ออฟฟิศคือพื้นที่การทำงานที่สำคัญมาก ๆ ก็ถูกลดความสำคัญลง

เพราะ COVID-19 สอนให้เรารู้แล้วว่าสถานที่ทำงานอาจจะไม่จำเป็นเสมอไป เราทำงานที่บ้านก็ได้เหมือนกัน

จึงเกิดค่านิยมใหม่ ๆ เรื่องของการเข้าออฟฟิศ ทั้งการลดการเข้าออฟฟิศลง เข้าเฉพาะวันที่ต้องประชุมกัน ซึ่งส่งผลให้เวลาที่ใช้ไปกับพื้นที่ให้เช่าที่เรียกว่าออฟฟิศก็น้อยลงไป

ไอเดียของการทำงานไร้ออฟฟิศจึงอาจกลายเป็นเทรนด์ในอนาคต ผู้ประกอบการอาจไม่ต้องมีพื้นที่การทำงานของตัวเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย เปลี่ยนไปใช้ co-working space หรือร้านกาแฟที่มีพื้นที่รองรับสำหรับการพบปะพูดคุยกันเท่านั้นก็อาจจะเพียงพอ

2. Over Employment สภาวะจ๊อบเสริม

เอาจริง ๆ งานฝิ่น หรือการรับงานเสริมถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะมนุษย์วัยทำงานไม่จำเป็นต้องหาเงินเพียงช่องทางเดียว แต่สภาวะ COVID-19 ที่ทำให้คนทำงานมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นจากการ work from home ก็ยิ่งทำให้เวลาว่างเหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่สำหรับงานเสริมเสียเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันในหมู่ HR ว่าการรับงานนอกเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ หรือถ้าประสิทธิภาพคนทำงานยังคงอยู่ในระดับเท่าเดิม เรายังต้องยอมรับการทำงานนอกของคนทำงานด้วยมั้ย ผิดจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมในที่ทำงานหรือเปล่า

สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบ Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว ส่วนมากใช้เรียกพนักงานพาร์ทไทม์หรือฟรีแลนซ์ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในการทำงานยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการเองก็เห็นดีเห็นงามกับรูปแบบการทำงานแบบนี้ จากการทำสัญญาเป็นรายสัปดาห์ก่อน เพื่อทดลองการทำงานดูก่อนทั้งสองฝ่ายว่าชอบพอกันหรือเปล่า และหลังจากนั้นอาจจะสานต่อกลายเป็นพนักงานในสัญญาราย 6 เดือน หรือ 1 ปีเลยก็ได้เช่นกัน

3. Solopreneur ผู้ประกอบการสายลุยเดี่ยวกำลังจะเพิ่มมากขึ้น

บางครั้งความโดดเดี่ยวก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป

จากเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนช่วยในการทำงานมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบรายเล็กก็อาจจะไม่จำเป็นจ้างคนทำงานมาช่วยครบทุกฝ่าย เครื่องไม้เครื่องมือพื้นฐานบางอย่างก็อาจจะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้เพียงพอแล้ว อย่างงานกราฟิก ถ้าไม่จำเป็นต้องเนี้ยบมาก Canva หรือ Midjourney ก็ช่วยเหลือประเด็นนี้ได้ หรือถ้าต้องการที่ปรึกษาในการทำงาน ChatGPT ก็ช่วยตอบคำถามจากการสังเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกได้ด้วยเช่นเดียวกัน

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะมันมีทิศทางคล้ายคลึงกับฟรีแลนซ์ แต่สิ่งที่ทำให้กลายเป็นเทรนด์คือเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายและฟรี ซึ่งเป็นบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่อาจจะไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ ให้สามารถผลิตสิ่งที่ต้องการ และทำให้งานมีประสิทธิภาพขึ้นได้ แม้จะทำงานด้วยตัวคนเดียว

4. เข้าใจมนุษย์ที่ยิ่งจะมีความแตกต่างหลากหลายให้มากขึ้น

ความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้น เพราะกรอบเดิม ๆ ที่เคยมีถูกทำลายทิ้งไปหมดแล้ว จากความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอของผู้คน เราได้เห็นคนสูงวัยบางคนกลายเป็น Influencer ใน TikTok เห็นเทรนด์การแต่งตัวแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการทุกคนล้วนมีชุดข้อมูลของตัวเองอยู่แล้วไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การทำให้ข้อมูลดังกล่าวทำงานได้ดี นั่นคือการเอาสกิลของความเข้าใจมนุษย์เข้าไปผนวก เพื่อทำให้สุดท้ายแล้วมันข้อมูลเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่างลึกซึ้ง

5. Storyteller ผู้ประกอบจำเป็นต้องเล่าเรื่องให้เป็น และเล่าเรื่องให้ดีได้

เราชอบฟังคนเล่าเรื่องเสมอมา การเล่าเรื่องที่ดีจะช่วยให้คนหันมาฟังเราง่ายขึ้น เช่นเดียวกันหากผู้ประกอบการสามารถเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีได้ ขณะนี้เทรนด์ของต่างประเทศที่กำลังมาคือ ‘Build In Public’ คือการที่ผู้ประกอบการค่อย ๆ ออกมาเล่าเรื่องของเริ่มต้นสร้างแบรนด์ตัวเอง จนสำเร็จ ซึ่งต่างจากผู้ประกอบการยุคก่อนที่จะเปิดตัวแบรนด์ทีเดียวแบบครบถ้วน

แต่การเล่าเรื่องแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้ผู้คนเห็นพัฒนาการของแบรนด์ จากความตั้งใจของผู้ประกอบการเองที่ออกมาเล่าเรื่องด้วยตัวเอง และยิ่งทำให้ผู้คนค่อย ๆ รู้จักเรา แสดงความคิดเห็นบางอย่างกับเรา ซึ่งเราอาจจะหยิบไอเดียดี ๆ ไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจของเราให้สมบูรณ์มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้ประกอบการค่อย ๆ เล่าเรื่องความตั้งใจในการทำแบรนด์ตัวเองเรื่อย ๆ เมื่อถึงเวลาขายของจริง ๆ มีหรือที่ผู้ติดตามการเดินทางของแบรนด์เราจะไม่มาซื้อสินค้าของเรา ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการเริ่มต้นสร้าง brand loyalty ระหว่างเรากับลูกค้าตั้งแต่วันแรกของการเปิดตัวแบรนด์เลยก็ได้

ทั้งหมดนี้คือเทรนด์ในปี 2024 ที่อาจจะเกิดขึ้นในวงการสร้างสรรค์หลากหลายแง่มุม หรืออาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ก็ได้ เพราะเทคโนโลยีบนโลกสมัยนี้พัฒนาเร็วแบบก้าวกระโดด การตามเทรนด์เหล่านี้ให้ทัน จะยิ่งทำให้คุณ ที่ไม่ว่าจะอยู่ภาคส่วนไหนของการทำงาน พัฒนาตัวเองและองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปในโลกที่เปลี่ยนแปลงไวได้อย่างมั่นคง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า