fbpx

9 สัญญาณที่บ่งชี้ว่า คุณกำลังถูกครอบงำในความสัมพันธ์

ความขัดแย้งและการโต้เถียงกันถือเป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ ทว่าหากความขัดแย้งนำไปสู่สถานการณ์ที่หนักหนากว่าเดิม กลายเป็นฝ่ายหนึ่งถูกอีกฝ่ายควบคุมหรือครอบงำความคิดโดยไม่รู้ตัว ก็อาจจะนำไปสู่การทำร้ายทางจิตใจ และก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างคาดไม่ถึง

ผู้ก่อตั้งศูนย์บำบัด Amavi Therapy Center กล่าวว่า ฝ่ายที่เป็นผู้กระทำมักใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเข้าควบคุม หรือมีอำนาจเหนือ หรือทำให้อีกฝ่ายตกเป็นเหยื่อ จนรู้สึกโหยหาการยอมรับหรือยึดติดกับอีกฝ่ายจนเกินพอดี และมองข้ามความผิดของฝ่ายผู้กระทำ เมื่อรู้ตัวอีกทีก็พบว่า  ตัวเองถูกล่วงละเมิดทางจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า และปล่อยให้อีกฝ่ายเข้ามาครอบงำตัวตนได้สำเร็จ

ผลการศึกษาเมื่อปี 2013 พบว่า การถูกทำร้ายทางจิตใจส่งผลเสียได้พอๆ กับการถูกทำร้ายร่างกายเลยทีเดียว และทั้งสองเหตุการณ์ก็จะนำไปสู่โรคซึมเศร้า และการเห็นคุณค่าของตัวเองในระดับต่ำ 

ที่น่าเศร้าก็คือ การถูกทำร้ายจิตใจกลายเป็นเรื่องปกติที่พบในสังคม ผลการสำรวจเมื่อปี 2011 พบว่า มีผู้หญิง 47.1% และผู้ชาย 46.5% ถูกทำร้ายจิตใจในความสัมพันธ์  ดังนั้น ทุกคนควรตระหนักในเรื่องนี้ และรู้ว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่ทำให้เราเห็นว่า ความสัมพันธ์ของเรามีแนวโน้มที่จะเป็นพิษ ดังนี้

  1. การใช้จุดอ่อนในตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นข้อบกพร่อง ความกลัว หรือความไม่มั่นคงในเรื่องต่างๆ ทำให้คุณยิ่งรู้สึกดิ่งหนักลงไปอีก เช่น การฉีกหน้าคุณต่อหน้าคนอื่น  หรือเมื่อคุณรู้สึกแย่อยู่แล้ว ก็พูดเรื่องไม่ดีที่ทำให้คุณย่ำแย่หนักขึ้น หรือบางทีอาจจะมาในรูปแบบคำชมที่ไม่จริงใจ  เช่น วันนี้คุณดูดีนะ ไม่อ้วนเหมือนทุกวัน ซึ่งฟังดูเผินๆ อาจเป็นคำชม แต่ก็ทำให้เรารู้สึกเจ็บเพราะคำดูถูกทางอ้อมเช่นกัน  
  2. การพยายามเข้าครอบงำความคิดทีละเล็กทีละน้อย จนทำให้คุณรู้สึกว่า สิ่งที่คุณสงสัยคือการคิดมากไปเอง และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่คุณรู้สึกว่ารับไม่ไหวกับพฤติกรรมนี้จนต้องระเบิดอารมณ์ออกมา อีกฝ่ายก็จะตำหนิและโยนความผิดให้คุณ และทำให้คุณรู้สึกผิด
  3. อีกวิธีหนึ่งของการเข้าครอบงำความคิด คือการที่ฝ่ายนั้นบุกไปหาพ่อแม่ หรือเพื่อนสนิทของคุณ แล้วโน้มน้าวคนเหล่านั้น ให้ชักชวนคุณทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ  เช่น ถึงจุดหนึ่งที่คุณต้องการจะเลิกรา แต่ฝ่ายนั้นก็จะไปหาครอบครัวและเพื่อนของคุณ ให้ช่วยพูดโน้มน้าวให้คุณยังอยู่ในความสัมพันธ์ต่อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้เคารพในการตัดสินใจของคุณเลย 
  4. ฝ่ายนั้นอาจใช้วิธีขุดความผิดแต่หนหลังของคุณขึ้นมาพูด หรืออวดอ้างสิ่งดีๆ ที่เคยทำให้คุณ เพื่อให้คุณเกิดความรู้สึกผิด หรือรู้สึกว่ายังติดค้างหนี้บุญคุณของเขาอยู่  และยังอยู่กับเขาต่อไปโดยไม่ปริปากบ่น รวมถึงทำตามสิ่งที่พวกเขาร้องขอ 
  5. การแสดงความไม่พอใจผ่านการประชดประชัน หรือคำพูดเสียดสี เหน็บแนม โดยไม่ยอมพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำรู้สึกไม่แน่ใจ วิตก หรือขุ่นเคืองได้  เช่น บางคนอาจเล่นมุกตลกแต่เป็นมุกที่เสียดแทงหัวใจอีกฝ่าย เพื่อแสดงความไม่พอใจบางอย่าง แทนที่จะเปิดอกพูดคุยถึงข้อขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
  6. การเพิ่มกฎเกณฑ์ขึ้นมาเรื่อยๆ  แบบที่คุณไม่ทันได้รู้ตัว  และเมื่อคุณยอมทำตามไปทีละนิดทีละหน่อย พอมาถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะพบว่า ตัวเองกลายเป็นเหยื่อถูกอีกฝ่ายเข้าครอบงำเสียแล้ว เช่น ฝ่ายนั้นต้องการให้คุณอยู่กับเขาสัปดาห์ละครั้ง เมื่อคุณทำตาม พอสักพักหนึ่ง เขาก็จะเรียกร้องขอเพิ่มเวลาเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง  ซึ่งถ้าคุณยังทำตามอยู่ เพราะกลัวสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีไป ก็จะทำให้อีกฝ่ายยิ่งได้ใจ กลายเป็นคนคุมเกมและเพิ่มกฎมากขึ้นให้คุณต้องทำตาม
  7. การเบี่ยงประเด็น เพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด และเป็นตัวคุณนั่นแหละที่ผิด เช่น เมื่อคุณบอกกับคนรักว่า “ทุกครั้งที่เธอตะโกนใส่ฉัน  ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองถูกดูหมิ่น”   ฝ่ายนั้นก็อาจตอบกลับมาว่า “จริงเหรอ? ตอนที่คุณเล่นโซเชียลมีเดียแล้วคุยกับคนอื่นๆ ในนั้น คุณก็ไปดูหมิ่นคนอื่นเหมือนกันแหละ”  ซึ่งนี่ก็คือการเบี่ยงประเด็นและโบ้ยความผิดมาให้คุณแบบเนียนๆ 
  8. การถูกละเมิดขอบเขต  เมื่อคุณบอกว่า “ไม่” แต่เขากลับไม่ฟัง และยังทำในสิ่งเดิมๆ ที่คุณไม่ชอบอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อคุณบอกว่า ไม่ชอบที่เขาวิจารณ์รูปร่างของคุณ แต่เขาก็ยังทำ หรือไม่ชอบที่เขาตะโกนใส่คุณ แต่เขาก็ยังทำ ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า คนๆ นี้ ไม่ใส่ใจความรู้สึกของคุณเลย และคิดถึงแต่ในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ
  9. การทำให้เราหลงเชื่อว่า มีอะไรคล้ายกันกับอีกฝ่าย เช่น อาจมีความสนใจไปในทางเดียวกัน หรือ มีงานอดิเรกคล้ายกัน จนทำให้คุณหลงคิดไปว่า มันมีสายใยความผูกพันบางอย่างที่ก่อตัวขึ้น จากการที่คุณกับเขามีอะไรคล้ายๆ กัน และทำให้คุณไม่สามารถจะทิ้งคนคนนี้ไปไหนได้  ไม่ว่าเขาจะมีพฤติกรรมแย่ขนาดไหนก็ตาม  ซึ่งถ้าเป็นตามนี้ แสดงว่าคุณถูกอีกฝ่ายครอบงำเข้าให้แล้ว  

สัญญาณทั้ง 9 ข้อที่หยิบยกมานี้ คือการครอบงำอารมณ์ ความคิดและความรู้สึก ที่คุณไม่ควรเพิกเฉยหากเกิดขึ้นมาในความสัมพันธ์  และถ้าหากเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ใช่ความผิดของคุณเลย และไม่จำเป็นต้องทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้  และถ้าคุณตกอยู่ในปัญหาที่ว่านี้  ควรปรึกษาคนที่คุณรักหรือผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาช่วยเหลือโดยด่วน

ที่มา : insider

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า