fbpx

6 ตุลาคม 2519 : ‘บาดแผล’ ที่ยังเจ็บ จาก ‘การลอยนวลพ้นผิด’ ของรัฐไทย

เมื่อพูดถึงเดือนตุลาคม ผู้ติดตามการเมืองไทยหลายคนคงจะนึกถึงเหตุการณ์สำคัญอยู่ 2 เหตุการณ์คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของกระแสประชาธิปไตยในไทยที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น (พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2519) แต่เมื่อลองสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมกลับพบว่า สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในสองเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นคือ มีการนิรโทษกรรมเพื่อลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทย

โดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ปรากฏวัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดอย่างชัดเจน จากการออก พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งสาระของ พรบ. ดังกล่าว คือการยกเว้นโทษทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงกลุ่มฝ่ายขวาทั้งหมด ซึ่งนี่อาจจะเป็นสาเหตุหลักที่ไม่มีการสืบสวนเพื่อนำผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ดังกล่าวมาลงโทษจวบจนปัจจุบัน

วัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทย

การลอยนวลพ้นผิด (impunity) หรือ อภิสิทธิ์ปลอดความผิด ถูกอธิบายในฐานะของความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการหยิบยื่นความรับผิดชอบให้แก่ผู้กระทำความรุนแรง ซึ่งได้กระทำในนามของอำนาจรัฐต่อประชาชน หากนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยามหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงในหลายๆ ลักษณะ  อิทธิพล โคตะมี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับการลอยนวลพ้นผิดและความรุนแรง กล่าวไว้ว่า

“งานศึกษาความรุนแรงบางชิ้นเสนอว่า คนไทยที่เกิดหลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะต้องมีชีวิตผ่านปรากฏการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอย่างน้อยถึง 14 รูปแบบ ในแง่นี้จึงไม่น่าแปลกใจ หากคนไทยจะคุ้นชินกับความรุนแรงและเห็นมันตั้งแต่ยามค่ำจนยันกลางวันแสกๆ”

ตัวอย่างของความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ (และเครือข่ายของรัฐ) ที่ชัดเจนก็คือ การใช้กำลังปราบปรามนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือการสังหารหมู่กลางเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นอกจากเหตุการณ์ทั้งสองแล้ว ความรุนแรงดังกล่าวยังเกิดขึ้นในทุกๆ ครั้งที่เกิดการรัฐประหาร และมีการใช้กำลังกับผู้เห็นต่างทางการเมือง การอุ้มฆ่า การซ้อมทรมาน การดำเนินคดี และการสังหารผู้มีความเห็นต่างทางศาสนา โดยปฏิบัติการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กล่าวโดยสรุป การลอยนวลพ้นผิด คือ การใช้ความรุนแรงโดยรัฐกับประชาชนโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ โดยหลักการทั่วไปแล้ว รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนเป็นใหญ่ มีสิทธิและเสรีภาพเต็มที่แบบในสังคมไทย กลับเป็นที่น่าประหลาดใจ เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า ความรุนแรง และการลอยนวลพ้นผิด เกิดขึ้นและดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันได้ในบางกลุ่มคน ซึ่งมักจะมีมายาคติและคำพูดที่ใช้กันจนชินว่า “มันก็เป็นแบบนี้นั่นล่ะ”

6 ตุลาคม 2519 : ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ จากการลอยนวลพ้นผิด

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้พยายามทำให้สังคมระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวพร้อมทั้งตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่เงียบงันต่อการรับรู้ในสังคม งานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้ถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว และงานก็ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง ผู้คนวงกว้างได้ยินเสียงของเหยื่ออย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้รับการจดจำอย่างถูกต้องเป็นครั้งแรก ในฐานะอาชญากรรมที่รัฐไทยกระทำต่อประชาชนของตนเอง

แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่มีความคืบหน้ามากนักนั่นคือ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อาจจะไปกระทบกระเทือนต่อการรับรู้ของสังคมไทย โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองหลายสถาบัน ซึ่งทรงอำนาจและได้รับความเคารพเทิดทูน รวมถึงการครอบงำอย่างน้อยที่สุด 3 รูปแบบ ที่ยังทำหน้าที่ปิดปากประวัติศาสตร์อยู่ กล่าวคือ 1. คำขู่เรื่องผลกระทบทางการเมือง 2. ความรู้สึกผิด ไม่ว่าจะเป็นของผู้ก่อกรรมทำเข็ญหรือผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ และ 3. อุดมการณ์ของประวัติศาสตร์แห่งชาติหรือประวัติศาสตร์กระแสหลักที่คอยกดปราบ “สิ่งที่ผิดจากปกติ” หรือผลักไสไปสู่ความเงียบงัน ไม่มีเรื่องราวเหล่านั้นปรากฎอยู่ประวัติศาสตร์กระแสหลักแต่อย่างใด

6 ตุลาคม 2519 : ไม่มีการรับผิดชอบ ไม่มีการลงทัณฑ์ใดๆ

“เราไม่ได้หวังเพียงแค่จะให้มีการรื้อฟื้นคดี แต่เราหวังว่าจะมีการรื้อฟื้นเรื่องราวเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังเห็นด้วยว่า สังคมไทยเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่ปล่อยให้คนมีอำนาจลอยนวลพ้นผิด และมีกระบวนการทางกฎหมายที่ช่วยกันปกป้องคนในกลุ่มเดียวกันให้ไม่ต้องรับผิด ถ้าคนรุ่นใหม่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 6 ตุลา จะรู้ว่าสังคมไทยไม่ได้สวยงามอย่างที่ถูกพร่ำสอนกันมา เหตุการณ์ 6 ตุลา ความรุนแรงไม่ได้เกิดจากรัฐ แต่เกิดจากมวลชนธรรมดาที่ร่วมมือกัน กลายเป็นมือสังหารให้กับรัฐในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนด้วยกันเอง” 

คำพูดของพวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมโครงการบันทึก 6 ตุลา เคยอธิบายไว้ถึงที่มาของแนวคิดการจัดนิทรรศการวัตถุพยานของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และในระยะยาวจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ

ผ่านมากว่า 47 ปีที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังคงถูกจารึกไว้เป็นบาดแผลที่ “เจ็บปวด” มากกว่าบาดแผลที่ต้อง “จำจด” เพราะเนื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังไม่มีใครได้รับการลงโทษหรือออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การสืบเรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นไปอย่างยากลำบาก จนทำให้ทุกวันนี้ ผู้ที่มีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยเฉพาะกลุ่มฝ่ายขวาในเหตุการณ์ต่างก็ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบสุข บางคนก็จากโลกนี้ไปด้วยรอยยิ้ม ทำเสมือนว่าตนไม่เคยมีส่วนร่วมต่อการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่อย่างใด

6 ตุลาคม 2519 : หนึ่งในผลพวงของ ‘การลอยนวลพ้นผิด’

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ใกล้ที่สุดคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่แม้ในปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการลงโทษหรือออกมารับผิดชอบแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ย้อนจากเหตุการณ์นี้ไป 15 ปี คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ได้มีการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน แม้ต่อมาในรัฐบาลชวน หลีกภัย 1 (พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2538) จะมีความพยายามยกเลิก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ทว่าก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดในการเมืองไทย ถือเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังเป็นวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะของการอาชญากรรมโดยรัฐอีกด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมดังกล่าวนี้คงหนีไม่พ้นการเมืองแบบเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการทหารที่มักจะมีการออกกฎหมายที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมนี้หลังการรัฐประหาร หรือแม้กระทั่งการสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 , 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 , พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือแม้กระทั่งพฤษภาคม พ.ศ. 2553

หรือ ‘ประชาธิปไตย’ คือวิธีเดียวที่จะปิดผนึก ‘การลอยนวลพ้นผิด’

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นั้นหลายฝ่ายมองว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่จากฝั่งที่เรียกตนเองว่า ‘ฝั่งประชาธิปไตย’ จึงทำให้มีการคาดหวังว่า ปัญหาหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคของ คสช. จะได้รับแก้ไข นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังมีนโยบายลงนามและให้สัตยาบันกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างแรงกดดันให้เกิดการแก้กฎหมายในประเทศ ให้สอดคล้องและเกิดการบังคับใช้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทยไม่ให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งอีกต่อไป

แต่ทว่าการผนึกขั้วรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ทำให้ความฝันที่จะมีการลงนามและให้สัตยาบันกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไม่ได้เกิดขึ้นจริง แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่ทว่าก็ไม่มีการแถลงนโยบายในเรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน กลับกลายเป็นว่าการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วครั้งนี้ดูเหมือนจะทำให้วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของการเมืองไทยนั้นยังคงดำรงอยู่ต่อไป

ไม่แน่ว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทยอาจจะต้องรอให้ถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2570 เลยก็ได้

ผู้เขียน : ณัฐชนน จงห่วงกลาง

อ้างอิง : prachatai 1 / pridi

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า