fbpx

รำลึก 30 ปี พฤษภาทมิฬ เมื่อฆาตกรยังลอยนวล วีรชนจะนอนตายตาหลับได้อย่างไร

เดือนพฤษภาคมนี้ จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่มีการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย หลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2557, พฤษภาอำมหิต 2553 และในปีนี้เป็นปีที่ครบรอบเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535” ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่บุคคลจากเหตุการณ์ในวันนั้น ยังคงวนเวียนอยู่บนสนามการเมืองในปัจจุบันอยู่ หลายคนยังคงเดินบนเส้นทางเดิม และอีกหลายคนได้แปรเปลี่ยนทิศทางไปจากอดีต

ล่าสุด ในการจัดงานงานรำลึก 30 ปีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ได้เกิดกระแสต่อต้านขึ้นจากหลายฝ่าย หลังคณะผู้จัดงานได้เชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2557 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้สั่งการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 เข้าร่วมงาน ทำให้เกิดการบอยคอตงานดังกล่าวจากกลุ่มต่างๆ เช่น เครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมีการออกแถลงการณ์ประณามจากกลุ่มสมัชชาคนจน 

แม้ทางคณะผู้จัดงาน ได้แก่ มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภาฯ 35 จะออกมาชี้แจงภายหลัง ว่าเป็นการเข้าใจผิด และมีการเชิญตัวแทนจากทุกฝ่ายทางการเมืองเข้าร่วมงานทุกปี แต่กระแสที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นมุมมองต่อเหตุการณ์ในอดีตที่แตกต่างออกไป ท่ามกลางสายตาจากทุกฝ่ายที่ยังคงจับจ้องไปงานรำลึกที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้

สำหรับเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เป็นการชุมนุมประท้วงของภาคประชาชน ที่ออกมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีและสมาชิกคณะรัฐประหารที่ก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกในรอบหลายสิบปี ก่อนที่การชุมนุมประท้วงอย่างสงบจะจบลงด้วยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง ด้วยกำลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก นำไปสู่กระแสกดดันให้พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง และเปิดทางให้มีการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

30 ปีผ่านไป ดูเหมือนว่าเจตนารมณ์ของวีรชนพฤษภาประชาธรรมจะถูกทำลายลง หลังทหารกลับเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้งตั้งแต่ปี 2549 ก่อนที่จะมีการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยการเปิดช่องให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกคนนอกได้ พร้อมกับมอบอำนาจให้คณะรัฐประหารเลือกสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาโหวตให้ตนเองกลับเข้ามาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งได้ 

รสช. 2534 – ประชาธิปไตยครึ่งใบ และ ความขัดแย้งในกองทัพ

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ขบวนการนักศึกษาถูกกลุ่มขวาพิฆาตซ้าย ปราบปราม ประเทศไทยก็กลับเข้าสู่การปกครองภายใต้เผด็จการทหารอีกครั้ง และยังส่งผลให้สงครามกลางเมืองระหว่าง รัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่การประณีประณอมระหว่างแต่ละฝ่ายทางการเมือง เพื่อเปิดทางให้การเมืองมีเสรีภาพทางการเมืองในระดับหนึ่ง และผ่อนปรนความขัดแย้งให้ยุติลง 

ผลลัพธ์ที่ได้คือรัฐประหารซ้อนในปี 2520 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่สถาปนาระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งได้เปิดทางให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการกองทัพบกในขณะนั้น เป็นนายกคนนอกเข้ามาบริหารประเทศอีก 8 ปี ภายใต้การสนับสนุนจาก พรรคการเมืองในสภา ราชสำนัก และทหาร อันเป็นเสาหลักค้ำยันอำนาจให้แม้จะเผชิญความขัดแย้งจากในรัฐสภาและกองทัพ

จนกระทั่งปี 2531 กระแส “เบื่อเปรม” เริ่มดังมากขึ้นจากภาคประชาชน จนนำไปสู่การยื่นถวายฎีกาจาก 99 นักวิชาการ ประกอบกับความขัดแย้งในรัฐสภาจนนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในปีเดียวกัน ส่งผลให้นายทหารจากสงขลาตัดสินใจลงจากเก้าอี้นายก และเปิดทางให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ 

พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน
ภาพ: หนังสือประมวลภาพการถึงแก่อสัญกรรมของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยเพจ โคราชในอดีต

การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ชาติชาย ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย ในช่วงที่สงครามเย็นใกล้จะสิ้นสุดลง มีการตั้ง “คณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ซึ่งรวบรวมนักวิชาการหัวก้าวหน้าร่วมกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศแทนกลุ่มเทคโนแครตเดิมในอดีตรวมทั้งการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศและความมั่นคง จากเดิมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติและกองทัพผูกขาด รัฐบาลชาติชายได้เข้ามากำหนด โดยเฉพาะนโยบาย “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า” ซึ่งนำไปสู่การยุติความขัดแย้งในกลุ่มประเทศอินโดจีน 

แม้รัฐบาลชาติชายจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ จนทำให้ไทยในขณะนั้นได้รับขนานนามว่า “เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย” ตามรอยเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวันจากนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุน อาทิ รถไฟฟ้า ทางด่วนในกรุงเทพมหานคร และโครงการพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ เป็นต้น แต่พล.อ.ชาติชาย ก็ไม่สามารถนำพารัฐบาลชุดนี้ไปจนถึงฝั่ง จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ และพรรคร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่รัฐประหารในปี 2534 ในที่สุด

ย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม กองทัพไทยไม่ได้รวมกลุ่มกันเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียว แต่กลับแบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่าย อาทิ กลุ่มทหารนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 7 และกลุ่มทหารนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 5 ซึ่งทั้งสองกลุ่มต่างมีบทบาททางการทหารและการเมืองที่แตกต่างกันออกไป โดยกลุ่ม จปร. 7 มีบทบาทในฐานะผู้ก่อการกบฎเมษาฮาวาย 2524 และกบฎทหารนอกราชการ 2528 รวมทั้งสนับสนุนให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร 2520 

ในขณะที่กลุ่ม จปร. 5 มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2523 รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการปราบกบฎทหารนอกราชการในปี 2528 และต่อมานายทหารกลุ่มนี้ ได้ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 จากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกองทัพก่อนหน้านี้ รวมทั้งกรณีแต่งตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อคานอำนาจกับกลุ่ม จปร. 5 ที่เข้ามามีอำนาจในกองทัพบก

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 กระทำการโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. โดยมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้นำ และพล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการ โดยทหารฝ่ายยึดอำนาจ ได้เข้าจับกุมตัวพล.อ.ชาติชาย และ พล.อ.อาทิตย์ ขณะโดยสารเครื่องบินทหาร C-130 ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ โดยอ้างข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่น เผด็จการรัฐสภา กดขี่ข้าราชการประจำ ทำลายสถาบันทหาร และบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสาเหตุในการยึดอำนาจ

รัฐธรรมนูญ 2534 – เลือกตั้ง 2535/1 – ชุมนุมใหญ่ นองเลือดที่ราชดำเนิน

ภายหลังการยึดอำนาจ รสช.ได้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเข้าบริหารประเทศ โดยเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน นักธุรกิจและอดีตนักการทูต เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย จากบทบัญญัติที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และเปิดทางให้ คณะ รสช. สืบทอดอำนาจได้ นำไปสู่การประท้วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนำโดยกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2535

โดยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคที่ รสช. จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจและมีการรวบรวมนักการเมืองจากหลายฝ่าย ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก่อนที่จะร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทยและพรรคราษฎร จัดตั้งรัฐบาล จากเดิมที่ได้มีการเสนอชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมเป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น เมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศว่า นายณรงค์มีความใกล้ชิดกับผู้ค้ายาเสพติด ทำให้ไม่สามารถออกวีซ่าได้

พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปัจจุบัน
ภาพ: วาสนา นาน่วม

นำไปสู่การเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในแกนนำ รสช. เข้ามาเป็นนายกคนนอกด้วยเหตุผลที่ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาปฏิเสธที่จะสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง

เหตุการณ์นี้นำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่ประชาชนต่อ พล.อ.สุจินดา นำไปสู่การชุมนุมประท้วงบนท้องถนนตั้งแต่เดือนเมษายน หลังจากที่ พล.อ.สุจินดา เข้ารับตำแหน่ง โดยเริ่มจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักศึกษา ตามมาด้วยการประกาศอดอาหารประท้วงหน้ารัฐสภาของ ร.ต.อ.ฉลาด วรฉัตร ในวันที่ 8 เมษายน ก่อนที่การชุมนุมประท้วงจะขยายตัวหลังพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะ พ.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ที่ประกาศตัวเป็นแกนนำคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา

การชุมนุมถึงจุดสูงสุด ในวันที่ 17 พฤษภาคม หลังจากที่รัฐบาลและพรรคร่วมไม่ทำตามเงื่อนไขของผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เกิดการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5 แสนคน ก่อนที่ในช่วงค่ำ พล.ต.จำลอง แกนนำการประท้วงได้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปตามถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล

แต่ในระหว่างนั้น ได้มีการสกัดกั้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนเกิดการปะทะกันบนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ส่งผลให้ พล.อ.สุจินดา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนที่วันที่ 18 พฤษภาคม กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และเข้าจับกุม พล.ต.จำลอง และแกนนำ แต่ผู้ชุมนุมที่เหลือยังคงปักหลักประท้วงต่อไป เกิดเหตุจลาจลและการปะทะกันระหว่างประชาชนและทหารทั่วกรุงเทพมหานคร ทำให้มีการสลายการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในขณะเดียวกัน มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนและนักศึกษาในหลายจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และยุติความรุนแรง

ในหลวงเรียกเข้าเฝ้า – นายกลาออก – นิรโทษกรรมทุกฝ่าย ?

ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองยังคงวิกฤต วันที่ 20 พฤษภาคม สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ได้เผยแพร่ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ในขณะนั้น) ประธานสัมภาษณ์จากประเทศฝรั่งเศส เรียกร้องให้ยุติความรุนแรง ต่อมาในคืนวันเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศได้เผยแพร่เทปบันทึกภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรียกให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุม เข้าเฝ้า เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายหน้าเข้าหากัน ก่อนที่ทั้งสองจะออกแถลงการณ์ร่วมกัน 

จนกระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้งนายมีชัย ฤชุพันธ์ ดำรงตำแหน่งรักษาการ ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยุติลง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็น ประธานรัฐสภา รวมทั้งอำนาจวุฒิสภา โดยภายหลังจากที่ พล.อ.สุจินดา ลาออก พรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กลับเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

หลังจากนั้นได้มีการยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ขึ้นในวันที่ 13 กันยายน โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ และเสนอชื่อนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก

แม้ว่ากระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะกลับมาอีกครั้ง แต่ผู้กระทำผิดในการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม ยังคงไม่ได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย เนื่องจากก่อนการลาออกของพล.อ.สุจินดา ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด เนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ซึ่งบทบัญญัติในกฎหมายนี้ครอบคลุมไปถึงผู้สังหารประชาชน ส่งผลให้เกิดข้อกังขาจากหลายฝ่าย

ในเวลาต่อมา พรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภาทั้ง 4 พรรค ได้ยื่นคำร้องต่อตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อความชอบธรรมของกฎหมายฉบับนี้ถึงสองครั้ง แต่ตุลาการรัฐธรรมนูญกลับตัดสินให้กฎหมายฉบับนี้มีความชอบธรรมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในขณะนั้น แม้หลังจากนั้น รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้มีการดำเนินคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ในท้ายที่สุด หลังจากที่รัฐบาลขื่นคำร้องให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลย้อนหลังหรือไม่ ทางตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ พรก.นิรโทษกรรมถูกยกเลิกตามประกาศ แต่การนิรโทษกรรมยังคงมีผลอยู่ต่อไป ซึ่งคำวินิจฉัยครั้งนี้ทำให้ผู้กระทำความผิดในการสลายการชุมนุมช่วงเดือนพฤษภาคม ยังคงลอยนวลจนถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลอย่างเป็นทางการ มีผู้เสียชีวิตจำนวน 44 ราย สูญหาย 48 ราย พิการ 11 ราย บาดเจ็บสาหัส 47 ราย และบาดเจ็บรวม 1,728 ราย ในขณะที่ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ มีผู้สูญหายกว่า 500 คน และไม่ทราบจำนวนผู้ถูกจับกุม

จากพฤษภา’35 – พฤษภา’65

เป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬจบลง แม้หลังเหตุการณ์ ทุกภาคส่วนได้ผลักดันให้มีการปฏิรูปทางการเมือง จนนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง รวมทั้งความพยายามในการผลักดันให้กองทัพออกจากพื้นที่การเมือง การปฏิรูปสื่อและการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีช่องแรกของประเทศคือ ไอทีวี เป็นต้น

จากพฤษภาคม 2535 ถึง พฤษภาคม 2565 ดูเหมือนว่าการเมืองไทยจะย้อนกลับไปสู่อดีตอีกครั้ง หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 ตามลำดับ ทหารกลับออกมายึดอำนาจปกครองประเทศพร้อมๆ กับบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของวีรชนประชาธิปไตยในอดีต ที่เคยคาดหวังว่าประเทศไทยจะไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการอีกครั้ง

และที่น่าเสียใจยิ่งกว่า นอกจากมรดกตกทอดจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จะถูกทำลายลงแล้ว ทหารกลับออกมาสังหารประชาชนอีกหลายครั้ง โดยที่ผู้สั่งการและผู้สังหารยังคงไม่ถูกดำเนินคดีเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ก็ได้แต่หวังว่า นอกจากการขับไล่ผู้นำและอำนาจเผด็จการ จะต้องมีการดำเนินคดีย้อนหลังแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงและสังหารหมู่ประชาชน

“กลุ่มฆาตกรยังลอยนวล วีรชนจะนอนตายตาหลับได้อย่างไร”

ข้อความบนป้ายผ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬสิ้นสุดลงไม่นาน

และยังคงเป็นคำถามในใจสาธารณชนจนถึงปัจจุบัน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า