fbpx

คุยกับราษฎรเรื่อง 24 มิถุนาในอีก 10 ปีข้างหน้า เรายังต้องเรียกร้องประชาธิปไตยกันอยู่อีกมั้ย?

ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะยังต้องเรียกร้องประชาธิปไตยกันอยู่อีกมั้ย?

เข้าสู่ปีที่ 90 ที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนมาใช้ระบอบประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบเต็มใบก็มีอยู่เรื่อย ๆ ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผสมผสานเข้าไปกับวังวนแห่งการรัฐประหาร

เมื่อมีประชาธิปไตยก็ย่อมมีการรัฐประหาร เมื่อความเจริญพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดก็มักมีการรัฐประหารเข้ามาทำให้ประเทศกลับสู่สามัญ จนเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นวัฏจักรของประเทศไปเสียแล้ว

อีกสิบปีประชาธิปไตยไทยก็จะครบหนึ่งร้อยขวบปีดีดัก ถึงตอนนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถึงตอนนั้นจะเป็นยังไง ตัวเองในช่วงวัยอายุย่างเข้าสี่สิบจะไปอยู่ที่ไหน เหมือนกับอนาคตอันไม่แน่นอนว่าประชาธิปไตยไทยจะเป็นยังไงเมื่อครบร้อยขวบ

แล้วคนที่มาชุมนุมเขาคิดอย่างไร วาดฝันเอาไว้แบบไหนกันบ้างนะ?

อยากรู้เหมือนกัน

ปีนี้ต่างกับสองปีก่อนที่ผมเคยไป ตรงที่งานจัดช่วงเย็นซึ่งเป็นเวลาที่คนเริ่มเลิกงาน เราเลยเห็นคนทะยอยกันมาเรื่อย ๆ ตอนที่ขบวนเคลื่อนตัวจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยไปสู่ลานคนเมืองเรียบร้อยแล้ว

บรรยากาศการเดินขบวนนี้อาจจะไร้ซึ่งแกนนำที่คุ้นตาเหมือนปีก่อน ๆ แต่ก็ยังคงเนืองแน่นไปด้วยผู้ชุมนุมที่มีใจรักประชาธิปไตยผู้ไม่กลัวแดดพร้อมออกเดินทางไปกับรถขนหมุดคณะราษฎรไซส์จัมโบ้และดนตรีจากรถนำขบวนให้เต้นไปตลอดทาง

สารภาพว่าวันนี้เมื่อปีที่แล้วเป็นวันที่ผมถ่ายการชุมนุมครั้งล่าสุดก่อนที่จะไม่ได้เข้าร่วมบันทึกเหตุการณ์ยาว ๆ เพราะสภาพปากท้องของตัวเองที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้ไปไหนมาไหนมากนัก การได้กลับมาเจอบรรยากาศเก่า ๆ ทำให้รู้สึกคิดถึงแบบแปลก ๆ ถึงการชุมนุมแทบจะทุกครั้งจะเกิดขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิสูงถึงขั้นที่เรียกได้ว่าร้อนโคตร ๆ ก็เถอะ

อย่างที่บอกไปว่าอากาศมันร้อนโคตร ๆ ด้วยความที่วิ่งไปวิ่งมาทำให้มาสก์ชุ่มไปด้วยเหงื่อ ผมเลยถอดมาสก์ออก พอถ่ายไปซักพักคุณป้าในรูปเขาก็เดินมาหาพร้อมบอกว่า

“หน้าแย่มากเลยพ่อหนุ่ม ดูแย่กว่าคนเดินขบวนอีก”

ป้าหมายถึงว่าหน้าผมดูเหนื่อยใช่มั้ยครับเนี่ย?

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบในการมาถ่ายภาพการชุมนุมคือการแต่งกาย ด้วยความที่การชุมนุม = การเรียกร้องเรื่องอะไรบ้างอย่าง เราเลยมักจะได้เห็นการแต่งกายของผู้เข้าร่วมชุมนุมที่มีความยูนีค บ่งบอกความเป็นตัวเองได้ดีเลย

“แหม้นๆๆๆๆ แหม้นนนน~” พี่คนนี้แกขับรถไปด้วยเบิ้ลเครื่องไปด้วย คุณป้าข้าง ๆ เลยห้ามใจตัวเองไม่ไหวขอบิดเล่นมั่ง

ใช้เวลาไม่นาน หมุดคณะราษฎรไซส์จัมโบ้ก็ได้ถูกนำมาวางที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเป็นที่เรียบร้อย ถือว่าเป็นการเริ่มกิจการรมฉลองวันชาติปีนี้อย่างเป็นทางการ

ผมนั่งพักหายใจซักครู่พร้อมกับจิบน้ำส้มแจกฟรีที่ผู้เข้าร่วมงานนำมาแจกจ่าย ซักพักก็มีคุณลุงคนหนึ่งมานั่งรับประทานอาหารที่เก้าอี้ฝั่งตรงข้ามพร้อมชวนคุย มันอดไม่ได้ที่อยากจะถามว่าคนรุ่นลุงเขาผ่านอะไรมาและคิดอย่างไรบ้างกับงาน สถานการณ์ตอนนี้ และอนาคตอีกสิบปีที่ช่างไม่แน่ไม่นอน

“มันก็ขึ้นอยู่กับประชาชนนะ ตอนนี้ประชาชนที่มาเข้าร่วมยังไม่เยอะพอ อย่างวันนี้ผมดูแล้วเศร้าใจเพราะมันควรจะมากันเต็มถนนนะ… มันไม่ตื่นตัวน่ะโดยเฉพาะพวกแม่ค้าแม่บ้านนะพอพูดถึงเรื่องบ้านเมืองเขาจะย้อนถามเลยอ่ะว่ามึงไปยุ่งอะไรเขา? เขาไม่เข้าใจอ่ะ
เขาไม่เข้าใจว่าการเมืองคือหัวใจ ถ้าการเมืองดีอ่ะ สังคมดีอะไรก็จะดี มันเป็นผลกระทบโดยตรงเลย เขาไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยมันกินได้ ประเทศไหนที่การเมืองไม่ดีมันก็พังเป็นลูกโซ่ไปหมด”

แล้วลุงคิดว่าอีกสิบปีข้างหน้า ครบรอบร้อยปีเรายังต้องต่อสู้แบบนี้อยู่อีกมั้ยครับ?

“ผมว่ามันก็ต้องสู้แบบนี้ต่อไปแหละ แต่เรื่องผู้ว่านี่ก็ทำให้พวกมันหนาวนะ แลนด์สไลด์กทม.ทำให้พวกมันหนาว”

“อย่างนี้มันทำให้ลุงมีความหวังกับเลือกตั้งระดับประเทศมั้ย?”

“… ผมว่าประชาชนได้บทเรียนแล้ว ได้บทเรียนเรื่องรวยกระจุกจนกระจาย เมื่อก่อนคนไทยเวลาเจอหน้ากันจะทักว่า ‘ไปไหนมา? สบายดีหรือ?’ แต่ตอนนี้กลายเป็น ‘กินข้าวรึยัง? มีเงินใช่รึเปล่า’ ผมว่าแค่นี้มันก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังตีนแล้วนะ”

“(พวกเรา)ไปทุกม็อบครับ” หนึ่งในเยาวรุ่นทะลุแก๊สกล่าวหลังจากผมนั่งลงถามไถ่ว่าเป็นไงมาไงบ้าง

ชอบบรรยากาศการชุมนุมวันนี้มั้ย?

“ก็ดีนะครับ เราจะเข้ามาพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดอะไรอย่างนี้”

“ผมว่าถ้ากิจกรรมแบบนี้อ่ะ จัดที่ลานคนเมืองก็ดีครับ” เยาวรุ่นคนหนึ่งพูดเสริม

“แต่ถ้าเป็นการเรียกร้องหรืออะไรเกี่ยวกับทางการเมืองที่แบบ… เหมือนกับเราไล่ประยุทธ์อะไรแบบนี้ ที่นี่มันไม่ได้มีความหมายอ่ะ”

แสดงว่าเราโอเคกับสถานที่ ๆ กดดันผู้มีอำนาจมากกว่านี้?

“ใช่ ๆ ที่นี่มันดูเป็นกิจกรรมเสวนามากกว่าอ่ะครับ แต่มันก็แล้วแต่กิจกรรมนะ แบบวันชาติเนี่ย ถ้าเทียบกับที่จัดปีที่แล้วผมรู้สึกว่ามันเหมือนกับเป็นการเริ่มต้นของการเรียกร้องอ่ะ”

จินตนาการสิบปีข้างหน้าไว้ยังไงบ้าง?

“ผมว่าสิบปีข้างหน้าก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่แหละ (หัวเราะ) ”

ไม่มีความหวังเลยเหรอ?

“มันมีความหวังแต่มันก็เลือนลางอ่ะครับ ผมว่ามันต้องใช้เวลาเยอะกว่าสิบปีอ่ะถ้าอยากได้ประชาธิปไตยแบบเต็มใบนะ แต่ถ้ายังมีชุมนุมอยู่ผมก็จะไปนะ ถ้าไม่ติดคุกเสียก่อน”

ทำไมถึงคิดอย่างนั้น?

“ก็ผมอยู่กลุ่มทะลุแก๊สอ่ะครับ นี่ก็เพิ่งประกันตัวออกมา

ความเห็นส่วนตัวผมนะ ผมรู้สึกว่าวันนี้มันเป็นแค่กิจกรรม ๆ หนึ่ง แต่อย่างที่เราไปเรียกร้องที่ดินแดงผมว่ามันเป็นเชิงสัญลักษณ์ด้วย พวกผมพูดไม่เก่ง ปราศรัยไม่เก่ง เน้นปฏิบัติ อย่างน้อยเราก็ได้แสดงออกว่าเราไม่อยู่นิ่งเฉยนะ เรายอมเอาตัวเข้าแลกเพื่อให้ได้ชีวิตที่ดีขึ้น แล้วมันไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราคนเดียวแต่เพื่อทุกคนด้วย”

ต่างคนก็มีวิธีสู้ที่ต่างกันไปแหละเนาะ

การที่เราเปลี่ยนจากการประท้วงมาเป็นลานกิจกรรมแบบนี้ ในมุมมองของคุณ ๆ รู้สึกว่ามันคือการที่กระแสมันแผ่วลงมั้ย?

“แผ่วลงมั้ยเหรอ? ผมว่ามันเป็นการปรับตามกลยุทธของพวกคนในสังคมที่เขาเป็นกันน่ะ ตอนนี้จะเห็นได้ว่าหลังจากเลือกตั้งผู้ว่าเนี่ย ผู้คนเริ่มจะมีแนวโน้มว่าอยากจะได้ความสะดวกสบาย ความบันเทิงแบบนี้น่ะ การจัดม็อบมันเลยออกมาในลักษณะนี้

เพราะถ้าเป็นม็อบแบบประท้วงใหญ่ ๆ คนบางกลุ่มก็จะยอมไม่เข้ามาเพราะกลัวเรื่องความอันตราย สวัสดิภาพ… คนไทยยังติดเรื่องนี้อยู่ซึ่งเป็นข้อเสีย ทำให้ไม่เข้าสู่การเป็นโลกวิสัยซักที ยังติดเรื่องความเชื่อ ประเมินความรุนแรงโดยการใช้หลักศีลธรรมเป็นหลัก ไม่ได้ประเมินด้วยหลักการตามสังคมศาสตร์”

“ย้อนกลับไปที่คุณถามว่าอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นยังไงนี่ ผมคิดว่าอีกสี่ถึงห้าปีก็เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่แล้วเพราะเด็กรุ่นใหม่ก็โตขึ้นทุกวัน ถึงเลือกตั้งครั้งหน้าเราจะไม่ชนะ อีกสี่ปีก็ได้เลือกตั้งอีก มันก็ตรงกับที่ผมพูดไว้ว่าอีกสี่ถึงห้าปีข้างหน้ามันต้องเปลี่ยนแน่ ๆ ยิ่งชุมนุมมันยิ่งเห็นว่าปรากฏการณ์ การเปลี่ยนแปลงมันเริ่มใกล้เข้ามาแล้ว คือเราแพ้กี่ครั้งก็ได้ ขอแค่ชนะครั้งเดียวก็พอ”

พอสัมภาษณ์เสร็จผมก็หยิบสติ๊กเกอร์ที่เขาแจกมาหนึ่งอันเป็นที่ระลึก

พักจากเรื่องเครียด ๆ มาหาอะไรทำเพื่อผ่อนคลายบ้าง นอกจากจะมีเวทีเสวนาเรื่องสังคม การเมือง การแสดงสดและดนตรีแล้ว ที่ลานคนเมืองวันนี้ยังมีเวทีให้นั่งเล่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย

เดินไปเดินมาผมก็ไปสะดุดตาเข้ากับโต๊ะเล่นบอร์ดเกมโต๊ะหนึ่งที่มีชายสวมเสื้อสีแดงนั่งอยู่พร้อมรอยยิ้มที่คุ้นตา เขาคือพี่วัฒน์ จากช่อง “bgn squad” ช่องที่ทำคอนเทนต์เล่นบอร์ดเกมบน Youtube แต่ผมรู้จักเขาจากช่อง TVmunk เพราะเคยดูตอนเด็ก ๆ

“ได้ยินแล้วรู้สึกแก่มาก พอพูดว่าเคยดูสมัยตอนเด็ก (หัวเราะ) ” พี่วัฒน์พูดติดตลก

“พี่ชอบเล่นบอร์ดเกม มีบอร์ดเกมเยอะแต่ว่าปัญหาของการเล่นบอร์ดเกมที่ใหญ่ที่สุดคือการหาคนเล่นด้วยเพราะว่ามันเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งต่างกันกับเกมออนไลน์ 

การที่เราเลือกที่จะเอาบอร์ดเกมของเรามาให้คนอื่นเล่น ใครที่ผ่านมาก็เลือกได้เลยว่าจะเล่นเกมไหน หน้าที่ของเราคือการหาเกมที่ทำให้คนที่ผ่านไปผ่านมาสามารถเรียนรู้ได้ในเวลาสั้น ๆ แล้วเล่นได้เลย บางทีมันไม่ใช่การที่มาร่วมเล่นเพราะสนุกด้วยนะ บางทีมันมาจากความเหงา ยิ่งที่ผ่านมาเจอโควิดนี่อย่างผมคือไม่ได้เจอเพื่อนหรือเจอใครเลย”

“พี่เป็นโต้โผในการจัดเหรอครับ?”

“มาแจมครับ ทีมที่จัดเขาเห็นผมทำช่องบอร์ดเกมเลยถามผมว่าลองเอามาให้คนร่วมงานเล่นมั้ย ตอนแรกผมก็กลัวว่ามันจะไม่เหมาะกับบริบทของงาน วันนี้ก็เลยเป็นการลองทำครั้งแรกของผมเหมือนกันครับ”

“พี่รู้สึกว่าการมีพื้นที่สาธารณะมันเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยขนาดไหน”

“เรารู้สึกว่าพื้นที่สาธารณะมันคือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนแสดงหลาย ๆ อย่างนะ ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนในด้านไหนก็ตามหรือจะจัดกิจกรรมอะไรก็ได้ ประเทศที่เปิดโอกาสให้คนใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างเสรีมันเป็นการบอกเราว่าผู้มีอำนาจเขาก็มีจิตใจที่จะสนับสนุนประชาธิปไตย… พี่ว่าการมีพื้นที่สาธารณะมันเป็นการเปิดกว้างในหลาย ๆ ด้านว่ะ”

ส่วนเรื่องอนาคตนี่พี่คิดว่าจะต้องประท้วงกันต่อไป มันไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ถึงแม้ว่าจะสู้มาขนาดไหนก็ตาม มันไม่เหมือนเทคโนโลยีที่วันดีคืนดีจะเปลี่ยนกันได้เลย แต่การเมืองการปกครองมันเป็นเรื่องของทัศนคติการถูกปลูกฝัง มันอาจจะยากที่จะปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว… แต่พี่คิดว่าคนมีความหวังขึ้นนะ”

พอคุยกับพี่วัฒน์เสร็จ หันไปข้าง ๆ เป็นโต๊ะคุยหนังสือของกลุ่มเครือข่ายกวีสามัญสำนึก ผมเข้าไปร่วมวงในขณะที่พี่คนนี้กำลังรีวิวหนังสือในมืออย่างเผ็ดร้อนอยู่พอดี

“คือปี พ.ศ. 2444 (เขียนโดย มาโนช พรหมสิงห์) ตามชื่อหนังสือเนี่ย มันเชื่อมโยงกับการปราบกบฏผีบุญที่ตรงทุ่งศรีเมือง ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาถ้าเกิดได้ตามข่าวทางฝั่งอีสานเนี่ย จะเห็นการ… ” ยังไม่ทันได้รีวิวจบ พวกพี่ ๆ เขาก็หอบของจรลีหนีฝนไปเสียก่อน… แต่ตอนนั้นฝนก็ยังไม่ได้ตกนะ แค่ลงเม็ด

เอาเป็นว่าใครที่สนใจเรื่องโศกนาฏกรรมที่รัฐทำกับประชาชนก็ไปหาอ่านกันได้แล้วกัน

ดีที่ผมไม่ได้คิดไปคนเดียวเกี่ยวกับเรื่องอนาคตเพราะที่นี่ก็มีบูทที่ให้เราเขียนจดหมายถึงตัวเองอีกสิบปีข้างหน้า ซึ่งจดหมายที่เขียนจะถูกรวบรวมใส่ไทม์แคปซูลและฝังไว้ที่สวนครูองุ่นแล้วเปิดอีกทีก็วันที่ 24 มิถุนายน 2575 …เขาว่าอย่างนั้นนะ

หลากคน หลากความฝัน หลากจินตนาการถึงชีวิตที่มีความสุขในสังคมประชาธิปไตยที่เหมือนกับโลกในฝันตามคำที่ใครต่อใครชอบพูดว่า “ถ้าการเมืองดี …ก็จะดี” บ้างก็เขียนจดหมายระบายความรู้สึกของตัวเองที่มีในตอนนี้อย่างจดหมายในภาพที่แอบอ่านแล้วก็รู้สึกตามไปด้วย

ผมเองก็ได้เขียนไปฉบับหนึ่งเหมือนกัน ไม่รู้เหมือนกันว่าอีกสิบปีข้างหน้าบทความนี้จังยังอยู่หรือตัวเองจะได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดไทม์แคปซูลที่สวนครูองุ่นมั้ย ถึงแม้จะได้ไปผมก็ไม่รู้เหมือนว่าจะจำสิ่งที่ตัวเองเขียนได้รึเปล่าเพราะไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้

อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในอีกสิบปีข้างหน้า

แต่การได้มาเห็นพื้นที่ที่ควรจะสาธารณะกลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างที่มันควรจะเป็นอีกครั้งก็ให้ความรู้สึกที่ดีนะ

เรียกว่าเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของประชาธิปไตยไทยก็คงจะได้มั้ง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า