fbpx

“หยก เด็กหญิงปีนหน้าต่าง – โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” กับโรงเรียนโทโมเอที่สังคมไทยไม่อาจมี

หลังจากที่ประเทศไทยผ่านยุครุ่งเรืองของการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมากว่าร้อยครั้งใน พ.ศ. 2562 – 2563 มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ต้องเสียเวลาไปกับการถูกจองจำด้วยข้อหาทางการเมือง จนกระทั่งชัยชนะของพรรคก้าวไกล ในศึกเลือกตั้ง 2566 ที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ให้คนไทยมีความหวังจะหลุดจากหลุมดำ ไม่น่าเชื่อว่า 1 เดือนผ่านไป เรากลับมานั่งถกเถียงกันอีกครั้งในเรื่อง “เครื่องแบบนักเรียน” จากกรณีที่ “หยก” เด็กผู้หญิงวัย 15 ปี ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพียงเพราะเธอสวมชุดไปรเวทและทำสีผมไปเรียน

นอกจากการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบนักเรียน นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ “เด็กไม่น่ารัก” สร้างความปั่นป่วนให้สังคม และถูกก่นด่าด้วยข้อหาสุดโต่งและหัวรุนแรง แม้แต่ผู้ที่เชื่อว่าตัวเองยืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ก็ยังแสดงท่าที “เห็นด้วยกับแนวคิด แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ” ราวกับว่าการไม่สวมเครื่องแบบนักเรียนนั้นก่อภัยพิบัติต่อสังคมอย่างร้ายแรง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเข้าใจในการกระทำของหยก และวิพากษ์วิจารณ์โรงเรียน พร้อมตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจที่เกินสัดส่วนความผิด

วิวาทะระหว่างเด็กกับโรงเรียน ที่บานปลายสู่วิวาทะในสังคมเช่นนี้ ทำให้ The Modernist นึกถึงโรงเรียนในอุดมคติอย่าง “โรงเรียนโทโมเอ” ในหนังสือ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ครูไทยหลายคนอยากจะมีโรงเรียนโทโมเอในแบบของตัวเอง แต่จากความขัดแย้งครั้งนี้ ดูเหมือนว่าโรงเรียนในฝัน ก็คงเป็นได้แค่ในฝัน สำหรับสังคมไทย

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

“โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เขียนจากชีวิตจริงของคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ พิธีกร นักเขียน และนักแสดงชาวญี่ปุ่น วัย 89 ปี ว่าด้วยเรื่องราวของ “โต๊ะโตะจัง” เด็กประถม 1 ผู้สร้างความวุ่นวายในห้องเรียน จนทางโรงเรียนเก่าต้องเชิญออก และทำให้เธอได้เข้าเรียนที่โรงเรียนโทโมเอ ซึ่งบริหารงานโดยครูใหญ่โคบายาชิ โซซาขุ ผู้มีวิธีการสัมภาษณ์รับเด็กเข้าเรียน โดยการฟังเด็กๆ เล่าเรื่องอะไรก็ได้ของตัวเอง และรับเด็กเข้าเรียนเมื่อเล่าเรื่องจบ

จุดเด่นของโรงเรียนโทโมเอที่สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าครูไทย คือห้องเรียนที่สร้างจากตู้รถไฟ ที่ไม่ว่าเด็กคนไหนมาเห็นก็อยากมาเรียนทุกวัน วิชาเรียนที่จัดตามความชอบของเด็กแต่ละคน เด็กนักเรียนหลากหลายลักษณะ ที่ไม่ว่าจะน่ารักหรือไม่น่ารัก ก็ล้วนได้รับโอกาสในการเรียนที่โรงเรียนแสนสนุกแห่งนี้

และกฎระเบียบที่น่าจะประหลาดที่สุดแต่สมเหตุสมผลที่สุดก็คือ โรงเรียนนี้ให้นักเรียนใส่ “เสื้อที่เก่าที่สุด” มาโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ เล่นสนุกกันได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวเสื้อผ้าเปื้อนหรือขาด

“‘เธอมีสิ่งที่ทำให้คนคิดว่าไม่ใช่เด็กดีหลายอย่าง แต่ครูรู้ว่าเธอมิใช่คนนิสัยไม่ดี เพราะมีสิ่งดีๆ ในตัวเธอมากมาย’ คุณครูโคบายาชิพูดประโยคสำคัญที่กำหนดอนาคตของโต๊ะโตะจังเช่นนี้” (โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง, 2564, หน้า 76)

คำพูดสั้นๆ ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนว่าผู้ใหญ่อย่างครูโคบายาชินั้นเห็นคุณค่าของ “เด็กไม่น่ารัก” อย่างโต๊ะโตะจังเท่านั้น แต่ยังทำให้โต๊ะโตะจังมองเห็นข้อดีของตัวเอง และส่งผลให้เธอ หรือ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ กลายเป็นเธอในวันนี้

แม้ความฝันที่จะเป็นครูโรงเรียนโทโมเอของเท็ตสึโกะจะมอดไหม้ไปพร้อมกับโรงเรียนโทโมเอที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่คำสอนของครูใหญ่ที่ว่า “พวกเธอทุกคนเหมือนกัน ต้องทำทุกอย่างด้วยกัน” ก็จุดประกายให้เธอและเพื่อนๆ ทำกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อนร่วมชั้นที่พิการได้ โดยที่ไม่คิดว่าเป็นการช่วยเหลือ จนกระทั่งเธอเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ เท็ตสึโกะได้เป็นทูตสันถวไมตรีของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และนำรายได้จากการพิมพ์หนังสือ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” มาก่อตั้งมูลนิธิโต๊ะโตะ เพื่อแสดงละครภาษามือให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยิน 

ทั้งหมดนี้มาจากการที่เธอไม่ลืมคำพูดของครูใหญ่ที่ว่า “เราต้องทำทุกอย่างด้วยกัน”

“ถ้าทุกคนในโลกคิดว่า ‘เราทุกคนเหมือนกัน’ โลกคงไม่มีสงคราม” ประโยคทิ้งท้ายในหนังสือของเท็ตสึโกะ ผู้ซึ่งเป็นผลผลิตของโรงเรียนโทโมเอ

หยก เด็กหญิงปีนหน้าต่าง (และก่อนหน้านั้นปีนรั้วเพื่อเข้าเรียน)

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ที่ประชาธิปไตยเริ่มจะเบ่งบานอีกครั้ง แต่กลับยังคงไม่คุ้นเคยกับเสรีภาพ เห็นได้จากกรณีของหยก เยาวชนที่ถูกตั้งข้อหาในมาตรา 112 ตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี ที่ล่าสุดเธอใส่ชุดไปรเวทและทำสีผมไปเรียน เพราะมองว่าชุดนักเรียนเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจนิยม สร้างความไม่สะดวกสบายให้กับผู้สวมใส่ และการแต่งกายกับทรงผมไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการเรียน

จากการกระทำดังกล่าว ส่งผลให้หยกถูกโรงเรียนไล่ออก ทว่าหยกไม่ยอมจำนน ยังคงแต่งกายเช่นเดิมไปโรงเรียน แม้ว่าโรงเรียนจะปิดประตู เธอก็ปีนรั้วเข้าไปในโรงเรียน กลายเป็นภาพข่าวดังที่เผยแพร่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ทางผู้อำนวยการโรงเรียนรายงานว่า ยังไม่มีการให้หยกออกจากโรงเรียน และยืนยันว่าหยกยังสามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น โรงเรียนได้ออกแถลงการณ์ว่า หยกหมดสภาพความเป็นนักเรียนแล้ว ด้วยเหตุผลว่า “มอบตัวไม่สมบูรณ์” รวมทั้งไม่ปฏิบัติตามระเบียบ

ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน หยกยังคงเดินทางไปเรียนตามปกติ แต่กลับถูกคุมตัวในห้องบริเวณหน้าโรงเรียน และเธอก็ปีนออกจากหน้าต่างห้องเพื่อเข้าเรียน ทำให้ต่อมา โรงเรียนได้ออกแถลงการณ์อีกครั้ง โดยย้ำว่า หยกไม่มีสภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียน เนื่องจากการมอบตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ส่วนสิทธิในการศึกษาต่อของหยก ก็ยังมีหน่วยงานการศึกษาอื่นที่สามารถดูแลต่อได้ รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยัง “ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการดําเนินชีวิตของนักเรียน ครู บุคลากร และผู้ปกครอง รวมทั้งอาคารสถานที่และทรัพย์สินอื่น ๆ ของโรงเรียน” จึงจําเป็นต้องดําเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

การที่โรงเรียน “ตีฟู” เรื่องการไม่เคารพกฎระเบียบและแปะป้าย “ตัวอันตราย” ให้กับหยก แม้กระทั่งเมื่อมีเด็กนำป้าย “เสรีเครื่องแบบ” มาติดในโรงเรียน ก็ยังถูกเก็บออกไป สะท้อนให้เห็นความพยายามในการใช้อำนาจกดทับและควบคุมเด็กคนหนึ่ง ไม่ให้ตั้งคำถามหรือสร้างการเปลี่ยนแปลง 

แต่สิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่า คือการดึง “อำนาจรัฐ” เข้ามาเกี่ยวข้อง จากกรณีที่มี “กองร้อยน้ำหวาน” หรือตำรวจหญิงควบคุมฝูงชน ประมาณ 10 นาย เข้าไปในโรงเรียน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน โดยโรงเรียนระบุว่า เป็นเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของหยก ขณะที่ พ.ต.อ.สุรพงษ์ พุฒขาว ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลประเวศ ชี้แจงว่า ทางโรงเรียนประสานมาให้ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรในโรงเรียน ส่วนการที่ตำรวจหญิงที่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ก็เพื่อลดบรรยากาศที่ตึงเครียด พร้อมยืนยันว่าไม่มีเจตนามาปฏิบัติการจับกุมใคร

แนวทางการควบคุม กดดัน และบังคับที่โรงเรียนใช้กับหยกโดยปราศจากการพูดคุยทำความเข้าใจและรับฟังเสียงของเด็ก แถลงการณ์ที่ไม่ชัดเจน และการนำกำลังตำรวจเข้ามาประจำการในพื้นที่โรงเรียน ทำให้เราเกิดข้อสงสัยกับ “ความเป็นมืออาชีพ” ของครูและผู้บริหารโรงเรียน หากครูเป็น “เรือจ้าง” “แม่พิมพ์” “เข็มทิศ” ครูได้ทำหน้าที่เหล่านั้นด้วยความเมตตาแล้วหรือยัง หากจะยืนยันว่าได้ใช้ความเมตตาแล้ว เหตุใดเด็กคนหนึ่งถึงโดนผลักไสออกจากโรงเรียน เพียงเพราะโทษเล็กน้อยอย่างการไม่สวมชุดเครื่องแบบ หรือไม่ได้พาแม่ผู้ให้กำเนิดมารายงานตัวเข้าเรียน?

และที่น่าหดหู่มากที่สุด คือท่าทีของสังคม ที่ก่อนหน้านี้ยินดีปรีดากับอนาคตของประเทศ หลังจากม็อบคนรุ่นใหม่ และชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล แต่บัดนี้กลับโจมตีแนวทางของหยก เพียงเพราะการพุ่งชนกับอำนาจมันไม่ใช่วิธีที่น่ารักอย่างปัญญาชน และกลับมากางปีกปกป้องเครื่องแบบนักเรียน สัญลักษณ์ของการใช้อำนาจ รวมทั้งเห็นดีเห็นงามกับการใช้อำนาจปราบปรามคนที่ “หือ” ขึ้นมา

โรงเรียนโทโมเอในสังคมไทย เกิดได้จริงหรือฝันไปเถอะ?

จากโรงเรียนโทโมเอในวรรณกรรมเยาวชน ที่มีปรัชญาสุดแสนเรียบง่ายคือการปล่อยให้เด็กได้เป็นเด็ก เพื่อเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ แล้วระบบการศึกษาไทยในชีวิตจริงมีเป้าหมายอย่างไร?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ระบุว่า การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ 

ขณะที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และมาตรา 7 กล่าวว่า ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

จากข้อกฎหมายต่างๆ และสภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนทุกวันนี้ ระบบการศึกษากำลังทำหน้าที่โยนเป้าหมายมากมายให้เด็กๆ แบกไว้ และเป็นให้ได้อย่างที่รัฐกำหนด ด้วยวิธีการสั่ง ท่องจำ ปฏิบัติตาม และลงโทษเมื่อไม่ทำตามกฎ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ “รัฐ” และการเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ ไม่ใช่การเติบโตอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะเป็น

แม้ว่าระบบการศึกษาที่กำหนดโดยรัฐจะล้มเหลวในการสร้างมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ เป็นประชากรของโลก แต่สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของระบบการศึกษาไทย คือท่าทีปกป้องค้ำจุนอำนาจรัฐของเหล่าประชาชนคนดีผู้รักษากฎกติกามารยาท และผลักให้เด็กคนหนึ่งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นตัวอันตรายของสังคม ที่ต้องถูกลงโทษด้วยวิธีการรุนแรง

เราได้ประชาชนที่เชื่องและเชื่อว่าความเชื่องคือการมีมารยาท รับผิดชอบต่อสังคม ส่วนโรงเรียนโทโมเอที่เด็กๆ มีอิสระและมีชีวิตชีวาด้วยความหลากหลายนั้น เห็นทีจะเป็นได้แค่ฝัน

เพราะแค่เสรีภาพของเด็ก 1 คน เรายังให้ไม่ได้เลย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า