fbpx

“Pawa-Hara” บูลลี่ กดขี่ ชี้นิ้วด่า พฤติกรรม “หัวหน้าบ้าอำนาจ” ในสังคมทำงานญี่ปุ่น

ภาพจำของ “หัวหน้าบ้าอำนาจ” หรือ “หัวหน้าจอมเผด็จการ” ที่มักใช้อำนาจรังแกลูกน้องในที่ทำงานยังคงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคมญี่ปุ่น ด้วยวัฒนธรรมการทำงานแบบลำดับขั้นฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน ทำให้หัวหน้าใช้อำนาจเป็นเครื่องมือข่มเหงรังแกพนักงานได้อย่างไม่เป็นธรรม หรือที่เรียกว่า พาวะฮาระ (Pawa-Hara)

คำว่า “พาวะฮาระ” ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 2003 โดยนักจิตวิทยาสังคมที่ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงาน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นคำย่อจาก Power Harassment แปลว่า “การใช้อำนาจคุกคาม” และเมื่อตีความในภาษาอังกฤษอาจเป็นการผสมความหมายกันระหว่าง “abuse of power” (การลุแก่อำนาจ) และ “bullying” (การกลั่นแกล้ง)

รากเหง้าของวัฒนธรรมเผด็จการ

เมื่อพิจารณาถึงต้นตอของปัญหาพาวะฮาระ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นที่มีรูปแบบการบริหารจัดการแบบเผด็จการที่ค่อนข้างสูง และให้ความสำคัญกับการเคารพผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ทำให้การบังคับบัญชาของหัวหน้าส่วนใหญ่มักจะเป็นการ ‘สั่ง’ มากกว่าการ ‘สอน’ 

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าการบริหารแบบเผด็จการทำให้พนักงานส่วนใหญ่ถูกข่มเหงรังแก แต่ก็มีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าที่จะร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ หลายคนจึงเลือกที่จะเงียบและทนกับพฤติกรรมของหัวหน้า สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้หัวหน้าที่บ้าอำนาจได้ใจกว่าเดิม มองว่าความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน 

นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นยังเชิดชูและยกย่องหัวหน้าที่ฝึกสอนลูกน้องจนประสบความสำเร็จ ว่าเป็นบุคคลที่มีความแข็งแกร่ง โดยไม่สนว่าวิธีการนั้นจะรุนแรงหรือทำร้ายคนทำงานหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของหัวหน้าบ้าอำนาจที่เป็นตัวการสร้างพาวะฮาระในที่ทำงานของญี่ปุ่น ได้รับอิทธิพลมาจากวิธีการบริหารของหัวหน้าแบบโหด ๆ ของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความนิยมในช่วงปี 1970 ก่อนที่จะหยั่งรากลึกลงไปในวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นในเวลาถัดมา

ค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ยังไม่หายไป

เมื่อมองไปในมิติเรื่องเพศในสังคมการทำงานของญี่ปุ่น พบว่า ค่านิยมชายเป็นใหญ่จากสังคมปิตาธิปไตยที่มีมาอย่างยาวนานของญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาพาวะฮาระในที่ทำงาน โดยมักมีการ ‘แข่งขันความเป็นชาย’ เพื่อแสดงออกถึงความอาจหาญและเข้มแข็ง

ทำให้การข่มเหงรังแกในที่ทำงานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายจำนวนมากก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งผู้ชายที่อยู่ตำแหน่งสูงกว่ามักจะกดขี่ผู้ชายที่อยู่ตำแหน่งต่ำกว่าเพื่อให้ยอมจำนนต่ออำนาจของตน อีกทั้งค่านิยมนี้ก็มักจะถูกส่งต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ทำให้ความรุนแรงนี้กลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น

ที่สำคัญ ค่านิยมชายเป็นใหญ่นี้ ได้สร้างต้นแบบความเป็นชายให้กับสังคมญี่ปุ่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การห้ามแสดงจุดอ่อนของตัวเอง ต้องมีความอดทนเข้มแข็ง ต้องให้ความสำคัญกับงานเป็นอันดับแรก รวมไปถึงการต่อสู้และเอาชนะผู้ชายด้วยกันเอง

โดยผู้ชนะก็มักจะได้รับการยอมรับกว่าคนที่แพ้ ทำให้ผู้ชายที่ถูกข่มเหงรังแกยอมทนทุกข์เงียบ ๆ คนเดียว ไม่กล้าขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากผู้อื่น เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นชายที่อ่อนแอ

ชนวนของโศกนาฏกรรม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พาวะฮาระ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในสังคมญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพนักงานจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาพาวะฮาระ ตามรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Nikkei Asia ระบุว่า ในปี 2021 มีพนักงานร้องเรียนปัญหาพาวะฮาระ ในที่ทำงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จำนวน 88,000 เคส เพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา 

แคมเปญ ‘No More Karoshi’ ต่อต้านการกดขี่แรงงานในโตเกียว

นอกจากนี้ สื่อต่าง ๆ ยังมีการรายงานข่าวการเสียชีวิตจากการถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างกรณีของวิศวกรหนุ่ม วัย 27 ปี ที่ทำงานบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ในประเทศ เขาต้องเผชิญกับการถูกหัวหน้าบูลลี่ ทำร้ายทางวาจาและกดดันด้วยการให้ทำงานเสาร์-อาทิตย์ จนในที่สุดเขาเป็นโรคซึมเศร้าและเลือกจบชีวิตลงในปี 2012

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ‘เอดะ ฮายาโตะ’ พนักงานวัย 20 ปี ที่หัวหน้าถูกข่มเหงรังแกและกดขี่ให้ทำงานหนักมากขึ้นโดยต้องมีโอทีรวม 109 ชั่วโมงต่อเดือน จนทำให้เขาปลิดชีวิตตัวเองในปี 2021 

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ของพาวะฮาระยังเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เมื่อปี 2017 มีการบันทึกภาพสตรีคนหนึ่งที่ในพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party) ตะโกนด่าทอผู้ช่วยว่า “แกมันควรตาย” ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนในที่สุดเธอต้องลาออกจากพรรคการเมืองไป

ฝันร้ายของคนทำงาน

ลักษณะของพาวะฮาระ สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบทั้งทางวาจา ร่างกาย และจิตใจ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเลือกปฏิบัติ การแบ่งแยก การลดคุณค่า การมอบหมายงานที่มากเกินไป หรือแม้กระทั่งการล้ำเส้นชีวิตส่วนตัวของพนักงาน 

จากผลสำรวจล่าสุดของ Shikigaku บริษัทที่ปรึกษารายหนึ่งของญี่ปุ่น ที่ได้ทำการสำรวจคนทำงานมากกว่า 2,200 คน ระบุว่า 71% ถูกข่มเหงรังแกจากผู้มีอำนาจ อีก 43% ถูกคุกคามทางจิตใจ และ 21% ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กล่าวว่า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ทำงานได้ โดยมีเพียง 36% เท่านั้น ที่รายงานความรุนแรงดังกล่าวต่อบริษัทของตน ในขณะที่ 47% กล่าวว่าบริษัทของตนนั้นเพิกเฉยต่อความรุนแรงเหล่านี้

ปรากฏการณ์ #MeToo เพื่อแสดงออกและต่อต้านการถูกคุกคามทางเพศ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนทำงานในญี่ปุ่นยังต้องเผชิญหน้ากับฝันร้ายนี้อย่างโดดเดี่ยว อีกทั้งการเพิกเฉยของบริษัทได้ส่งผลกระทบในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง บรรยากาศการทำงานแย่ลง และส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงาน 

อย่างไรก็ตามความรุนแรงของพาวะฮาระ ไม่เพียงส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพของพนักงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อผลกำไรและสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์องค์กรได้เช่นกัน

การแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล

แม้ว่าพาวะฮาระ จะเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาตั้งแต่ปี 1990 แต่ห้าปีก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม OECD ที่ไม่มีกฎหมายมายุติความรุนแรงจากการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน 

จนกระทั่งปี 2019 รัฐบาลถึงได้มีการกำหนดข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน โดยมีผลบังคับใช้สำหรับนายจ้างรายใหญ่ในเดือนมิถุนายน 2020 และสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเดือนเมษายน 2022 เพื่อเสริมสร้างมาตรการต่อต้านการรังแกทางอำนาจ

โดยมาตรการหลักของกฎหมายนี้คือ การสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงการใช้อำนาจข่มเหงรังแกในที่ทำงาน มีการใช้ระบบในการให้พนักงานสามารถส่งคำร้องของตัวเองเมื่อโดนรังแก รวมถึงการให้บริษัทตรวจสอบและแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วต่อคำร้องของพนักงาน

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับบริษัทที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายทำให้หลายบริษัทมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าการกระทำใดคือการข่มเหงรังแกในการทำงาน

ทางด้าน ฮิโรชิ ชิบะ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจาก Tokyo Uchisaiwaicho Law Firm ระบุว่า แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดเกณฑ์ทางกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับโทษในกฎหมายฉบับนี้ แต่บริษัทต่าง ๆ ก็ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น เช่น การหมิ่นประมาท การดูถูก การข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย หรือการบาดเจ็บ รวมถึงค่าปรับและการจำคุก ยิ่งกว่านั้น หากมีการเพิกเฉยต่อความรุนแรงดังกล่าว อาจถูกเปิดเผยชื่อบริษัทต่อที่สาธารณะเพื่อสร้างความอับอาย

ก้าวต่อไปของการทำงานในญี่ปุ่น

แม้ว่าญี่ปุ่นมีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการถึงการแก้ปัญหาพาวะฮาระ แต่ยังคงมีความท้าทายที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้อยู่หลายมิติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทำงานที่มีลำดับชั้นแบบดั้งเดิม และความรับผิดชอบส่วนบุคคลของหัวหน้าบ้าอำนาจ ที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียม

ท้ายที่สุดแล้ว การคุกคามในที่ทำงานเป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งต้องใช้แนวทางที่หลากหลาย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม การศึกษา และการคุ้มครองทางกฎหมาย เพื่อสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและให้ความเคารพพนักงานทุกคนอย่างมนุษย์คนคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ในการทำงานของญี่ปุ่น ที่จะเปลี่ยนโลกอันมืดมนให้สดใสพร้อมโอบรับคนทำงาน และเราก็หวังว่าในอนาคตต้องไม่ควรมีใครต้องมาถวายลมหายใจให้สังคมหรือคนที่เป็นพิษในที่ทำงานซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง

ขอบคุณแหล่งที่มา: medium (1) (2) / japanintercultural / economist / bccjapan / bmes / mgronline / linkedin / coachhub

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า