fbpx

Youth Pride Thailand ไพรด์เพื่อความเท่าเทียมเพื่อเยาวชนผู้มีความหลากหลาย

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

Partnership Content

มิถุนายนคือเดือนที่ธงสีรุ้งโบกสะบัดไปทั่วโลก และประเทศไทยเพิ่งโอบรับเฉดสีนี้ให้ส่องสว่างไปทั่วหัวเมืองใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ในปีนี้

เพราะด้วยโรคระบาดที่เบาบางลงและพลังที่อยากเห็นกลุ่มคนเพศหลากหลาย LGBTIQAN+ ได้รับความเท่าเทียมอย่างแท้จริง Pride Moth หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงกลายเป็นวาระใหญ่ที่หลายมิติสังคมทั้งเอกชน นักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ นักแสดง และ “ชาวเรา”​ ต่างโบกธง 6 เฉดสีเพื่อแสดงความภาคภูมิใจในความเป็น “เรา”​ ท่ามกลางปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศทั้งหลายทั้งปวง

แต่คนที่ถูกฉายแสงน้อยที่สุด และถูกพูดถึงในกระบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมน้อยที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นเยาวชน ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลากหลายกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกหลงลืม แม้ว่าเขาจะมีตัวตนอยู่ในสังคมไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย

เครือข่ายภาคีทั้ง 8 ประกอบด้วย สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำหลากหลายเพศรุ่นใหม่, มูลนิธิ Save the Children Thailand, องค์การ Plan International Thailand, มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA), กลุ่ม Queer Riot, กลุ่ม Young Pride Club, กลุ่ม GIRLxGIRL Thailand และสำนักข่าวเด็กและเยาวชนจังหวัดพะเยา (PYNA) จึงร่วมกันจัดงาน Youth Pride Thailand เพื่อเปิดพื้นที่แสดงออกให้กับเยาวชนคนหลากหลาย สร้างความเท่าเทียม และให้เวทีได้ปล่อยของกันอย่างเต็มที่

The Modernist มีนัดหมายพิเศษกับ “หมู่คณะ” ผู้จัดงานนี้ ทั้งฮั้ว-ณชเล บุญญาภิสมภาร (โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำหลากหลายเพศรุ่นใหม่) ปูเป้-เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ (Queer Riot) แพท-แภทริเซีย ดวงฉ่ำ (GIRLxGIRL) และอาร์ตี้-สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์ เพื่อฟังเบื้องหลังการจัดงานเพื่อเยาวชน อุปสรรคข้อท้าทายที่ต้องรับมือ 

และความมาดมั่นปรารถนาเพื่อให้เยาวชนคนหลากหลายได้รับความเท่าเทียมที่แท้จริง

ที่มาของการมารวมตัวกันจัดงาน Youth Pride Thailand 2022 

ฮั้ว: คืองาน Pride มันจดทุกเดือนมิถุนายน ในไทยปีนี้ เราก็เห็นว่ามีภาคธุรกิจจัดงาน Pride เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสามย่านมิตรทาวน์, เซ็นทรัลเวิลด์, Spectrum หรือองค์การต่างๆ และก็มีภาคประชาสังคมที่จัดอยู่ และเรารู้สึกว่างาน Pride ส่วนใหญ่จะไม่มีธีมหรือเจาะกลุ่มไปที่กลุ่มใดกลุ่ม แต่เราเห็นความสำคัญของการที่จะทำงาน Pride มีเสียงของเยาวชน ให้พวกเขามีเสียงในการที่จะสื่อสารในที่สาธารณะ ให้เห็นถึงประเด็นที่เยาวชนอยากเห็นหรือมีส่วนร่วม เราก็เลยมีไอเดียว่าอยากจะจัดงาน Pride กับเยาวชน 

โดยที่เราก็ไม่ได้จัดเองเนอะ เราก็ไม่ใช่เยาวชนแล้ว ฉะนั้นเราจึงดึงภาคีที่ทำงานกับเยาวชน เช่น Young Pride Club, GIRLxGIRL Thailand หรือ Queer Riot เข้ามาช่วยคิดและออกแบบตัวกิจกรรมของงานรวมไปถึงกำหนดแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพราะเราอยากให้งาน Pride เยาวชนถูกออกแบบโดยเยาวชน และเราอยากให้เยาวชนที่ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ หรือไม่ก็แล้วแต่ มาร่วมงานในครั้งนี้ เราเลยคิดว่ามันควรจะถูกนำโดยเยาวชน 

กลุ่มเยาวชน LGBTQ+ ในไทยมีพื้นที่ในการแสดงออกมาแค่ไหน

ฮั้ว: กลุ่มเยาวชน LGBTQ+ เขามีพลังมากเลยนะ  แต่เขาไม่มีพื้นที่ให้ออกมาสื่อสาร เนื่องจากความเป็นเยาวชน เราจะเห็นว่าองค์กรที่ทำงานกับเยาวชน LGBTQ+ ในไทย มีไม่เยอะ ถ้าเทียบกับองค์กรที่ทำงาน LGBTQ+ อื่นๆ ต้องบอกก่อนว่าเรามีองค์กรที่ทำงานกับ LGBTQ+ ค่อนข้างเยอะ แต่องค์กรเหล่านั้นไม่ได้ทำงานแบบเน้นกลุ่มประชากร คือเขาเน้นทุกคนที่เป็น LGBTQ+ แล้วก็เน้นในเรื่องประเด็นต่างๆ เช่น สุขภาพหรือสิทธิ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร คุณก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรเหล่านั้นได้ 

แต่ว่าองค์กรที่ทำงานกับเยาวชน LGBTQ+ เลยก็มีไม่มาก เพราะฉะนั้นเราจึงอยากให้องค์กรต่างๆ ที่เขาทำงานตรงนี้อยู่แล้ว ให้เขามาออกแบบ และด้วยที่ผ่านมาเมื่อมีการรณรงค์มีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย เราก็เห็นแล้วว่าเยาวชนให้ความสำคัญเยอะมาก คนที่เป็นเยาวชนออกมาเป็นแกนนำเยอะมาก เราก็เห็นพลังและอยากให้พลังเหล่านั้นถูกส่งต่อมา โดยการจัดงาน Youth Pride 2022 เราเน้นธีมของสันติภาพและความยุติธรรมเป็นหลัก

ทำไมองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้าน LGBTQ+ ในไทยถึงไม่ค่อยมาทำงานกับเยาวชนมากเท่าที่ควร

ฮั้ว:  คือมัน มีแต่ไม่ถูกให้ความสำคัญ ไม่ถูกทำให้เป็นกระแสหลักที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ระบบอายุ ระบบอาวุโสมันกดทับ คนที่มีอายุมากก็จะมีอำนาจมากกว่าคนอายุน้อย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนชุดคำอธิบายพวกนี้ เพราะมันไม่เวิร์คต่อไปในสังคมประชาธิปไตย 

เราก็ไม่อยากไปดิสเครดิตคนที่ทำว่าเขาไม่เน้นเยาวชน อย่างงาน Pride วันก่อน (บางกอกนฤมิตไพร์ด-จัดวันที่ 5 มิถุนายน 2565) ก็มีเยาวชนออกมาเต็มไปหมดเลย ดังนั้นมันมี แต่มันไม่ได้มีการออกแบบกิจกรรมที่มีความชัดเจนในการทำงานกับเยาวชน หรือเอาเยาวชนมานั่งเป็นคนคิด เราว่ามันสำคัญมากเลยนะ เพราะหลายๆ องค์กรที่ทำเรื่อง LGBTQ+ ก็จะถูกนำโดยผู้ใหญ่ เราจึงต้องคิดถึงการที่จะนำเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นผู้ปฏิบัตินะ แต่ต้องไปถึงการมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายและกำหนดทิศทางของการทำงาน ตรงนี้มากกว่าที่มันยังไม่เห็น

อุปสรรคและความยากในการทำงานกับเยาวชน LGBTQ+

ฮั้ว: ก็อย่างที่บอกไปก่อนหน้า เราเป็นสังคมที่ยึดถือความอาวุโส เป็นสังคมที่คนมีอำนาจเยอะกดขี่คนที่มีอำนาจน้อย แน่นอนการที่คุณมีอายุเยอะและมีอำนาจเยอะตามก็เป็นอะไรที่ควรมี หรือการที่อยู่ในชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง คนที่มีการศึกษา หรือการที่มีทรัพยากรทางสังคมที่มากกว่าคนอื่น สิ่งเหล่านี้มันจะต้องถูกอธิบายใหม่

ถ้าเราทำงานเรื่อง LGBTQ+ มันมีประโยคนึงที่คนทำงานมักจะพูดคือ “คนเป็นคนเท่ากัน” แน่นอนว่าคนเท่ากันในที่นี้หมายความว่า คุณจะเป็นคนที่อายุมากกว่าหรือน้อยกว่า คุณก็คือคน  และคุณก็ควรที่จะต้องมีความเท่าเทียมนะ ในเรื่องของการมีส่วนร่วมในอะไรต่างๆ 

ในสังคมไทย พอเราทำงานเรื่อง LGBTQ+ พอมันเกิดความก้าวหน้า มันก็จะมีแรงต้านตลอดเวลา เช่น เยาวชนออกมาเปิดเผยตัวว่าเป็น LGBTQ+ มากขึ้น ก็จะมีแรงต้านจากครอบครัว ประมาณว่ารออายุมากกว่านี้ก่อนไหม ค่อยทำอะไร การไม่ยอมรับจากครอบครัวก็เป็นประเด็นที่มันสำคัญมากๆ นะ

และก็แรงต้านในโรงเรียน เราก็จะได้ยินข่าวตลอดเวลา เช่น การโดนบังคับให้แต่งตัวตามเพศกำเนิด ถ้าคุณเป็นหญิงข้ามเพศก็จะถูกบังคับให้แต่งตัวเป็นผู้ชาย มันจะมีแรงต้านเสมอในสังคมไทยเวลาที่ LGBTQ+ กำลังจะมีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิ 

มีปัญหาที่ได้เจอเมื่อเข้ามาทำงานกับเยาวชน LGBTQ+ บ้างไหม

เป้: ในโรงเรียน การที่จะต้องครูต้องให้เด็ก LGBTQ+ มาทำกิจกรรมที่มีความเฮฮา กิจกรรมเฉพาะ ก็จะสร้างภาพจำว่าเด็กเหล่านี้จะต้องทำแบบนี้นะถึงจะได้รับการยอมรับ ครูก็อาจจะสนับสนุนแค่นี้ แต่จริงๆ มันก็ทำให้พื้นที่แคบหรือแย่งชิงกันหรือเป็นเป้าสายตาด้วยที่จะเผชิญการคุกคาม ความรุนแรง หรือการกลั่นแกล้งระหว่างเด็กวัยใกล้ๆ กัน และการกลั่นแกล้งเด็กที่เป็น LGBTQ+ หรือเด็กที่รู้ว่าตัวเองเป็น แต่ตัวเองยังไม่เปิดเผยก็ตาม แต่คิดว่าคนเรามันก็มีลางสังหรณ์ ก็จะคอยกลั่นแกล้งกัน 

หรือคุณเป็นคนอ้วน คุณมีลักษณะบางอย่างที่เป็นความหลากหลายทางระบบประสาทก็ตาม เช่นพูดไม่ชัด เด็กเหล่านี้ก็จะโดนหนัก อันนี้เป็นเรื่องของชุดความคิด และคุณครูหรือผู้ปฏิบัติงานได้เข้าใจไหมต่อความละเอียดอ่อนของการทับซ้อนเรื่องนี้ ยังไม่มี หรือมีน้อยมาก และเด็กที่เป็น LBGT ก็ยังเผชิญกับเรื่องคุกคามทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน ผู้หญิงก็ยังโดนหนักนะ เขาก็ยังไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองที่เป็นธรรม แต่ถ้า LGBT คือไม่มีพื้นที่เลย

ฮั้ว: จริงๆ คำถามนี้ควรจะไปถามเยาวชน เพราะเราก็ผ่านวัยที่เป็นเยาวชนมานานแล้ว อย่างตอนที่เราเป็นเยาวชน เราก็รู้สึกว่าเราไม่มีพื้นที่ที่จะสร้างสรรค์อะไรเลย พอเราเป็นผู้นำก็จะถูกตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าเป็น LGBTQ+ จะนำใครได้ไหม เช่น ในโรงเรียน เวลาเราถูกเลือกให้เป็นประธาน เราก็ไม่ได้เป็น เพราะเราเป็นคนข้ามเพศ เขาก็ไปเอาผู้ชายมาเป็นแทน เราก็ต้องเป็นรองประธาน ประสบการณ์เหล่านี้มันไม่ยอมหายไปในสังคม เพราะฉะนั้นคำถามสำคัญคือเราจะทำยังไงให้เยาวชน LGBTQ+ ไม่เจอกับปัญหาเหล่านี้อีก 

ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่ของคนที่เป็นเยาวชนไง มันเป็นหน้าที่ของระบบสังคมหรือคนทุกคนที่จะต้องเปลี่ยนเพื่อโอบรับคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร เพศอะไรก็แล้วแต่ คุณมีพื้นที่ที่จะเป็นตัวเองได้ นี่คือประเด็นสำคัญที่เราจะต้องมานั่งคิดกัน และจะมานั่งคิดกันเองไม่ได้ แต่จะต้องดึงคนที่เป็นเยาวชนเข้ามาในวงของการพูดคุยเพื่อให้เขาได้บอกเรา ว่าเขาต้องการอะไร 

การตื่นตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของคนที่ทำงานด้าน LGBTQ+ มากน้อยแค่ไหน

ฮั้ว: Visibility เป็นเรื่องสำคัญมากของการทำงานเรื่องสิทธิของ LGBTQ+ เราเห็นภาพของเยาวชนจำนวนมากเลยที่ออกมาต่อสู้ลงถนน สิ่งที่สังคมไทยได้เห็นคือพลังของเยาวชน และนี่ไม่ใช่แค่ภาพของการที่พวกเขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงนะ แต่มันเป็นภาพของการที่พวกเขาไม่ยอมกับระบบสังคมที่กดขี่เขาไว้ ซึ่งเป็นระบบที่มันส่งเสริมคนที่มีอำนาจเหนืออยู่ 

เราเห็นภาพเหล่านี้มากขึ้น และภาพเหล่านี้มันสำคัญมากของขบวนการที่ต่อสู้ เพราะว่าเราจะต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิไม่ได้ ถ้าเราไม่มีมวลชน มันทำให้เรารู้ว่าถ้าเราจะต้องพูดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ให้เป็นสังคมที่เคารพคน ไม่ว่าคนเรานั้นจะอายุเท่าไรก็ตาม เราจะไม่ได้พูดเองคนเดียว เรามีคนเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นคนที่อยู่ข้างๆ มันเป็นความหวังที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าสังคมไทยกำลังจะก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ก้าวถอยหลัง อาจเป็นแค่ก้าวสั้นๆ แต่เรากำลังเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างอยู่แน่นอน

Pride Month ปีนี้ค่อนข้างคึกคักและได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน ซึ่งไม่ใช่แค่ภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่ภาคการเมืองและภาคธุรกิจก็ลงมาให้ความสำคัญด้วย มองปรากฎการณ์เหล่านี้ยังไง

ฮั้ว: เราต้องมองให้แตก ทุกภาคส่วนออกมาทำอะไรเยอะแยะไปหมดเลย แต่มันมีคำว่า Pinkwashing (การที่ภาคธุรกิจนำเอาความหลากหลายทางเพศมาชูเป็นจุดขายหรือส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ โดยไม่ได้ใส่ใจต่อประเด็นปัญหาที่แท้จริง) เราก็ต้องมานั่งคิดและประเมินนะ เวลาที่ภาคธุรกิจเขาออกมาทำงาน Pride เราก็จะตั้งคำถามว่าเขาออกมาทำแค่เดือนนี้หรอ เขาจะทำเรื่อง LGBTQ+ แค่เดือนเดียวรึเปล่า เพราะสิ่งที่เราอยากได้จริงๆ คือภาคธุรกิจที่สนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิทธิของ LGBTQ+ ซึ่งไม่ใช่ทำแค่เดือนมิถุนายน แต่จะต้องทำทุกเดือนและตลอดไป มันจะมีภาคธุรกิจที่ออกแบบนโยบายเพื่อ LGBTQ+ พูดง่ายๆ ว่ามาก่อนกาล เขาให้การคุ้มครองอะไรบางอย่าง แต่เราก็ต้องตั้งคำถามว่ามันเพียงพอและเหมาะสมไหม ต้องคุยกันต่อไป

เป้: มันมาจากการต่อสู้ของประชาชน Pride มันมาจากความโกรธ ความไม่พอใจ ความรู้สึกกดทับจากกระแสโลกต่างๆ มันมีคนที่พร้อมกว่าลุกขึ้นมา เมื่อก่อนก็จะมีอัตลักษณ์ Gay และ Lesbian ที่เห็นชัด แล้วก็เป็น LGBT Bisexual Transgender แต่มันก็มีลักษณะที่ไม่เท่ากัน แต่เวลาที่เราลุกขึ้นสู้ เราเจอเหมือนกันคือเขาไม่ยอมรับอะไรนอกจากกรอบเพศชาย-หญิง 

พอเราต่อสู้มาอย่างยาวนานสิทธิมันถึงก้าวหน้า สิทธิเราได้มาเพราะเราต่อสู้มันไม่ใช่เพราะว่าเรายอมแต่ว่าเราต้องสู้ แล้ววิธีต่อสู้ก็ไม่เหมือนกัน และ Pride เองมันเป็นลักษณะของการที่เปลี่ยนพลังของความทุกข์ใจ ความเจ็บปวด ประสบการณ์ เหมือนเป็นหมุดหมายบางอย่าง เหมือนเป็นกิจกรรมที่ทำให้เรารวมตัวกันแล้วเราก็ไปต่อไปข้างหน้า ทำให้เราระลึกได้ว่าฉันมาไกลแล้ว ฉันเบิกบานได้แล้ว ฉันมีความสุข แม้ในเชิงกฎหมายยังไม่รองรับในประเทศไหนก็ตาม

แต่มันจะขยับขึ้นมาเรื่อยๆ เริ่มต้นจากตะวันตกก่อน เริ่มต้นจากประเทศในเอเชียที่มีความก้าวหน้าก่อน แล้วไทยเองก็เป็นประเทศนึงที่มองว่ามีความพร้อม แล้วชุมชนของ LGBT ของไทยก็ต่อสู้มาอย่างยาวนาน ในการรับทั้งเรื่องของความรู้ เรื่องปัญญาของคน องค์ความรู้งานวิจัยที่ออกมาใหม่เรื่อยๆ เรารับสิ่งที่ดีๆ มาด้วย ไม่ได้รับแค่ความเจ็บปวดขององคน เรารับสิ่งที่เป็นความรู้ความก้าวหน้ามาด้วย แล้วเราก็พัฒนา เรียนรู้ ผลักดันต่อมาเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยที่แม้จะมีความแตกแยก รัฐบาลที่เป็นทหาร ความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม มันเป็นข้อดีนะที่เราจะเรียนรู้จากความขัดแย้งเหล่านี้ได้ แล้วเราคิดว่า LGBT นี่แหละเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เรียนรู้จากความขัดแย้งได้ดีจากระดับตัวตนข้างในของตัวเอง ทำงานกับความขัดแย้งกับชุมชน ทำงานกับความขัดแย้งระดับรัฐ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราไปต่อได้ทีละนิด มันอาจจะไม่ได้ตามที่เราคาดหวังว่ามันต้องเป็น Pride แบบตะวันตก แต่ประเทศไทยมาไกลแล้ว เราต้องยินดีแล้วเรารู้สึกว่ามันคือความหวัง มันไม่ใช่ที่สุด เราอาจจะอกหักจากอะไรก็ได้

หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานในประเด็น LGBTQ+ มากแค่ไหน

ฮั้ว: เราต้องบอกนะว่าเราเหนื่อย ภาคประชาสังคมเราไปข้างหน้ากันอยู่ตลอดเวลา เราทำงานไปไกลมาก และเราไม่สามารถหยุดได้ไง สิ่งที่เราขอจากภาครัฐเลยคือคุณไม่ต้องทำมากกว่าเรา คุณแค่ทำเท่าเราก็พอ ภาครัฐยังทำไม่เท่ากับภาคประชาสังคมเลย และเอาเข้าจริง หน้าที่ของการออกแบบ การคุ้มครองและสนับสนุนประชาชนมันไม่ใช่หน้าที่ของภาคประชาสังคม เพราะภาคประชาสังคมคือประชาชน แต่เป็นภาครัฐต่างหากที่จะต้องกระตุ้นและตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อทำให้ระบบสนับสนุนประชาชนที่คุณกำลังทำอยู่ มันไม่ผลักดันคนกลุ่มใดกลุ่มนึงออกไป มันคุ้มครองคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ เป็นคนชายขอบ มีอัตลักษณ์ใดๆ ก็ตาม เขาจะต้องได้รับการคุ้มครอง เราไม่ต้องการให้ภาครัฐเดินตามหลังภาคประชาสังคม เราต้องการภาครัฐที่มาเดินข้างกับเรา สนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน ต้องการเพียงเท่านี้

เราต้องให้เครดิตเขาด้วย ไม่ได้จะด่าอย่างเดียว อย่างกระทรวงสาธารณสุขทำงานกับ Transgender มานานมาก เนื่องด้วยทำงานด้วยกันมานาน เขาก็มีความใจเราในบางอย่าง หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ออกกฎหมาย Gender Equality Act หรือ พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่เอาคนที่เป็น LGBTQ+ ไปอยู่ภายใต้ความคุ้มครอง เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐที่เข้าใจมันก็มี เขาก็มีของเขา แต่อย่างที่พูดไป เขายังเดินตามเรา เพราะสิ่งที่เขาทำไม่ได้ไปด้วยกันกับความต้องการของประชาชน เราต้องการมากกว่านี้ อย่างเช่น พรบ.สมรสเท่าเทียม  เราต่อสู้มาเป็นระยะเวลานานนะ ถึงแม้ในสื่อ อาจรู้สึกว่าสมรสเท่าเทียมมันพึ่งมี มันไม่ใช่ เราทำงานมามากกว่าสิบปี มันมีคนพูดมาตั้งนานแล้ว เราก็ไม่เคยจะได้สักที หรือ พรบ.รับรองอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศ ก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐก็ยังตั้งคำถามกับเราอยู่เลย เรามักจะพูดว่ากฎหมายเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นทำได้ แต่ทำไมประเทศไทยที่มีศักยภาพถึงทำไม่ได้สักที มันอยู่ที่อคติของคนทำงานและผู้ออกแบบนโยบาย และเรารู้สึกว่าเราเป็นคนตัวเล็กอยู่แล้ว พอเจออคติแบบนี้มันทำให้เรายิ่งรู้สึกว่าเราเป็นคนตัวเล็กไปอีก ซึ่งอคติตรงนี้เราเจอบ่อยมากเวลาเราทำงานกับภาครัฐ

เป้: พอไปอยู่ในระดับผู้กำหนดนโยบาย ถ้าพูดกันถึงฝ่ายที่มีความรับผิดชอบ  พอเขาขึ้นไปอยู่ตำแหน่งสูงๆ ส่วนใหญ่เขาก็ต้องทำตามระบบหรือวิธีการที่ทำให้ได้รับการยอมรับจากระบบโครงสร้างอำนาจ เขาก็จะมีชุดความคิดที่จะทำให้ได้รับการยอมรับ เช่น ชายและหญิง แล้วก็เป็นชายและหญิงที่ไม่เท่าเทียมกัน 

เขาเป็นคนกำหนดนโยบาย ซึ่งแน่นอน หลายๆ คนอาจจะพยายามที่จะเข้าใจหรือตามให้ทันกับยุคสมัย แต่หลายครั้งเมื่อมันเป็นลักษณะของคนที่มีอำนาจมากมาย มันไม่สามารถที่จะมองเห็นโลกได้ครบหรอก เพราะว่าสุดท้ายโลกมันมีหลากหลาย มันกว้างมาก มันก็ทำให้นโยบายต่างๆ ยังไม่พ้นกับทัศนคติเดิม โลกทัศน์เดิม แล้วมันก็มากดขี่ สร้างความเจ็บปวดให้กับคนซ้ำๆ อาจจะดีหน่อยถ้าเราเชื่อในเรื่องระบอบประชาธิปไตย ผู้นำเหล่านั้น ประชาชนจะสังเกตเห็น นอกจากเห็นผ่านนโยบาย บุคคลิกภาพ หรือว่าเรื่องของตัวตน ผู้แทนของเขาว่าเป็นแบบไหน อันนี้เราก็จะมีส่วนร่วมส่วนหนึ่ง ถึงจะไม่ได้ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นข้าราชการที่มีการแต่งตั้ง ไต่เต้าขึ้นมา มันก็ยิ่งยากมากๆ ที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไร มันก็มีความล้าหลัง ภาคนโยบายมันไม่สามารถที่จะสร้างความเป็นธรรมในเชิงนั้นได้ ฉะนั้นพอไปถึงระดับผู้ปฏิบัติงาน มันก็เป็นระดับปัจเจกว่าทุกคนจะถูกหล่อหลอมมาเหมือนกันเองแหละ แล้วยิ่งเขามีเนื้องาน มีเวลาที่ต้องเลี้ยงลูก ต้องทำตามเจ้านาย เพราะฉะนั้นยิ่งเป็นไปได้ยากที่เขาจะมีเวลาเข้าใจระบบสังคม 

อคติแบบนี้ หรือกรอบความคิดแบบชายเป็นใหญ่มันยังมีพลังมากแค่ไหนในสังคม

ฮั้ว: มีมากแน่นอน และเราคิดว่าระบบชายเป็นใหญ่มันทำร้ายคนทุกเพศ เราจะต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะคิดว่ามันทำร้ายแค่คนชายขอบ แต่มันทำร้ายคนทุกเพศไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เช่น ถ้าคุณเป็นผู้ชายและคุณรู้สึกว่าคุณไม่ fit กับความเป็นชายที่สังคมตั้งกรอบไว้ คุณจะโดนกระทบทันที และคุณจะรู้สึกว่าคุณไม่ใช่ชาย ศักดิ์ศรีและความสุขก็จะถูกกระทบ ส่วนผู้หญิง แน่นอนว่าถูกทำร้ายจะระบบชายเป็นใหญ่ ส่วน LGBTQ+ ถูกทำร้ายแน่นอนจากระบบนี้ ตรงจุดนี้ถ้าเราไม่เข้าใจร่วมกัน เราก็จะไม่สามารถไปเปลี่ยนระบบนี้ได้ ระบบชายเป็นใหญ่มันจะต้องมีคนไปท้าทาย และมันไม่ได้ทำวันเดียวแล้วจบ งานแบบนี้มันต้องทำไปตลอดชีวิต ถ้าเราตายไป เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะเปลี่ยนมันได้รึเปล่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดทำมัน คุณต้องทำ ต้องท้าทายมันไปตลอด แต่สิ่งหนึ่งในระหว่างที่เราท้าทาย เราก็ต้องตั้งคำถาม บอกกับทุกคนว่าพวกเขาได้รับผลกระทบจากระบบชายเป็นใหญ่

ความคิดแบบ Binary ที่มองชาย-หญิง หรือ ดำ-ขาว มีปัญหาตรงไหนบ้างพอมาอยู่กับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ

เป้: ในบริบทสังคมไทยหรือว่าสังคมทั่วโลกก็ตามมันจะมีความไม่เท่ากันอยู่เรื่องขององค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ  แล้วก็เราก็จะโตมาด้วยการที่โลกมีชายและหญิง เพราะฉะนั้นองค์ความรู้ต่างๆ มันก็จะเป็นชายและหญิง ซึ่งเป็นชายและหญิงที่ไม่เท่ากันด้วยนะ เราก็จะอยู่ในองค์ความรู้ งานวิจัย ข้อมูลต่างๆ แล้วพอเราโตขึ้นมาเราถูกหล่อหลอมด้วยชุดความคิดงแบบนี้ มันก็จะนำไปสู่เรื่องของการที่คุณเข้าสู่วัยทำงาน ฉะนั้นชุดความคิดที่เป็นความไม่เท่าเทียมแม้แต่ของชายและหญิง หรือไม่มีความคิดที่นอกเหนือจากระบบของ binary หรือว่าอัตลักษณ์แค่ชายและหญิงก็ตาม มันก็ขาดๆ พร่องๆ ครับ มันก็จะส่งผลต่อเรื่องระบบโครงสร้างของรัฐหรือระบบราชการเองก็ตาม ยิ่งโดยลักษณะของรัฐที่เป็นราชการยิ่งแข็งตัว ที่มันไม่ได้มีแค่เรื่องระบบเพศ แต่มันยังมีเรื่องอำนาจนิยม มีเรื่องของเผด็จการนิยม ทหารนิยม ทุนนิยม ในชุดความคิดเหล่านี้มันก็หล่อหลอมเป็นโครงสร้างแบบหนึ่งที่มันสร้างความไม่เป็นธรรม 

คิดว่าจุดอ่อน-จุดแข็งของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้าน LGBTQ+ ในไทยคืออะไร

ฮั้ว: จุดแข็งคือ ด้วยสภาพสังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธ และมันก็โอบรับความแตกต่าง แต่ Acceptance กับ Tolerance มันก็ต่างกัน สังคมไทยเปิดพื้นที่บางพื้นที่ให้กับคนที่เป็น LGBTQ+ แต่ไม่ได้ยอมรับ เพราะถ้ายอมรับเราต้องมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปแล้ว เพราะงั้นจุดแข็งคือ อย่างน้อยเราเป็น LGBTQ+ ได้ในสังคมนี้ แต่มันก็ยังมีปัญหาและเงื่อนไขอื่นๆ ในชีวิต

และเราก็จะเห็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเยอะมาก ซึ่งนี่ก็เป็นจุดแข็ง ภาคประชาสังคมตื่นตัวและรับรู้ในสิทธิของตัวเอง โดยเฉพาะฝั่งเยาวชนที่เขารู้ว่าเขามีสิทธิอะไร และเขาต้องพูดอะไรเพื่อให้เขาได้มีสิทธิเท่ากับกลุ่มอื่นๆ 

ส่วนจุดอ่อนแน่นอนว่า ในการทำงานด้านสิทธิเราทำเองไม่ได้ไง เราต้องทำกับภาครัฐ และภาคเอกชนด้วยที่ต้องถีบตัวเองเพื่อมาทำงานเคียงข้างพวกเรา ซึ่งการสนับสนุนมันยังไม่เห็น 

และจุดอ่อนอีกอย่างคือเราไม่มีงบประมาณ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องมีงบประมาณเพื่อที่จะเรียกร้องสิทธิ แน่นอนว่าการทำงานอย่างเป็นระบบ มันก็ต้องใช้งบประมาณ แต่เราไม่เห็นงบประมาณที่มากพอจะทำให้คนกลุ่มนี้ทำงานได้ พี่คิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เราอยู่ในสังคมทุนนิยม อย่างเป็นนักข่าว ไม่มีเงินอยู่ได้ไหม ก็ไม่ได้ มันต้องมีเงิน มีรายได้ มีเงินเดือน ค่าบ้าน ค่าเช่า ค่ารถ ค่ากิน นักกิจกรรมเวลาไปขอค่าพวกนี้ เรามักจะโดนว่าตลอดเวลา คุณเป็นนักกิจกรรมคุณเอาเงินไปทำไม 

งาน Youth Pride 2022 แตกต่างจากงาน Pride อื่นๆ ยังไง

ฮั้ว: เป็นงาน Pride ที่มีเสียงของเยาวชน มีความเท่าเทียม และแน่นอนว่าพอเป็นงาน Pride จะต้องสนุก ซึ่งเราก็ไม่ทิ้งสปิริตความสนุกของงาน Pride แต่เราก็จะไม่ลืมปัญหา การถูกกดขี่ และความต้องการของเยาวชน LGBTQ+ รวมไปถึงความคิดที่ว่าเราจะทำอย่างไรในฐานะมนุษย์คนนึง ที่จะทำให้เสียงของประชาชนดังเท่ากับเสียงอื่นๆ ไม่ว่าเขาจะอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหนก็ตาม เราจะไม่ลืมตรงนั้น นั่นคือจุดนึงที่เราแตกต่างจากงานอื่น

อยากฝากอะไรถึงเยาวชน LGBTQ+ ที่เขายังสับสน หลงทาง เผชิญกับปัญหาอยู่บ้างไหม

เป้: เราว่าเราฝากเขาเยอะแล้ว เราต้องให้เขาเห็นว่ามันเป็นความรับผิดชอบ ที่เราได้ทรัพยากรก่อนหน้าเยาวชนที่เติบโตมา เราต้องให้เขาเห็นว่าเราสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยสติ ความรัก และความเมตตาได้ ถึงแม้เยาวชนเขาเจ็บปวดโกรธแค้นแล้วเขาไม่ได้เลือกเส้นทางเดียวกับเรา เราก็ไม่มีหน้าที่ไปสั่งสอนเขาซะหน่อย เราคิดว่ายุคข้างหน้ามันจะดีขึ้น แต่ไม่ใช่ดีกว่านะเพราะว่าดีกว่ามันคือการแข่งขัน มันคือชุดความคิดเดิม ฉะนั้นเยาวชนคือพลัง ยิ่งพลังที่ไม่ตายตัว มันคือการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงใคร เขาเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเขาเอง ฉะนั้นเราเชื่อมั่น

ฮั้ว: ในความคิดเรา ไม่มีเยาวชนคนไหนที่สับสนหรือหลงทาง เยาวชนไม่ได้หลงทางเพราะตัวเขาเอง มันเกิดจากระบบและสังคมที่มันไม่โอบรับคนที่เป็น LGBTQ+ สังคมที่ชายเป็นใหญ่ สังคมที่เห็นคนไม่เท่ากัน นี่แหละที่มันทำให้เยาวชนหลายคนไม่กล้าจะพูดในสิ่งที่คิด หรือกล้าจะเปิดเผยตัวเองกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ  เพราะฉะนั้นไม่มีเยาวชนคนที่ไหนที่หลงทาง มีแต่สังคมที่หลงทาง

คนที่ไม่ใช่ LGBTQ+ และไม่ได้เป็นเยาวชน ทำไมถึงต้องมา Youth Pride 2022

เป้: ถ้าเขาเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรักความเมตตา เข้าใจความเป็นมนุษย์ เขาก็ต้องโดนกดขี่โดยมิติอื่นในชีวิต เขาจะเห็นความยากลำบากหรือความทุกข์ของคน มันไม่ใช่สิ่งที่ใครสักคนสองคนจะได้รับ ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วถ้าคนเราไม่ทุกข์ก็จะไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร 

แต่ถ้าคุณเห็นและฟัง ก็จะรู้ว่ามีคนอีกมากมายที่เขาไม่ได้รับสิทธิและโอกาส เพราะสังคมและสถาบันต่างๆมันกีดกัน  เพราะว่าอัตลักษณ์ของเขา เรื่องเพศและเรื่องของอัตลักษณ์ของคนชายขอบมันยังไม่ได้รับการยอมรับหรือให้คุณค่า ถ้าคุณเห็นโลกที่มันกว้างขึ้น คุณจะรู้ว่าความแตกต่างมันโอเค มันสวยงาม ด้วยความเป็นมนุษย์คุณก็จะเห็นว่าควรสนับสนุนหรือไปด้วยกัน หรือถ้าคุณฟังบริบทของเด็ก LGBTQ+ ในไทยที่มันยากลำบาก คุณไปดูสิว่าเด็กของประเทศอื่นที่ถูกกดทับยิ่งกว่าไทยอีก มันคือเรื่องของชีวิตและความตายนะ

ฮั้ว: เรามักจะพูดถึง LGBTQ+ และมีเครื่องหมายบวก บวกนี่หมายความว่าไม่ว่าคุณจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน คุณเป็นส่วนหนึ่งของ LGBTQ+ ได้ทั้งนั้น คนที่เป็น Cisgender ที่เกิดมามีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิด หรือที่เขาเรียกว่า Straight เขาก็คือส่วนหนึ่งของความหลากหลาย เราอยากจะบอกกับคนที่เป็น Cisgender นะว่าอย่าเอาตัวคุณออกไปจากความหลากหลาย เพราะคุณคือส่วนหนึ่งของความหลากหลาย สังคมเราอยู่ได้ด้วยความหลากหลาย สังคมเราไม่ได้อยู่ได้เพราะว่ามีความคิดเหมือนกัน มีเพศคล้ายกัน มีอายุเท่ากัน เพราะงั้นถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของควมหลากหลายคุณก็ควรจะเข้ามารวมงาน Youth Pride 2022 หรืองาน Pride ใดๆ ก็ตาม เข้ามาร่วมงานกัน เข้ามาให้ความสำคัญในอิสรภาพและความยุติธรรม เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน นี่คือหลักการสำคัญที่จะทำให้พวกเราทุกคนอยู่ด้วยกันได้ในสังคม

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า