fbpx

Young Pride Club: เมื่อเพศไม่ได้จบที่ชายหญิง และความหลากหลายควรเกิดขึ้นในเมืองไทย!

หากจะพูดถึงเรื่องราวความหลากหลายทางเพศในเมืองไทย เราคงต้องบอกกันว่าในปัจจุบันนี้สังคมไทยให้ความเปิดกว้างกับชุมชนความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้นเรากลับพบว่ายังมีบางสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยหรือส่งผลกระทบบต่อชาวชุมชนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็กลายเป็นปัญหาที่หลายคนมองข้ามไปเช่นกัน และเช่นเดียวกันก็ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้างและการทำงานเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

วันนี้โมเดิร์นนิสต์จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับเบส-ชิษณุพงศ์ นิธิวนา ผู้ก่อตั้ง Young Pride Club ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการที่เธอได้พบปัญหาในการเรียนที่เชียงใหม่และจนทำให้เกิดเป็นกลุ่มนี้ขึ้นมาในที่สุด เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการสร้างสรรค์สังคมให้มีความเท่าเทียมกันของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ และปัจจุบันยังมีดีกรีปริญญาโทด้านสตรีศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

เราจะมาร่วมคุย และแลกเปลี่ยนถึงที่มาที่ไป รวมไปถึงการทำงานเพื่อสังคม และความเข้าใจในมิติความหลากหลายทางเพศของคนไทยในยุคปี 2021 กันว่าแท้ที่จริงแล้วเปิดกว้างจริงๆ อย่างที่เราบอกหรือไม่?

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ที่มาที่ไปของการก่อตั้ง Young Pride Club

จุดเริ่มต้นมันเกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว ฟังดูแล้วน่าตื่นเต้น ก็คือเหมือนเราเป็นนักศึกษาข้ามเพศ แล้วเราเรียนปริญญาตรีก่อน พอเราเรียนจบมาเราก็คิดว่าเราสามารถแต่งกายตามเพศสภาพเหมือนตอนเราเรียนได้ แต่พอเรารับปริญญาปรากฏว่าไม่ได้ ซึ่งตอนปี 2017 ก็ยังไม่ค่อยเปิดรับทั่วประเทศ อย่างเช่นเรื่องการแต่งกาย มันก็เลยมี Movement ของเพื่อนที่ร่วมกันผลักดันขึ้น มันก็เลยเป็นไวรัลว่าในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำไมถึงยังแต่งไม่ได้ พอเรื่องนี้มันดังก็มีแบบเหมือนองค์กรด้าน LGBTQ+ มาช่วย ปรากฏว่า มช. ก็เลยได้อนุมัติให้แต่งตัวตามเพศสภาพเป็นปีแรก ก็เลยเป็นเคสของปีที่เราได้แต่งหญิง และส่งผลให้คนข้ามเพศสามารถแต่งได้เป็นปีแรก

หลังจากนั้นมันประจวบเหมาะกับตอนนั้นอยากจะกลับมาทำงานเพื่อสังคม คือตอนนั้นเราก็ทำงานอยู่สักพักนึง เป็น Content Creator รู้สึกว่ามันแบบ Commercial มากๆ อยากกลับมาทำอะไรที่เราสนใจเหมือนตอนที่เราเรียนรัฐศาสตร์ ทำประเด็นเกี่ยวกับสังคม ก็เลยกลับมา พอเรากลับมาปุ๊บแล้วมันมีการขับเคลื่อนพอดี ก็เลยอยู่ในช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะที่เราจะทำ ซึ่งตอนนั้น มช. ยังมีวีนซึ่งจะเป็นกลุ่มรับน้อง ในที่นี้กลุ่มวีนมันไม่ได้เป็นกลุ่มที่ เหมือนเป็นการรวมตัวเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นกลุ่มที่รวมตัวเพื่อความสนใจ อย่างเช่น เรื่องของแบบ นางงาม นางแบบ การแสดง มันไม่ใช่กลุ่มของการให้ความรู้เรื่องสิทธิ ก็เลยตั้ง แล้วก็ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ที่ภาควิชา

ตอนเรียนปริญญาโท อาจารย์อยากให้มีกลุ่มอยู่แล้วที่มาจัดกิจกรรมกับภาควิชา ก็เลยเป็นชื่อ Pride CMU ก่อน ตอนแรกตอนแรกขอบข่ายมันเล็ก พอเริ่มจัดกิจกรรมสักงานเป็นงานฉายหนังบ้าง เป็นพวกเสวนา ตอนนั้น Facebook มันยังไม่ค่อยมีเพจ LGBTQ+ หลัก ๆ ที่พูดถึงเรื่อง LGBTQ+ ก็เลยแบบทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราจะจัดงานต่อ เราต้องขยายให้มันกว้างกว่า มช. เพราะมันเหมือน ม.อื่นในเชียงใหม่ก็สนใจที่จะมาร่วม แต่พอเห็นชื่อแบบ CMU ก็รู้สึกว่าเรามาไม่ได้หรือเปล่า หลังจากนั้นก็เลยกลายเป็น Young Pride

งานแรกที่เราจัดคืออะไร

ตอนที่เปลี่ยนในวันนั้นเลยจะชื่อว่า Gender talk contest มันเกิดขึ้นจากผู้ก่อตั้งก็คือได้ทุนไปที่สหรัฐอเมริกา แล้วพอไปเสร็จปุ๊บเหมือนเราก็ไปเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่อง CV Engagement การมีส่วนร่วมของพลเมือง เราก็เลยอยากจะดึงกิจกรรมที่มันเกิดขึ้นในต่างประเทศมา ก็คือ Gender talk contest คือมันก็เหมือน Young Pride เอาการ Talk ของต่างชาติมา การ Pitching ของต่างชาติมา Gender talk contest ก็คือเหมือนอยากให้คนที่เขาไปเชิญปัญหาหรือมีเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีทางเพศมาแชร์แล้วเหมือนเอามาแข่ง ฝึกการcommunication skill ก็เลยเป็นกิจกรรมที่มีนักศึกษาจากมหิดล จากธรรมศาสตร์ ลำปาง ก็มา แล้วก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐด้วย ก็เลยทำให้มันเป็นจุดเปลี่ยนที่รู้สึกว่าตอนนี้มันน่าจะแบบว่าเป็น Young Pride จริงๆ น่าจะใหญ่กว่า มช. อันนั้นก็คือกิจกรรมแรกแต่หลังจากกิจกรรมนั้นใหญ่กว่าเดิมก็คือ Chiangmai Pride เลย

แล้ว Chiangmai Pride คือระยะเวลาสั้นมาก ปรากฏว่าก็คุยกันแล้วแบบ เออจัดสิ ๆ มีพี่ต้น (ศิริศักดิ์ ไชยเทศ) มาช่วยเป็นแกนนำ เพราะนางไปเดิน Pride ทั่วโลก นางก็เลยให้จัดได้ แต่ว่าเราอาจจะจัดเล็ก ๆ ก็คือเชิญคนที่เป็นนักกิจกรรมทางสังคมมา เป็นเหมือนงานครอบครัว  แต่พอเราเริ่มประชาสัมพันธ์ไป อาจจะเป็นด้วยเพราะว่าตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครมีทักษะเรื่องอินเทอร์เน็ต แล้วเราก็มีทักษะเล็กๆ ก็ลองประชาสัมพันธ์ออกไปทาง Facebook ของกิจกรรม ปรากฏว่ามีเพื่อนต่างชาติในเชียงใหม่ หรือว่า Community อื่น ๆ เขาไม่ได้เป็นLGBTQ+ เขาสนใจ มันก็เลยทำให้ครั้งแรก คือถ้าพูดถึงเรื่องการจัดการอาจจะไม่ได้ปังมาก แต่คนที่มามีส่วนร่วมเขามีความสุข มันก็เลยทำให้งานมันใหญ่ คนมาร่วมเยอะ

จุดหักเหที่มาทำสื่อออนไลน์เป็นของตนเองคืออะไร

เหมือนว่าเราทำตามความสนใจ ทำตามความสถานการณ์ ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นสื่อจริงจังด้วยซ้ำ เหมือนกับแบบว่าอยากจะมาติดตามข่าวให้เพื่อน ๆ ฟัง เพราะว่าตอนที่เราตั้งในปี 2018 พอเราเริ่มประชาสัมพันธ์ คนก็เลยเริ่มมาสนใจในออนไลน์มากขึ้น เราก็แค่อยากสร้างความสัมพันธ์กับคนที่สนใจ แล้วปรากฏว่าตอนนั้นตัวเบสเองกับตัวปาหนัน (ชัญญา รัตนธาดา) ที่เป็นคนก่อตั้ง แล้วก็มีคนนึงก็สนใจในเรื่องสื่อเหมือนกัน ก็เลยเข้าเรียนกับ PCIJ ด้วย ก็เลยทำให้ได้ทำสื่อมาเรื่อย ๆ แต่ถ้าถามว่าประเด็นหลัก ๆ ที่เราอยากจะให้คนรู้ว่า Pride club ทำอะไรอย่างนี้ ก็คือสร้างความตระหนักมากกว่าว่าตอนนี้สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ มันเป็นยังไง แล้วก็เกาะติดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคกิจกรรมสังคม

ถ้ามองในระดับความจริงก็เป็นภาระที่เราไม่มีคนที่จะมาเป็นทีมเพื่อทำสื่อจริงจัง คือเรามันทำหลายขา คือเราจัดทั้ง Chiangmai Pride ในงานขนาดใหญ่ด้วย จัดงานเล็ก ๆ แบบ Gender talk แล้วเราก็ต้องแบ่งเวลามาทำสื่อเราก็มองเห็นว่าคนยิ่งให้ความสนใจตรงนี้มากขึ้น เราก็ต้องเหมือนลงทุนลงแรงตรงนี้ให้มันมากขึ้น มันก็เลยเป็นเหมือนความคาดหวังที่เราจะต้องทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ทำตามที่เราสามารถทำได้ก็อาจจะมีทีมไม่ได้มากเท่ากับที่เขาทำสื่อจริงจัง แต่เราอยากจะ Cover ในส่วนที่เราทำได้

จุดเด่นที่ทำให้เราเป็นที่สนใจ

คือเรามองว่าอย่าง Spectrum ก็จะเป็นข่าวของ LGBTQ+ ที่ให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม แต่ของเราก็จะทำที่มันแบบกลุ่มที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่บ้าง เพราะเราไม่ได้มี Movement  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ แล้วก็เกาะติดกิจกรรม ข่าวสาร ความบันเทิง ถ้ามาดูในเพจเราอาจจะดูบันเทิงกว่า เพราะส่วนมากอาจจะเน้นกิจกรรมอย่าง Party Pride คืออันนี้ก็อาจจะเป็นส่วนนึงที่แตกต่าง เรารู้สึกว่าก็เลิศนะ ก็อย่างแบบ Thai consent หรือว่าเดี๋ยวนี้ก็จะมี เพจที่ไม่ใช่เพจ LGBTQ+ ก็จะมีทำเรื่อง LGBTQ+ เฟมมินิสต์บ้าง หรือแม้แต่นักเรียนเลวที่เน้นเฉพาะเรื่องของนักเรียน แต่จริง ๆ แล้วเรารู้สึกว่าถามว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเราอยากจะเน้นเยาวชนที่เรียนมหาวิทยาลัยมากกว่า

มองการเปิดกว้าง LGBTQ+ กับสังคมมหาวิทยาลัยลัยในปัจจุบันนี้ยังไง

คือมองว่ามันเหมือนมีความแตกต่างค่อนข้างมากในเรื่องของการยอมรับ ถ้าอยากจะบอกว่า เหมือนมหาวิทยาลัยสมัยนี้ยอมรับ เพราะว่า LGBTQ+ มันก็ต้องแต่งกายได้ ก็จริง จริงเฉพาะมหาวิทยาลัยในเมืองที่มีคนมีความรู้มีความเข้าใจเรื่องนี้ก็จะสามารถแต่งกายได้หรือเปล่า แล้วก็เดี๋ยวนี้คนก็เข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าเรามองว่ามหาวิทยาลัยในเมืองจริง ๆ เรามองบางคณะที่ต้องแบบต้องคงเรื่องของความ Conservative ไว้ อย่างแบบกฎหมาย นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือแม้แต่บางมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ 3 อันดับแรกของประเทศ เขาก็อาจจะเจอเรื่องนี้แต่ไม่ถูกพูดถึงอยู่หรือเปล่า มันก็แบบเป็นอีกเรื่องที่เราอยากจะออกมาเรียกร้องกลุ่มนี้เหมือนกันเพราะว่าจริง ๆ แล้วตอน 2018-2019 ที่เราพยายามเจาะกลุ่มนักศึกษาอย่างนี้ ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้นมากนะ ตอนแรกที่เรารู้ว่า มช. ได้ละ ละสุดท้ายธรรมศาสตร์ก็ได้ จุฬาฯ ก็ได้ มันก็เลยเหมือนกลุ่มนี้เขาเริ่มโอเคแล้ว แต่เรายังพยายามจะลองไปดูกลุ่มอื่นที่เขาอาจจะยังไม่ได้ จริง ๆ เขาอาจจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน

มองสื่อไทยยังไงกับความหลากหลายทางเพศ เปิดกว้างขึ้นไหม

เรามองว่าเขาจะนำเสนอมีความแบ่งเพศสูงมาก ในลักษณะที่ถ้าข่าวดีก็จะแบบดีไปเลยในลักษณะที่เขาจะเลือกแบบมีเงื่อนไข คือแบบ สวยมาก รวยมาก ประสบความสำเร็จมาก กับข่าวเหี้ยก็คือเหี้ยไปเลย ก็คือแบบว่าอีกะเทยคนนี้ไปตีคนนั้น คนนี้ไปเกิดเหตุหรือว่าเลือกปฏิบัติ คือมันก็จะนำเสนออะไรที่มันเหลือบ ๆ ขอบ ๆ แต่ถามว่าสื่อไทยจะมานั่งพูดว่าเรามาเข้าใจความหลากหลายจริง ๆ แล้วเพศสภาพกับเพศวิถีมันคนละอย่างกันเลย ไม่เคยเห็นสื่อไทยพูดเลย เพจเราก็เป็นเพจหนึ่งที่จะให้ข้อมูลนั้นอยู่แล้วก็ อย่างเพจอื่นๆ เขาก็จะให้แบบ ข้อมูลที่เป็นการศึกษา แต่เรายังไม่เห็นข่าวไทยที่เขาจะให้เรื่องนั้นเต็มที่

เรามองยังไงเมื่อสื่อเอาไปเปรียบเทียบกับเพศสภาวะความเป็นหญิง ความเป็นชาย

ขนาดตัวเราเอง ก่อนหน้านี้ที่เราทำในปีแรก ๆ ก็ยังใช้คำที่แบบไม่ถูกต้อง บางคำก็ยังไปกระทบต่อความรู้สึกคนอื่น เรายังไม่รู้ พอเราได้เรียนรู้มากขึ้นจากทั้งตัวเราและไปเจอกลุ่มอื่น ๆ แล้วก็จากทั้งคนในเพจมาดราม่ากับเรา มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าคำบางคำเราก็ต้องถูกพัฒนาจากเมื่อก่อน LGBTQ+ เป็น LGBTQ++ LGBTQ+IA พอมาพูดถึงในฐานะคนข้ามเพศแล้ว คือเดี๋ยวนี้คนมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้คำของคนข้ามเพศมากขึ้น สิ่งที่คิดว่าคนน่าจะโดนเยอะกว่าคือ Non-Binary นะ บางคนก็จะไม่เข้าใจการเรียกสถานะ Non-Binary ต้องใช้ They Them หรือว่าใช้คำไหน จะอธิบายตัวเขายังไง แล้วคือเป็นอัตลักษณ์ มันก็มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ ของมันที่ถูกสร้างซึ่งมันก็เหมือนเป็นการคราฟที่ยังไม่สำเร็จ

คนทำสื่อเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง

ก็คือเป็นการตระหนักในเนื้อหาของเรื่องเพศว่าสุดท้ายมันยังเป็นการถกเถียงที่ไม่สิ้นสุด คือเป็นการเข้าใจว่าธรรมชาติของเรื่องเพศหรือว่าเรื่องของสังคมโดยทั่วไปมันเป็นแบบนี้ คนก็ต้องถกเถียงอยู่แล้วแต่ ตระหนักอีกลักษณะนึงก็คือในลักษณะของ Practice หรือว่า Strategy ในการผลิต ก็คืออย่างเช่นอย่างที่เราบอกว่าเราจะใช้คำว่าอะไร เราจะ refer กับเขายังไง ถ้าอย่างสมมุติว่าอย่างเราไม่รู้ว่าเขาเป็นเพศไหนเราจะมีคำกลางไหม หรือว่าเราจะถามอัตลักษณ์เขา มันจะมีคำไหนที่เราควรเลี่ยงที่มันยังเป็นการถกเถียงอยู่ในสังคม

การมีม็อบตุ๊งติ้ง ส่งผลดีอย่างไรในการขับเคลื่อนประเด็นฯ

รู้สึกว่าดีนะ ตัวเบสอาจจะไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในม็อบตรงนั้นเพราะว่าเบสยุ่งมาก แต่ว่าเราก็ส่งคนในทีมเราให้เข้าไปจอย เราก็รู้สึกว่าเป็นการขับเคลื่อนที่ดี ก็คือทำให้คนได้รับความรู้แล้วก็ตระหนักถึงเรื่อง LGBTQ+ อย่างรวดเร็ว จากการที่จะต้องแบบไปสอนที่นั่นที่นี่ พอทีนี้มันเกิดเป็นม็อบก็ทำให้คนรู้ได้กว้างมาก คนมันก็ตระหนักรวดเร็วว่า LGBTQ+ เป็นเรื่องสำคัญแล้วนะ แต่ในอีกแง่นึงก็คือว่ามันอาจจะสร้างความแตกต่างของความเข้าใจในสังคมด้วย แล้วเราก็ต้องทำงานที่ยากขึ้น ในลักษณะที่นักศึกษาทุกวันนี้คือแบบมีความรู้เรื่อง LGBTQ+ มาก แต่ว่าผู้ใหญ่บางคนก็ยังไม่เข้าใจ เหมือนเราก็ต้องไปให้ความสนใจด้วย

แล้วเราก็ต้องพัฒนาทางความคิด ในการผลิตสื่อใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าเราจะมาเกาะติดตอนแรกมาพูดเรื่อง LGBTQ+ ซึ่งถ้าย้อนไปก่อนที่จะมีม็อบ คนก็ยังพูดว่า L คืออะไร G คืออะไร  ทุกวันนี้คนไม่พูดแบบนั้นแล้ว คนไปไกลกว่านั้นแล้ว

อีกกี่ปีคนไทยและสื่อไทยถึงจะเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ

เรามองว่า Young Pride ถึงแม้ว่าเราอาจจะทำเป็นสื่อเล็ก ๆ แต่ว่าก็ยังเป็นกลุ่มไม่กี่กลุ่มที่จะมี Trans หรือว่า non-binary อยู่ คือจะเห็นกลุ่มสื่อหรือว่าไม่ใช่สื่อที่แค่เป็นผู้ผลิตสื่อ LGBTQ+ นะ แต่เป็นผู้ผลิตสื่อส่วนใหญ่ก็อาจจะแบบว่าจะมีเลสเบี้ยนบ้างมีเกย์บ้างใช่มะ แต่เราจะเห็นคนที่เป็น Trans หรือว่าคนที่ยังเป็น Non-binary ยังน้อยอยู่ ถ้าเราไปมองโปรดิวเซอร์เป็นผู้ชายร้อยละ 90 ผู้หญิงร้อยละ 8 เกย์ กะเทย ลงมาอีก คือมันก็ยังมีแบบคนยังเป็น Trans น้อยอยู่ อย่างต่างชาติเราจะเริ่มเห็นคนที่เป็น Trans เริ่มเห็นคนที่เป็นคนเขียนสคริป เป็นผู้ผลิตสื่อเอง เราก็อยากจะให้มีการผลิตสื่อผ่านตัวแบบ writer โปรดิวเซอร์ที่มันเอ็กคูลซีพมากขึ้น อยากจะให้ผลักดันมากขึ้นให้มันมีคนแบบนี้มากขึ้น

แล้ว LGBTQ+ ยังหางานยากอยู่ไหม

คือว่าพอที่เราพูดว่ามันไม่มี Trans ที่เป็นผู้ผลิตสื่อหรือว่ามีน้อย ตอนนี้ก็จะมีคนนำเสนอประเด็นอะไรที่มัน Trans มาก ๆ หรือว่าสมมุติประเด็นที่มันเป็น Non-binary มาก ๆ คนที่เขาจะแบบไม่ได้มีชุดประสบการณ์แล้วก็เป็นเพจ LGBTQ+ อาจจะโจมตีเราแทนก็ได้ อย่างเช่น เรื่อง การรับรองเพศว่าเราจะรับรองเพศเพื่อที่จะคนจะได้มีโอกาสในการทำงาน หลายเพจก็ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นเราก็มองว่าเราที่เป็นคนมีชุดประสบการณ์ตรงนี้ก็อยากจะขับเคลื่อนตรงนี้ต่อไป แต่ว่าก็คิดว่าถ้ามองในสมัยที่เราในเรื่องที่โดนเลือกปฏิบัติในการแต่งกายรับปริญญา กับตอนนี้สมมุติว่าใครเจอใครเลือกปฏิบัติในการไม่ถูกรับเข้าทำงาน มองว่าพื้นที่สื่อที่เราเริ่มมีโดย LGBTQ+ ด้วยกันเอง มันสามารถช่วยเราได้เยอะนะ

เพราะเราเห็นเคสที่โดนเลือกปฏิบัติปุ๊บ ทุกวันนี้คือแชร์แบบต้องช่วยได้ ก็คือแบบทำให้คนแบบตระหนักมากขึ้น ถ้าสมมุติว่ามีเคสใหม่ ๆ เกิดขึ้น อย่างพี่นาดาก็เริ่มมีเพจของตัวเองแล้ว ก็ทำให้คนสามารถตระหนักมากขึ้นก็ถือว่ามันก้าวมาในสิ่งที่ดีนะ จะยกเคสของ Young Pride ก็คือว่าเหมือนตอนที่เราพูดถึงเรื่อง Trans ในกีฬา ก่อนหน้านี้ก็จะมี Trans นางงามไปประกวดก็ยังมีคนมาคอมเมนท์อยู่ว่าไม่สนับสนุน ถึงแม้เขาอาจจะเป็นลูกเพจเราที่เขาติดตามข่าวมา แต่พอมาเป็นเรื่อง Trans ปุ๊บเขาก็ไม่เอาเหมือนกัน มันก็ทำให้เราเข้าใจว่า มันก็ต้องมีคนแบบนี้เพื่อจะพูดเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้เขาตระหนัก

ระหว่างการทำ Young Pride Club กับการไปลงพื้นที่ระหว่างการเลือกตั้งมันมีความแตกต่างกันไหม

ตอนที่ลงสมัครเหมือนเขามีกฎของการห้ามสมัครก็ต้องห้ามมีธุรกิจเป็นสื่อมวลชน คือก็ต้องลาออก ตอนนั้นก็คือลาออกจากกิจกรรมแล้ว ตอนนั้นคือเราทำสื่อที่พยายามจะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็น LGBTQ+ แล้วก็เกาะติดสถานการณ์ มันเป็นอะไรที่เหมือนเราหยิบแนวคิดที่เขาประสบความสำเร็จมาก ๆ สุดโต่งมาก ๆ จากต่างประเทศมาแชร์ให้กับคนในประเทศเข้าใจ แล้วมองว่าจริง ๆ แล้วเรื่องเพศมันไปไกลได้มากกว่าที่ประเทศเราทำอะไร แต่พอเราลงพื้นที่ในโดยเฉพาะการเมืองท้องถิ่นที่มันมีข้อจำกัดอะไรหลายอย่าง มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าในพื้นฐานของความเป็นจริงในเรื่องบางเรื่องมันไม่สามารถทำได้ในวันเดียว เราจะทำให้เขาตระหนักได้ไง

บางทีแล้วมันก็กลับมาคิดเหมือนกันว่าการที่จะอยู่แบบค่อนข้างสังคมนิยม การมองร่วมแนวคิดของความเท่าเทียมหรือว่าสิทธิมนุษยชน เราจะปรับใช้แนวคิดแบบนั้นมาใช้กับทั่วโลกได้ไหม ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ ยกตัวอย่างเช่นในสังคมไทยการมี Gender Balance ในรัฐสภา บางทีเรายัดผู้หญิงเข้าไปเราก็อาจจะได้คนแบบปารีณา ไกรคุปต์ ก็รู้สึกว่าแบบ ก็ไม่ได้ represent ของสิทธิของผู้หญิง Gender Balance มันก็อาจจะใช้ได้บางประเทศที่ผู้หญิงเขาตระหนักกับสิทธิเนื้อตัวของเขา แต่แบบบางทีการที่มีผู้หญิงที่ไม่ represent อะไร มันก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ความเท่าเทียมในสังคมไทยก็ได้

กลับมาที่การเมืองท้องถิ่น เราก็มาดูว่าอะไรที่มันอาจจะเป็นแนวคิดที่ไทย ๆ ก็ได้ที่เราสามารถหยิบขึ้นมาแล้วเอามาท้าทายสังคมไทย ที่คิดว่าตอนนั้นทำได้ในฐานะเป็นผู้สมัครก็น่าจะเป็นเรื่องของ representation ว่าตัวตนของเราที่เราเป็น Trans แล้วเราอาจจะเอาภาพที่เขาคาดหวังในสังคมว่า Trans อาจจะเป็นได้แค่คนสวย แต่จริง ๆ เราก็โชว์ว่าเราก็เป็น Trans เราจะอยู่ตรงนี้เพราะว่าเราจะเอาความสามารถของเราให้เขาเห็นว่า Trans มันก็มีหลายมิติ ก็คิดว่า representation น่าจะเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ลงครั้งนี้

เพราะว่าก่อนหน้านี้การเมืองท้องถิ่นถ้าพูดแค่เทศบาลเชียงใหม่ มันมีการเลือกตั้งที่ไม่มีคนข้ามเพศหรือว่า LGBTQ+ เลย  แล้วพอเราเริ่มเห็นเขาเริ่มเปิดตัวแต่ละพื้นที่ ซึ่งตอนแรกตอนที่เขาชวน เราก็แบบไม่อยากลง ไม่เคยคิดที่จะเป็นนักการเมืองเลย แต่พอใกล้ ๆ เราก็เห็นว่าพรรคอื่นไม่มี LGBTQ+ เลย เหมือนแบบมันก็ Trigger เรา หรือว่าเราจะต้องลอง ก็เลยแบบลงซึ่งมันก็เหมือนว่าเป็นการเขย่าว่าจริง ๆ แล้วมันก็มี Trans ลงได้ ถึงแม้ว่าไม่ได้เข้าไป มันก็ทำให้คนเห็นว่าเราก็เป็นตัวแทนผู้สมัครที่ดีได้

การเติบโตของ Young Pride Club ในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง

มันต้องมองเรื่องการทำระบบโครงสร้างกัน ทำให้องค์กรมั่นคง คือเราไม่ได้มาทำตรงนี้เพื่อที่จะทำแล้วก็ได้รับเงินเดือน ทุกคนก็มีงานมีหน้าที่ของตัวเอง แล้วก็เริ่มต้นจากหลาย ๆ คนเป็นนักศึกษาเพราะมาทำเป็นอาสาสมัคร คือเราก็อาจจะมีแหล่งทุนมาช่วยในการทำกิจกรรมจัดกิจกรรมซื้ออุปกรณ์ แต่ก็คิดเหมือนกันว่าถ้าอยากจะทำยาว ๆ ก็ต้องทำให้มันดีขึ้น ก็จะมีความกดดันอยู่ เช่น ความกดดันออกเป็น3อย่างก็คือ ความกดดันจากการผลิตสื่อใช่มะ คนก็มาติดตามเยอะขึ้น คนก็จะคาดหวังว่ามีคอนเทนต์ดี ๆ ความกดดันจาก Chiangmai Pride คนก็จะคาดหวังว่างานต้องใหญ่ขึ้น ในความกดดันของลักษณะของการที่เป็นองค์กรพอเราอยู่ได้ประมาณ 3 ปีแล้วก็คงคิดว่าน่าจะต้องจดจัดตั้งเป็นองค์กร เราก็คิดเหมือนกันว่าถ้าจดจัดตั้งเป็นองค์กรมันก็จะทำให้เราเข้าถึงทุนที่ใหญ่ขึ้นได้ แต่เราจะทำอะไรเหมือนทุกคนในทีมสามารถทำงานกับมันได้ไหม ก็ยังอยู่ในช่วงที่คิดอยู่ว่าจะจดดีไหม แต่ถ้าไม่จดก็เราก็ทำงานในลักษณะของทุนเล็ก ๆ ของเราไปอย่างนี้ก็ได้ โครงการที่ทำคอนเทนต์อย่างนี้ เป็นต้น

อะไรสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเด็น LGBTQ+

ถ้าในประเทศไทยมองว่าน่าจะเป็นเรื่องสิทธิ คือถ้าจะให้ความรู้ก็คิดว่าสังคมตอนนี้มีความรู้เกินแล้วก็ก้าวหน้ามาก ไม่น่าเชื่อว่าเอาเรื่องของความเป็น Trans มาเป็นนักกีฬาคนในยุคนี้จะสามารถเข้าใจได้แล้ว ที่ว่าเรื่องสิทธิเพราะว่าทุกวันนี้ เหมือนเรายังเป็น LGBTQ+ ได้ ใช้ชีวิตหายใจได้ แต่เรายังไม่มีสิทธิ์ คือพอเราไม่มีสิทธิ์ปุ๊บ ก็เลยทำให้เราไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของเราได้ ซึ่งสังคมก็ควรที่จะมีได้แล้ว

ภาพประกอบ: ชิษณุพงศ์ นิธิวนา

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า