fbpx

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่สั่นสะเทือนโครงสร้างการเมืองไทย

ในบรรดานายกรัฐมนตรีไทยทั้ง 29 คน มีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้นคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แม้บทบาททางการเมืองของเธอจะยุติลงไปแล้ว นับตั้งแต่การทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านมาแล้ว 8 ปีนับตั้งแต่วันนั้น แต่ชื่อและสิ่งที่รัฐบาลเธอทำไว้ ยังคงทั้งถูกพูดถึงทั้งในแง่บวก ที่ชื่นชม สงสาร และคิดถึงเธอ และในแง่ลบ ที่ชิงชัง หวาดกลัว และถูกมรดกของเธอหลอกหลอน

มรดกชิ้นสำคัญของเธอที่ยังคงหลอกหลอนชนชั้นนำอยู่ก็คือ โครงการจำนำข้าว ที่ฝ่ายรัฐและฝ่ายอนุรักษ์นิยมหัวไม่ก้าวหน้าในไทยยังคงหยิบยกมาพูดถึงเสมอ และเมื่อโครงการจำนำข้าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของเธอ ชื่อของเธอจึงยังไม่เคยหายไปในหน้าฉากการเมืองไทย

ด้วยเหตุนี้ ในเดือนเกิดของเธอ เราจึงอยากยกเรื่องราวของเธอขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ไม่ใช่เพื่อกักขังเธอให้ยังคงอยู่ในกรงขังทางการเมืองไทย แต่เพื่อให้เห็นปรากฎการณ์ทางสังคมและความเป็นจริงทางการเมืองบางประการผ่านรัฐบาลของเธอให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

Courtsey of Yingluck Shinawatra Facebook Fanpage

49 วันสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

49 วันคือจำนวนวันนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยประกาศ ณ ที่ประชุมพรรค ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเธอลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่เธอได้รับการเลือกตั้ง และสมาชิกในสภาส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงให้เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หากวิเคราะห์ในแง่การเดินบนเส้นทางการเมืองของนักการเมืองสักคน โดยปกติแล้ว กว่าจะได้มาดำรงตำแหน่งใหญ่ๆ ได้ ต้องใช้เวลาหลายปีจนไปถึงหลักสิบปี บางคนเริ่มต้นเป็นเพียงสมาชิกตัวเล็กๆ ในพรรค ผ่านร้อนผ่านหนาวสะสมประสบการณ์ในสนามเลือกตั้งทั้งสนามเล็ก สนามใหญ่ จนถึงวันที่ประสบการณ์และวัยวุฒิเหมาะสม จึงจะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ 

แต่ในกรณีของเธอ คือจำนวน 49 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมาก แน่นอนว่าการที่เธอสามารถขึ้นมาตรงนี้ได้อย่างรวดเร็ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งมาจากนามสกุลของเธอ และการที่เธอเป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร

หากเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรีหญิงในประเทศอื่นๆ เทรีซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ.1992 และได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ.2016 ใช้เวลาทั้งสิ้นนับตั้งแต่ลงสนามการเมืองรวม 24 ปี ส่วน อังเกลา แมร์เคิล เริ่มลงสนามการเมืองในปี ค.ศ.1989 และได้เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในปี ค.ศ.2005 ใช้เวลารวม 16 ปี

Courtsey of Yingluck Shinawatra Facebook Fanpage

และหากมองในมุมว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ซึ่งชัดเจนว่าในพื้นที่ทางการเมือง ผู้หญิงเองก็มีบทบาทน้อยและมักถูกกีดกันอยู่แล้ว การขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกนับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ก็ต้องเปรียบเทียบกับนายกหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักรอย่าง มาร์กาเรต แทตเชอร์ ที่เข้าสู่สนามการเมืองใน ค.ศ.1959 และได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ.1979 ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 20 ปี

เพราะงั้นนอกจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยแล้ว ยังเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่ใช้เวลาสั้นที่สุดในการก้าวกระโดดสู่ตำแหน่งนี้ 

แม้จำนวนปี จะไม่ได้วัดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง เพราะถึงอย่างไรสิ่งที่ให้ความชอบธรรมแก่เธอคือเสียงส่วนมากของประชาชนในประเทศนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลา 49 วันมันสั้นมาก สำหรับการเตรียมตัวเพื่อที่จะนำประเทศนี้ การขาดประสบการณ์ทางการเมืองก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตัวเองของเธอเอง ที่แสดงให้เห็นผ่านความประหม่า และไม่มั่นใจในหลายๆ ครั้ง ซึ่งในจุดนี้ฝ่ายตรงข้ามได้นำการพูดผิด และความไม่มั่นใจของเธอมาโจมตีอยู่บ่อยครั้ง

Courtsey of Voice TV

การเมืองแบบเครือญาติของพรรคเพื่อไทย

นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทย มาพลังประชาชน จนกระทั่งเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกระแสการเมืองใหม่ (ในสมัยนั้น) ที่โอบรับคนที่หลากหลาย ทั้งระดับรากหญ้า จนถึงชนชั้นนายทุน เป็นการเมืองใหม่ที่ทำให้นโยบายนั้นแตกต่างจับต้องได้ จนเป็นที่มาของ ประชาธิปไตยที่กินได้” 

หากมองนับตั้งแต่การสิ้นสุดลงของพรรคไทยรักไทย มาในสมัยพรรคพลังประชาชน การที่พรรคชูตัวนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคและได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็แสดงให้เห็นว่าในเริ่มแรก นี่ไม่ใช่พรรคการเมืองที่เน้นไปที่การเมืองแบบเครือญาติ หรือตระกูลทางการเมืองแต่อย่างใด แม้ต่อมาในสมัยนายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์ที่มีศักดิ์เป็นน้องเขยของทักษิณ ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ก็ไม่ได้เป็นคนที่พรรคพลังประชาชนชูมาตั้งแต่แรก แต่ตกกระไดพลอยโจนมารับตำแหน่งหลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การขึ้นมาของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองแบบเครือญาติของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจริงๆ แล้วหลังหมดสมัยของนายกยิ่งลักษณ์ไปแล้ว ในช่วงการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคเองก็ไม่ได้ชูคนจากตระกูลชินวัตรคนใดขึ้นมา แต่แคนดิเดตนายกในเวลานั้นกลับเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ จุดนี้ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ในสมัยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเมืองแบบเครือญาติจะถูกนำมาใช้จริง แต่นี่ไม่ใช่แนวทางหลักที่พรรคเพื่อไทยทำมาโดยตลอดแต่อย่างใด

แม้กระทั่งการขึ้นมาของ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนสุดท้องของทักษิณ ที่เข้ามามีบทบาทโดดเด่นในพรรคเพื่อไทยในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจเป็นเพียงแนวทางหนึ่งของพรรคเพื่อไทย แต่เราอาจไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า การเมืองแบบเครือญาติคือกลยุทธ์หลักของพรรคนี้

Courtsey of Matichon Weekly

ความเป็นหญิงที่สั่นคลอนบทบาททางการเมืองที่ผูกไว้กับเพศชาย

ที่ผ่านมาบทบาททางการเมืองของไทย (รวมไปถึงสังคมการเมืองโลกด้วย) ล้วนผูกไว้กับเพศชาย กิจกรรมทางการเมืองนั้นเป็นหน้าที่ของเพศชายที่ถูกสร้างภาพว่าเป็นเพศเข้มแข็ง หนักแน่น มีเหตุผล และเด็ดเดี่ยว ในขณะที่เพศหญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ อ่อนไหว  ใช้อารมณ์เป็นหลัก ไม่มั่นคง ซึ่งไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะมามีบทบาททางการเมืองที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศและส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคน

การเข้ามาของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นตัวละครเพศหญิงหน้าใหม่ และภายในช่วงเวลาอันสั้นจึงได้สั่นคลอนโครงสร้างทางการเมืองที่ชายเป็นใหญ่เป็นอย่างมาก การมีผู้หญิงเป็นผู้นำประเทศไทย เป็นอะไรที่ทั้งชนชั้นนำ และประชาชนเองก็ไม่เคยจินตนาการมาก่อน ถึงแม้ก่อนหน้านั้น ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็มีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักกิจกรรม รวมไปถึง สส. และ สว. ในสภาที่เป็นผู้หญิง แต่ก็เป็นส่วนน้อย และมักถูกมองว่าเป็นกรณีพิเศษเสียมากกว่า

เพราะฉะนั้นความเป็นหญิงของเธอ เมื่อต้องเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ประมุขของฝ่ายบริหาร ผู้นำของประเทศจึงถึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทย และเมื่อเกิดความผิดพลาดใดๆ ในการบริหารของเธอ ความเป็นหญิงจะถูกเพ่งเล็งและโจมตีก่อนเสมอ ความไร้เดียงสาทางการเมือง ความรอบรู้ในการบริหารของเธอไม่ถูกโจมตีเท่าความเป็นหญิง ซึ่งปรากฎผ่านวาทกรรมและชุดคำพูด เช่น อีโง่ ผู้หญิงเลว สาวเหนือที่ไร้การศึกษา ที่ใช้ในการลดทอนคุณค่าของเธอ

Courtsey of Puer Thai Party

นารีพิฆาตกับบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรกของไทย

นอกจากการมีผู้นำเป็นผู้หญิงจะสะเทือนโครงสร้างทางการเมืองไทยแล้ว การที่เธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งสั่นคลอนวงการทหารไทยอย่างมาก ไม่เพียงแต่เอาพลเรือนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว แต่ยังเอาผู้หญิงมาคุมกลาโหม ซึ่งเป็นบทบาทที่ถูกผูกโยงไว้กับความเข้มแข็งแบบทหารชาย สิ่งนี้ก็ส่งผลต่อความอดทนอดกลั้นของทหารชายในกองทัพที่ไม่ยอมรับในตัวเธอ (แม้ฉากหน้าจะทำทีว่ายอมรับ) ซึ่งสะท้อนมาจากคำสัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวว่าวางแผนในการรัฐประหารยิ่งลักษณ์มานานกว่า 6 เดือน 

แต่ในทางกลับกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ชูเธอในด้านของความเป็นผู้หญิงสักเท่าไร เพราะสิ่งที่พรรคเพื่อไทยใช้เพื่อดึงดูดคะแนนเสียงกลับเป็นนามสกุลเธอเสียมากกว่า ในฐานะน้องสาวของ ทักษิณ ชินวัตรที่จะมาสานต่อภารกิจให้พี่ชาย

การควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเธอ ไม่ได้เริ่มต้นตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อเธอชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2554 แต่มาเกิดขึ้นในการปรับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 5 ของเธอในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ซึ่งโดยปกติแล้ว การที่นายกรัฐมนตรีเข้ามาคุมกลาโหม มีเป้าหมายในการกระชับความสัมพันธ์กับกองทัพและถ่วงดุลอำนาจของกองทัพ ในยามที่ความสัมพันธ์กับกองทัพนั้นไม่ราบรื่น ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ตั้งฉายาเธอว่า “นารีพิฆาต”

Courtsey of Siamrath

นิรโทษกรรมเหมาเข่งและภาพสะท้อนความมีเอกภาพคนเสื้อแดง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง คือจุดที่พาเธอไปสู่ขาลงทางการเมืองที่ไม่ได้สวยงามนัก เหตุการณ์การต่อต้าน ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมนี้เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญ ซึ่งถูกต่อต้านจากทั้งฝั่งตรงข้าม และฝั่งเดียวกัน ในวิกฤตร่าง พรบ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ สิ่งนี้ที่ถูกสะท้อนออกมา คือเอกภาพในการเคลื่อนไหวและแสดงออกของกลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ คนเสื้อแดง ที่มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่นิยมทักษิณและพรรคเครือข่ายของทักษิณแบบไม่ลืมหูลืมตา บูชาตัวบุคคลและไม่มีอุดมการณ์ แต่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างหนักแน่น ไม่เห็นด้วยกับร่าง พรบ.นิรโทษกรรม โดยในการปราศัยของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งนำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้ปราศัยโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า 

เรามีสองรัฐบาลที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้หนึ่งคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ผลักดันพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ในปัจจุบันนี้ 

ซึ่งอีกรัฐบาลที่ บก.ลายจุดปราศัยโจมตี คือรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ที่ออกคำสั่งสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 นั่นเอง และคนเสื้อแดงคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า 

เพื่อไทยคือเพื่อไทยเสื้อแดงคือเสื้อแดงมันแค่เป็นคนที่เดินทางมาด้วยกันไม่ใช่คนคนเดียวกันอะไรที่มันร่วมก็จะไปด้วยกันอะไรที่มันต่างก็จำต้องแยกกัน

Courtsey of Matichon Weekly

จากวิกฤตการณ์ พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งในครั้งนี้ แสดงให้เห็นจุดยืนของกลุ่มคนเสื้อแดงชัดเจนมากขึ้น ว่าเป็นกลุ่มที่มีเอกภาพในตัว แม้จะเป็นกลุ่มที่นิยมชมชอบทักษิณ และพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นมวลชนจัดตั้งของพรรคเพื่อไทยที่พรรคจะสามารถชี้นิ้วสั่งการได้

ด้วยความโชคร้ายที่พอเริ่มต้นรัฐบาลได้ไม่นาน รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งกินเวลาพอสมควร และต้องมาเจอกับทั้งเรื่องโครงการจำนำข้าว และ พรบ.นิรโทษกรรม ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่นออกมามากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเธอ จนกระทั่งวันที่เธอหมดอำนาจ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้การเมืองและโครงสร้างทางสังคมไทยอยู่ไม่น้อย และยังเป็นการปลอกเปลือกให้เห็นความจริงบางอย่างในหน้าการเมืองไทย 

แม้ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงอีกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือประสบการณ์ทางการเมืองของเธอนับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้ง จนกระทั่งในวันที่ต้องลี้ภัยออกไปนอกประเทศ จะเป็นประสบการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากนายกหญิงคนอื่นๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน

Courtsey of Yingluck Shinawatra Facebook Fanpage

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า