fbpx

“กูเป็นผู้ชาย แต่กูรักมึงคนเดียว” แล้วต้อง Y แค่ไหน ถึงจะถูกใจสีรุ้ง?

วัฒนธรรม Pop ในแต่ละประเทศ มีความหลากหลายแตกต่างกันไป แต่ของประเทศไทย สิ่งที่ส่งออกเป็นคอนเทนต์ภาพจำในตอนนี้ก็คงหนีไม่พ้นซีรีส์วาย ที่ถึงแม้กฎหมายเพื่อโอบรับความหลากหลายทางเพศจะยังไม่ไปถึงไหน แต่ในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิง กลับทำรายได้จากซีรีส์วายกันมากมาย จนหลายฝ่ายอยากจะตีเคลมให้กลายเป็น Soft Power ของไทยไปเลย

และด้วยกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQ ในไทยเริ่มเห็นท่าทีเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ทั้งการตื่นตัวในสังคม รวมถึงการออกมา Call Out ในประเด็นนี้ของแวดวงต่างๆก็เริ่มชัดเจนขึ้นตามลำดับ การตั้งคำถามต่อซีรีส์วายที่เติบโตอย่างฟุ้มเฟ้อในอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น มันจะขัดกับการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ LGBTQ ถึงขั้นเป็นอุปสรรคหรือไม่-อย่างไร การถกเถียงในประเด็นนี้จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และเป็นประเด็นขัดแย้งกันเรื่อยมา

แล้วเราจะต้องวายแค่ไหน ถึงจะไปด้วยกันได้กับธงสีรุ้ง

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

แกน Y ที่ไม่ตรงกัน

แม้จะพูดกันหลายรอบแล้วว่า Y หรือ Yaoi มีที่มาจากญี่ปุ่น เป็นหมวดหมู่การ์ตูนหรือนิยายแนวจิ้นตัวละครผู้ชายสองคน ให้มีความสัมพันธ์โรแมนติกระหว่างกัน ส่วนใหญ่ไปในเชิง Sexual Fantasy ที่ตัวละครจะต้องถูกวาดเอาไว้อย่างตรงตามมาตรฐานความสวยงามแบบการ์ตูนญี่ปุ่น หรือในนิยายก็ต้องมีการบรรยายลักษณะความหล่อเหลาราวร่วงหล่นมาจากฟ้า ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่เด็กนักเรียนวัยรุ่นหญิงของญี่ปุ่น ซึ่งก็ว่ากันว่าเป็นการหยิบยืมวัฒนธรรมไอดอล มาใส่ในตัวสื่อ Y เพื่อให้เหล่ากลุ่มคนเสพย์ที่เป็นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ได้ใช้ Objectify หรือกระทำต่อผู้ชายเหมือนวัตถุ (ทางเพศ) อีกที 

ซึ่งประเทศญี่ปุ่น มีร้านขายการ์ตูนและนิยายวายเฉพาะ แม้จะมีการจำกัดเซนเซอร์ และกฎหมายห้ามอยู่ประปราย ก็ต้องนับว่าเปิดกว้างในเชิงกฎหมายและมีตลาดมากกว่าบ้านเราแม้จะถูกควบคุม แต่ทว่าสิ่งที่เหมือนกันคือญี่ปุ่นและไทย ยังไม่ผ่านกฎหมายสมรมเท่าเทียม และยังไม่มีการยอมรับเพศหลากหลายอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมอยู่ดี

ส่วนในความเหมือนก็คือ สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกจากร่มของสังคมที่เชิดชูให้เพศชายเป็นใหญ่เหมือนกัน แม้ญี่ปุ่นจะมี Y ในสาขาของ Yuri ที่เป็นหญิงโรแมนติกต่อหญิง แต่ทว่าก็โดนกดทับไม่ได้ต่างกันอยู่ดี (หรืออาจจะมากกว่า เพราะกลุ่มเล็กลง) คำถามสำคัญของการมอง Y ตามลำดับที่มานี้ ก็อาจจะบอกได้ว่า Y นั้นเกิดจากรากฐานที่เป็นอุปสรรคต่ออการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศแต่แรกเลยหรือไม่ เพราะในเมื่อต้นกำเนิดของมัน ไม่ได้มาจากการเคารพความหลากหลาย แต่ใช้วิธีหยิบยืมความจิ้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงของผู้ชายสองคนที่หล่อตรงตามมาตรฐานไอดอลที่ควรถูกเชิดชู มาใช้เป็นคอนเทนต์อีกที

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

เริ่มต้น Y ไม่ใช่เกย์ แต่ธงรุ้ง ทำให้ใช่

ในฟากฝั่งของ Y นั้น เริ่มเติบโตในสังคมที่กดทับทางเพศอย่างเข้มข้นทั้งในและนอกญี่ปุ่น ทำให้ความ Y ที่เคยอยู่ใต้ดินและเป็นพื้นที่สีเทา ถูกหยิบขึ้นมาอยู่บนดินมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ลดกำแพงการเซนเซอร์ลง และขยายไปสู่มีเดียอื่นๆตามความต้องการของตลาด ทั้งสิ่งพิมพ์ คอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์ ทำให้ Y กระจายออกไปและได้รับความนิยมในประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดเอเชีย แม้แต่ประเทศที่ไม่สนับสนุนการมีอยู่เพศหลากหลายโดยเฉพาะเกย์อย่างสิ้นเชิงอย่าง “จีน” ก็ว่ากันว่าเป็นตลาดของ Y ที่ใหญ่ที่สุด ถึงขั้นเป็นหลักไมล์ของความสำเร็จ ว่าหากเจ้าไหนตีตลาดจีนได้ ก็จะรวยได้จากการทำธุรกิจ Y

ส่วนอีกฟากหนึ่งของสิ่งที่ตีควบคู่กันมากับ Y ก็คือกระแสการขับเคลื่อน LGBTQ การเรียกร้องสิทธิของเพศสภาพที่หลากหลาย ที่การเรียกร้องนี้ เริ่มต้นที่ฝั่งตะวันตกมาก่อน และเริ่มมาขับเคลื่อนกันต่อในฝั่งเอเชีย แม้ว่าในปัจจุบัน จะยังไม่มีประเทศไหนในเอเชีย ให้กฎหมายยอมรับเพศสภาพที่หลากหลายอย่างครบสมบูรณ์ (ไต้หวันใกล้เคียงที่สุด) แต่ไม่ว่าจะไทยที่เป็นเจ้าใหญ่ของการส่งออกสื่อ Y และจีนที่ว่ากันว่าเป็นกำลังซื้อใหญ่ หรือแม้แต่ญี่ปุ่นที่เป็นต้นฉบับ Y ก็ตาม ทั้งสามประเทศใหญ่นี้ ยังไม่มีประเทศไหนผ่านกฎหมาย LGBTQ หรือยอมรับเพศสภาพที่หลากหลายในสังคมได้ทั้งสิ้น เฉกเช่นกับความสำเร็จของฝั่งประเทศทางตะวันตก

ดังนั้นการมีอยู่ของ Y ซึ่งเมื่อมันแพร่ออกไปสู่โลกกว้างในยุคดิจิตอล ก็มีการปรับให้ชื่อเปลี่ยนเป็นคำว่า “Boy’s Love” หรือ BL ไว้ใช้เรียกแทน หรือจัดหมวดหมู่เป็นคอนเทนต์เรื่องราวความรักระหว่างชายหนุ่ม เพื่อให้เป็นที่เข้าใจในระดับสากลได้มากขึ้น เมื่อ Y มีการปรับตัว มันก็เลยถูกจับไปผูกกับการเคลื่อนไหวของ LGBTQ และแปะธงรุ้งเข้าไปด้วยตามกระแสเคลื่อนไหวในระดับสากล ซึ่งแม้จะเป็นที่ถกเถียงกันว่า ในเมื่อที่มาของ Y มันคือการเอาผู้ชายในลักษณะของไอดอลในอุดมคติ ที่ล้วนได้ประโยชน์จากชายเป็นใหญ่มาจิ้น มันจะมาเข้ากันได้กับการสนับสนุน LGBTQ ที่พยายามเขย่าโครงสร้างที่กดทับทางเพศแบบชายเป็นใหญ่นั้นได้อย่างไร 

แต่ก็ต้องยอมรับว่า อย่างน้อย Boy’s Love หรือ Y ก็เป็นการยืนยันว่า เรื่องราวโรแมนติกระหว่างชายกับชายนั้นมีอยู่ แม้จะมีแบบแฟนตาซี แต่ก็เป็นหลักฐานที่ค้านการกระทำของรัฐในประเทศแถบนี้ ที่พยายามจะทำให้การมีอยู่ของชายกับชายนั้นเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือทำให้หายไปเลยจากสังคม การขับเคลื่อนของ LGBTQ นั้นจึงเหมือนเป็นการแปะมือกับ Y แบบกลายๆ เพื่อดึงเอาสิ่งที่เก็บๆซ่อนๆใต้ดิน ให้ขึ้นมาบนดินมากขึ้น ไม่ต่างอะไรจากการผลักดันให้ Sexual Content ถูกกฎหมาย หรือการพูดถึง Sex Worker ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุตสาหกรรมให้ความบันเทิงในแว่นของเพศ ไม่ต่างกัน

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

แฟนตาซีไปสำหรับเกย์ ส่วนเกย์ก็ภาพตายตัวเกินไป

แน่นอนว่าแม้จะแปะมือกันได้ แต่การถกเถียงว่า Y ≠ LGBTQ นั้นก็เริ่มพูดกันมากขึ้น ด้วยที่มาที่ต่างกัน และหลายครั้งการมีอยู่ของ Y กลับไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ LGBTQ ซ้ำอาจจะยิ่งเพิ่มอุปสรรคและการเคลื่อนไหวที่ยากอยู่แล้ว ให้ยากมากขึ้นไปอีก

ทางฝั่งนักเคลื่อนไหว นักวิชาการในแว่นของเพศ ก็มองว่า LGBTQ นั้น คือการสนับสนุนอัตลักษณ์ที่หลากหลาย หากหยิบตัวอักษรเฉพาะ G หรือ Gay มาดูแล้ว มีหลายอย่างที่ไม่ตรงกับภาพแฟนตาซีของความโรแมนติกแบบ Y และเนื้อหาของ Boy’s Love หลายๆเรื่อง ก็ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ชาวเกย์ทั่วไปต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับทางสังคม อุปสรรคในการใช้ชีวิต หรือแม้แต่ให้พื้นที่ของเกย์ที่มีอัตลักษณ์หลากหลายจริงๆ เพราะ Y ทำเพียงแค่ใช้ตัวละครผู้ชายหรือนักแสดงผู้ชายหน้าตาดีสองคน มาสร้างโมเมนต์ขายฝัน ผ่านเรื่องราวที่ไม่สมเหตุสมผล ไดอาล็อคที่ชวนขมวดคิ้ว และหลายเรื่องกลับสอดแทรกค่านิยม Rape Culture (วัฒนธรรมข่มขืน) พ่วงกับ Sexual Harassment (การคุกคามทางเพศ) หรือแม้แต่การเหยียดผู้หญิง หรือทำให้ตัวละครผู้หญิงเป็นแค่องค์ประกอบไปเสีย ดังนั้น Y จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของชาวเกย์ได้

ทางด้านของ Y เอง ก็แบ่งออกเป็นสองความเห็น บ้างก็ว่า Y ไม่จำเป็นต้องสนับสนุน LGBTQ เพราะที่มาแรกเริ่มแต่เดิม มันคือ Fantasy สำหรับผู้หญิงอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการมีอยู่ของเกย์ทั้งสิ้น แต่อีกความเห็นก็มองว่า อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยืนยันว่าคู่รักชายชายไม่ใช่เรื่องผิด เป็นที่ยอมรับของกลุ่มคนเสพย์กลุ่มนึง และอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่มากเสียด้วย ทางฝั่ง Gay Culture เองต่างหากที่มีภาพจำตายตัวเกินไป ที่ว่าเกย์ต้องกล้ามปู ต้องใช้แอพลิเคชั่นหาคู่ ใช้ชีวิตกลางคืนสอยซอง หรือดู Drag Race กันตลอดเวลา ก็ยังมีเกย์อีกมาก ที่เขาไม่ต้องการการนิยามตัวเอง หรือความสัมพันธ์ของเขา และต้องการความโรแมนติกที่ละมุนได้ ตามแบบที่ความสัมพันธ์แฟนตาซีอย่างในคอนเทนต์ Y

จึงกลายเป็นว่าในจุดที่พยายามหามาร่วมกัน ก็ยังมีจุดที่พยายามผลักออกจากกันอีกอยู่ดี

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

ธุรกิจ Y และวงการบันเทิงที่ไม่โอบรับ

“คุณไม่ควรเอาอัตลักษณ์ของเขามาหากิน แล้วได้อภิสิทธิ์ทางสังคมผ่านการเหยียบพวกเขาลงไป”

เป็นหนึ่งในความเห็นที่เสริมรอยแตกร้าวระหว่างชุมชนชาว Y กับแรงสนับสนุน LGBTQ ให้แยกออกจากกันมาขึ้นไปอีก เพราะในอุตสาหกรรมการทำคอนเทนต์ Y ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คอนเทนต์ที่ขับเคลื่อนอยู่ ยังอยู่ในกรอบจำกัดของ Y แบบตายตัว ที่ยังคงมีเนื้อหาไม่ยืนอยู่บนวิถีชีวิตของเพศหลากหลาย หรือเกย์จริงๆ ยังคงวนเวียนอยู่กับภาพจำของอาชีพหรือการเรียนในคณะที่มีความเป็นชาย เป็นตัวนำขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา 

ไม่ว่าจะเป็นวิศวะ หมอ มาเฟีย ทหาร ที่มีภาพจำของความเป็นชายอย่างเหนียวแน่น รวมถึงการใช้ไดอาล็อกหลบเลี่ยง “ความเกย์” และไม่ยอมเสียความเป็น “ผู้ชาย” ออกไป อย่างคำว่า “กูเป็นผู้ชาย แต่กูรักมึงคนเดียว” ซึ่งถือเป็นการสะท้อนว่า ในคอนเทนต์วายที่เกลื่อนกลาดอยู่นั้น ส่วนใหญ่ ยังยึดติดอยู่กับภาพจำเดิมๆของมายาคติความเป็นชายอยู่

รวมไปถึงในเชิงการทำงานในวงการจริงๆ ที่มีหลายความเห็นมองว่า นักแสดงนำซีรีส์และภาพยนตร์ Y ส่วนใหญ่เป็น “ชายแท้” เป็น “เพศทางตรง” การใช้กระแส Y ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันเพื่อไต่เต้าไปสู่ความสำเร็จนั้น เป็นการกีดกันพื้นที่ที่ของนักแสดงที่เป็นเกย์จริงๆออกไป พื้นที่ในวงการของเกย์ก็ยิ่งแคบลง แต่นักแสดงชายแท้หน้าตาดีเหล่านี้ กลับได้อภิสิทธิ์ทางสังคมไป 

ยิ่งไปกว่านั้น ในธุรกิจนี้ นักแสดงวายหลายคนถูกระบุเป็นข้อห้ามในสัญญา ไม่ให้เปิดเผย หรือมีร่องรอยปรากฎในสื่อต่างๆ ว่ามีความสัมพันธ์หรือคบแฟนเป็นผู้หญิง เพื่อใช้ความโสดและคลุมเครือทางเพศ สร้างความจิ้นแบบปลอมๆให้แฟนคลับได้ใช้ในการสนับสนุน และต่อยอดไปสู่การออกงานอีเวนท์ที่ดึงฐานแฟนที่มีประโยชน์ในเชิงการตลาดไปได้เรื่อยๆ ซึ่งในการปกปิดตัวตนของตัวเองแบบนี้ เป็นการสร้างประโยชน์จากความสัมพันธ์กับคู่นักแสดงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในขณะที่การผ่านกฎหมายสิทธิทางเพศหลากหลายที่อยู่สังคมจริงกลับไม่เคยคืบหน้า ทั้งนักแสดงเหล่านี้ ก็ไม่เคยออกมาเป็นกระบอกเสียงเรียกร้อง หรือตั้งคำถามกับภาครัฐอย่างแข็งขัน ทั้งๆที่คุณอาศัยความสัมพันธ์โรแมนติกแบบเพศหลากหลายมาใช้เพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ แถมอยู่รอดในสังคมได้โดยไม่ต้องถูกกดทับอะไร

เหตุผลเหล่านี้มากพอหรือยัง ที่จะบอกว่า Y กำลังเป็นอุปสรรคกับการขับเคลื่อน LGBTQ

เสียงสะท้อนจากวงการ Y ออกมา กับข้อจำกัดที่ไม่ใช่เรื่องง่าย

ท่ามกลางการตั้งคำถามอย่างแข็งขันของเสียงสนับสนุน LGBTQ นั้น ก็ทำให้คนที่เกี่ยวข้องในวงการ Y บางส่วน ออกมาให้เหตุผลว่า ไม่ใช่ Y ทุกเรื่องที่มีเนื้อหาบนมาตาคติของความเป็นชาย วงการวายมีการพัฒนาให้เนื้อหามีความหลากหลาย และโอบรับความสัมพันธ์ของ LGBTQ มากขึ้น ตัวละครเลสเบี้ยนเริ่มเข้ามามีบทบาทในซีรีส์วายมากขึ้น และวายหลายเรื่องเริ่มพูดเนื้อหาที่หนักกว่าละครชายหญิง ที่ยังคงวนเวียนอยู่แค่การตบตีด้วยซ้ำ

หรือแม้แต่ในเชิงการทำงาน ผู้กำกับซีรีส์วายหลายๆคนก็เป็นชาว LGBTQ และออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องประเด็นทางกฎหมายสิทธิเพศหลากหลายอยู่เสมอ ส่วนนักแสดงนั้น ก็ยอมรับว่ามีหลายคนที่เลือกจะ “เพิกเฉย” ต่อประเด็นสังคมหรือการเมือง เพื่อมุ่งหน้าใส่ใจกับการหางานในวงการ หรือจริงจังเฉพาะกับงานแสดง ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของคำว่า “เป็นนักแสดง ต้องเล่นได้ทุกบท” ส่วนการจะออกมายอมรับว่าเป็นชายแท้ หรือเป็นเกย์นั้น มันเป็นรสนิยมส่วนตัว มันไม่ควรเอามาปะปนกับส่วนของงานแสดง และด้วยความที่เป็นเรื่องส่วนตัวของนักแสดง นั่นก็อาจจะตีความได้ว่า นักแสดงหลายคน ก็อาจจะไม่ได้มีรสนิยมทางเพศแบบที่สื่อเข้าใจ หรือแบบที่เขาวางตัวเสมอไปหรือเปล่า คุณรู้ได้ไงว่านักแสดงคนไหนเป็นชายแท้จริงๆ เขาอาจจะลื่นไหลกว่าที่เราเห็นก็ได้

เพราะลำพังวงการบันเทิงไทย เปิดรับความเกย์ ความกะเทยอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้กีดกันชนิดปรากฎบนหน้าจอไม่ได้เลยแบบจีน หรือญี่ปุ่น หากแต่ไทยจับความเกย์และกะเทยไปลงกล่องความตลกเสียมาก จนไม่เหลือมิติอื่นๆให้เสพย์ ดังนั้นการที่มีคู่รักชายชายปรากฎออกมา แต่ที่ไม่อยู่ใน Gay Culture (วัฒนธรรมเกย์) ที่สังคมเข้าใจหรือเหมารวมภาพจำไปแล้ว มันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษหรือไม่ เพราะยังมีเกย์อีกมาก ที่ไม่ออกสาว เรียนคณะที่ “แมนๆ” หรือไม่เคยไปซอยสอง

ส่วนความสัมพันธ์แบบ Y ที่ก่อร่างมาจากร่มของชายเป็นใหญ่ หากย้อนไปในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ก็ปรากฎเรื่องซูโด ที่ซามูไรต้องมีสัมพันธ์สวาทกับเด็กที่อ่อนวัยกว่าเพื่อขับเน้นความเป็นชายก่อนจะให้ออกเรือนไป หรือแม้แต่วัฒนธรรมกรีกโบราณ ก็ปรากฎเรื่องราวที่คล้ายกัน ดังนั้นการที่ความสัมพันธ์แบบชายกับชายเกิดขึ้นในร่มของชายเป็นใหญ่ ไม่ยอมสละซึ่งความแมน หรือความเป็นชายออกไป ก็อาจจะไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการเรียกร้องทางเพศไปทั้งหมดหรือเปล่า เพราะจุดเริ่มต้นการขับเน้นความเป็นชายด้วยการได้กับชาย ก็มาจากร่มชายเป็นใหญ่เหมือนกัน

ซึ่งนั่นทำให้การทำงานวงการสื่อ Y ในยุคที่ยังต้องพึ่งข้อจำกัดของตลาดนั้นไม่ง่าย หากเลือกจะนำเสนอความเกย์อย่างจัดจ้าน กลุ่มตลาดก็อาจจะเปลี่ยนไป และไม่เหลือพื้นที่ให้นำเสนอแม้แต่การสอดแทรกเพียงเล็กน้อย แต่จะกลายเป็นไม่ต้องทำเลย เพราะมันไปผิด Gay Culture และไม่เคารพหลักความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness หรือ PC) ซึ่งหากเราเข้ากรอบกันแบบนั้น มันก็ไม่ใช่การโอบรับความหลากหลายที่ควรเป็นอยู่ดี

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

เพราะต่างฝ่าย ต่างมองกันและกันเพียงผิวเผิน

ทางฝ่ายเสียงสนับสนุนการขับเคลื่อน LGBTQ ก็พยายามจะผลักให้ทุกอย่างเป็นการเรียกร้องที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน การโบกธงรุ้งต้องไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองเดินพาเหรดอย่างสนุกสนาน หรือทำเอากระแสที่มีมาโดยพร้อมเพรียงกันทั้งโลก หากแต่ต้องออกมาเป็นกิจจะลักษณะ เห็นเป็นรายชื่อและยื่นเสนอผ่านร่างรัฐสภา หรือร่วมลงถนนเพื่อชูสิทธิทางเพศหลากหลายให้ปรากฏชัด การจะมายอมรับเพียงแค่ไม่ด่าตุ๊ด อัพสเตตัสติดธงรุ้งในโซเชี่ยลกันทัวร์ลง หรือเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ที่โอบรับเพศหลากหลายภายใต้ร่มของทุนนิยมนั้น มันไม่ได้ส่งผลที่จับต้องได้ในโลกจริง

ดังนั้นฝ่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนไหว ก็จะมองไม่เห็นข้อจำกัดของกลุ่มคนที่พยายามดันให้วงการสื่อโอบรับความหลากหลายในหลายมิติมากขึ้นในโลกของการทำงานจริง เพราะข้อจำกัดของกลุ่มคนที่ทำงานตรงนี้ หลายฝ่ายก็ทำเพียงลำพัง ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากภายนอก และมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มครืนหากไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งถ้าไม่อาศัยทำตามตลาดที่มีความต้องการอย่างชัดเจนไปก่อน ก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก 

เพราะรัฐเอง ก็ไม่ได้ยื่นมือลงมาสนับสนุนอะไร ทุกอย่างที่ทางฝั่งอุตสาหกรรม Y ทำออกมา ไม่ว่าจะช่วยทำให้เนื้อหามีการสนับสนุนการขับเคลื่อนเพศหลากหลายและโอบรับมากขึ้น หรือจะมีเนื้อหาเป็นอุปสรรค และไม่ตรงตาม Gay Culture ก็ตาม ต้องยอมรับว่าคนในอุตสาหกรรม Y ล้วนทำกันเอง ลงทุนกันเองในนามเอกชนทั้งสิ้น 

แต่กระนั้น ด้วยความที่คนในแวดวงอุตสาหกรรม Y มัวแต่ดิ้นเอาตัวเองให้รอดจากข้อจำกัดนี้ ขณะที่พยายามหาเหลี่ยมมุมให้คอนเทนต์ที่ผ่านหน้าจอให้มันโอบรับความหลากหลายมากขึ้น ก็มักจะหลงลืมไปว่าการวางเฉย ไม่ Take Action และอยู่ใน Safe Zone ของการเป็นคนในวงการบันเทิงนั้น เป็นข้อได้เปรียบกว่าชาวเพศหลากหลายอีกมากมาย ที่กำลังเผชิญโลกจริงอยู่ข้างนอกนั้น แม้นักแสดงหลายคนอาจจะเป็นเพศลื่นไหลหลากหลายในชีวิตส่วนตัว แต่การเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่มีจุดยืนต่อการขับเคลื่อนให้ชัดเจน เพียงเพราะจะให้ตัวเองมีภาพลักษณ์เรียบง่ายและเป็นกลาง เพื่อสะดวกต่อการไปต่อในวงการนั้นมันมีข้อเสีย 

ทันทีที่เลือกจะเงียบและลดอัตลักษณ์ตัวเองเพื่อหน้าที่การงาน มันก็เป็นการต่อแต้มให้คนกดขี่เพศหลากหลาย ได้ใช้โอกาสและโครงสร้างกดทับประเด็นทาเงพศนี้ต่อไป และท้ายที่สุด หากคุณเป็นชาว LGBTQ เรื่องนี้ก็จะมาเคาะประตูเขาเองด้วยอยู่ดี

และนั่นจะเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงทั้งต่ออุตสาหกรรม Y และการขับเคลื่อน LGBTQ ในท้ายที่สุด

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

สังคมไทยซับซ้อน และเราอาจจะต้องเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่

ในโลกของการขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องเพศของประเทศแถบตะวันตกนั้น ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ลดอคติทางสังคม เรื่อง HIV หรือแม้แต่สิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมในผู้หญิง แต่ประเทศไทยนั้นต่างออกไป แรกเริ่มก็ให้สิทธิทุกคนทุกเพศเลือกตั้งกันอย่างเท่าเทียมทีเดียวเลยมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง หากแต่ว่าหลังจากนั้น สังคมไทยเลือกจะจับทุกอย่างลงกล่องแบบง่ายๆ เอากำปั้นทุบดิน LGBTQ ก็อยู่ในสังคมได้ แต่ต้องถูกปฏิบัติไปแบบนึง อยู่ในลำขั้นนึง ถูกมองไปแบบนึงเท่านั้น

สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่เห็นชาวเพศหลากหลายแล้วฆ่าทิ้ง ปาหิน ผิดกฎหมาย หรือสั่งจำคุก แต่เป็นสังคมที่ยอมรับนะ แต่มีเงื่อนไข ดังนั้นการขับเคลื่อนสิทธิ LGBTQ นั้น จึงไม่สามารถกระทำบนบาร์ที่ต่ำได้ เพราะสังคมได้เริ่มต้นการตั้งบาร์ต่ำไว้ให้ชาวเพศหลากหลายแต่แรกแล้ว 

“เป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดี” 

“ทำไมต้องเรียกร้องอะไรให้มาก อยู่ในประเทศนี้ก็ดีแค่ไหนแล้ว” 

“ดูอย่างในทีวีสิ มีกะเทยมากมายประสบความสำเร็จ เขาไม่เห็นต้องเรียกร้องอะไรเลย”

ดังนั้นจะเห็นว่า การมีอยู่ LGBTQ คือการถูกลดให้อยู่ในลำดับขั้นที่เหมาะสม มีตัวตนที่เหมาะสม ห้ามมากไปกว่านี้ แล้วเบี่ยงประเด็นให้ไปมองโอกาสอื่น มองช่องทางอื่น ดูคนอื่นๆที่เหมือนตัวเองในสังคมเอาเอง เอาตัวรอดกันเอง ซึ่งการเบี่ยงเบนประเด็นตรงนี้ไปนั้น ในความเป็นจริง มันไม่สามารถกลบการกดทับทางเพศที่เกิดขึ้นจริงในสังคมให้หายไปได้

และสิ่งที่ทำให้การเบี่ยงเบนประเด็นสำเร็จนั้น จะมีอะไรดีไปกว่า “สื่อบันเทิง” การเบนให้ผู้คนที่เสพย์สื่อ มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงในสังคมนั้น ยังคงทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรม ในทุกเพศ ทุกประเด็นทางสังคมการเมืองด้วย ดังนั้นแล้ว อุตสาหกรรม Y หากจะร่วมกันช่วยเรียกร้อง และเป็นส่วนหนึ่งกับการขับเคลื่อน LGBTQ ได้จริงๆ ก็ไม่ควรซ้ำเติมการเบี่ยงเบนประเด็นนี้ขึ้นไปอีก 

จะมีซีรีส์มาเฟียวายไปทำไม หากผู้มีอิทธิพลในไทยจริงๆ ยังมีคดีข่มขืนและกดขี่เรื่องเพศ จะมีซีรีส์วิศวะและหมอที่มีคู่วายไปทำไม หากในโลกจริงคนเหล่านี้ไม่มีโอกาสในการทำงานในสายอาชีพนี้ จะมีคู่จิ้นวายอีกร้อยเรื่องไปทำไม ถ้าสุดท้าย คู่รักชายชายไม่สามารถแต่งงานกันได้ 

แต่นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรม Y ไม่ควรมี หรือต้องยกเลิกไป หากแต่คอนเทนต์ Y ทั้งคนในอุตสาหกรรมและนอกอุตสาหกรรม อาจจะต้องมาดูกันว่า เท่าที่มีอยู่นั้น เราจะแปะมือกันต่อไปอย่างไรไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อกันเอง ผู้จัดซีรีส์ อาจจะต้องพิถีพิถันในกระบวนการสร้างมากขึ้น หรือแม้แต่นักแสดง ก็อาจจะไม่สามารถใช้คำว่า “ต้องแสดงได้ทุกบท” อีกแล้ว เพราะหากบทนั้น มันดันฉุดให้บาร์การเรียกร้องนั้นต่ำลง คุณจะยินดีรับเล่นไหม

ทำอย่างไรซีรีส์วายถึงจะช่วยทำให้เห็นว่ามาเฟียนั้น เป็นความล้มเหลวของระบบยุติธรรม

ทำอย่างไรซีรีส์วายหมอและวิศวะ จะช่วยทำให้เกิดการยอมรับคู่รักเพศหลากหลายในสายอาชีพนี้ได้มากขึ้น

ทำอย่างไรซีรีส์วาย จะทำให้คู่รักชายชาย รักกันได้อย่าถูกกฎหมายในโลกแห่งความจริง

ซึ่งนั้นอาจจะเป็นโจทย์ที่ทั้งผู้ผลิตวาย เสียงสนับสนุน LGBTQ รวมถึงตลาดทั่วไป มีจุดกึ่งกลางร่วมกัน และช่วยกันดันให้ความรักที่หลากหลายมันชนะ เป็น Love Wins Wins กันทุกฝ่ายได้

เพราะแม้แต่คำว่า Y (Yaoi) ยังปรับตัวเองให้กลายเป็น Boy’s Love เพื่อไปสู่ตลาดสากล และเข้าถึงกลุ่มผู้เสพย์ทั่วโลกได้ คอนเทนต์ในตัวของมัน ก็น่าจะปรับตัวได้ไม่ต่างกัน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า