fbpx

ส่องประวัติศาสตร์วิกิพีเดียไทย มุมมองจากผู้ใช้งาน และอะไรที่ทำให้ยังมีผู้เข้าชมอยู่

หากพูดถึงการค้นหาข้อมูลหรือหาความรู้อะไรก็ตาม แน่นอนว่าชาวเน็ตหลาย ๆ คนมักจะนึกถึง Google เป็นอย่างแรก เพราะเป็นด่านแรกในการเสิร์ชหรือค้นหาข้อมูลใดๆ แต่ถ้าพูดถึงแหล่งรวบรวมข้อมูลล่ะ คงนี้ไม่พ้น “วิกิพีเดีย” อย่างแน่นอน เชื่อว่าหลาย ๆ ต้องเคยเข้าไปอ่านบทความอย่างแน่นอน หรือยกระดับขึ้นมาอีกหน่อย กลายเป็น “ผู้เขียน” วิกิพีเดียเลยก็เป็นได้ วันนี้ส่องสื่อจะพามาย้อนประวัติศาสตร์วิกิพีเดียภาษาไทย และอะไรที่ทำให้ยังมีผู้อ่านอยู่ แม้ว่าวิกิพีเดียภาษาไทยจะขึ้นชื่อในเรื่องของการก่อกวนหรือแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือก็ตาม

กำเนิดวิกิพีเดีย

รู้หรือไม่ว่า สารานุกรมออนไลน์อย่าง วิกิพีเดีย นั้น เปิดให้บริการมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว โดยเปิดให้ใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 ผู้ก่อตั้งคือ จิมมี เวลส์ และแลร์รี แซงเจอร์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นคำว่า “วิกิพีเดีย” ขึ้นมา โดยมาจากการผสมของคำว่า “วิกิ” ซึ่งเป็นลักษณะการสร้างเว็บไซต์ที่มีส่วนร่วม และ “พีเดีย” ที่มาจากคำว่า “เอนไซโคลพีเดีย” หมายถึงสารานุกรม

แรกเริ่มมีให้บริการเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น จนกระทั่งมีการพัฒนาเป็นภาษาอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันวิกิพีเดียภาษาอังกฤษมี 6.3 ล้านบทความ เป็นเว็บไซต์ภาษาที่มีบทความเยอะที่สุดใน 321 ภาษา เมื่อรวมเว็บไซต์วิกิพีเดียทุกภาษาแล้ว มีบทความมากกว่า 56 ล้านบทความ มีการแก้ไขมากกว่า 17 ล้านครั้ง และมีผู้เยี่ยมชมไม่ซ้ำกันกว่า 1.7 พันล้านคนต่อเดือน

วิกิพีเดียภาษาไทย

วิกิพีเดียภาษาไทย - วิกิพีเดีย

เมื่อทราบต้นกำเนิดแล้ว กลับมาดูวิกิพีเดียฉบับภาษาไทยกันดีกว่าว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โดยจากการค้นหาข้อมูลพบเพียงแค่ว่า วิกิพีเดียภาษาไทย เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 โดยเกิดจากชุมชนไทยของวิกิพีเดียในช่วงเวลานั้น ปัจจุบันวิกิพีเดียภาษาไทยมี 139,562 บทความ และใหญ่เป็นอันดับที่ 56 ในบรรดาเว็บไซต์วิกิพีเดียทุกภาษา โดยในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา วิกิพีเดียไทยมีบทความใหม่กว่า 9,632 บทความ

วิกิพีเดียไทยมี Pattern ที่เหมือนกับทุกภาษาคือใช้รูปแบบ อาสาสมัคร (Volunteer) ในการเขียน ซึ่งผู้ใช้แต่ละคนจะเขียนและแก้ไขบทความไปตามหัวข้อที่ตัวเองสนใจหรือถนัด และจะเปิดเผยข้อมูลของตนเองหรือไม่ก็ได้ โดยอาสาสมัครทุกคนไม่มีรายได้จากการเขียน และการว่าจ้างเขียนบทความก็ผิดกฎของวิกิพีเดียด้วย ในส่วนของผู้ดูแลระบบ (Sysop) ก็มาจากอาสาสมัครเช่นเดียวกัน โดยการได้มาซึ่งหน้าที่ผู้ดูแลระบบนั้น จะต้องผ่านการคัดเลือกจากชุมชนวิกิพีเดีย และต้องมีประสบการณ์เขียนและรู้นโยบายของวิกิพีเดียมากพอในระดับนึง

ส่วนของภาคเอกชน เคยมีโครงการความระมือระหว่างดีแทคและวิกิพีเดียไทยในการจัดกิจกรรม “เพิ่มพูนความรู้ให้สังคมไทยกับวิกิพีเดีย” เป็นเชิญชวนให้พนักงานแปลบทความวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดยตั้งเป้าช่วยสร้างบทความภาษาไทย 5,000 เรื่อง จำนวนชั่วโมงอาสารวมกว่า 10,000 ชั่วโมง

ในส่วนของภาครัฐ แม้จะยังไม่มีความร่วมมือกับวิกิพีเดียไทยโดยตรง แต่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนั้น เคยมอบหมายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ใช้งบประมาณจำนวน 10.7 ล้านบาทในการจัดทำสารานุกรมออนไลน์ภาษาไทย โดยการแปลบทความภาษาอังกฤษจากสารานุกรมวิกิพีเดียจำนวน 3 ล้านบทความเป็นภาษาไทยลงบนเว็บไซต์ www.asiaonline.com

บทความคัดสรรโดยส่องสื่อ

ดาราศาสตร์

บทความแรกของวิกิพีเดียภาษาไทยที่สร้างขึ้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2546 และมีการพัฒนาบทความจนกลายเป็นบทความคัดสรรในปัจจุบัน

นูกูอาโลฟา

บทความเมืองหลวงของประเทศตองงา สร้างขึ้นเมื่อ 14 เมษายน 2549 มีการพัฒนาปรับปรุงบทความอย่างต่อเนื่องจนขึ้นเป็น บทความคัดสรรประจำเดือนพฤษภาคม ของวิกิพีเดียไทย

การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย

บทความสร้างขึ้นเมื่อ 9 มีนาคม 2563 ในชื่อ “การระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศไทย พ.ศ. 2563” ปัจจุบันมีการแก้ไขข้อมูลอัปเดตแบบรายวันอย่างต่อเนื่อง มีข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่หลากหลาย พูดถึงในทุกแง่มุม มีผู้เข้าชมบทความเฉลี่ย 5,012 คนต่อเดือน

File:COVID-19 Nurse.jpg

ประชาธิปไตย

บทความสร้างขึ้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2548 เป็นบทความที่เล่าถึงที่มาและประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยตั้งแต่อดีตกาล ปัจจุบันเป็นบทความคัดสรร และมีผู้เข้าชมบทความเฉลี่ย 33,590 คนต่อเดือน

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บทความของนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบัน ที่สร้างขึ้นเมื่อ 3 มีนาคม 2552 ก่อนเกิดการรัฐประหาร 5 ปี ซึ่งในขณะนั้นประยุทธ์ จันทร์โอชายังเป็นเพียงเสนาธิการทหารบก ปัจจุบันมีการผู้เข้าชมบทความเฉลี่ย 45,554 คนต่อเดือน และบทความนี้ยังถูกขึ้นป้ายเตือนว่า “ต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของวิกิพีเดีย” และ “อาศัยแหล่งอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป”

มุมมองจากผู้(ลอง)เขียนวิกิพีเดีย

จากการทดลองเขียนและแก้ไขบทความวิกิพีเดีย พบว่าการแก้ไขหรือเขียนบทความนึงขึ้นมานั้น ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป แม้จะขึ้นชื่อว่าใครๆก็แก้ไขได้ แต่วิกิพีเดียภาษาไทยหรือทุกภาษาเองมี “นโยบายและแนวปฏิบัติ” ในการเขียนบทความและการอยู่ร่วมกันของชุมชนอยู่ หากใครก็ตามที่เข้าไปแก้ไขหรือเขียนบทความโดยไม่เป็นไปตามนโยบายก็อาจถูกลบได้ หรือขั้นร้ายแรงสุดคือการถูกบล็อกการใช้งานวิกิพีเดียเลยก็ได้

จากสถิติพบว่ามีผู้ใช้ลงทะเบียนในวิกิพีเดียภาษาไทยกว่า 401,355 คน แต่ผู้ใช้ที่มีความเคลื่อนไหวในเดือนมีนาคมเพียง 339 คนเท่านั้น นับว่าชุมชนวิกิพีเดียไทยนั้นอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับชุมชนภาษาอังกฤษและภาษาอื่น

ข้อดีอีกอย่างนึงที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ใช้ที่มีความเคลื่อนไหวนั้น นอกจากทำหน้าที่ในการเขียนหรือแก้ไขบทความตามหัวข้อหรือประเด็นที่ตนเองสนใจแล้ว ยังช่วยกัน “สอดส่องและตรวจสอบ” บทความอื่น ๆ ด้วย เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลระบบภาษาไทยที่มีเพียง 16 คนเท่านั้น ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว (2563) วิกิพีเดียภาษาไทยเพิ่งแต่งตั้งผู้ดูแลระบบคนใหม่จำนวน 4 คนในรอบ 7 ปี รวมไปถึงการเปิดอภิปรายเพื่อให้ชุมชนได้แสดงความคิดเห็นและสร้างมติหรือความเห็นพ้องต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

วิกิพีเดียไทยใช้อ้างอิงได้ไหม?

เป็นคำถามโลกแตกที่แม้แต่วิกิพีเดียภาษาอื่น ต่างก็ตั้งข้อสังเกตุ และถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบว่า สรุปแล้ววิกิพีเดียใช้เป็นอ้างอิงในรายงาน หรือโครงการวิจัยได้หรือไม่?

ในมุมมองของผู้เขียน วิกิพีเดียเป็นแหล่งข้อมูล “ด่านแรก” ที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นการเขียนรายงาน วิจัย หรือแม้กระทั่งบทความด้วยก็ตาม เพราะมันช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของหัวข้อที่คุณกำลังทำอยู่ นอกจากนี้อาจช่วยให้คุณคิดประเด็นของหัวข้อที่จะเขียนด้วยเลยก็ได้

แล้วจะรู้ได้ไงว่าบทความที่คุณกำลังอ่านมันเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน คุณสามารถใช้วิจารณญาณด้วยตัวเองผ่านการสังเกตว่า

  1. มีแหล่งข้อมูลทางวิชาการหรือในวารสารที่อยู่ท้ายบทความหรือไม่
  2. คุณเห็นการวิพากษ์วิจารณ์บทความในประวัติการแก้ไขบทความนั้นหรือไม่
  3. คุณเห็นป้ายคำเตือนด้านบนสุดเนื่องจากคุณภาพของบทความ หรือมีป้ายติดว่าเป็นบทความคัดสรรหรือไม่

ข้อจำกัดหนึ่งของวิกิพีเดียไทยคือ มีจำนวนบทความที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ และบทความในภาษาไทยเองอาจมีเนื้อหาไม่ครบเท่าบทความภาษาอังกฤษ เพื่อการหาข้อมูลที่ดีที่สุด ควรค้นหาทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป แม้จะอ่านแล้วแต่ก็ยังไม่แน่ใจถึงคุณภาพบทความ คุณก็สามารถหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งอยู่ในท้ายสุดของบทความ แถมเป็นแหล่งอ้างอิงต้นฉบับที่สามารถใช้งานได้ด้วย แทนที่จะใช้การอ้างอิงวิกิพีเดียโดยตรง

แล้วอ้างอิงโดยตรงได้ไหม?

ในมุมมองของผู้เขียน คิดว่าวิกิพีเดียก็เหมือนเล่มหนังสือพจนานุกรมหรือสารานุกรมรวมข้อมูล ที่นำข้อมูลจากแหล่งต่างๆมาร้อยเรียงอยู่ในเล่มนึง ซึ่งถามว่าใช้อ้างอิงโดยตรงได้ไหม ขึ้นอยู่กับบางสถานการณ์ บางบริบท แต่ยังไง การใช้แหล่งต้นฉบับยังดีกว่าในเชิงการใช้เขียนรายงาน หรือวิจัย

แต่จากการศึกษาในปี 2559 ก็พบว่าวิกิพีเดียถูกอ้างอิงว่าเป็นแหล่งข้อมูลโดยตรงบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่าวิกิพีเดียกำลังได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและพิสูจน์ได้ 

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ วิกิพีเดียมีบทความที่เกี่ยวกับคำถามนี้ด้วย ซึ่งคำตอบจากวิกิพีเดียคือ

เราขอแนะนำให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้วิกิพีเดียเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับโครงงานการวิจัย การนำวิกิพีเดียและสารานุกรมอื่นไปใช้ในเชิงวิชาการโดยปกติแล้วมักจะใช้เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงโดยทั่วไปของปํญหาและเพื่อค้นคำค้น (keyword) แหล่งอ้างอิงและตัวชี้วัดเกี่ยวกับบรรณานุกรม แต่มิใช่เป็นแหล่งข้อมูลในตัวของมันเอง พึงระลึกไว้เสมอว่าวิกิพีเดียเป็นวิกิ ซึ่งหมายความว่า ทุกคนบนโลกสามารถแก้ไขบทความได้ รวมถึงสามารถลบข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำหรือเพิ่มข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งผู้อ่านอาจไม่สามารถรับรู้ได้

https://th.wikipedia.org/wiki/วิกิพีเดีย:การอ้างอิงถึงวิกิพีเดีย

อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านบทความนี้จบแล้วใช่ว่าคุณจะสามารถนำวิกิพีเดียไปอ้างอิงในรายงานได้เลย เพราะทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงาน มหาลัย หรืออาจารย์ผู้สอนของคุณด้วยว่าอนุญาตให้ใช้วิกิพีเดียเป็นอ้างอิงได้หรือไม่

อะไรที่ทำให้วิกิพีเดียภาษาไทยยังมีผู้เข้าชมอยู่

แม้วิกิพีเดียภาษาไทยจะขึ้นชื่อเรื่องความเกรียนที่มักจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาก่อกวนบทความอยู่บ่อยครั้ง แต่อะไรล่ะที่ทำให้สารานุกรมอย่างวิกิพีเดียภาษาไทยยังมีผู้เข้าชมอยู่เรื่อย ๆ?

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น วิกิพีเดียจะเป็นเว็บแรก ๆ ที่มีผู้ใช้เข้ามาดูบทความนั้น ๆ เช่น การเสียชีวิตของน้าค่อม ชวนชื่น พบว่ามีผู้เข้าชมบทความ ค่อม ชวนชื่นในเดือนเมษายน มากถึง 179,695 คน กลายเป็นบทความที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในเดือนเมษายน 2564 (ไม่รวมบทความ อสมท และ ไทยพีบีเอส) หรือแม้แต่ละครจากช่องวันเรื่อง “ขุนแผน” ที่มีผู้เข้าชมบทความ ขุนแผน มากที่สุดในเดือนมีนาคม 2564 (ไม่รวมบทความ อสมท และ ไทยพีบีเอส)  ด้วยจำนวนกว่า 104,655 คน และเมื่อนับรวมในรอบ 12 เดือนแล้ว มีผู้เข้าชมวิกิพีภาษาไทยมากกว่า 810 ล้านครั้งเลยทีเดียว

นั่นก็เพราะวิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่ “รวบรวม” ข้อมูลจากแหล่ง (ที่น่าเชื่อถือ) ต่าง ๆ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเดียวกัน เราอาจหาข้อมูลของใครสักคนจาก Google ซึ่งตัวเว็บก็จะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการค้นหาจากสิ่งที่เราเขียนเข้าไป อาจจะดึงเฉพาะเว็บไซต์ที่มีการพูดถึง หรือเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นเท่านั้น แต่วิกิพีเดียทำหน้าที่รวบรวมเรื่องราวที่มาที่ไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยอาศัยแหล่งข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง

ปัจจุบันวิกิพีเดียไทยมีบทความที่น่าเชื่อถือมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต แม้จะมีการกอก่วนอยู่บางช่วง และด้วยชุมชนอาสาสมัครวิกิพีเดียไทยที่แข็งแรง แม้จะมีจำนวนผู้ใช้ที่ไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยผลักดันให้วิกิพีเดียไทยมีจำนวนบทความที่น่าเชื่อถือมากขึ้น วิกิพีเดียไทยอาจเป็นที่ยอมรับในแง่ของเนื้อหาที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และมีแหล่งอ้างอิงพิสูจน์ได้ จนสามารถนำไปใช้ในการอ้างอิงได้ในอนาคต

ปัจจุบัน วิกิพีเดียภาษาไทย เปิดช่องทางการติดต่ออย่างเป็นทางการทั้งใน Facebook และ Discord ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปสามารถติดต่อสอบถามและแจ้งปัญหาได้ผ่านช่องทางที่กล่าวไว้

นอกจากนี้ ระหว่างที่ผู้เขียนกำลัง Research ข้อมูลในวิกิพีเดียอยู่ ยังบังเอิญพบ “ส่องสื่อ” ในแหล่งอ้างอิงอีกด้วย! โดยบทความที่พบ เช่น ช่องวัน, บีอีซีเวิลด์ ฯลฯ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเว็บไซต์ส่องสื่อเป็นเว็บไซต์รู้เท่าทันสื่อที่น่าเชื่อถือ มีข้อมูลที่ครบครัน และถูกต้อง

อ้างอิง
https://www.cityweekly.net/utah/feature-wikipediots-who-are-these-devoted-even-obsessive-contributors-to-wikipedia/Content?oid=2131674
https://www.thairath.co.th/content/419120
https://www.thairath.co.th/content/139704
https://www.citavi.com/en/planned-accidents/articles/can-i-cite-wikipedia-in-my-paper

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า