fbpx

ทุกคน(ไม่)เท่ากับสื่อ เมื่อประชาชนอยากเป็นนักข่าว ต้องเข้าใจอะไรบ้าง?

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


หากจะพูดถึงการเป็นนักข่าวในปัจจุบันนี้ หลายคนคงเข้าใจว่าการเป็นนักข่าวควรใช้เครื่องมือสื่อสารเป็น และถือไปถ่ายทอดสดได้ ดังที่จะได้เห็นจากปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเราคงเชื่อได้ว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านก็คงเคยได้รับทราบข้อมูลจากสื่อภาคพลเมืองที่ถือกล้องถ่ายทอดสดกันเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเมื่อประชาชนได้รับการยกย่องว่าเป็นสื่อแล้วก็คือ หลักการและความสำคัญในการทำงานของสื่อมวลชน บทความชิ้นนี้จึงมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูล เพื่อให้ทุกคนไม่ว่าจะเยาวชนหรือคนที่อยากเป็นสื่อมวลชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์และชุดข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาวงการสื่อและพัฒนาแพลตฟอร์มสื่อในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นสื่อที่ดี ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้เช่นกัน

หลักการและเหตุผลของนักข่าวพลเมือง

จากการทำสำรวจโดย มัทนา เจริญวงศ์, ไพฑูรย์ ธุระพันธ์, อาภาพรรณ ทองเรือน, อังคณา พรมรักษา และสาวิตรี ปะทะนัง (2556) เกี่ยวกับการให้ความหมายของนักข่าวพลเมือง พบว่าความแตกต่างระหว่างนักข่าวพลเมืองและนักข่าวอาชีพ แบ่งได้เป็นสองอย่าง ได้แก่ ประเด็นและเนื้อหาข่าว ที่สื่อพลเมืองจะเน้นประเด็นที่ใกล้ตัว สามารถเข้าถึงได้ ใช้ความเป็นมืออาชีพ ความชำนาญส่วนตัวในพื้นที่ในการนำเสนอข่าวสาร ส่วนนักข่าวอาชีพจะเน้นเล่นประเด็นในระดับประเทศเป็นส่วนใหญ่มากกว่า และเน้นในประเด็นที่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่เป็นหลัก และอีกด้านคือมุมมองการนำเสนอเนื้อหา นักข่าวพลเมืองจะเน้นการนำเสนอข้อมูลเชิงบวก บอกเล่ามุมมองแบบคนต้นเรื่อง และมีอิสระในการนำเสน อในขณะที่นักข่าวอาชีพจำเป็นต้องดำเนินการตามหลักจรรยาบรรณและมีนโยบายของต้นสังกัดเป็นที่ตั้งอยู่เสมอๆ

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับนักข่าวพลเมือง

เมื่อเราพูดถึงการให้ความหมายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือการที่มีข้อถกเถียงต่างๆ เกี่ยวกับนักข่าวพลเมืองกับนักข่าวอาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เบาเลยก็ว่าได้ และในหลายๆ ครั้งเราก็ไม่สามารถแยกแยะออกเช่นกัน เนื่องจากนักข่าวพลเมืองในปัจจุบันหลายท่านมียอดผู้ติดตามที่มากกว่านักข่าวอาชีพด้วยซ้ำไป นี่จึงเป็นเรื่องที่ในวงเสวนาหลายครั้งจึงได้มีการถกเถียงกันพอสมควรเกี่ยวกับความแตกต่างของสองหน้าที่นี้ แต่จุดที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ นักข่าวพลเมืองมักจะมีการใส่ความเห็นตนเองลงไปในเนื้อข่าวเป็นจำนวนมากกว่า และในบางครั้งก็เน้นการใช้แหล่งข่าวที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีการอ้างอิงแหล่งข่าวลงไปในเนื้อข่าว นอกจากนั้นยังเน้นการจับสถานการณ์มากกว่าองค์กร แต่ในข้อเสียก็มีข้อดี คือการใช้ชื่อจริงในการนำเสนอ (เว้นในข่าวที่สุ่มเสี่ยง) และมีความโปร่งใสในการใช้ข่าวแจก รวมถึงใช้ไฮเปอร์ลิ้งก์มากกว่าในการอ้างอิงบางข่าวเช่นกัน

จะก้าวเข้าสู่สนามข่าวอย่างไรให้มีคุณภาพ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ประกอบกับปัญหาที่เราเคยประสบพบเจอกันก่อนหน้านี้ จึงมีข้อแนะนำสำคัญๆ เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ ทั้งนักข่าวที่กำลังจะเข้าสู่วิชาชีพ และนักข่าวพลเมืองหน้าใหม่ว่าสิ่งที่สำคัญในการปฏิบัติงานสื่อสารมวลชน ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. แสดงตัวและสังกัดที่ประจำอยู่เสมอเมื่อเจอแหล่งข่าว

ข้อสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่คือการห้อยบัตรหรือแสดงตัวตนเสมอว่ามาจากเพจ หรือเว็บไซต์ชื่อว่าอะไร ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักว่าสื่อที่เราทำอยู่ชื่อว่าอะไร และเพื่อความไว้วางใจของสื่อ อย่าลืมระบุด้วยว่าจะนำเนื้อหาต่างๆ ไปนำเสนอในรูปแบบไหนก่อนเริ่มต้นสัมภาษณ์

  1. เน้นการนำเสนอข่าวที่ไม่ใส่ความเห็นตัวเองลงไป

อีกข้อที่สำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าวผ่านการถ่ายทอดสด หรือการเขียนเนื้อหาข่าว คือละเว้นการใส่อคติหรือความเห็นส่วนตัวที่ไม่มีประโยชน์ต่อข่าว หรืออาจจะสร้างความเข้าใจผิดให้กับเนื้อหาข่าวๆ นั้น แม้กระทั่งต่อผู้อื่นที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายลงไปในเนื้อหาข่าว การนำเสนอข่าวที่ดีคือการนำเสนอความจริงที่ออกมาจากแหล่งข่าวให้ได้มากที่สุด และการกระทำเช่นนี้ก็เป็นการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องหรือการถูกลดความน่าเชื่อถือเช่นกัน

  1. ขอแหล่งข่าวต้นทางเมื่อต้องใช้อ้างอิงข้อมูล

ในหลายๆ ครั้งเว็บไซต์ส่องสื่อหรือ Modernist มักจะถูกอ้างอิงโดยไม่รู้ตัว ไม่มีการใส่ไฮเปอร์ลิ้งก์ใดๆ แต่เป็นการยกประเด็นเดียวกันมาเล่า ฉะนั้นข้อนี้จึงสำคัญไม่ว่าจะสื่อพลเมืองหรือสื่ออาชีพ คือการให้เกียรติกันด้วยการขออนุญาตต้นทางแรกสุดก่อนเสมอ หรือการใส่ไฮเปอร์ลิ้งก์ต้นทางข่าวทุกครั้งก่อนนำเสนอข่าวลงบนเว็บไซต์ตนเองอยู่เสมอ หรือแม้กระทั่งแหล่งข่าวก็ตาม ก็ต้องมีประเด็นที่สามารถทำให้เขาเข้าใจว่าจะนำไปใช้อ้างอิงข้อมูล เช่น ประเด็นที่จะเล่าเรื่อง เป็นต้น เพื่อทำให้เขาเข้าใจมากที่สุด

  1. ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุดคือการนำเสนอข่าวที่อาจจะไปขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ หรือการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นการขัดขวางการดำเนินงานของแหล่งข้อมูล ฉะนั้นเราควรเก็บข้อมูลและปฏิบัติหน้าที่ตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำให้พึงปฏิบัติ มิฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจจะเกิดการฟ้องร้องได้ด้วย

  1. ดำเนินการผลิตข่าวโดยระลึกถึงคุณค่าของข่าวเสมอ

ข้อสุดท้ายที่จะทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็คือคุณค่าในการนำเสนอข่าวสารว่าจะส่งผลต่อสังคมหรือไม่ และให้คุณค่าต่อสังคมในมิติไหนบ้าง เพื่อจะทำให้สังคมแห่งนี้เป็นสังคมแห่งสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลปฏิบัติคร่าวๆ เพื่อพัฒนาเนื้อหาให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ต่อไปในอนาคตนั่นเอง ทั้งนี้อย่าลืมสิ่งสำคัญคือไม่ว่าจะเป็นสื่อพลเมืองหรือสื่ออาชีพก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญคือทุกคนล้วนทำให้สังคมนี้ดีขึ้นได้ด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริง และไม่ทำร้ายใครนั่นเอง

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า