fbpx

เกิดอะไรขึ้นกับสื่อไทย? – ไขคำตอบกับหลายทัศนะท่ามกลางวิกฤตการสื่อสารกับทางการเมือง

ทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองต่างๆ สื่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากในการสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบ ไม่ว่าจะเกิดเหตุใดก็แล้วแต่ โดยเฉพาะกับสื่อกระแสหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งนับเป็นบริการขั้นพื้นฐานของประเทศไทยไปแล้ว แต่กลับกันด้วยเสรีภาพที่ถูกจำกัดไว้ ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวในการนำเสนอของสื่อ ส่งผลให้เกิดควาไม่พอใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก

โมเดิร์นนิสต์ขอพาทุกท่านมาร่วมไขคำตอบว่า “เกิดอะไรขึ้นกับสื่อไทย?” และร่วมหาคำตอบผ่านหลากหลายมุมมอง หลากหลายทัศนคติไปด้วยกัน เพื่อที่จะเป็นหนึ่งแรงผลักดันในการหาทางออกในการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน

1
ย้อนรอยเหตุการณ์ความไม่พึงพอใจของประชาชนกับสื่อ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีกลุ่มประชาชนในนาม “REDEM” เดินทางไปชุมนุมที่บ้านหลวงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเกิดการปะทะกันขึ้น โดยฝ่ายตำรวจได้ใช้น้ำผสมแก๊สน้ำตา และใช้การยิงด้วยกระสุนยาง รวมไปถึงการจับกุมผู้ร่วมชุมนุม หนึ่งในนั้นคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหา ยังไม่นับการที่สื่อถูกคุกคามในพื้นที่ ถูกยิงและกีดกันไม่ให้ทำหน้าที่รายงาน ณ สถานที่นั้นด้วย

ในอีกมุมมองหนึ่ง ประชาชนที่กำลังติดตามข่าวสารทั้งผ่านทางโลกออนไลน์และสื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ ก็พบว่าสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวที่บิดเบือนจากความเป็นจริง รวมไปถึงบางสำนักหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าว ทำให้เกิดความสงสัยและไม่เห็นด้วย ฝั่งผู้ชุมนุมจึงออกมาเรียกร้องทั้งกับนักข่าวในพื้นที่ และผ่านทางโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการติด #แบนสื่อหลัก รวมไปถึงการยุติการสนับสนุนสินค้าที่ให้การสนับสนุนรายการข่าวของช่องนั้นๆ และการ Unfollow Instagram ของดาราในสังกัดช่องนั้นๆ อีกด้วย

เหตุการณ์นี้ทำให้ติด Twitter Trends Thailand ในชั่วข้ามคืน รวมถึงมีการเก็บข้อมูลจากฝั่งประชาชนว่ามีสื่อสำนักใดบ้างที่นำเสนอได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง และนี่จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รวมตัวกับเพื่อนๆ ที่เรียนสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ จัดตั้งกลุ่ม “ภาคีนักเรียนสื่อ” ขึ้น เพื่อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เปิดเสรีภาพสื่อ เพื่อการนำเสนอข่าวสารที่มีมิติและตรงกับความจริงมากที่สุดอีกด้วย

2
ภาคีนักเรียนสื่อ กับเป้าหมายในการเปิดเสรีภาพสื่อ

การก่อกำเนิดภาคีนักเรียนสื่อนั้น ได้เริ่มจากการจัดกิจกรรมปราศรัย ซึ่งจัดขึ้นถัดจากวันที่เกิดการปะทะกัน 1 วัน (1 มีนาคม 2564) ณ ใต้ถุนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การขีดเขียนบนผืนผ้าใบเชิงสัญลักษณ์ และร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านถังขยะสามถัง เสมือนสื่อขยะนั่นเอง

กิจกรรมได้เริ่มต้นในเวลาประมาณ 16.45 น. โดยนิสิตส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมมาจากนิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่าของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โมเดิร์นนิสต์ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนิสิตเก่าท่านหนึ่ง โดยเขาได้กล่าวว่า ตนเองเห็นพลังของเด็กรุ่นใหม่แล้วรู้สึกมีความหวังในการพัฒนาประเทศนี้ให้ดีขึ้น กลับกันกลับเสียใจที่ในรุ่นของตนแอง ด้วยสภาวะสังคมแต่นิสิตกลับนิ่งเฉย เลยอยากกลับไปแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นด้วย

ในระหว่างที่จัดกิจกรรมกันไป เราก็ได้พูดคุยกับ “แพรว” หนึ่งในภาคีนักเรียนสื่อที่ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแพรวได้แลกเปลี่ยนถึงความรู้สึกของสื่อในการนำเสนอข่าวการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แพรวได้ให้ความเห็นว่า โดยปกติแล้วสื่อก็ควรที่จะต้องมีวิจารณญาณในการนำเสนอ รวมไปถึงการใช้คำและท่าทางในการนำเสนอที่ไม่ชี้นำ แต่นำเสนอตามความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด ซึ่งการนำเสนอที่บิดเบือนย่อม่งผลในแง่ร้ายอย่างแน่นอน และควรมีมาตรฐานแบบนี้กับผู้ชุมนุมในทุกๆ กลุ่มด้วยเช่นกัน

แพรวยังกล่าวต่อด้วยว่าการแสดงออกทางประชาธิปไตยในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมามักจะมีความยากในตัวของเหตุการณ์อยู่เสมอๆ ซึ่งก็อาจมีความเสี่ยงที่ทำให้รัฐใช้กำลังกับประชาชนได้เช่นกัน สื่อจึงเป็นส่วนสำคัญไม่ใช่แค่เฉพาะการรายงานข่าว แต่รวมไปถึงการเปิดพื้นที่ตรงกลางให้สามารถเข้าไปร่วมพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ได้ด้วย เช่น รายการโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันแพรวยังเชื่อว่าสื่อโทรทัศน์ยังสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าด้วย แต่ต้องนำเสนอแบบไม่บิดเบือน ตามข้อเท็จจริงมากที่สุด

แพรวยังกล่าวด้วยว่าด้วยความที่ตนเองเสพทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อทางเลือก ทั้งสองสื่อมีความแตกต่างของทั้งกลุ่มเป้าหมายและการนำเสนอของสื่อเหมือนๆ กัน แพรวแนะนำว่าควรเสพทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก เนื่องจากแต่ละสื่อจะมีธรรมชาติของการผลิตคอนเทนต์ที่แตกต่างกันนั่น

แพรวทิ้งท้ายถึงการนำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ไปปรับใช้ในสนามจริง ซึ่งแพรวมองจากเหตุการณ์นี้ว่า น่าจะยังใช้ได้ เพราะว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่รู้และเรียนมาแล้วมันใช่ เช่น การรายงานข่าวในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แพรวรู้สึกว่าทุกคนน่าจะรู้ แต่ก็คงต้องมาบริหารการใช้คำตามประสบการณ์ ตามกาลเวลาที่เคยทำมา ซึ่งตัวแพรวก็ได้ยอมรับว่าก็ยังเรียนรู้อยู่ แต่ก็อยากจะทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อย ๆ เขาก็เชื่อว่าพี่ๆ หรือว่านักเรียนสื่อเอง ก็คงจะเรียนรู้อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมันก็มีทฤษฎีใหม่ๆ ไม่รู้จบมากมาย

หลังจากเราสัมภาษณ์จบและดำเนินกิจกรรมไปเรื่อย ๆ ก็ถึงช่วงเวลาที่สำคัญ ซึ่งแกนนำได้เอาผ้าใบที่ขีดเขียนไว้ 3 ผืนไปผูกบนสะพานลอยหน้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทางตำรวจได้เข้ามาเจรจา โดยแจ้งว่าต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตเสียก่อน มิเช่นนั้นจะจับกุมและปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ แต่ก็ได้มีการทำกิจกรรมจนจบในเวลา 18.30 น.โดยประมาณ

โดยแกนนำได้มีการอ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ประณามการคุกคามสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการชุมนุมโดยรัฐผ่านการใช้อำนาจอันมิชอบ มีเนื้อหาที่เรียกร้องไปยังรัฐบาลและองค์กรสื่อทุกแขนง ผ่าน 4 ข้อ คือ

  1. ขอให้รัฐยุติการกระทำใด ๆ ที่เป็นการคุกคามหรือบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยต้องเปิดให้สื่อมวลชนได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างอิสระ ไม่ปิดกั้นหรือจำกัดการรายงานสถานการณ์โดยผ่านการใช้กฎหมายหรืออำนาจที่มิชอบธรรม ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการกฎหมาย หรืออำนาจอันมิชอบใด ๆ ก็ตาม
  2. สื่อมวลชนต้องดำเนินการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามหลักจริยธรรมสื่อ คือการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือตกอยู่ในอิทธิพล การแทรกแซงใด ๆ ทางการเมือง กลุ่มทุน และกลุ่มกดดันทางสังคม ตลอดจนรายงานสถานการณ์อย่างเป็นภววิสัย ให้มีแหล่งข่าวรอบด้าน สมดุล นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและผ่านการตรวจสอบอย่างชัดเจนแล้ว ปราศจากอัตวิสัย รวมไปถึงไม่สอดแทรกความคิดเห็นลงไปในการรายงานข่าว ตลอดจนให้ความสำคัญกับการกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) และกรอบข่าว (News Framing) ที่ เป็นไปตามข้อเท็จจริง
  3. ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และองค์กรกำกับจริยธรรมสื่อที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแล ส่งเสริมและดำเนินการปฏิรูปสื่อโดยปราศจากการครอบงำ รวมไปถึงตรวจสอบการรายงานข่าวของสื่อมวลชนให้ไม่มีข่าวปลอม (Fake News) หรือประทุษวาจา (Hate Speech) เกิดขึ้นในเนื้อหาของการรายงานเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และให้คณะกรรมการ กสทช. แสดงจุดยืนในกรณีที่รัฐมีการใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนภายใต้พื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย
  4. ในกรณีที่สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงได้ไม่ว่าจะเกิดจากการถูกกดดัน แทรกแซง หรือละเลยการปฏิบัติงานตามกรอบจรรยาบรรณก็ตาม ขอให้อาจารย์ นิสิต นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน แสดงพลังแห่งการสื่อสาร ส่งต่อข้อเท็จจริงและข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชนด้วยตนเอง รวมไปถึงเรียกร้องให้รัฐฯ เปิดช่องทางให้สื่อๆ ได้ปฏิบัติงานอย่างอิสระตามที่ควรจะเป็นในสังคมที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อผดุงซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของอาชีพนักสื่อสารมวลชน

หลังจากแถลงการณ์จบก็ได้แยกย้ายในเวลา 18.45 น. โดยหลังจากนั้นโมเดิร์นนิสต์ก็ได้แลกเปลี่ยนกับนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงการมีอยู่ขององค์กรสมาคมสื่อว่ามีผลต่อการบิดเบี้ยวของสื่อไหม ซึ่งเขาได้แลกเปลี่ยนว่า “ก็คงมีผล เรารู้สึกว่ามันเป็นการตัดสินใจองค์กรนั้นได้ ในการร่วมกันของสื่อนั้นๆ ว่ามันสามารถจัดการได้ และก็รู้สึกว่าถ้ามันมีคอนเทนต์ที่มันช่วยตรงนี้ เราเชื่อว่าประชาชนพร้อมที่จะสนับสนุนว่าถ้าเขาเปิดเสรีภาพของสื่อให้มันกว้างมากขึ้น มันก็เหมือนเปิดเสรีภาพของประชาชน เปิดเสรีภาพทางความคิดของคนโดยที่ไม่ต้องมาตัดสินแทนประชาชนว่า ต้องเสพแบบนี้เท่านั้น ต้องรู้ด้านนี้เท่านั้น แต่มันควรเปิดกว้างมากกว่าเพราะว่า เราเชื่อว่าประชาชนพร้อมที่จะสนับสนุน พร้อมที่จะรับฟัง พร้อมที่จะวิเคราะห์ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องให้กลุ่มใดกลุ่มนึงหรือกลุ่มทุนมาคิดแทนว่าเราต้องดูอะไร เราต้องฟังอะไร”

3
ในสนามจริง สื่อโดนอะไรบ้าง?

ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สื่อมวลชนถูกตำรวจควบคุมฝูงชนคุกคามในการรายงานข่าว โดยโดนผลักให้ลงจากสะพานลอยและใช้คำหยาบคาย รวมไปถึงบใช้กำลังผลักสื่อเพื่อไม่ให้ถ่ายภาพในการรายงาน และทำการปิดสะพานลอยทันที หลังจากนั้นก็ได้มีการทำร้ายผู้สื่อข่าวที่มีปลอกแขนสื่อมวลชน จนทำให้สื่อต้องตะโกนว่าตนเองเป็นสื่อ จึงปล่อยไป

หลังจากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม 2564 จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ สื่อมวลชนอิสระได้นัดสื่อมวลชนที่ได้ลงพื้นที่ในการชุมนุมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชัน Clubhouse โดยมีสื่อมวลชนและประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนจำนวนมากกว่า 13,000 คน

สื่อมวลชนรายหนึ่งมีการพูดถึงว่ามีการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่การขอความร่วมมือในการส่งข้อมูลเพื่อการดำเนินคดี แต่แท้จริงแล้วเป็นการลบทิ้งเพื่อไม่ให้นำเสนอได้ ตลอดจนกำกับสื่อไม่ให้นำเสนอไปในทิศทางอื่น ซึ่งทำให้เสรีภาพถูกตัดขาด และในบางครั้งสื่อเองก็เซนเซอร์ตนเอง เพื่อป้องกันตัวเองในการที่จะถูกคุกคาม แต่นั่นส่งผลร้ายแรงต่อประชาชนที่รับข่าวสาร ทำให้ไม่สามารถรับข่าวตามข้อเท็จจริงได้ ในบางกรณีสื่อมวลชนยังโดนกันพื้นที่ไม่ให้เข้าไปทำข่าว ทำให้ไม่สามารถรายงานสถานการณ์ได้

ตัวแทนจากไทยรัฐออนไลน์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า “สื่อไม่ได้มีหน้าที่รับคำชม สื่อมีหน้าที่ที่ต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์และนำไปแก้ไขต่อไป” ในขณะเดียวกัน จอมขวัญก็ได้พูดเสริมว่า “พี่เชื่อว่าทุกคนคิดว่าอยากทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด แต่มันมีอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายผ่านตัวชิ้นงานได้ ซึ่งคนดูอาจจะไม่สามารถรับทราบได้ว่าสื่อแบกรับบางสิ่งบางอย่างไว้ด้นหลังอยู่”

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ จาก VoiceTV กล่าวว่า ความอันตรายจากการเซนเซอร์ของสื่อที่ถูกทำให้สารของผู้ชุมนุมหายไป และเกิดการปิดล้อมพื้นที่สื่อให้เป็นเพียงงานหนึ่งแต่ไม่สามารถส่งสารแก่ผู้ชุมนุมได้  ซึ่งหลายสื่อขาดใจความสำคัญของข่าวว่าทำไมถึงออกมาชุมนุมกัน จึงทำให้เกิดความบิดเบี้ยวไปมาก และผู้สื่อข่าวหลายสังกัดก็มักจะโดนกดดันจากต้นสังกัด ทำให้ไม่สามารถสื่อสารประเด็นนั้นๆ ได้ตรงไปตรงมาอีกด้วย

ทีมงานโมเดิร์นนิสต์ได้มีโอกาสฟังและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ค้นพบว่า หน่วยงานกำกับอย่าง กสทช. มีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มีมาตรา 37 ซึ่งถืว่าเป็นมาตราครอบจักรวาลที่ควบคุมสื่อ โดยมีเนื้อหาในการห้ามไม่ให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาล้มล้างการปกครองฯ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้สื่อเลือกที่จะเซนเซอร์ตนเองแทนนั่นเอง

สิ่งที่น่าเศร้าคือ หลังจากการฟังห้อง Clubhouse เราไม่สามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของสื่อได้เลย กลับกันเราก็ค้นพบว่าปัญหาที่แท้จริงคือหน่วยงานของรัฐที่จำกัดเสรีภาพ และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ก็พากันนิ่งเฉยต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ฉะนั้นสื่อก็ต้องจำเป็นที่ต้องยกเพดานการนำเสนอของตนให้สูงขึ้น และใช้ตามหลักการนำเสนอของสื่อตามวิชาชีพ ตามจรรยาบรรณ เพื่อทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้นนั่นเอง

เพราะสื่อมวลชน คือกระจกสะท้อนสังคมที่ดีนั่นเอง…

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า