fbpx

‘จะสร้างนายเป็นชายแท้’ เมื่อเพศชายกลายเป็นคำด่า เหมือนอย่างที่เพศอื่นโดนมาตลอด

สัปดาห์ก่อนเราได้เห็นข่าวคู่รักแตกหักกันเพราะฝ่ายชายนอกใจไปมีอะไรกับคนอื่น ซ้ำยังแอบถอดถุงยางระหว่างมีเซ็กซ์ และนำโรคติดต่อจากคนอื่นมาให้กับแฟนสาว ที่ผู้ติดตามประเด็นนี้จะถกเถียงกันในแฮชแท็ก #แพทริคอนันดา 

นอกจากนี้ก็มีข่าวที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันอย่าง #ตงตงเบส เมื่อพ่อของฝ่ายหญิงออกมาชี้แจงว่าเคยเห็นแฟนของลูกง้างมือจะทำร้ายร่างกาย มีพฤติกรรมนอกใจ และอาศัยอยู่บ้านของฝ่ายหญิงโดยไม่ช่วยออกค่าใช้จ่ายภายในบ้าน 

ตีคู่มากับข่าวการวิพากษ์วิจารณ์นักแสดงซีรีส์วาย ที่ถูกกล่าวหาว่าเคยทำร้ายร่างกาย นอกใจแฟน เคยมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศผู้หญิงผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เรื่องนี้กำลังอยู่ในชั้นศาลและพูดคุยกันผ่านแท็ก #บิวกลับมาทำไม หรือข่าวที่ว่านักแสดงซีรีส์วายอีกรายหนึ่ง เคยรังแกเพื่อนร่วมชั้นที่มีอาการออทิสติกก่อนจะมีชื่อเสียง ในแท็ก #โอมภวัตออกมาพูดเถอะ

ไม่กี่วันก่อนเราเห็นข่าว #มินตัน ไอดอลสาวถูกผู้ชายคนหนึ่งสะกดรอยตาม คอยตามติดชีวิตยิ่งกว่ากล้องวงจรปิดนานถึง 2 ปี มิหนำซ้ำยังส่งคลิปช่วยตัวเองมาให้เรื่อยๆ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือกระบวนการยุติธรรมไทย กลับไม่สามารถหยุดพฤติกรรมน่ารังเกียจของชายคนดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ข่าวติ๊กต๊อกเกอร์ชายรายหนึ่งจากแฮชแท็ก #tndtleทำร้ายผู้หญิง ซึ่งมีฉากหน้าเป็นหนุ่มโรแมนติก หนุ่มเล่นดนตรีดูนิสัยดี แต่อีกมุมหนึ่งกลับกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกายแฟนสาวของตัวเอง

รวมถึงข่าวแฟนเก่าบ้าอำนาจ คลั่งระบบทหารและชอบสะสมอาวุธปืน บุกไปที่พักของแฟนเก่าแล้วใช้ปืนยิงฝ่ายหญิงเสียชีวิต ก่อนหนีความผิดด้วยการฆ่าตัวตายตาม จากแฮชแท็ก #เรื่องของจี้ และ #จีจี้สุพิชชา 

แต่ละวันเราได้เห็นความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้เคราะห์ร้ายหรือเหยื่อมักเป็นคนใกล้ชิดกับผู้ก่อเหตุ มีสถานะเป็นแฟน เป็นคนรักเก่า และประเด็นเหล่านี้มีความเหมือนกันอยู่หลายอย่างคือ ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ก่อเหตุเป็นเพศชาย และเหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้ายคือเพศหญิง

แม้ว่าบางคดีหรือข้อกล่าวหาบางอย่างจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่ด้วยจุดร่วมที่ว่านี้ การวิจารณ์ถึงพฤติกรรมรุนแรงของคนเหล่านี้จึงเกิดขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ จนมีการนำคำว่า ‘ชายแท้’ มาใช้เรียกผู้ที่มีพฤติกรรมร่วมบางอย่าง ที่บางคนไม่พอใจกับการใช้คำคำนี้ ทำให้ประเด็นลุกลามยังกลุ่มคนอื่นๆ เช่น เฟมินิสต์ เฟมทวิต แมนมินิสต์ ไปจนถึงการถกเถียงกันเรื่องสังคมไทยที่อุดมด้วยผู้สมาทานแนวคิดปิตาธิปไตยขั้นรุนแรง 

ตกลงแล้วชายแท้คืออะไร ทำไมบางคนถึงโกรธแค้นกับการใช้คำคำนี้?

เมื่อเพศหญิงและเพศหลากหลาย ถูกใช้เป็นคำด่ามาหลายยุคหลายสมัย

‘งอแง ขี้งอน เจ้าอารมณ์เหมือนผู้หญิง’

‘ขับรถแย่แบบนี้ผู้หญิงขับแน่ๆ’

‘เราเข้าใจที่เธอเล่นเกมไม่เก่ง ก็เธอเป็นผู้หญิง’

‘สันดานแบบนี้มึงไปเอากระโปรงมาใส่เลย’

‘อีพวกเฟมทวิต น่าขยะแขยง พวกประสาทแดก’

‘อย่าหน้าตัวเมีย มาคุยแบบเปิดอกแมนๆ เถอะ’

ประโยคเหล่านี้เราสามารถพบเจอได้แทบทุกวันตามบทสนทนาต่างๆ ผู้พูดอาจตั้งใจใช้เสียดสีตามความหมายหรือใช้โดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มองว่าประโยคดังกล่าวจะร้ายแรงอะไรมากมาย และด้วยความไม่คิดอะไรนี่แหละที่พิสูจน์ให้เห็นว่าในหลายบริบท ‘เพศหญิง’ ได้กลายเป็นคำเหยียด คำด่าทอเสียดสีเพื่อลดทอนคุณค่าของอีกฝ่ายมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว

ไม่ใช่แค่คำเหยียดที่เจอกันทั่วไปในสังคม เรายังเคยชินกับคำสอนต่างๆ จากหน้าหนังสือเรียน คำสอนจากคนรุ่นเก่า เช่น มีลูกสาวเหมือนมีส้วมไว้หน้าบ้าน เป็นสตรีต้องรักนวลสงวนตัว และประโยคที่ใช้แสดงความเป็นห่วงเพศหญิงอื่นๆ ทั้ง 

‘อย่าใส่กระโปรงสั้น อย่าแต่งตัวโป๊ เพราะเดี๋ยวจะโดนมอง’

‘อย่ากลับบ้านดึกดื่น เดี๋ยวจะโดนทำมิดีมิร้าย’

‘อย่าอวดรู้อวดฉลาดเกินไป เดี๋ยวไม่มีใครเอา’

‘แม่และเมียที่ดีจะต้องทำงานบ้าน ทำกับข้าวเก่งตามแบบฉบับแม่ศรีเรือน ดูแลลูกผัว ตื่นก่อนนอนทีหลัง’

เมื่อต้องเติบโตมากับอะไรแบบนี้ที่รายล้อมอยู่รอบตัว เราจึงเกิดข้อสงสัยว่าทำไมสังคมถึงคอยย้ำเตือนผู้หญิงเสมอมา แต่กลับไม่ค่อยพูดถึงต้นเหตุของการเตือนสักเท่าไร เช่น ทำไมถึงไม่เตือนให้ผู้ชายมีมารยาทพื้นฐานกับผู้หญิงที่ใส่กระโปรงสั้น หรือเตือนไม่ให้ผู้ชายจ้องมองหน้าอกผู้หญิง

ทำไมถึงไม่สอนผู้ชายว่าอย่าทำมิดีมิร้ายผู้หญิงที่กำลังเดินกลับบ้านในซอยเปลี่ยว เพราะมันคือการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น หรือตั้งคำถามว่าทำไมผู้ชายบางคนจึงรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจ หากผู้หญิงบางคนมีความเฉลียวฉลาดในบางเรื่องมากกว่าตัวเอง รวมถึงคำถามที่ว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ฝ่ายชายและหญิงหลายครอบครัวต้องทำงานหาเงินด้วยกันทั้งคู่ แต่ทำไมผู้หญิงต้องเป็นแม่และเมียที่ดีอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งที่ในความสัมพันธ์ที่ดี ผู้ชายก็ต้องเป็นผัวและพ่อที่ดีด้วยเหมือนกัน

หากสังคมเริ่มมองอีกมุมมองหนึ่ง จากเดิมที่เอาแต่ย้ำเตือนให้ผู้หญิงคนหนึ่งระมัดระวังตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราคงโชคดีที่ผู้หญิงคนนั้นปลอดภัยเพราะทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด แต่ถ้าสังคมเริ่มสอนเพศชายในประเด็นเดียวกันมากขึ้นว่าควรมองผู้หญิงและเพศอื่นๆ เป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีสิทธิในเรือนร่าง มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน เหยื่อความรุนแรงทางเพศอาจลดลงได้มากกว่าการปลูกฝังคำสอนแบบเดิม

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อมองข้ามประเด็นความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและหญิง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) มักถูกนำตัวตนและอัตลักษณ์มาใช้ในการดูถูกเสียดสีไม่ต่างจากเพศหญิง

‘ไอ้ใจตุ๊ด พวกขี้ป๊อด’

‘ตุ้งติ้งมาก มึงเป็นกะเทยเหรอ น่ากลัวว่ะ’

‘ทอมฮะหัวไก่ขี้แอค เดี๋ยวมึงเจอของจริง’

ตัวอย่างประโยคทั้งหมดที่ยกมาเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเคยพบเจอจริง อาจมีบางคนคัดค้านขึ้นมาว่า ‘ไม่จริง เราไม่เคยเจอการหยิบเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นคำด่าเลย’ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการนำเพศมาลดทอนคนอื่นไม่เคยเกิดขึ้นจริงในสังคม 

เมื่อเพศชายกลายเป็นคำด่า เหมือนอย่างที่เพศอื่นได้รับมาตลอด

ตอนนี้ไม่ได้มีแค่การนำอัตลักษณ์เพศหญิงหรือ LGBTQIA+ มาใช้เป็นคำด่าอีกต่อไป เพราะเพศชายก็ถูกดึงเอาอัตลักษณ์หรือ ‘จุดร่วมบางอย่าง’ มาใช้เป็นคำดูถูกเหยียดหยามอย่างที่เพศอื่นๆ เจอแล้ว นั่นคือคำว่า ‘ชายแท้’

แม้ว่าหลายคนจะมองว่าคำว่า ‘ชายแท้’ ไม่ได้มีความหมายเชิงลบรุนแรงอย่างที่สังคมกำลังถกเถียง แต่มองว่าเป็นคำที่นิยามถึงผู้ชายที่นิสัยแบบผู้ช๊ายผู้ชาย ต้องเป็นผู้นำในสถาบันต่างๆ เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน มีนิสัยเจ้าชู้ พูดจาโผงผาง จะไม่แสดงความอ่อนแอ จะต้องไม่ร้องไห้ แต่ไม่ได้มีพฤติกรรมรุนแรงต่อคนอื่นๆ เหมือนอย่างกลุ่มชายแท้ตามหน้าข่าว 

หากยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองเปลี่ยนจากคำว่าชายแท้เป็นคำว่า ‘แมน’ ก็อาจทำให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อมากขึ้น เพราะแต่เดิมคำว่าแมนมักถูกนำมาใช้พิสูจน์ว่าผู้ชายคนไหนเป็นชายที่แท้จริงตามขนบค่านิยมบางอย่างที่สร้างมานานหลายสิบหลายร้อยปี เช่น

‘แมนๆ เตะบอล’

‘มึงแมนปะเนี่ย’

‘มึงมันไม่แมน’ 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน คำว่าแมนที่ใช้เชิงบวกเพื่อตอกย้ำให้ผู้ชายในสังคมควรจะมีพฤติกรรมและทัศนคติแบบหนึ่ง กลายเป็นการสร้างคำว่า ‘ชายแท้’ ขึ้นมาเพื่อนิยามถึงกลุ่มคนที่มีความเป็นชายมากเกินจนเป็นอันตราย โดยเฉพาะจากความรุนแรงที่ปรากฏในหน้าข่าว

ชายแท้ไม่ได้หมายถึงบุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศชาย แต่หมายถึงบุคคลที่มีบุคลิก ลักษณะนิสัย และมีทัศนคติที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดปิตาธิปไตยแบบรุนแรง มีแนวโน้มเหยียดเพศ มีแนวคิดต่อต้านเฟมินิสต์ (แอนไทเฟม) ผู้กระทำความรุนแรงกับเพศอื่นๆ มักจะมองว่าเพศชายเป็นเพศที่มีความสำคัญมากที่สุดในสังคม จะต้องอยู่เหนือกว่าเพศอื่นในทุกเรื่อง เมื่อแนวคิดเหล่านี้รวมกันทำให้คนคนหนึ่งมีแนวโน้มเผยพฤติกรรมคุกคามผู้อื่นจนเป็นอันตราย

จึงอนุมานได้ว่าคำดังกล่าวไม่ได้หมายถึงแค่เพศชายเท่านั้น แต่หมายถึงคนเพศใดก็ได้ที่มีแนวคิดตรงตามตัวอย่างที่ยกมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าชายแท้มีความหมายเท่ากับความเป็นชายที่เป็นพิษ (toxic masculinity) ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

ดังนั้นชายแท้จึงมีหลายความหมาย แตกต่างตามความเข้าใจของแต่ละสังคม แต่ถ้ามองความหมายใหม่ คำว่าชายแท้กลายเป็นมูฟเมนต์ที่มีความหมายเชิงลบในตัวมันเอง ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคม

อย่างไรก็ตาม การนำคำว่าชายแท้มาเป็นคำด่า ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางส่วนมองว่าประเด็นนี้ต้องแก้จากจุดเริ่มต้นเช่นกัน หากในอดีตมีการนำอัตลักษณ์ของเพศหญิงและเพศอื่นๆ มาเป็นคำด่า ก็ควรรณรงค์ให้เลิกใช้คำแบบนี้ เพราะแสดงให้เห็นถึงความล้าสมัยและแนวคิดเหยียดเพศของผู้พูด ซึ่งการนำเพศที่ยังไม่เคยมีคำด่าจริงจังอย่างเพศชายมาเป็นคำด่าว่าชายแท้ ไม่ได้ทำให้สังคมพัฒนาจากจุดเดิม ซ้ำยังสร้างความขัดแย้งระหว่างเพศให้รุนแรงมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน คนอีกส่วนหนึ่งมองต่างออกไป เพราะชายแท้ หน้าตัวเมีย ใจตุ๊ด หรือคำด่าอื่นๆ ที่มีอัตลักษณ์และมีเพศมาร่วมด้วย มีสิ่งเหมือนกันคือการด่าแบบเหมารวม ลดทอนแบบเหมารวม ที่บางคนอาจเลิกใช้คำพวกนี้ด่าคนอื่นได้จริง แต่ด้วยความแตกต่างทางความคิดของมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลาย สุดท้ายก็ยังมีคนนำคำพวกนี้มาด่ากันเหมือนเดิมอยู่ดี การที่ทุกเพศต่างถูกนำมาใช้ในบริบทเชิงลบ คงไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเท่าไรนัก อย่างที่บางความคิดเห็นมองว่า ต่อให้ผู้หญิงหรือกะเทยเลิกด่าคนว่าชายแท้ แต่บางคนก็ไม่มีวันเลิกด่าคนอื่นว่าอีตุ๊ด อีหน้าตัวเมียได้อยู่ดี

มิหนำซ้ำยังเกิดการตั้งคำถามซ้ำว่า ถ้าบุคคลนั้นๆ ไม่ได้มีพฤติกรรมแบบที่ว่ามา ทำไมถึงจะต้องรู้สึกโกรธเคืองถ้าสังคมจะใช้คำนี้เป็นคำด่า หรือเพราะโกรธแค่ว่าคำที่ว่านี้มี ‘ชาย’ ผสมอยู่ด้วย?

ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ทำไม ‘ความเป็นชาย’ ถึงได้ดูสำคัญยิ่งใหญ่และต้องยึดถือให้เป็นเชิงบวกขนาดนั้น? 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า