fbpx

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : เมื่อสังคมสงเคราะห์ไม่ช่วยอะไร รัฐสวัสดิการจึงสำคัญในชีวิตของคนไทยทุกคน

ในช่วงเวลาหลายปีดีดักที่ผ่านมา เรามักจะได้เห็นการถกเถียงของบรรดาเหล่านักเล่นสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ถึงความช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือแม้กระทั่งประเด็นด้านการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ของพิมรี่พาย YouTuber ชื่อดังในโลกออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของหลายคน หลายแวดวงมากๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากปากคนรอบข้างหลายคน คือการตอบโจทย์ของรัฐแบบสังคมสงเคราะห์ไม่ได้แก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างทางสังคมมากเท่าการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” วันนี้ผมจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ ภาควิชาปรัชญา, การเมือง และเศรษฐศาสตร์ และยังเคยเป็นผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เฉกเช่นเดียวกับผมด้วย เราจะมานั่งคุยในประเด็นรัฐสวัสดิการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ความสำคัญ และปัญหาในเชิงเกษตรกรในพื้นที่กันครับ

รัฐสวัสดิการทำให้คนวางแผนชีวิตได้ในระยะยาว

อาจารย์ษัษฐรัมย์ กล่าวกับผมว่า “รัฐสวัสดิการมันเป็นเรื่องที่พื้นฐานมากที่สุด มันสามารถทำให้คนวางแผนชีวิตได้ สามารถที่จะล้มเหลวได้ สามารถเริ่มอะไรใหม่ได้ เรื่องนี้เป็นกุญแจสำคัญสำหรับปัจเจกชนหนึ่งคนที่จะประสบความสำเร็จ คือคุณได้ลองผิดลองถูก แต่ในประเทศไทยคนที่ทำแบบนี้ได้คือคนที่มีชีวิตที่ปลอดภัยอยู่แล้ว เช่นคุณเกิดมาพ่อแม่มีทุนทรัพย์ก็สามารถลองผิดลองถูกได้ ก็สามารถเลือกอาชีพที่คุณชอบได้ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศทำแบบนั้นไม่ได้เลย เพียงแค่ว่าไม่มีอะไรซับซ้อน พ่อแม่เป็นหนี้จากการเลี้ยงคุณ จากการผ่อนบ้าน หรือว่าพ่อแม่ต้องออกจากงานเพราะป่วย หรือกระทั่งตัวคุณเองที่เจ็บป่วยทำให้ไม่มาสามารถเลือกงานที่เราชอบได้ หรือว่าคิดเรื่องการคุ้มทุนจากการที่ลงทุนต่าง ๆ อะไรไปมากมาย นี่แหละครับผลจากการไม่มีรัฐสวัสดิการพื้นฐาน”

ประชาธิปไตยต้องมี รัฐสวัสดิการจึงเกิดขึ้นได้

“ผมว่ามันก็เกี่ยวข้องด้วยนะเรื่องของรัฐสวัสดิการ มันเกี่ยวกับการเมืองมาก เพราะว่ามันเกิดจากการที่ว่าคุณนิยามว่าคนมันเท่ากันไหม? ถ้าคิดว่าคนไม่เท่ากัน ก็จะออกนโยบายอีกแบบหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยปกครองระบอบเผด็จการมานาน อย่าง ณ ตอนนี้ก็สืบทอดอำนาจมา 6-7 ปีแล้ว ยังไม่รวมที่มีรัฐประหารทุก 7-8 ปีอีก พออำนาจเผด็จการเยอะ รัฐสวัสดิการก็จะเป็นการสงเคราะห์ เป็นการโยนเศษเนื้อให้ มันก็จะมองคนไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างคนละครึ่ง หรือว่าเที่ยวด้วยกัน นโยบายของรัฐมันก็มาจากการที่รัฐมองว่าคนมันต้องได้แค่นี้ ได้แค่นี้ก็พอ ได้เยอะไปเดี๋ยวคนจะขี้เกียจอะไรแบบนี้ ผมคิดว่าเรื่องการเมืองเกี่ยวข้องกับระบบรัฐสวัสดิการแน่นอน เพราะมันเกิดจากการนิยามว่าคนเท่ากันไหมในสายตาคนกำหนดนโยบาย”

เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น เพราะรัฐไม่เคยช่วยถูกจุด

“ชีวิตเกษตรกรมันก็ดีขึ้นจากเงื่อนไขการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยภาพรวมคือมันคงดีกว่ายุคไพร่ทาสหรือว่าเมื่อ 60-70 ปีก่อนที่เรายังใช้ควายไถนามันก็คงดีขึ้น เมื่อสภาพที่เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยง ผมว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มที่แบกรับความเสี่ยงมาก โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ และก็รายได้น้อยเทียบกับอาชีพอื่นๆ เป็นกลุ่มแรงงานอิสระ ไม่มีประกันสังคม ไม่สามารถเข้าถึงการออมได้ รวมถึงไม่สามารถวางแผนรายได้ของตัวเองได้ กลุ่มนี้ถือว่า ณ ปัจจุบัน ผมใช้คำว่าเป็นแรงงานเสี่ยง คือเป็นผู้ใช้แรงงานที่แบกรับความเสี่ยงทุกอย่างเลย เพราะฉะนั้นผมมองว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางสูงมาก ที่มีกลุ่มทุนที่มั่งคั่งจากธุรกิจการเกษตร ที่เกี่ยวข้องจากการเกษตรกรส่วนมากแบกรับความเสี่ยงภาพแบบนี้”

รัฐสวัสดิการช่วยเกษตรกรได้ตรงจุดจริง?

“รัฐสวัสดิการจะช่วย ลำดับแรกคือช่วยลดความเสี่ยงในชีวิตเขา คือไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล การเลี้ยงดูเด็ก หรือแม้แต่การส่งลูกเรียนต่อการศึกษาระดับสูงซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของประชาชนประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ และเขาก็จะเป็นหนี้ด้วยเงื่อนไขจากพวกนี้นี่เอง ผมว่าช่วยได้แบบเห็นได้ชัดเป็น Direct cash transfer ที่เห็น แต่ส่วนที่ช่วยได้มากกว่านี้ก็คือการที่ทำให้คนสามารถเริ่มอาชีพ แม้กระทั่งอย่างพืชที่ปลูก การเปลี่ยนแนวทางการลงทุนอยู่ในสภาวะที่มันปลอดภัย เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย แต่ถ้าคุณอยู่ในสภาวะที่เสี่ยง คุณก็ต้องปลูกพืชที่มีนายทุนมารับซื้อซ้ำ ๆ ยอมขาดทุน ยอมอยู่ในวังวนแบบนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนได้ อันนี้จะเป็นผลทางอ้อมที่เกิดขึ้น”

เกษตรกรดีขึ้น ผู้บริโภคก็ได้ผลตอบรับที่ดีขึ้นตามไปด้วย

“ผมคิดว่าด้านหนึ่ง เราเป็นครัวของโลกนี้นะ จริง ๆ แล้วพอมาเปรียบเทียบกับอาหารที่คนไทยส่วนมากกิน มันแย่ มันผ่าน supply chain ที่มันเยอะ แย่ และก็แพง คนที่มีปัญหาสุขภาพด้านหนึ่งก็คือคนที่รายได้น้อย เลือกกินไม่ได้ ผมว่าถ้าคุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ทำให้เขาติดต่อกับผู้บริโภคดีขึ้น supply chain สั้นลง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่ดีและก็ราคาเข้าถึงได้ สิ่งเหล่านี้ก็เกี่ยวข้องเรื่องสุขภาพของคนภาพใหญ่ที่ได้ ผมคิดว่ายังมีภาพรวมที่เกษตรกรที่เป็นอาชีพแม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว 8 ล้านคนยังอยู่ในแรงงานอิสระอยู่ ผมเชื่อว่าถ้าอาชีพนี้มั่นคง เศรษฐกิจในภาพใหญ่จะดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุน”

รัฐสวัสดิการเป็นไปได้จริง

“คนส่วนมากก็จะติดกับกับความเป็นไม่ได้ใช่ไหมครับ ว่าต้องให้ประเทศไทยรวยก่อนหรือต้องไปสู้ประชาธิปไตยให้เต็มขั้นก่อนจะโยงว่ามันคือเรื่องเดียวกัน ประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ ความเสมอภาค คือรถไฟขบวนเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าให้ผมบอกสามารถเกิดขึ้นในวันนี้พรุ่งนี้ ผมว่ามันไม่ง่ายและไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ผมไม่สามารถบอกได้ว่ากี่วันกี่เดือน เพราะว่ากระแสการต่อสู้การยกระดับมันเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้กระทั่งวันนี้เรายังเห็นขบวนการคนรุ่นใหม่พูดถึงเรื่องสังคมนิยมมากขึ้น ความเสมอภาค รัฐสวัสดิการ เราเห็นว่าแม้แต่การชูคอมมิวนิสต์ของเยาวชนปลดแอก ทำให้คนที่เป็นเสรีนิยมเฉย ๆ เข้ามาเป็นรัฐสวัสดิการว่าฉันจะเอาแค่นี้ ฉันจะเอาตรงนี้ ผมว่ากระแสมันเติบโตขึ้นทุกวัน”

แน่นอนว่าคงไม่มีใครตอบได้ว่ารัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนว่าการมีรัฐสวัสดิการจะช่วยตอบโจทย์ให้กับคนทุกคนได้ ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในอำเภอไหน จังหวัดใด ทำอาชีพอะไร หรืออยู่ในสถานะแรงงานอิสระหรือไม่? เขาสามารถทำตามความฝันที่ตนเองอยากไว้ได้ ไม่ต้องคอยพึ่งพิงหรือทำตามสิ่งที่ตนเองไม่ได้ฝันไว้ได้นั่นเองครับ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า