fbpx

เวฟ-วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ และ MITTE MITTE ที่อยากพัฒนาช้างม่อยให้ไปถึงจุดที่หวังไว้

MITTE MITTE (มิทเทอ มิทเทอ) คือ Brunch Cafe ย่านช้างม่อยที่สร้างขึ้นจากบ้านในความทรงจำวัยเด็กของเวฟ-วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ มีจุดชูโรงคือการนำเสนอวัฒนธรรมตะวันออกกับวัฒนธรรมตะวันตกที่ผสมผสานกันผ่านเมนูร่วมสมัย และยังเป็นสถานที่เชื่อมโยงผู้คนกับชุมชนเข้าด้วยกัน

ซึ่งก่อนที่เวฟจะมาทำร้านนี้ที่เชียงใหม่นั้น เขาได้รู้จักกับผู้คนที่ขับเคลื่อนสังคมในรูปแบบต่างๆ เมื่อรวมกับการได้พบกับกลุ่มนักพัฒนาเมืองที่มาเป็นลูกค้าของร้าน ทำให้เวฟตัดสินใจเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะพัฒนาชุมชนที่อาศัยอยู่นั้นให้ไปถึง ‘อุดมคติ’ ที่วาดหวังไว้ และยังร่วมทำโปรเจกต์กับเพื่อนพ้องนักกิจกรรมที่รู้จักกันก่อนหน้า โดยมีชุมชนช้างม่อยเป็นหลักสำคัญ

อุดมคติที่เวฟวาดหวังไว้นั้นคืออะไร สิ่งใดบ้างที่เวฟต้องการจะบอกเรา และประสบการณ์ที่ผ่านมาของเวฟนั้นทำให้เขามองเชียงใหม่เป็นอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา

นั่งรอสักประเดี๋ยว รอช้างม่อยคัตสึมาเสิร์ฟ แล้วฟังเรื่องราวของเขาไปด้วยกัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

1
“เชียงใหม่” ในมุมมองของเวฟ

คิดว่าตัวเองเป็นคนเชียงใหม่จริงหรือคนเชียงใหม่ปลอม

ผมอาจจะมองว่าเป็นคนเชียงใหม่ปลอมได้ เพราะว่าจริงๆ ไม่ได้เกิดเชียงใหม่ แต่ว่ามาโตที่เชียงใหม่น่ะครับ คุณแม่เป็นคนกรุงเทพอะไรแบบนี้เนาะ เหมือนอายุประมาณ 1 ขวบค่อยย้ายกลับมาเชียงใหม่ ก็ใช้ชีวิตวัยเด็กที่นี่ที่บ้านตรงนี้เลยครับ อยู่ที่ MITTE MITTE มาตลอด จนถึงม.ปลายไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ใช้ชีวิตมหา’ลัยที่กรุงเทพฯ เลย หลังจากนั้นค่อยกลับมาอยู่เชียงใหม่แบบอยู่จริงๆ หลังจากทำงานได้ประมาณ 4 ปีที่กรุงเทพฯ

ในฐานะคนเชียงใหม่ คุณเห็นอะไรในบ้านนี้เมืองนี้บ้าง

เรารู้สึกว่า Taste มัน Slow แล้วก็อะไรต่างๆ มันมีมายาคติของความเป็นเชียงใหม่ที่เราไม่ได้ชอบ ซึ่งอาจจะติดมาจากการที่เราไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วเราได้รับ Energy แบบกรุงเทพฯ Energy แบบเมืองใหญ่แบบนี้น่ะครับผม เรื่องของทัศนคติของคนที่แบบว่า เฮ้ย มันต้องชิลๆ สิ แบบนี้มันหยวนๆ กันได้ หรืออะไรประมาณนี้ 

อาจจะเป็นเพราะ Energy ของเมือง หรืออาจจะเป็นเพราะความช้าของเมืองด้วย หรือจริงๆ ผมว่ามันอาจจะไม่ใช่ตัว Physical ของเมืองจริงๆ อะ มันเป็นเหมือนมายาคติที่รัฐหรือสื่ออะไรต่างๆ มองเชียงใหม่ว่า เชียงใหม่มันต้องเป็น Slow เชียงใหม่มันต้องคนละ Energy กับกรุงเทพฯ มันเร็วเท่ากรุงเทพฯ ไม่ได้อะไรประมาณนี้ครับ

พอกลับมาอยู่บ้านแล้วก็ก่อนจะออกไปเรียน ม.ปลายที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นเชียงใหม่มันเป็นเมืองแบบไหน 

ถ้าถามช่วงนั้นใช่ไหมครับ คือเราไม่รู้ว่ามันเป็นเมืองที่แตกต่างยังไง เพราะว่าชีวิตวัยเด็กของเราตรงนี้ อันนี้คือโลกของเราน่ะครับ เชียงใหม่มันเป็นอย่างนี้ เราอาจจะไปกรุงเทพฯ บ้าง ไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง แต่ในมุมของการไปเที่ยว เราก็ Assume ว่าเมืองต่างๆ มัน Energy เหมือนเรา มันมีวิถีชีวิตประจำวันเหมือนกับเรา อาจจะมีสิ่งที่แตกต่างบ้าง เช่น เราเห็นญาติเราบอกว่าต้องกินข้าวในรถเวลาไปกรุงเทพฯ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าความแตกต่างระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ หรือว่าที่อื่นมันต่างกันขนาดนั้นน่ะครับ มุมมองของเชียงใหม่ตอนนั้นก็คือเหมือนเป็นโลกของเรานั่นแหละ 

2
วิศวะที่ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก

ณ ตอนนั้นโลกของการเรียนวิศวะเป็นยังไง คุณเจออะไร 

อันแรกผมอยากเล่าเรื่องก่อน คือผมจบวิศวะมาเนาะ เหมือนที่บ้านทำรับเหมาก่อสร้างแล้วพ่อก็จบวิศวะมา แล้วเราก็โอเคกับเรื่องของคณิตศาสตร์ คือไม่ได้ค้นหาตัวเองอะไรมาก แล้วก็ที่โรงเรียนเขาก็ไม่ได้มีช่องว่าง มี gap ให้ค้นหาตัวเอง เราก็เลยเลือกวิศวะโดยที่ไม่รู้สึกอะไรมาก

ผมเรียนวิศวะสาขานาโนเทคโนโลยีครับ มันก็จะค่อนข้างต่างจากที่วิศวะทั่วไปเหมือนกัน เป็นเทคโนโลยีใหม่ มันเป็น Buzzword ในช่วงนั้น พูดง่ายๆ สมัยนั้นน่ะครับ นาโนเทคโนโลยีเหมือน Cryptocurrency ประมาณนั้นเลยครับ ทุกคนก็บอกว่าเป็นอนาคต แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

สังคมตอนนั้นน่ะผมคิดว่าคนที่ไปเรียนก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรเหมือนกัน อาจจะเป็นสาขาที่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่เราคิดว่ามันคืออนาคต ก็ใช้เวลาอยู่ตรงนั้น เพราะว่าพอหลายปีผ่านไป สิ่งที่เป็นข้อพิสูจน์คือภาคผมคนที่ทำงานตรงสายมีแค่คนเดียวตอนนี้ คนอื่นไปสายอื่นหมด มันก็เหมือนเป็นโอกาสด้วย แล้วก็แบบอะไรต่างๆ ด้วยน่ะครับ

สรุปไปเรียนแล้วชอบ-ไม่ชอบ ใช่-ไม่ใช่อย่างไร

ผมคิดว่าไม่ใช่ครับ (หัวเราะ) มันเหมือนกับว่าเราไม่ใช่เพราะว่าเราไม่ได้ค้นหาตัวตน คือเราไม่ได้เรียนตรงนั้นแล้วรู้สึกว่าเราเข้าใจตัวตนมากขึ้น หรือว่าเข้าใจสิ่งที่เราอยากทำมากขึ้นประมาณนี้ครับ แต่ว่ามันก็ได้เชิง Basic ได้เชิงวิธีคิดอะไรมา ได้ความคุ้นเคย ได้คำศัพท์ใหม่

3
งานที่ทำให้กลายเป็น “คนกรุงเทพฯ”

พอเรียนจบไป เส้นทางการทำงานหลังจากนั้นเป็นยังไงต่อ

ผมโชคดีนิดนึงที่ว่าพอจบใหม่ปุ๊บไม่ได้หางานทำขนาดนั้น มีคนรู้จักของอาจารย์เขาแนะนำให้ไปทำงานเป็นบริษัทเชิงสตูดิโอเล็กๆ ที่ทำเกี่ยวกับออกแบบอุปกรณ์การแพทย์ เจ้านายเป็นคนอเมริกัน ก็อยู่เป็นแล็บ เป็นสตูดิโออยู่ใน ม.รังสิต เพราะว่าเจ้านายสังกัดอยู่ที่นั่นน่ะครับ แล้วก็ทำสตูดิโอแยกมารับงานพวกออกแบบอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งโอเคมันก็ Engineer ระดับนึง แต่ที่ผมเข้าไปผมไปทำในด้านของ Design Research น่ะครับ

เป็นงานที่ชอบไหม

ผมคิดว่าตรงนั้นเป็นงานที่ชอบ แล้วแบบ First Job ซึ่ง First Job ของผมมันเป็นงานที่ส่งผลของผมถึงทุกวันนี้จริงๆ น่ะครับ

ที่เราชอบเพราะว่าเราได้ทำตั้งแต่ Bottoms Up มา เราได้ไปคุยกับคน เราได้ Design Questionare เราได้เหมือนคิดว่ามีโจทย์อันหนึ่งอยู่ที่คำตอบมันฝังอยู่ในคน และไม่ได้ฝังอยู่แค่คนๆ เดียวน่ะครับ เราได้ไปคุยกับเขา ได้ไป Set Questionare เราเหมือนไปเอาข้อมูลต่างๆ มาแปะแล้วสรุป ก็เป็นสิ่งที่ชอบตรงนั้นน่ะครับ ตอนนั้นเชื่อว่ากระบวนการของเรามันสามารถช่วยคน สามารถทำอะไรให้เป็น Write Product อะไรออกมาได้

ช่วงที่คุณทำงานอยู่กับช่วงที่อยู่กรุงเทพมาหลายปี รู้สึกถูกกลืนจนตัวเองกลายเป็นคนกรุงเทพฯ ไปแล้วหรือยัง

รู้สึกครับ ตอนนั้นรู้สึกว่าเราเหมือนเป็นคนกรุงเทพฯ ระดับนึง คือตื่นเช้ามาปุ๊บ ตอนเช้ามี Checklist ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง เราต้องแวะที่ไหนบ้าง การไปทำงานแบบวางแผนตลอดว่าเราจะต้องเป็นยังไงบ้าง ถึงแม้ว่าที่ทำงาน First Job บอกว่าอยู่ ม.รังสิต มันก็จะอยู่ชานเมืองนิดนึงครับ แต่ว่าการไปไหนมาไหนอะไรเนี่ย การไปประชุมวันนี้ประชุมได้กี่อัน มันก็จะมี Checklist ของมันอยู่ รวมไปถึงเรื่องของ Entertain เรื่องของการใช้ชีวิตต่างๆ เย็นวันศุกร์ต้องเที่ยว เย็นวันเสาร์ต้องเที่ยวอะไรงี้ครับ วันอาทิตย์ต้องไปหา Brunch หานู่นนี่อะไรทาน

ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นความกรุงเทพฯ ด้วย แต่ผมคิดว่าความเป็นเชียงใหม่มันก็ย้อนคืนกลืนกลับมาเหมือนกันนะครับ ในความรู้สึกที่ว่าพอเรามาอยู่เชียงใหม่ปุ๊บ มันชิลขึ้น มันสบายขึ้น ตอนนี้คือเวลาไปประชุมเหมือนออก 10 นาทีก่อนที่จะมีประชุม หรือก่อนที่จะมีนัดก็ยังได้อยู่ แล้วก็ไม่ได้รู้สึกแย่ที่ช้าหรือเลทอะไรประมาณนี้ครับ

4
กลับสู่เมืองเหนือ

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจกลับบ้าน

ผมก็พยายามคิดย้อนกลับ มันก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน พอดีที่บ้านเป็นธุรกิจครอบครัว เราก็มองว่าถ้าเรากลับมาที่ธุรกิจครอบครัว เราจะมีทรัพยากร มีอะไรให้เราได้ใช้มากกว่า ประกอบกับว่าเหมือนเราได้ช่วยที่บ้านอะไรแบบนี้ด้วย คือบ้านผมเนี่ยเป็นธุรกิจครอบครัวก็จริงแต่ว่ามันไม่ได้อยู่ในวิธีคิดที่ว่า เฮ้ย คุณถูกเลี้ยงมาเพื่อทำอะไรแบบนี้นะ คือเขาไม่มีคำพูดนี้มา ก็ปล่อยฟรีระดับนึง ซึ่งการปล่อยฟรีเนี่ยบางครั้งมันก็ดีแหละ คือมันไม่ได้มีความเป็นธุรกิจครอบครัวแบบกงสี แบบเลือดข้นคนจาง (2561) อะไรแบบนี้เนาะ แต่ผมก็คิดว่าความแย่ของมันน่ะคือ ไม่ได้สร้างความแน่นอน มันสร้างตัวเลือกมากเกินไป ซึ่งอาจจะแค่ 2 แต่เป็นตัวเลือกที่ตัดไม่ขาดว่า เราจะเลือกไปทางของเรา หรือว่าเราจะกลับมาดี ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าจะไปทางของผมและกลับมาด้วยเป็นทางที่ 3 (หัวเราะ) โดยที่ว่าถ้าเราขยันหน่อย เดือดหน่อย เราบ้าคลั่งหน่อย เราอาจจะสามารถทำตรงนี้ในส่วนของที่บ้านในฐานะการเป็นทายาทได้ และในเวลาว่างของเรา เราสามารถทำอย่างอื่นได้

5
กว่าจะมาเป็น MITTE MITTE

ช่วยเล่าตอนขึ้นร้านให้หน่อยว่าเริ่มจากใคร แรงบันดาลใจคืออะไร

คือผมอยู่ตรงนี้ตั้งแต่อายุน้อยๆ แล้วก็เป็นบ้านของอากง แล้วพ่อก็อยู่ตรงนี้ สมัยก่อนตรงข้างหน้าร้าน ตรงที่เป็นเคาน์เตอร์ของ MITTE MITTE ก็จะเป็นออฟฟิศก่อสร้างของพ่อครับ ก็อยู่มาประมาณ 12 ปี จน ม.1 ม.2 ประมาณนี้ แล้วก็มันถูกปล่อยร้างไว้ประมาณหลายปี หลังจากเราย้ายออกก็เป็นโกดังเก็บของบ้าง เป็นบ้านพักพนักงานบ้างตอนที่ยังสภาพดีอยู่ สมัยก่อนข้างบนมันเป็นโครงสร้างไม้ พอมันเริ่มผุพังแล้วอยู่ไม่ได้ปุ๊บก็ถูกปล่อยร้างมา ช่วงปล่อยร้างนี่น่าจะประมาณ 7-8 ปีเลยครับ 

แล้วก็ทีนี้น้องสาวจบสถาปัตย์ จบออกแบบภายในมา แล้วเขาก็เห็นตรงนี้ คือตอนแรกอากงที่เพิ่งเสียไปน่ะครับเขาอยากขายพื้นที่ตรงนี้เพราะไม่รู้ว่าจะปล่อยไว้ทำไม ก็มีจังหวะเข้ามาดูนิดนึง แล้วเราก็เห็น Vibe แบบร้าน Brewginning ที่ตอนนั้นเพิ่งขึ้นมา แล้วมีคนบูมมาก สมัยก่อนโควิดตรงนี้เป็นย่าน Backpacker น่ะครับ เป็นย่านที่มี Hostel มี Backpacker ที่อาจจะไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวที่กำลังซื้อเยอะ ก็มาอยู่ตรงนี้กันเต็มเลย บรรยากาศก่อนโควิดคือหัวทองเดินกันเต็มเลย แล้วก่อนโควิดนิดนึงก็เริ่มมีชาวจีนอะไรงี้มากันเต็มครับ ก็คิดว่าแทนที่จะขายเราเปลี่ยนเป็นอะไรที่มันสร้างรายได้ดีกว่า 

ตอนนั้นก็มีไอเดียหลายๆ อย่างน่ะครับที่โยนกันไปโยนกันมา น้องสาวตอนแรกอยากทำร้านชามุก คือตอนแรกฐานไอเดียเขาเป็นคาเฟ่ แต่ว่ายังไม่รู้ว่าจะเป็น Brunch Cafe หรือเป็นคาเฟ่อะไรต่างๆ น่ะครับ ก็มีไอเดียร่วมกับเราว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างงี้ ตอนแรกกะจะทำข้างบนให้เป็นเหมือนที่พักด้วยอะไรงี้ครับ เป็นเหมือนที่พักเอาไว้เปิด Airbnb หรือว่าเป็นที่พักแบบเป็นห้อง เป็นโรงแรมขนาดเล็กด้วย ก็คิดไปคิดมาเสร็จปุ๊บ แม่กับน้องสาวน่ะชอบอาหารแนว Brunch ก็เลยเห็นว่าถ้าเป็นอาหารแบบทานตอนเช้า ซึ่งมีร้านกาแฟ เมนูนู่นนี่อยู่ มี Vibe ของตอนกลางวันน่าจะโอเค มันน่าจะดี ก็เลยเปลี่ยนตัวเองมาเป็น Brunch Cafe ครับ

จากคนที่ทำธุรกิจรับเหมามาตลอด ตั้งหลักกับการทำร้านอาหารยังไง เริ่มต้นยังไง

เริ่มเองเลยครับ ตอนนั้นผมก็เหมือนกึ่งๆ มาช่วยตรงนี้ครับ คือน้องสาวกับคุณแม่เป็น Head หลักในการทำตรงนี้ เริ่มตั้งแต่ Set ทีม เลือกทีมมาปุ๊บ แต่เราโชคดีได้คนรู้จักที่เก่งครับ ได้น้องที่รู้จักที่เก่งอะไรแบบนี้มา ก็มาเริ่ม Set ทีมตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน Test เมนูกัน ทำนู่นทำนี่ แต่จริงๆ อะคือตอนก่อนเปิดร้านไม่ค่อยเท่าไหร่ มันเหมือนมาเข้า ป.1 ตอนเปิดร้านเลย

ถามว่าเราเริ่มต้น เราเตรียมยังไง ผมคิดว่าที่ตอบอันแรกคือเราได้ทีมงานที่ดีครับ อันนี้น่าจะเป็นโชคดีของร้าน MITTE MITTE เลย แล้วก็อันที่สองคือเราไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย (หัวเราะ) เราเอาตัวเองไปโยนไว้เหมือนเรียนรู้ในขณะนั้นเลย แล้วก็มีเรื่องของโควิดเนี่ยเป็นทั้งโชคร้ายและโชคดี ผมคิดว่าที่มันโชคร้ายคือแน่นอนอยู่แล้ว ร้านอาหารทุกร้านหรือว่าทุกธุรกิจไม่อยากเจอโควิด เพราะว่ามันทำให้ทุกอย่างนั่น (เสียรายได้) ไป แต่คำว่าโชคดีน่ะครับ เหมือนกับว่ามันทำให้เราได้มีเวลาเรียนรู้กับธุรกิจตรงนี้ครับ มันไม่ได้แบบเอาลูกค้ามาตู้มๆ เลย ผมคิดว่าตอนที่เรายัง Operate ได้ไม่ดีเท่าไหร่น่ะ ถ้าสมมติลูกค้ามาตู้มเลยอะ เราอาจจะกลายเป็นร้านที่ทุกคนรีวิวด่าแล้วจนแบบ โอเค เราต้องปิดร้านหรือว่า Rebrand ใหม่ แต่ว่าตอนนั้นมันกลายเป็นว่าลูกค้าน้อยๆ แล้วเราได้ทดลอง ได้เรียนรู้ว่าจะจัดการปัญหาต่างๆ ยังไง

6
ณ วันนั้น,
วันที่ตัดสินใจร่วมพัฒนาเมือง

ในเชียงใหม่เนี่ยจะมีกลุ่มนักพัฒนาเมือง, NGOs, เยาวชนที่ขับเคลื่อนประเด็นการเมืองอยู่ คุณไปเจอเขาได้ยังไง

ผมอยากเล่าถึงกลุ่มที่พัฒนาเมืองนี้ก่อนน่ะครับ น่าจะเป็น 2-3 เดือนที่เปิดร้าน อยู่ดีๆ ก็มีโต๊ะมานั่งเต็ม ผมก็เห็น เอ้อ คนนี้เห็นเป็นพวกสายอาจารย์มานั่งทานกัน แล้วเขาก็ว้าวมาก คือเราเป็นร้านอาหารที่เปิดวิวให้ดูคลองแม่ข่าข้างหลังตรงนี้ ซึ่งคลองแม่ข่าเนี่ยคนกรุงเทพฯ อาจจะไม่รู้จัก แต่ว่ามันคือคลองแสนแสบแห่งเชียงใหม่ที่ไม่มีเรือ (หัวเราะ) มันคือท่อระบายน้ำที่ทุกคนเอาของเสียมาลง เขาก็ว้าวมากกับการที่แบบ เฮ้ย เราเปิดตรงนั้นทำไม ซึ่งพอมาถามเราอะ เราก็ เอ๊ะ เขาว้าวอะไรกัน เพราะว่าสมัยก่อนตรงนี้น่ะครับมันเป็นโซนระเบียงอยู่แล้ว เป็นทรงแบบ Open Air อยู่แล้ว พูดง่ายๆ ก็คือเราก็เห็นวิวนี้มาตลอด ผมเคยเอาสวิงเล็กๆ มาต่อไม้ คุณย่า อาม่าเป็นคนตอกให้ แล้วก็ตักปลา มีปลาหางนกยูงตัวเล็กๆ ที่เขาเรียกว่าปลาเจ็ดสีอยู่ แล้วก็มาเลี้ยงในอ่างเล็กๆ หลังบ้าน สำหรับเราคือตรงนี้ไม่ใช่ท่อระบายน้ำของเรา ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มของการมีกลุ่มที่พัฒนาเมืองเข้ามา 

พอได้คุยกันปุ๊บ เขาก็โอเคกับเราว่าเราสนใจเรื่องของการพัฒนาเมืองด้วยนะ คือไม่ว่าดีกรีไหนก็ตามแค่เปิดพื้นที่ให้เขามานั่งคุยกันก็โอเค หรือว่าให้มามีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ถ้าสมมติว่าจัดการร้านได้ เราก็สามารถจัดการโครงการได้ อย่างโครงการก็จะเป็นลักษณะการทำงานเหมือนงานที่ผมทำที่กรุงเทพฯ เป็นโปรเจกต์ๆ อะไรงี้ อันนี้ก็คือเรื่องของกลุ่มพัฒนาเมือง พวกกลุ่มการเมืองเด็กๆ รุ่นใหม่ น้องๆ รุ่นใหม่อะไรต่างๆ ก็รู้จัก คือผมคิดว่ากลุ่มมันค่อนข้างแบบรวมๆ กันไรงี้

อย่างมีน (ฉัตรชัย สุขอนันต์) คือเป็นเพื่อนกันมาก่อนอยู่แล้วครับ เป็นเพื่อนกันจังหวะไหนไม่รู้ แต่อยู่ดีๆ ก็เป็นเพื่อนกันแล้ว จริงๆ ที่เจอกับมีนคือก่อนเปิดร้านนิดนึงน่ะ ผมเปิดร้านช่วง Chiang Mai Design Week 2020 ก็เหมือนใช้ Design Week 2020 เป็นตัวเปิด แล้วก็ได้ทำงานกับล้วน (ไกร ศรีดี) มีนก็เป็นคน Connect กับล้วนให้ เราก็ได้เจอกัน อยู่ๆ วันดีคืนดีล้วนก็ทักมาบอกว่า “อยากมาเป็นบาริสต้าที่ร้าน” ก็เลยสนิทกับมันมากขึ้น แล้วเราก็เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มนี้อยู่แล้ว เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนแต่เราก็ไปงานของเขา เราไป Share ของเขา คือสนับสนุนเท่าที่ทำได้

วันที่นักพัฒนาเมืองมาชวนเราไปทำ ทำไมถึงคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ แล้วทำไมเราถึงตอบตกลงไปช่วย

ก่อนหน้านี้ผมเจอกลุ่มของอาจารย์ภู (ดร.จิรันธนิน กิติกา) ตอนนั้นก็จะมีพี่ปอ นอร์ทเกต (ภราดล พรอำนวย) เข้ามาด้วย มีกลุ่มของ TCDC แต่กลุ่มนี้รู้จักกันตั้งแต่ตอน Design Week แล้วจริงๆ มันเป็นคอนเซปต์ที่ร้านอยู่แล้ว ผมกับน้องสาวกับแม่มาคุยกันว่ามันน่าจะมีอะไรที่คืนให้กลับชุมชนบ้าง เพราะเวลากลับมาปุ๊บคนที่อยู่เขาก็ยังอยู่เหมือนเดิม ที่เราจากเขาไปสิบปียี่สิบปีที่แล้วเขาก็ยังอยู่ยังทำอะไรเดิมๆ อย่างป้าพัน (เจ้าของร้าน ไส้อั่ว ป้าพัน) ก็ยังขายไส้อั่วเหมือนเดิม เราก็เลยคิดแบบนี้ครับ ซึ่งความคิดนี้มันไม่ได้อยู่ดีๆ เกิดมามันเกิดมาเพราะว่าเรารู้ว่ามันมี Conflict ระหว่างชุมชนกับร้านธุรกิจใหม่ในย่านนั้น เพราะเราก็รู้จักเขาเหมือนกัน เราก็เคยได้ยินปัญหามาบ้าง แต่มันไม่ใช่ปัญหาที่ร้านโดยตรง เหมือนมีลูกค้ามาเที่ยวก็ชอบมาจอดใกล้ๆ ตอนนั้นมันยังไม่มีป้าย ไม่มีเส้นขาวแดง เขาก็จอดกันมั่วเลย ทำให้จราจรติดขัด เลยเกิดอุบัติเหตุทำให้คนในย่านไม่สามารถสัญจรไปได้ ผมไม่ได้อยู่ตรงนั้นผมแค่รับรู้มา 

เราก็คิดเหมือนกันว่า Limit ของที่นี่มันคือที่จอดรถ สิ่งที่เราจะทำเพื่อ Compensate ตรงนั้นมันก็เป็นเรื่องของการพึ่งพาอาศัยกัน การช่วยชุมชนเพื่อที่เขาก็จะไม่แข็งกับเราขนาดนั้นเราไปด้วยหน้าแบบนี้อะครับซึ่งมันก็ดี ช่วงก่อนเวลาคนเยอะๆ มีลูกค้าไปจอดหน้าบ้านเขาก็ไม่ได้โวยวาย บางคนเขาก็โทรมาที่ร้านบอกว่าป้ายทะเบียนนี้ เราก็จัดการให้เขาแบบรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางครั้งมีคนที่ไม่ใช่ลูกค้าเรามาจอดเหมือนกันเราก็จัดการไม่ได้ อันนี้คือเรื่องของการจัดการปัญหา 

อีกอันคือไส้อั่วมันก็มี Original ของมันอยู่แล้ว เราก็เอามาทำเป็นเมนูฟิวชั่น เรามีเมนูอันนึงชื่อว่า ช้างม่อยคัตสึ เป็นไส้อั่วมาทอดสไตล์คัตสึ ก็เป็นเมนูขายดีของร้าน จากตรงนี้พอเราไปคุยกับทีมพัฒนาเมืองเราก็รู้สึกว่า ถ้ามีโปรเจกต์ที่เราสามารถทำได้ก็สามารถช่วยได้

ตั้งแต่ที่คุณเริ่มทำงานพัฒนาเมืองหรือพัฒนาชุมชน การที่เห็นนักพัฒนาชุมชนหรือคนที่ต้องการจะรันเมือง เรื่องนี้มีความหมายกับคุณอย่างไรในฐานะคนเชียงใหม่

อย่างแรกมันต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้คนรุ่นใหม่และคนรุ่นต่างๆ ลุกออกมา เรื่องของงบประมาณคงไม่เท่าไหร่ น่าจะเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ที่ทำให้เห็นว่าคนๆ นี้กำลังพัฒนาเมืองอยู่นะ เมืองเชียงใหม่อาจจะเป็นจุดหวานแหววที่ทำให้คนอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองนี้

อันที่สอง อย่างกรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองใหญ่มีแยกเขตต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน แต่ถ้าพูดถึงเมืองเชียงใหม่ข้างในตัวเมืองมันดูมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ มันก็มองได้ว่าถ้าเราจะลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองเชียงใหม่ มันก็อาจจะมีช่องทางให้เข้าถึงได้ เราเห็นกลุ่มนักพัฒนาเมืองสามารถเข้าถึงได้ ไม่ได้เจอแค่ใน Facebook แต่เดินเจอชาวบ้านในตัวเมืองได้ มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนคิดว่าการพัฒนาเมืองมันสามารถทำได้ 

7
Made in & Tomorrow 

คุณทำแคมเปญร่วมกับเพื่อนๆ ของคุณเพื่อเปลี่ยนเมืองเยอะมาก ลองเล่าบางส่วนให้ฟังหน่อย

โปรเจกต์แรกที่ทำเป็นของ TCDC ชื่อว่า Made in Changmoi ครับ อาจจะเคยได้ยินในกรุงเทพฯ Made in Charoenkrung เนอะ คอนเซปต์คือการเอาผู้ประกอบการรุ่นเก่ากับนักออกแบบรุ่นใหม่มาเจอกันแล้วก็สร้างงานด้วยกัน ในการร่วมงานกันก็แล้วแต่วิธีการด้วยว่าใครจะ Match กับใคร บางคนเป็นออนไลน์ บางคนเป็น Product บางคนเป็นเรื่องของการตกแต่งหน้าร้าน มันก็มีหลากหลายมาก ซึ่งถ้าให้เล่าคือเราได้เห็นผู้ประกอบการที่มี Packaging ใหม่ มันก็มีปัญหาเรื่อง Logistic ด้วย แต่สิ่งที่ผมเห็นคือป้าๆ ลุงๆ ต่างๆ เขาได้เจอคนใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ เขาได้เห็นว่าสินค้าของเขาหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ มันสามารถเป็นไปได้มากขึ้น 

ล้วนไปตีโจทย์กับร้านขนมวง สุดท้ายที่ล้วนทำเป็นแบรนด์ที่ทำให้หน้าร้านเขาโดดเด่นมากขึ้น และ Packaging ใหม่ที่เป็นของแถมมากกว่า แล้วก็ของมีนค่อนข้างน่าสนใจ มีนไปทำกับร้านตัดผมฝั่งตรงข้าม เขาชื่อลุงทอง (บุญทอง ร้องอ้อ) นอกจากชีวิตของการเป็นช่างตัดผมเขาเป็นช่างซอร้องเพลง ซอสด แล้วเขาเป็นศิลปินเดี่ยว เป็นคนที่มีชีวิตน่าสนใจมาก เลยให้มีนที่เป็นสาย Perform สายกำกับไปทำงานกับเขา มีนไปช่วยตกแต่งหน้าร้านกับทำเอ็มวีให้แกอันนึง ซึ่งโปรเจกต์ตรงนั้นของ Made in Changmoi พอทำมาปุ๊บเจอโควิด มีปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการ นักออกแบบบางคนอยู่กรุงเทพฯ พอเจอช่วงโควิดตอนนั้นเขาก็มาหาเราไม่ได้ เหตุผลต่างๆ ทำให้มันออกมาไม่ได้ 100 เปอร์เซนต์ ซะทีเดียว ปีนี้ก็อาจจะทำเหมือน Wrap Up อันนึงให้คนภายนอกรู้ว่าโปรเจกต์นี้เคยเกิดขึ้น หลักๆ ก็อยากช่วยผู้ประกอบการให้เขาได้เจออะไรใหม่ๆ ดีที่สุดคือเพิ่มยอดขายให้เขา แต่ถ้าสมมติแย่ที่สุดคืออย่างน้อยเขาได้คนรุ่นใหม่มา Share Energy กัน 

จริงๆ ก็อยากคาดหวังว่าทุกโปรเจกต์ต้องประสบความสำเร็จ แต่ด้วยลิมิตเราก็รู้ว่าผู้ประกอบการในย่านเรามันไม่ได้เหมือนกรุงเทพฯ ไม่ได้เหมือนเจริญกรุงที่การแข่งขันเกิดขึ้นตลอดเวลา มันคลาคล่ำไปด้วยผู้คน เมื่อเทียบกัน Made in Charoenkrung เต็มไปด้วยร้านตำนานที่อยู่มานานแล้ว พอมาที่ช้างม่อยบางร้านมันคือ Energy ว่าไม่รู้จะทำอะไรก็เลยทำ อย่างร้านขนมวงคือมีลูกหลานซัพพอร์ทเพราะเราทำตรงนี้มานานก็ทำตรงนี้ต่อไป อาจจะความเชียงใหม่ด้วย Energy ของตรงนี้กับกรุงเทพฯ มันเลยต่างกัน ดีสุดคือขายได้ แย่สุดคืออย่างน้อยก็ได้เจอกับคนรุ่นใหม่ๆ ได้รับรู้ว่ามีหน่วยงานที่ชื่อ TCDC ที่ทำเรื่องออกแบบให้เรียกใช้งานได้ เป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนมากกว่า 

ก็ทำเพราะว่าเราไปรบกวนพื้นที่เขาด้วยตอน Chiang Mai Design Week 2 ปีที่แล้ว ตอนแรกผมมองแบบ Pay Back ว่าเราตอบแทนด้วยการการเอาโปรเจกต์ดีๆ เข้าไปได้

แล้วคุณก็เล่าเรื่องผ่านนิทรรศการด้วย

อ๋อ นิทรรศการระบายแสง : สนามเด็กเล่นแห่งศิลปะและเทคโนโลยี ตอนแรกมันเป็นโปรเจกต์ที่ทำกับล้วนกับมีนนั่นแหละครับ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เราเจอน้องคนนึงที่ทำเรื่องวาดรูปในชุมชนชื่อน้องจอมใจ บ้านจะอยู่ตรงหัวมุมวัดชมพูเลย คุณแม่เขาผลักดันให้เขาไปทำเรื่องวาดรูปผ่านคุณครูที่เป็นศิลปินดังท่านหนึ่ง มีชมรมศิลปะของเขาที่เขาจะแข่งประกวดนั่นนี่กัน พอเราเห็นรูปเขาก็คิดว่ารูปมีจินตนาการ เทคนิคที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป เราก็คิดว่ามันเจ๋งดี ปีสองปีที่ผ่านมามันมีงานแวนโก๊ะ (Van Gogh: Life and Art) ที่ River City Bangkok ใช่ไหมฮะ เราก็เอามาเปรียบเทียบกันว่านั่นคือศิลปินใหญ่มาทำได้ แล้วทำไมเราจะนำงานของเด็กๆ มาจัดแสดงในพื้นที่ของชุมชนไม่ได้ ก็เลยติดต่อน้องไปว่าเราอยากได้รูปของน้องเขามาทำงาน Interactive สเกลงานอาจจะไม่ได้เท่าแวนโก๊ะแต่ก็เพื่อความสนุก เราก็เอางานที่น้องๆ ชมรมวาดรูปของเขาวาดมาทำเป็นดิจิทัล ตอนนั้นเวลามีไม่เยอะมาก ใช้เทคนิคหลายๆ อันมาทำให้รูปวาดนิ่งๆ ให้กลายเป็นอะไรที่เคลื่อนไหวได้ คอนเซปต์คือ Tomorrow We Are Young เราก็ตั้งกลุ่มขึ้นมาเป็น Tomorrow Changmoi จริงๆ อยากให้เป็น Collective แต่ก็ค่อยๆ ทำไป 

นอกจากการพัฒนาเมือง พัฒนาย่านแล้ว เราสามารถนำ Element ของย่านต่างๆ มาคิดเป็นเชิงอนาคตได้ อย่างเช่นงาน Painting ของน้องก็นำมาทำเป็นมีเดียอื่นได้ ทำยังไงจะสอนน้องให้เอา Painting มาทำเป็นงาน Interactive ที่มันต้องใช้เทคโนโลยีช่วยได้ มีหลายอย่างที่เราต้อง Explore เพิ่ม อย่างช่วงนี้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องอวกาศมันมา เราลองคิดว่าจะกินไส้อั่วในอวกาศยังไง จะแพ็คในรูปแบบไหนประมาณนี้ครับ เราจะสร้าง Collective หรือ Lab ตรงนี้ขึ้นมา ตอนแรกผมก็สนใจในอะไรแบบนี้อยู่แล้ว อยากจะผสานอาหารกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

8
สิ่งที่เรียนรู้ และสิ่งที่วาดหวัง

เรียนรู้และเติบโตอะไรจากการใช้ชีวิต

 ผมคิดว่าในระยะหลังเราได้เรียนรู้จากการได้เจอโลกใบใหม่ผ่านผู้คนน่ะครับ ว่าเขาเป็นยังไง เราเจอความคิดใหม่ๆ ผ่านผู้คน ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้อันนึงคือโลกมันไม่ได้มีใบเดียว โลกทั้งโลกยังไม่เสร็จ คือเรายังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่เราอยากให้มันเป็นได้ 

มันมีหลายคนที่คิดว่าโลกมันเสร็จแล้ว โลกมันต้องเป็นแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือขาว นี่คือดำ นี่คือสิ่งที่มันต้องเป็นไป แต่พอผมได้รู้จักหลายๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นนักคิดต่างๆ เราเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่เก่งมาก แล้วมันจะนำพาไปสู่โลกที่ดีได้ ก็รู้สึกว่าโลกเรายังสามารถดีไซน์เป็นพาร์ทของมันได้ เราควรใช้ชีวิตในรูปแบบที่เราอยากให้มันเป็นตามโลกที่เราสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ยอมแพ้ต่อโลก

อยากเห็นบ้าน ชุมชน หรือจังหวัดของตัวเองเป็นแบบไหน 

ขอตอบสองอันครับ อยากเห็นชุมชนช้างม่อยเป็นได้เท่าที่คนพูดกัน เพราะทุกคนพูดว่าชุมชนช้างม่อยเป็นย่านที่มีความหลากหลาย มีการผสานระหว่างเก่ากับใหม่ แล้วก็มีความน่าสนใจ มันไม่ใช่เหมือนนิมมานที่เป็นย่านธุรกิจอย่างเดียว ซึ่งไอ้ประโยคตรงเนี้ย สิ่งที่ผมเห็นน่ะคือตอนที่จังหวัดเปิดตอนปลายปี ผมคิดว่าทุกคนจะเทมาที่ตรงนี้ ก็ใช่แหละ หลายคนก็ยังเทมาตรงนี้ แต่นิมมานก็ยังเป็นเหมือนเดิม นิมมานไม่มีวันตาย เพราะฉะนั้นช้างม่อยเรามีอุดมคติที่เราอยากให้เป็นแล้ว แต่มันแย่หน่อยที่ว่าอุดมคติตรงนั้นมันยังไม่มาถึง ซึ่งเป็นอุดมคติที่ดีครับ การผสานระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ ความหลากหลายที่เกิดขึ้น และก็การเป็นย่านธุรกิจกับย่านชุมชนที่สอดประสานกัน

แล้วก็สิ่งที่อยากให้เชียงใหม่เป็นก็คือเป็นเมืองสำหรับทุกๆ คน เมืองสำหรับคนที่อยู่เชียงใหม่ก่อน เริ่มจากการเป็นเมืองที่คนที่อยู่เชียงใหม่รู้สึกว่าเป็นเมืองแห่งโอกาส คืออยากให้เป็นเมืองที่คนเข้ามาหาโอกาสแล้วได้โอกาสนั้นจริงๆ ไม่ใช่เป็นเมืองที่คนมาแค่พักผ่อนแล้วก็จากไป

สัมภาษณ์วันที่ 15 มีนาคม 2565

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า