fbpx

เพราะตลาดวิตามินซีมันไม่หมู ส่องกลยุทธชิงลูกค้าในตลาดเครื่องดื่มวิตามินซีที่ลุกเป็นไฟ

ในประเทศไทยถือเป็นอีก 1 ประเทศที่ตลาดฟังก์ชั่นนอลดริงก์แข่งขันกันโหด ดุ และเดือด บางเจ้ามาไวเกินไป บางเจ้าก็มาผิดที่ ผิดเวลา แต่บางเจ้าก็มาแบบถูกเวลา และตรงความต้องการของผู้บริโภค

แต่เมื่อมีการเข้ามาของเครื่องดื่มในกลุ่มที่เป็นวิตามินซีในประเทศไทย ในช่วงแรกๆ เจ้าอื่นๆ ก็ยังไม่ตื่นตัว แต่เมื่อหลายเจ้ากล้าเปิดหน้าสู้ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนสนใจที่จะดูแลตัวเองมากขึ้น นั่นก็ทำให้ตลาดต่างแข่งขันกันอย่างร้อนแรง และดุเดือดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีให้หลัง

วันนี้เราจะลองมารวบตึงเรื่องของการเข้ามาของเครื่องดื่มวิตามินซีหลากหลายเจ้า เพราะในปัจจุบันวิตามินซีก็มีหลายเจ้าเหลือเกิน

Trendsetter ที่สู้ด้วย “ขนาด”

สำหรับตลาดเครื่องดื่มวิตามินซี 200% (ซึ่งคำนวณจากปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไปหรือ Thai RDI) หลาย ๆ ท่านอาจจะคุ้นชินกับเครื่องดื่มวิตามินซีของแบรนด์ซีวิต (C-Vitt) แบรนด์จากค่าย House ประเทศญี่ปุ่นที่ทางบริษัทเครื่องดื่มเก่าแก่ของไทยอย่าง “โอสถสภา” เข้ามาเป็น Trendsetter และเจ้าตลาดในตลาดเครื่องดื่มวิตามินซีอันดุเดือดแห่งนี้ 

ซึ่งถ้าหากอิงอายุมาจากโฆษณาตัวแรกที่ปล่อย อายุก็ไม่ใช่เล่นๆ แล้วนะครับ เพราะเข้ามาในตลาดบ้านเราตั้งแต่ปี 2555 ก็ประมาณ 9 ปีได้แล้วครับ[1] (และปีหน้าก็จะขึ้นปีที่ 10 พอดี)

ซีวิตเปิดตัวในไทยครั้งแรกด้วย 2 รสชาติคือรสเลมอนและรสส้ม ก่อนที่จะมีรสทับทิมตามมาในภายหลัง (และยังเคยมีซีวิต อควา เลมอน เครื่องดื่มขวดใหญ่ปล่อยออกมาด้วย แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นสินค้าที่ไม่ประสบความสำเร็จของเจ้านี้…)

ที่น่าสนใจก็คือซีวิตเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การต่อสู้ด้วยขนาด และเมื่อช่วง 2 ปีก่อน[2] ซีวิตเลือกที่จะปล่อยแบบกล่องยูเอชทีสู่ตลาด เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เป็นเด็กที่อาจมีปัญหากับการหยิบจับหรือเปิดขวดแก้ว พกพาสะดวกโดยไม่ต้องกังวลว่าขวดจะแตก และยังมีราคาที่ถูกกว่าแบบขวดถึง 4 บาท

ปีถัดมาซีวิตปล่อยสินค้าของตัวเองในรูปแบบเจลลี่แบบดูดที่มีความอร่อยและมีคุณประโยชน์เท่าๆ กัน ซึ่งนั่นก็ทำให้เจ้าตลาดเจลลี่แบบซองอย่างเจเล่ก็อดไม่ได้ที่จะปรับฉลากสินค้าในสูตรเลมอนให้เป็นสูตรวิตามินซี 200% เพื่อล้อกันไปกับตลาดเครื่องดื่มวิตามินซี

และในปีนี้นอกจากซีวิตพลัส เครื่องดื่มวิตามินซี 2 สูตรที่มีการเพิ่มคุณประโยชน์จากเดิม ซึ่งดูเหมือนว่าโอสถสภาจะส่งมาต่อกรกับ ไฮ่ กลิ่นมิกซ์เบอร์รี่” ของค่ายทีซีพี และวิตอะเดย์ ของค่ายเจนเนอรัลเบฟเวอเรจแล้ว

ซีวิตก็เลือกที่จะปล่อยขนาด 1 ลิตรออกมาสู่ตลาดเป็นเจ้าแรก โดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัวใหญ่ หรือกลุ่มร้านอาหารที่นำเครื่องดื่มวิตามินซีไปเป็นส่วนประกอบในเมนูเครื่องดื่ม จะเรียกว่าเจ้านี้เน้นใช้กลยุทธ์เรื่องของ “ขนาด” เพื่อมาแก้ปัญหาของผู้บริโภค ก็ถือว่าไม่ผิดนะครับ

ผู้ตามที่ใช้ “นวัตกรรมขวด” ในการแก้ปัญหาคำสบประมาท

ที่น่าสนใจคือก่อนหน้านี้มีข้อครหาจากผู้บริโภคบางกลุ่มว่าเครื่องดื่มวิตามินซีเหล่านี้อยู่ในขวดใส ซึ่งส่วนหนึ่งคงทราบกันดีว่าวิตามินซีมีความไวต่อแสงอยู่ นั่นก็เลยเป็นข้อสงสัยว่าแล้ววิตามินที่อยู่ในขวดจะอยู่ถึงมือผู้บริโภคครบหรือไม่ และถ้าฉันได้วิตามินซี “แค่” เท่านั้น ฉันไปกินวิตามินซีตามร้านขายยาไม่ดีกว่าเหรอ?

ที่น่าสนใจคือมันมีถึง 4 เจ้าด้วยกันที่เล่นกับปัญหาเรื่อง “ขวด” คือวู้ดดี้ ซี+ ล็อค, ดับเบิลซี, อิชิตัน วิตซีซี และวี 2000

วู้ดดี้ ซี+ ล็อค อาศัยการใช้ขวด “สีเขียว” การใช้ฝาชนิดพิเศษและการอัดไนโตรเจน[3] ในการแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อมีผลการตรวจหาปริมาณวิตามินซีในตลาดของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็พบว่าเครื่องดื่มวิตามินซีเจ้านี้มีปริมาณวิตามินซีสูงถึง 502.37 มิลลิกรัม ซึ่งเยอะกว่าหลายๆ ยี่ห้อแม้กระทั่งยี่ห้อเจ้าตลาด และเยอะกว่าที่ระบุไว้ในฉลากถึง 4 เท่า[4] 

ดับเบิลซี ซึ่งเป็นคู่แข่งเจ้าแรกๆ ที่เข้ามาในตลาดในช่วงปี 2561[5] ก็เลือกที่จะจับมือกับ Ferro ในการผลิตสารเคลือบผิวเพื่อป้องกันแสง โดยเคลมตัวเองว่าเป็นผู้นำนวัตกรรมขวดใสป้องกันแสงสำหรับเครื่องดื่มวิตามินซี (ซึ่งค่ายนี้เคลมว่าเป็น “เจ้าเดียวในไทย”)ซึ่งก็ทำให้วงการวิตามินซีในไทยสั่นสะเทือนอยู่ไม่น้อย[6]

พี่ใหญ่อย่างอิชิตันก็ขอส่งอิชิตัน วิตซีซี มาลงด้วยขวดพลาสติกสีเขียว และปริมาณของเครื่องดื่มที่เยอะกว่าเจ้าอื่น (แต่เจ้านี้ยังไม่ได้มีจุดที่น่าพูดถึงเยอะเท่าไหร่)

ส่วนวี2000 เลือกที่จะใช้วิธีการบรรจุลงในขวดพลาสติกสีขาวทืบแสง และอัดไนโตรเจน ถึงแม้ว่ายี่ห้อนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่ก็ถือว่าน่าสนใจเช่นกัน[7]

เมื่อคู่แข่งหน้าแปลก อยากแข่งด้วย “รสชาติและคุณประโยชน์” ที่แตกต่าง

โดยปกติแล้ววิตามินซีในไทยส่วนใหญ่มักจะทำออกมาอยู่ 2 รสชาติ คือรสส้มและเลมอน (หรือถ้ามีมากกว่านั้นก็คงเป็นซีวิตที่ทำรสทับทิมด้วย) แต่ก็มีบางเจ้าที่ทำมากกว่านั้น อย่างดับเบิลซีที่มีถึง 3 รสที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ อย่างเช่นรสพีชและลิ้นจี่, รสองุ่นแดงและองุ่นขาว และรสเสาวรสและส้ม

ส่วนวิตอะเดย์ รายนี้นอกจากจะมีรสเลมอนและรสส้มแล้ว ยังมีรสอื่นๆ อีกหลากหลายรส แต่บางรสก็ไม่ได้มีส่วนผสมของวิตามินซี อย่างรสมิกซ์เบอร์รี่ที่ผสมวิตามินเอ, รสองุ่นที่ผสมธาตุเหล็ก และรสใหม่ๆ อีกกลุ่มราคาหนึ่งซึ่งเป็นรสลิ้นจี่ที่ผสมคอลลาเจน, รสพรุนที่เป็นสูตรไฟเบอร์ หรอืรสส้มยูซุที่เป็นสูตรผสมกระชายขาว อิงไปกับเทรนด์การดูแลร่างกายในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก

ส่วนไฮ่ ของค่ายทีซีพี เจ้านี้แรก ๆ หมัดก็ยังไม่เด็ด แต่หมัดเด็ดอยู่ในช่วงที่มีการปล่อยกลิ่นมิกซ์เบอร์รี่เข้าสู่ตลาด ที่เล่นใช้พรีเซนเตอร์ระดับที่พูดชื่อไปต้องคุ้นหูอย่างอั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ นั่นแหละครับตลาดเลยดูเหมือนจะสนุกกับการปล่อยรสใหม่มาเป็นว่าเล่น

ส่วนคิวมินซี น้องใหม่ในตลาด ก็มีถึง 2 รสที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ก็คือรสน้ำขมิ้นชันสกัดผสมเลมอน ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยที่ผสมน้ำขมิ้นชันลงในเครื่องดื่มวิตามินซี หรือรสใหม่อย่างน้ำผึ้งมานูก้าผสมคอลลาเจน ที่พรีเซนเตอร์ของรสนี่แหวกกว่าเจ้าอื่น เพราะไม่ใช่นักแสดง แต่ก็ถือเป็นคนดังเหมือนกันอย่างมาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ

หรืออย่างวู้ดดี้ ซี+ ล็อค ก็ปล่อยกลิ่นมิกซ์เบอร์รี่ออกมาเหมือนกัน แต่เป็นสูตรผสมคอลลาเจน นั่นก็ทำให้ซีวิตเกิดอาการพึ่บๆ พั่บๆ ส่ง ซีวิตพลัส ออกมา 2 สูตร 2 รส รสมิกซ์เบอร์รี่ผสมคอลลาเจน และรสองุ่นมัสแคทผสมไฟเบอร์ ที่ดูเหมือนจะเอาไว้บล็อคทางทีเดียว 2 แบรนด์เลย หรืออย่างน้องใหม่ในตลาดอย่างวิตโตะซี ที่ก็มีรสแอปเปิลอยู่ในพอร์ตของตัวเอง แต่น่าเสียดายหน่อย เจ้านี้เน้นวิตามินซีตรงๆ เลยจ้า

รวมไปถึงพี่ใหญ่ในตลาดเครื่องดื่มอย่างไทยเบฟเวอเรจ ที่ขอส่งวีบูสต์ เครื่องดื่มวิตามินซีผสมเบตากลูแคนลงสู่สนามแบบกรุบๆ 

และสก๊อตที่คนคุ้นชินกันจากภาพของซุปไก่สกัดหรือรังนกแท้ ก็ขอส่งสก๊อต เอบีซีดริ๊งค์ เครื่องดื่มวิตามินที่มีทั้งวิตามินเอ, บี และซีอยู่ในขวดเดียว มาลงสังเวียนที่แสนจะดุเดือดแห่งนี้

และยังมี “คู่แข่งตัวพีค” ถึง 4 เจ้า ซึ่ง 2 ใน 4 เจ้าต่างคุ้นหน้ามาจากวงการสื่ออย่างอาร์เอส ค่ายที่ชัดเจนในช่วงหลังๆ ว่าตัวเองบริษัทที่เน้นความเป็น Entertainmerce ก็ขอส่งคามูซี ซึ่งเคลมว่ามีส่วนผสมของคามู คามู ซึ่งมีวิตามินที่สูงกว่าส้ม 50 เท่า และสูงกว่าเลมอนถึง 100 เท่า หรือค่ายเอ็มเอ็น เบฟเวอเรจ ที่อยู่ในมือของ JKN Global Media ของมาดามหญิงข้ามเพศพันล้านแห่งวงการสื่อ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ก็ขอส่ง Cupid Tiger X ตีคู่กันมากับ Cupid Dragon X เครื่องดื่มสมุนไพรในไลน์ Cupid Energy Max ซึ่งเราจะขอพูดถึง Cupid Tiger X เพราะถึงแม้ว่าจะวางตัวเองไว้ว่าเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรก็จริง แต่การที่ในสูตรนี้มีวิตามินซี 200% ผสมมาเหมือนเจ้าอื่นๆ นั้น นั่นก็ทำให้สามารถที่จะนับเครื่องดื่มเจ้านี้เป็นเครื่องดื่มวิตามินซีได้เหมือนกัน

หรือเจ้าแปลกๆ ที่บางท่านอาจจะคิดไว้ว่าไม่น่าจะมาเล่นตลาดนี้ได้อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ขอส่งไวต้าวัน (ซึ่งจ้างโรงงานของเอ็มเอ็นในการผลิต) ที่มีรสชาติถึง 3 รส ที่ดูแล้วเหมือนอยากจะมาชนกับซีวิตแบบตรงๆ เสียเหลือเกินด้วยส่วนผสมอื่นๆ ที่ต่างกันไปในแต่ละสูตร รสทับทิมผสมโกจิเบอร์รี่ รสน้ำผึ้งมะนาวผสมไฟเบอร์ และรสส้มผสมวิตามิน 8 ชนิด

เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางในใจหญิงไทยอย่างมิสทิน ที่เราๆ อาจจะไม่คุ้นหน้าในตลาดเครื่องดื่มพร้อมดื่มก็ขอส่งเจนซี เครื่องดื่มวิตามินซีผสมคอลลาเจน มาฟาดฟันกันในสนามวิตามินซีอันหอมหวาน 

หรืออย่างดัชมิลล์ เดลี่ซี” ของค่ายดัชมิลล์ที่ดูเหมือนจะใช้กลยุทธ์ทั้ง “ป่าล้อมเมือง” เน้นขายในร้านที่อยู่ในต่างจังหวัดก่อน รวมถึงกลยุทธ์ “ราคา” และ “ขนาด” ทั้งแบบกล่องราคา 5 บาท (ซึ่งถูกที่สุดในบรรดาวิตามินซี) และแบบกระป๋องราคา 10 บาท ที่เพิ่งจะเริ่มยิงโฆษณาเป็นจริงเป็นจังเมื่อไม่นานนี้

ยังไม่นับเจ้าเล็กๆ อีกหลายเจ้าที่กำลังไต่เต้า นำตัวเองไปสู่ตลาดที่แข่งกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์

สำหรับตัวผมแล้วมองว่า นอกจากผู้บริโภคจะเลือกทานเพราะรสชาติที่อร่อย ทานง่ายแล้ว ยังต้องการคุณประโยชน์จากวิตามินซีในด้านของความสวยความงาม หรือการดูแลตนเองอีกด้วย ซึ่งอีกไม่นานนี้ก็อาจจะเข้าสู่จุดอิ่มตัวก็ได้ ดังนั้นที่น่าสนใจและต้องจับตากันต่อไปก็คือตลาดนี้จะแข่งขันต่อไปยังไง และในทิศทางใด

“แค่คิดก็มันส์แล้ว”


อ้างอิง

[1] Youtube, TVC – Janie – C-Vitt – 2012 https://www.youtube.com/watch?v=BCadYqcFfO0
[2] Facebook, โพสต์จากเพจ C-vitt https://www.facebook.com/Cvitt.vitaminC/posts/2967244756650671/
[3]หน้าเว็บไซต์หลักของบริษัท เอ วู้ดดี้ ดริงค์ จำกัด https://www.awoodydrink.com/
[4]มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ‘ฉลาดซื้อ’ เผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ไม่พบปริมาณวิตามินซี 8 ตัวอย่าง https://www.consumerthai.org/consumers-news/consumers-news/food-and-drug/4529-631512-vitamincdrink.html
[5]Facebook, โพสต์จากเพจผู้บริโภค https://www.facebook.com/wecanchoose/posts/1902920746683924/
[6]ไทยรัฐออนไลน์, “เขย่าวงการน้ำวิตามิน Double C จับมือ Ferro เปิดตัวเป็นผู้นำนวัตกรรม “ขวดใสป้องกันแสง” https://www.thairath.co.th/business/market/2065109
[7]หน้าเว็บไซต์หลักของเครื่องดื่มวิตามินซี V2000 https://www.vitamindrinkv2000.com/

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า