fbpx

VibeMai กลุ่มคนที่อยากให้เชียงใหม่อยู่ได้ด้วยการเป็นเมืองแห่งดนตรีและศิลปะ

ในฐานะคนเชียงใหม่โดยกำเนิด และเป็นอดีตคนวงการสื่อเชียงใหม่ ฉันได้ยินคำว่า “เชียงใหม่เมืองดนตรี” มานานหลายปี 

ความพยายามขับเคลื่อนให้หัวเมืองใหญ่แห่งภาคเหนือกลายเป็นนครแห่งเสียงเพลงมีมาอย่างยาวนานโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์คือ การส่งนักดนตรีเข้าสู่ตลาดวงการเพลงที่ได้รับการยอมรับในฝีมือจนเป็นที่รักของผู้คนในระดับประเทศ

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว วลีชวนฝันนี้ยังไม่ทำงานและยังไม่ประสบผลสำเร็จซักที

มีความพยายามมากมายที่ทำให้สิ่งที่คนเมืองเหนือฝันเกิดขึ้นจริง จนเราเริ่มเห็นว่าความพยายามนี้เข้าท่าและเป็นไปได้ เมื่อเราได้รู้จักกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เรียกตัวเองว่า VibeMai ซึ่งพันธกิจของคนกลุ่มนี้และองค์กรเล็กๆ คือการทำให้คนดนตรีในเชียงใหม่มีพื้นที่แสดงออก และได้รับสวัสดิการ ค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิที่พึงจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรมและเท่าเทียมกับผู้คนอีกหลายสาขาวิชาชีพ

เพราะช่วงโรคระบาดนี้ นักดนตรีเหล่านี้แหละคือกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งเป็นกลุ่มแรก

จากซ้ายไปขวา: ปูน, พลอย, ดนดร์, แจง, มีน

รวมถึงอีกหนึ่งโปรเจคต์ที่เป็นการเปิดตัว VibeMai ให้เราได้รู้จักในระดับ “ไม่ได้มาเล่นๆ” อย่างการรวมคนดนตรีน้องใหม่มาร้อง-เล่น และตีความเพลงโฟล์กซองคำเมืองของครูเพลงระดับตำนาน จรัล มโนเพชร ในวาระการเสียชีวิตครบรอบ 20 ปี เราจึงนัดหมาย 5 แกนนำของ VibeMai มาพูดคุยกันที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ แลนด์มาร์คสำคัญที่หนึ่งของเชียงใหม่คือ พลอย-พลอยไพลิน เกษมสุข นักวางแผนครอบครัวและนักร้องกลางคืน, ดนตร์-ธนัทคุณ สุสุข สมาชิกวง Chiang Mai Blues, มีน-ฉัตรชัย สุขอนันต์ นักการละคร, ปูน-ธนา วงศ์ใหญ่ นักดนตรีกลางคืนและครูสอนดนตรี และแจง-ดุจดาว จันทร์เอี่ยม พนักงานออฟฟิศ

ซึ่งทั้งห้าทำงานอยู่ในสายอาชีพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เพราะดนตรีต่างยึดเหนี่ยวให้เขาลงเรือลำเดียวกัน

เพื่อขับเคลื่อน VibeMai ให้กลายเป็นพื้นที่เพื่อนักดนตรีโดยแท้จริง

Track 1
เริ่มต้นรวมตัวคนรักดนตรีและศิลปะในเชียงใหม่

จากครูโจ อาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ อาจารย์สมัยเรียนของดนตร์และปูนมีความฝันร่วมกันกับเพื่อนๆ อย่างชา-วิชา เทศดรุณ (Harmonica Sunrise, คณะสุเทพการบันเทิง) รวมถึงสหายที่อยากเห็นเชียงใหม่ที่พวกเขารักและเติบโตมา มีพื้นที่ที่คนทำงานศิลปะอย่างพวกเขาสามารถแสดงฝีไม้ลายมือและหาเลี้ยงตัวเองได้ จึงเกิดการชวนเพื่อนพี่น้องที่รู้จักที่เป็นดีไซเนอร์ อาจารย์สอนดนตรี เจ้าของบริษัทเช่าเครื่องเสียง ครูสอนศิลปะและอีกสารพัดอาชีพแต่มีใจรักในงานดนตรีและศิลปะเหมือนกันจนได้มาเป็นทีม VibeMai ในที่สุด

“มันก็เหมือนเป็นหมุดหมายมาระยะยาวแล้วว่า อยากให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองดนตรี ทีนี้พอเหมือนเป็นช่วงหาทีม แล้วเราหลายๆคนก็สนใจดนตรีประเด็นดนตรีเหมือนกัน ว่าดนตรีมันขับเคลื่อนชีวิต ขับเคลื่อนเมืองได้ค่ะ มันก็เลยกลายเป็นว่า งั้นเราลองมารวมตัวกันจากความสามารถที่เรามี เราสามารถทำอะไรได้บ้าง พอมันมาตัวเปล่า แต่เราลองดูซิ เราลองมาฮอมกัน (มารวมตัวกัน) คนนี้ทำเว็บไซต์ได้ คนนี้ดีไซเนอร์ คนนี้ตัดต่อได้ คนนี้ประสานงานได้

“คิดว่าหลายๆคนรู้สึกว่าเชียงใหม่มันมีมนต์อะไรบางอย่าง มันมีเสียงของมัน มันมีบรรยากาศของวันที่ใครๆก็นึกถึงแล้วอยากมา เราก็เลยหยิบจุดขายเอกลักษณ์นี้เป็นตัวชูโรงว่า ถ้าเราจะขยายความเป็นเชียงใหม่โดยเฉพาะอย่างเช่นส่วนของดนตรี  ศิลปะการแสดงเราจะทำยังไงได้บ้าง ก็เหมือนเป็น Connector ที่จะมาขยายผลแต่ละอย่าง เราก็อยากยกระดับคนทำงานเหล่านี้ให้สามารถอยู่ในสังคมนี้ได้ มีอำนาจต่อรองต่อภาครัฐและเอกชนได้”

เมื่อเราขอให้อธิบายถึงความเป็น VibeMai ใน 1 ย่อหน้า ดนตร์ได้ให้คำตอบมาว่า

“เราเป็นทีมงานที่รวมกันเพื่อการสร้างพื้นที่กลาง หรือการเป็น Connectorให้กับดนตรีในเชียงใหม่กับทางภาครัฐและเอกชน กับผู้ประกอบการ แล้วก็เราอยากจะสร้าง Community ที่มันเชื่อมโยงกันทั้งหมดในคำว่าเชียงใหม่ ให้มันกลายเป็นเชียงใหม่เมืองดนตรี สามารถสร้างการท่องเที่ยวหรือมูลค่าจากการที่เราเอาดนตรีมาไว้กับเมือง แล้วเมืองพัฒนาขึ้น ทั้งภาครัฐและเศรษฐกิจด้วยดนตรีเป็นหลัก”

Track 2
เพราะอยากให้คนดนตรีและศิลปะเชียงใหม่อยู่ได้และอยู่ดี

“เชียงใหม่เล็กมากพอที่จะทำให้นักดนตรีได้เจอกันง่ายกว่าหลายๆที่ แล้วก็ด้วยความเป็นตัวของตัวเองเราเลยมีเพลง Original เราสามารถทำมันได้อิสระ ไม่ได้มีค่าย อยากทำอะไรก็ทำ จนมีบางกลุ่มหรือศิลปินบางคนที่ไปโด่งดังที่กรุงเทพฯ ที่เรียกว่าอยู่ในสื่อส่วนกลางแล้วกัน”

เมืองใหญ่ที่ส่งออกศิลปินมากหน้าหลายตาสู่วงการเพลงไทยมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่างคุณลุงจรัล มโนเพ็ชร วง ETC.ที่เป็นวงแนว Soul,Fusion Jazz ชื่อดัง หรือเขียนไขและวานิชที่ดังเป็นพลุแตกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จากเพลงแก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร 

“แต่ทำไมเราต้องเข้าไปสู้ในเมืองหลวงเพื่อที่เอาชีวิตที่เราคาดหวังว่ามันจะดี มีเงินเดือน หรือการหาเงินทุนอย่างนี้ในกรุงเทพฯก็ง่ายกว่า แล้วพอมาผนวกกับประเด็นดนตรีและศิลปะ เหมือนกับการที่เราอยู่เชียงใหม่ เราเห็นศักยภาพ เราเห็นจิตวิญญาณของมันน่ะค่ะ ว่ามันมี แล้วมันสมควรที่จะได้การตอบแทนหรือด้วยการยกระดับที่มันดีขึ้น”

นี่คือสิ่งที่ VibeMai ตั้งคำถามกับเส้นทางอาชีพของศิลปินในเชียงใหม่ จากในอดีตที่กว่าจะเป็นที่รู้จักของคนฟังเพลงทั่วไปต้องผลักดันตัวเองไปสู่เมืองใหญ่ จนถึงทุกวันนี้ที่การทำ Home Studio และเผยแพร่ผลงานลงสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ให้คนหมู่มากรู้จักเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ แต่พื้นที่สื่อและรายได้ในเชียงใหม่อาจยังไม่ตอบโจทย์ของคนที่เลือกทำอาชีพนี้

“ค่าตัวรายชั่วโมงเชียงใหม่ กรุงเทพฯ เท่าไหร่ แค่นั้นเลย เชียงใหม่ยังมีชั่วโมง 150-200 บาท  แต่กรุงเทพฯชั่วโมงเกือบ 1,000 บาท พลอยว่ามันคือความน่าน้อยใจ มันมีความบางอย่างที่มันก็ไม่ยุติธรรมสำหรับคนเล่นดนตรี”

“คือมันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ต้องใช้เงินในการขับเคลื่อนอะไรสักอย่าง ฉะนั้น เราก็จะเห็นนักดนตรีที่อยากเข้าไปอยู่ตรงกลางอยู่แล้ว เพราะว่ามันปฏิเสธไม่ได้ที่ว่า จะต้องมีเงินก่อนแล้วเดี๋ยวเราค่อยมีอะไรที่จะผลักออกมาได้  มันเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง” ปูนเสริมจากมุมมองที่เป็นนักดนตรี

ยิ่งในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกและกลับมาได้เป็นกลุ่มสุดท้ายคือเหล่าศิลปินทั้งหลาย สมาชิกของ VibeMai อย่างดนตร์ จากวง Chiang Mai Blues ปูน และพลอยที่ทำงานด้านดนตรีที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ยิ่งทำให้ VibeMai มองเห็นสิ่งที่พวกเขาอยากทำให้คนเหล่านี้ได้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

“พอมันมี COVID-19 แล้วมันชัดขึ้นก็คือนักดนตรีหรือสายอาชีพนี้ค่ะ ไม่มีการดูแล ไม่มีสวัสดิการ ประกันสังคม เป็นอาชีพที่อยู่ได้ด้วยตัวเองลำบากมากๆ ทั้งที่ดนตรีมันเหมือนแบบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของทุกคน แต่อำนาจในการต่อรอง หรือการใช้ชีวิตมันสู้ไม่ได้เลย หรือเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย ตะโกนไปยังไงใครก็ไม่ได้ยิน เลยเหมือนเป็นแรงผลักดันเราด้วยเหมือนกัน 

“เพราะว่าในช่วงหนึ่งพลอยกับพี่ดนตร์เคยร่วมงานกันมาก่อน ทำโปรเจคสั้นๆเรื่องบ้านปันเสียง เป็นโปรเจคที่เอานักดนตรีหรือใครที่มีเวลาว่างมาสอนดนตรีสอนศิลปะให้กับเด็กชาติพันธุ์ ตอนนั้นมันก็เลยเห็นแผลที่กว้าง ที่ใหญ่มาก ทั้งเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนเสริมแบบนี้ แล้วก็รวมถึงนักดนตรีก็ไม่สามารถหาเวลาว่างมาสอนได้ เพราะอย่างที่เมื่อกี้ปูนบอกคือมีทั้งสอนและมีทั้งเล่นกลางคืน แล้วเสาร์อาทิตย์ก็เหมือนต้องไปสอนดนตรี ดังนั้น จะไม่มีเวลามาทำงานอาสาตรงนี้ เราก็เลยเหมือนเห็น Pain Point เห็นช่องว่างต่างๆพอดีแล้วประจวบกับ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทุกคนเลยมีเวลาว่าง แล้วก็เห็นหลายๆอย่างคล้ายๆกัน ก็เลยเป็นที่มาของการรวมตัวตรงนี้ด้วยว่าเราก็อยากจะพัฒนาและแก้ไขสิ่งต่างๆเหล่านี้”   

“แล้วด้วยความที่ว่านักดนตรี หรือว่า ส่วนงานดนตรีศิลปะเนี่ย เขาทำงานแยกกัน ไม่ได้มีการรวมกลุ่มหรือว่ามีการรวมกลุ่มเยอะแต่ว่าก็เล็กๆน้อยๆ ไม่สามารถไปต่อรองอะไรกับสวัสดิการอื่นๆได้ ถ้าสมมุติจริงๆแล้วเราตกงานก็ควรจะมีสวัสดิการอย่างเช่น ประกันสังคมที่เขาชดเชยให้ อันนี้เราก็ไม่มี เราอยากจะสนับสนุนให้มันเกิดสวัสดิการเหล่านี้ ให้มันมีพื้นที่ส่งเสริมนักดนตรีหรือว่างานศิลปะขึ้น เราอยากมี เราอยากเป็นตัวเชื่อมโยงให้มันได้เกิดสิ่งเหล่านี้เพราะว่าบางที นักดนตรีอาจจะไกลกับผู้ประกอบการมากเลย แต่ว่าในกลุ่มเรามีคนที่รู้จักกันเราก็จะดึงเขาเข้ามา เราจะได้สร้างเชียงใหม่ไปด้วยดนตรีนี้แหละ” ดนตร์เสริมถึงสิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะทำเพื่อศิลปินในเชียงใหม่

พลอยเล่าให้เราฟังอีกว่าตอนนี้ VibeMai กำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศด้านดนตรีและศิลปะในเชียงใหม่ 

“เพราะว่าที่ผ่านมาทั้งภาครัฐก็ตามหรือที่ผ่านมามันไม่มีชุดข้อมูลนี้ พอมันไม่มีน่ะค่ะ การจะไปต่อรองทั้งภาครัฐและเอกชนมันทำได้ยากมาก เราก็เลยเหมือนต้องมาทำเรื่องพื้นฐาน คือถ้าเราอยากให้มันยั่งยืน ระบบนิเวศมันก็เหมือนป่า มันก็ต้องมีการพึ่งพากันอย่างเช่น ศิลปินก็ต้องมีสถานที่ที่เล่นใช่ไหม หรือว่ามีร้านซ้อมดนตรี หรือมี Studio ทุกอย่างมันเกื้อกูลกันแบบนั้น ดังนั้น ถ้าเราอยากจะผลักดันประเด็นนี้ให้ดนตรีและศิลปะมีอำนาจต่อรองในสังคมมากขึ้น เราก็ต้องมาดูป่า ป่าดนตรีศิลปะว่าตอนนี้มันมีอะไรบ้างมันขาดเหลืออะไรบ้างเพื่อที่เราจะได้ ถ้ามีปัญหาเราจะได้แก้ได้ถูกโรคหรือเราจะทำให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ขึ้นยังไงได้บ้าง” 

Track 3
เชื่อมต่อคนหลายวัยมาสร้างสรรค์บรรยากาศใหม่ให้เชียงใหม่ได้คึกคัก

นอกจากการผลักดันให้เหล่าศิลปินได้มีชีวิตที่อยู่ดีและอยู่ได้ อีกหนึ่งสิ่งที่ VibeMai อยากทำในฐานะ Connector คือการเชื่อมต่อช่องว่างต่าง ๆ ระหว่างคนต่างรุ่นต่างวัยที่รักในดนตรีและศิลปะ รวมถึงผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความเข้าใจและสร้างพื้นที่ของดนตรีและศิลปะได้อย่างแท้จริง 

พลอยพูดถึงความเชื่อหลักของ VibeMai ว่าผู้คนมีใช้ชีวิตหรือชีวิตชีวาได้ผ่านดนตรีและศิลปะ

“ดังนั้นมันเหมือนว่าการที่เราจะไปเป็นเมืองดนตรีได้มันก็ต้อง ทำยังไงล่ะให้มันอยู่ในชีวิตประจำวัน มันก็มีตั้งแต่ผู้คนทั่วไป ชุมชน สำคัญเลยภาครัฐและเอกชนก็ต้องสนับสนุนในเรื่องนี้ มันก็เลยเหมือนแบบตอนนี้มันมีงานมากมายที่กองไว้เลยนะว่าเราจะทำยังไง แต่ทุกคนมีต้นทุน หมายถึงว่ามันก็ทำกันมา แยกกันทำนะ แล้วถ้าเรามารวมทุกขาได้ มันน่าจะเกิดผลลัพธ์หรือเกิดสิ่งใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆเกิดขึ้น” 

“เพราะว่าช่องว่างระหว่างวัยในวงการดนตรีเชียงใหม่และก็ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มันมีช่องว่างระหว่างวัยที่ใหญ่มาก บางทีคุยกันเรื่องเดียวกัน สื่อสารกันไม่เข้าใจ แต่ว่าเราเอง ด้วยในทีมงานมีช่องว่างระหว่างวัยเหมือนกัน แต่ว่าคุยกันได้ เราก็เลยรู้สึกว่าจริงๆแล้วมันเชื่อมโยงได้นะ เราก็เลยอยากเป็น Connector เรื่องหลักๆ เลยที่อยากทำก็คือเป็น Connector ให้กับทีมงานเหล่านี้ ทีมงานเราทีมงานรุ่นใหม่ รุ่นเก่า ศิลปินใหม่ ศิลปินเก่า ศิลปินที่มีผลงานของตัวเอง ศิลปินที่ชอบเล่นโคฟเวอร์ เราอยากเป็น Connector ให้ทุกๆคนได้มีพื้นที่ของตัวเอง” ดนตร์อธิบายถึงนิยาม Connector ของพวกเขา

“พลอยก็มองว่าเรื่องนี้สำคัญ มันเลยเริ่มต้นที่ทีมงานเรามีความหลากหลายในช่วงอายุตั้งแต่อายุ 20 ปี กว่าจนถึง 55 ปี  ถ้าเราทำงานกลุ่มเล็กตรงนี้เราทำได้ ขยายผลไปในเชิงชุมชน ในเชิงเมืองเชียงใหม่ เราจะทำได้ไหม เพราะว่าในแง่การทำงาน อย่างภาคสังคมเชียงใหม่ปัจจุบันก็ตาม ก็ส่วนมากก็จะเป็นคนรุ่นเก่า ยังไม่ค่อยมีหน้าใหม่ๆเข้ามาทำ แล้วก็อีกอันที่เป็นตัวอย่างที่ดีของเชียงใหม่ คือเชียงใหม่อยู่ด้วยความหลากหลายมานานแล้ว แปลว่าขนาดไม่มีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยว มันอยู่ได้ด้วยความหลากหลายนั้นแปลว่า ความต่างมันอาจจะไม่ใช่ปัญหาก็ได้ เราก็เลยเหมือนกับว่ามาตรวจสอบว่าเราใช้สิ่งนั้นมาต่อ ยอดยังไงได้

“จริงๆมันเชื่อมโยงไปถึงโปรเจครำลึกลุงจรัล 20 ปีเหมือนกันค่ะ เพราะว่าอย่างที่เมื่อกี้ที่บอกมาว่าลุงจรัลเป็นเหมือนตัวแทนที่เอาวัฒนธรรมกลับมาตีความใหม่ได้ เพราะเหมือนช่วงเวลาที่ผ่านมา การที่เราจะทำอะไรแหกขนบเนี่ย มักจะมีข้อโดนติง โดนติเตียนบ้างอะไรอย่างนี้ ก็จริงๆก็ถามว่าสุ่มเสี่ยงไหม ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเจอข้อขัดแย้งแบบนั้นเหมือนกันแต่อาจจะด้วยเพราะกาลเวลาก็ตามหรือว่าการที่เราพยายามจะสื่อสารในด้านนี้ให้มากขึ้น มันก็ช่วยให้มีการผสมผสานเกิดขึ้น”

Track 4
รำลึก 20 ปีจรัล มโนเพ็ชร “21 บทเพลงคนช่างฝัน” – ผลงานเดบิวต์ของ VibeMai

รางวัลแด่คนช่างฝัน,พี่สาวครับ หรือ สาวมอเตอร์ไซค์ เหล่านี้คือบทเพลงของคุณลุงจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินระดับตำนานของคนเชียงใหม่ที่พาเพลงสไตล์โฟล์คซองคำเมืองเดินทางไปให้ผู้คนมากมายได้รู้จัก

3 กันยายนที่ผ่านมา VibeMai ได้จัดงานรำลึกถึงคุณลุงจรัล ในชื่อ รำลึก 20 ปีจรัล มโนเพ็ชร “21 บทเพลงคนช่างฝัน” ผ่านกิจกรรม Live-Session Concert และสารคดีซีรีส์ที่เล่าเบื้องหลังของงานนี้ เนื่องในวันครบรอบ 20 ปีที่คุณลุงได้จากชาวเชียงใหม่และวงการดนตรีไป

สิ่งที่ทำให้ VibeMai ได้จัดงานรำลึก 20 ปีฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะพอดี 

แจงเล่าให้ฟังว่าเป็นช่วงเวลา 1 เดือนก่อนที่จะถึงวันครบรอบ 20 ปี ทีม VibeMai ได้รวมตัวกัน และครูโจ สมาชิกของกลุ่มที่เคยได้มีโอกาสร่วมงานกับคุณลุงจรัลเกิดความคิดที่อยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อรำลึกถึงศิลปินท่านนี้

“ลุงจรัลเขาขอครูโจมาเล่น Backup ในงานโฟล์คของลุงจรัลนี่แหละ ครูโจเขาไปกินข้าวกับลุงจรัลแล้วก็ถามว่า หลังจากงานนี้ลุงจรัลอยากทำอะไรต่อ อยากเห็นอะไรต่อ ประโยคที่ลุงจรัลบอกคือ อยากเห็นคนรุ่นใหม่เอาเพลงของแกมาเล่นในแบบที่เขาอยากเล่น ไม่ใช่แบบที่เขาเล่นมาแล้ว 25 ปี”  ปูนที่รับผิดชอบงานสารคดีซีรีส์เล่าจุดเริ่มต้นของงานนี้ให้ฟัง

ชาว VibeMai ที่ต่างก็เติบโตมากับเพลงของคุณลุงจรัล มองเห็นว่างานรำลึก 20 ปีฯ ครั้งนี้ คือโอกาสดีที่จะได้ทำในสิ่งที่คุณลุงจรัลเคยฝันไว้ 

“เราก็เหมือนมาคุยตีความกันว่าเราจะรำลึกคุณลุงจรัล มโนเพ็ชรยังไงให้มันมีมุมมองของคนรุ่นใหม่ ในความเป็นศิลปิน เพราะว่าส่วนหนึ่งคุณลุงจรัลเป็นเหมือนตัวแทนของชาวล้านนาที่เอาความล้านนาไปผสมกับ Western (ความเป็นตะวันตก) แล้วก็โด่งดังระดับประเทศ เป็นที่ชื่นชอบทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนสูงวัย แล้วสถานการณ์ปัจจุบัน มันมีความขัดแย้งทั้งอายุ ทั้งเชื้อชาติชนชาติต่างๆ เราก็เลยว่า จุดเริ่มต้นนี้มันน่าจะช่วยทำให้มันเกิดความกลมเกลียวกันได้จากดนตรี”

งานแรกของพวกเขาในฐานะ Connector เพื่อศิลปินเชียงใหม่จึงได้เริ่มต้นขึ้น ทั้งค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับคุณลุงจรัลในการนำมาออกแบบ วางแผนรูปแบบงาน ติดต่อประสานงานผู้คนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาพื้นที่จัดแสดงงาน และการจัดหาศิลปินที่จะมาร่วมแสดงบทเพลงของคุณลุงจรัล

“20 ศิลปิน 21 เพลง ก็คือในปี 2021 20 ศิลปิน ก็ทำเพลงคนละเพลง เอามาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบของแต่ละวง แล้วมีเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันอีกเพลงหนึ่งที่มาเล่นด้วยกัน

“ถ้าเป็นโจทย์จากที่คุยกัน คือก็อยากให้เพลงลุงจรัลได้ถูกตีความใหม่ พี่ชาพูดในสารคดีเหมือนกันว่า ถ้าเราอยากจะเชิดชูใครสักคน เราควรจะเอาเพลงของเขา ผลงานของเขามาตีความเรียบเรียงในแบบที่คุณรุ่นใหม่จะเข้าใจ แล้วศิลปินคนนี้จะเป็นอมตะจริงๆ คือผมคิดว่าคำพูดนี้มันจริงนะ ถ้าสมมุติว่าเราเอาเพลงหรือว่าเอาสิ่งที่มันเป็นสมบัติทางปัญญาของใครสักคนที่มันสามารถเผยแพร่ได้ แล้วเราสามารถให้คนรุ่นใหม่เข้าไปศึกษา ฉะนั้น มันก็คือการส่งต่อภูมิปัญญาของลุงจรัลสู่คนรุ่นใหม่”

VibeMai ยังเล่าให้เราฟังอีกว่า งานแรกของพวกเขานี้เป็นงานที่ต้องเผชิญกับโจทย์ของความต่างระหว่างวัย เพราะเป็นการทำงานระหว่างคนดนตรีรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ความไม่เข้าใจของคนที่ผ่านยุคสมัยมาไม่เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจจนงานนี้ก็สำเร็จไปด้วยดี 

“ผลตอบรับส่วนมากก็ดีเลยนะ ทั้งกลุ่มเด็กรุ่นใหม่หรือว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ เขาก็ตื่นตาตื่นใจ เพราะมันก็เหมือนเป็นสิ่งใหม่ แล้วในสถานการณ์ที่ทุกคนตึงเครียดแบบนี้มันมีสิ่งนี้มาทุกคนก็รู้สึกผ่อนคลาย Happy คุณลุงคุณป้าก็ประมาณว่า เด็กรุ่นใหม่มาทำแบบนี้ ดีจังที่เขายังฟังเพลงลุงจรัลเนอะ อะไรอย่างนี้ มันก็หลากหลายความคิดเห็น แต่คำชมก็มีคำติก็มี เขาอาจจะรู้สึกว่าสิ่งนี้มันใหม่ เขาก็จะพูดในเชิงว่าทำไมไม่เล่นแบบเก่า ก็เป็นเรื่องปกติ” 

เราลองถามว่าถ้าเจ้าของงานตัวจริงได้มาเห็นโปรเจคนี้ ชาว VibeMai คิดว่าคุณลุงจรัลจะรู้สึกอย่างไร

“เขาก็น่าจะรู้สึกแปลก แปลกแหละ แต่คิดว่าเขาก็คงจะชอบนะ เพราะได้เห็นศิลปินทำอะไรแบบนี้” แจงตอบคำถามก่อนเป็นคนแรก

“ถ้าไปเล่นให้แกฟังในเวอร์ชันพี่สายกลางอย่างนี้ ลุงจรัลจะถามว่า แล้วตั๋วเล่นจะใด แล้วมันจะเป๋นจะใด อย่างนี้ครับ คือลุงจรัลอยากเห็นสิ่งนี้มาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมว่า ไม่รู้จะตอบโจทย์หรือเปล่า เพราะว่าไม่ได้คุยกัน แต่ว่าเราเองก็ทำในโจทย์ที่แกอยากจะเห็น เราคิดว่ามันน่าจะแปลกใหม่สำหรับแก” ดนตร์เสริมต่อมา

“ของพลอย จากที่ศึกษาแกผ่านจากชีวประวัติ พลอยคิดว่าแกจะเปิดรับมันนะ เพราะว่าจริงๆแกก็เป็นคน ก้าวหน้าพอสมควร เอาดนตรี Western มาเล่นกับคำเมือง หรืองานต่างๆที่แกทำมามันแหกขนบในสมัยนั้นแล้วมันกลายเป็นแบบ Pop culture เป็น Mass culture”

Track 5
VibeMai และก้าวต่อไปของการเป็นเมืองแห่งดนตรีและศิลปะที่หวังไว้ว่าเชียงใหม่จะได้เป็น

ก้าวแรกของ VibeMai ที่อยากจะเป็นตัวเชื่อมต่อให้กับคนดนตรีและศิลปะเชียงใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และก้าวต่อ ๆ ไปของพวกเขากำลังจะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน เราถาม VibeMai ว่าอะไรคือก้าวต่อไปเพื่อทำให้เชียงใหม่เมืองแห่งดนตรีและศิลปะที่พวกเขาอยากเห็นเกิดขึ้นในที่สุด

“อยากให้เชียงใหม่เป็นเมืองดนตรี อยากให้เชียงใหม่แข็งแรงเรื่องดนตรี ตัวนักดนตรีเองทำมาตลอด ทำเรื่องความแข็งแรงทางด้านศักยภาพของนักดนตรีมันเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ นักดนตรีมีเพิ่มขึ้น คนเก่งๆมีเพิ่มขึ้น ศักยภาพที่สามารถไปได้ทั่วประเทศ ต่างประเทศก็มี มีเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้ามันจะเป็นเมืองดนตรีได้ นอกจากจะนักดนตรีมีแล้ว คนดูก็ต้องมี พื้นที่ทั้งหลายในเชียงใหม่ก็ต้องสนับสนุน ชุมชนก็ต้องสนับสนุน ภาครัฐก็ต้องสนับสนุน ฉะนั้นแค่นักดนตรีอย่างเดียวมันไปไม่ได้ เรามองว่าถ้าเราสามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง 5-6 อย่างนี้เข้าด้วยกัน มันน่าจะไปได้ แล้วสิ่งที่มันทำให้ตรงนี้มันไปได้ก็คือเราต้องให้ทุกคนเห็นประโยชน์จากสิ่งนี้ร่วมกัน ถ้าไม่เห็นมันก็มีแค่นักดนตรีที่รู้สึกว่ามันไปได้ พี่มองว่าถ้าจะทำได้ เชียงใหม่เมืองดนตรี ถ้าจะทำได้จริงๆ มันต้องร่วมมือกันทั้งหมด แล้วเราก็จะเป็น Connector ให้ทุกคน นี่คือ VibeMai ที่อยากทำ

“เป้าหมายที่อยากให้มันเกิดขึ้นคือการพัฒนาเมืองให้ไปสู่เมืองเชียงใหม่ที่เป็นเมืองดนตรี เราอยากมี Festival ใหญ่ ระดับ International อะไรอย่างนี้ แล้วก็เราเห็นศักยภาพเมืองว่ามันไปได้ เราเห็นว่าแบบเชียงใหม่มันมี Vibe ที่เป็นเชียงใหม่ที่ทุกคนอยากมา 

International Festival ที่เราอยากทำมันก็จะเสริมเรื่องของธุรกิจเรื่องความมั่งคั่งให้กับคนในพื้นที่และ ไม่ใช่แค่นักดนตรีนะ คนในพื้นที่และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน ทีมงานหนึ่งละ วงต่อไปนักดนตรี วงต่อไปเป็นชุมชน วงต่อไปเป็นจังหวัด ก็ควรจะขยายออกไปเรื่อยๆ”

“พลอยมองว่าต้นทุนเชียงใหม่มันมีมาก มากๆเลยทั้งความหลากหลายหรือว่าศักยภาพ แล้วก็รู้สึกว่าการมาทำตรงนี้ก็เหมือนเราอยากให้ดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อนประเด็นเมืองต่างๆไปได้ อย่างที่พี่ดนตร์บอกก็ตามรวมไปถึงว่า แล้วในเชิงความเป็นอยู่ด้วย ดนตรีศิลปะมันคือความมั่งคั่งในชีวิตเหมือนกันนะ แล้วจะทำยังไงให้มันมั่งคั่ง แบบเรื่องเงินยั่งยืนด้วย เราจะทำยังไง ก็ คือก็ปักหมุดไว้ยาวๆว่าอย่างการท่องเที่ยวเชียงใหม่ เราสามารถทำเป็นการท่องเที่ยวเชิงดนตรีได้ไหม ซึ่งพอย้อนกลับมามอง มันทำได้  เงื่อนไขมันเกือบครบเลยนะ มีสถานที่แสดงนักดนตรี โรงเรียนดนตรี แต่แค่ยังไม่มีคนจับ เป็นไปได้ไหมว่าสุดท้ายการท่องเที่ยวเชียงใหม่มันอาจจะเป็นรูปแบบใหม่ไปเลยที่คนจะอยากมา มาได้ยิน Sound ของเชียงใหม่”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า