fbpx

ถอดบทเรียนเวทีออสการ์ 2022 จาก Verbal Bullying การข่มเหงทางคำพูด สู่ Direct Violence ความรุนแรงทางตรง

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


งานประกาศผลรางวัล อคาเดมี่ อวอร์ด หรือ ออสการ์ ครั้งที่ 94 วันที่ 28 มีนาคม 2565 ขณะที่ คริส ร็อก (Chris Rock) นักแสดงตลก-โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน เตรียมประกาศรางวัลสารคดียอดเยี่ยม แต่เขากลับเล่นมุกตลกเกี่ยวกับทรงผมของ เจดา พิงคิตต์ สมิธ (Jada Pinkett Smith) ซึ่งเป็นภรรยาของนักแสดงชื่อดัง วิลล์ สมิธ โดยกล่าวว่า “เจดา ผมรักคุณนะ G.I. Jane 2 รอคุณอยู่ โอเคนะ” (Jada, I love you. G.I. Jane 2 is waiting for you, alright?) โดยเป็นการล้อเลียนทรงผมโกนศีรษะเหมือนทหารของเธอ 

หลังจากนั้น วิลล์ สมิธ (Will Smith) นักแสดงชื่อดัง บุกขึ้นเวทีไปตบหน้า ของคริส ร็อก พร้อมบอกด้วยว่า “หยุดพูดชื่อภรรยาของฉันออกมาจากปากของนาย” (Keep my wife’s name out of your f**king mouth!)

จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดกระแสที่คนในโลกออนไลน์พูดถึง “การข่มเหงรังแกด้านคำพูด หรือ Verbal Bullying” ซึ่งเป็นลักษณะการพูดใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกหรือทำให้เจ็บปวด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเจ็บปวด และจะมุ่งต่อสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของบุคคลที่ถูกข่มเหงรังแก เช่น รูปร่างหน้าตา เชื้อชาติ ครอบครัว สถานะทางเศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากนั้นหมายรวมถึงการพูดจาที่รุนแรง โหดร้าย ทำให้เจ็บปวด อับอาย และรู้สึกประหม่า (สกล วรเจริญศรี, มปป.)

ความรุนแรงทางคำพูดยังมีการให้ความหมายที่หลากหลาย และอาจรวมไปถึง Verbal Abuse (ความรุนแรงทางคำพูด) ความหมายของการกลั่นแกล้งหรือความรุนแรงที่เกิดจากคำพูดหรือถ้อยคำ บทความเรื่อง “Verbal Abuse ระวังความรุนแรงทางคำพูด สร้างแผลในใจลูกตลอดกาล” โดย Starfish Academy (2021) ได้ให้ความหมาย Verbal Abuse คือ การใช้ถ้อยคำเชิงลบในการตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ การกระทำหรือพฤติกรรมของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผู้ฟังมักรู้สึกว่าถูกด้อยค่า รู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่ได้เรื่อง เป็นผู้ต้องแบกรับความผิดไว้คนเดียว

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 คริส ร็อก (Chris Rock) ได้ใช้อัตลักษณ์ของ เจดา พิงคิตต์ สมิธ (Jada Pinkett Smith) มาเป็นส่วนหนึ่งในการล้อเลียน และเปรียบเทียบกับภาพของทหารหญิงที่ต้องโกนผมในเรื่อง G.I. Jane (1997) ซึ่งทรงผมของเจดานี้เป็นผลกระทบมาจาก ภาวะโรค ‘ผมร่วงเป็นหย่อม’ (Alopecia Areata) เป็นโรคที่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อมรากผมจนทำให้ผมร่วง (trueID, 2022) ซึ่งการที่ คริส ร็อก (Chris Rock) ได้หยิบภาวะของโรคมาล้อเลียนในครั้งนี้ถือเป็นการข่มเหงทางคำพูด หรือ Verbal Bullying โดยหยิบประเด็นเรื่อง รูปร่างหรืออัตลักษณ์ มาทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรืออับอาย และเป็นการพูดในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ที่มีคนจำนวนมากให้ความสนใจและถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติของ คริส ร็อก (Chris Rock) ก็พบว่าเขามีอาชีพเป็นดาราตลกประเภท Stand-up comedy โดยรูปแบบของการแสดงตลกแบบนี้นั้นมักจะ “แสดงตลกที่ดูถูก มีพื้นฐานมาจากการเยาะเย้ยผู้ชมหรือ ‘คนทั่วไป’ ซึ่งจะได้รับอารมณ์ขันจากผู้ที่อยู่นอกการดูถูกพร้อมเพลิดเพลินกับเรื่องตลกเหล่านั้น” (ในประเทศไทยเองนั้นก็มีดาราตลกประเภทนี้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น โน้ส อุดม แต้พานิช) ซึ่งนั้นเองเป็นที่มาของการหยิบรูปร่างและลักษณะทางกายภาพของ เจดา พิงคิตต์ สมิธ (Jada Pinkett Smith) มาล้อเลียน 

แต่ในปัจจุบันที่คนทั่วไปต่างให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาของการข่มเหงทางคำพูดที่อาจจะกระทบถึงจิตใจของผู้ถูกกระทำ ทำให้รู้สึกเจ็บปวดนั้น ในบทความเรื่อง “วิลล์ สมิธ” ตบ “คริส ร็อก” บทเรียนบูลลี่ โลกต้องจำ “เมียข้าใครอย่าแตะ” โดย ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 ได้กล่าวถึง เหตุการณ์นี้ได้ตอกย้ำว่าการบูลลี่ในเรื่องสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งความรุนแรงทางคำพูด โดยคนทั่วโลกออกมาต่อต้าน เช่นเดียวกับการกระทำทางกาย อยากให้คนไทยได้รู้ว่า ไม่เหมาะกับการล้อเล่น เช่น เรื่องของสังขาร มีการล้อว่าคนนั้นคนนี้ตาเหล่ ฟันเหยิน นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะขำทั้งหมด

ทั้งนี้แล้วเห็นการที่เกิดขึ้นนี้ความหมายของการข่มเหงทางคำพูดที่ใกล้เคียงมากที่สุด คือ BODY SHAMING โดยคุณหมอวรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต (2565) ได้อธิบายว่า BODY SHAMING หมายถึงการพูด “เหยียดหยาม” หรือ “ล้อเลียน” รูปร่างหน้าตา ร่างกาย และทั้งนี้ทางโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การบูลลี่ ลักษณะ BODY SHAMING ถูกฝังมากับค่านิยม วัฒนธรรม บรรทัดฐานของสังคม ในขณะที่สังคมอเมริกัน คำพูดเชิงบูลลี่ รูปร่างหน้าตาแบบนี้ ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะ ประเด็นความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น เหยียดคนผิวสี ผิวเหลือง (ไทยรัฐออนไลน์, 2565)

“กลับมาประเทศไทย เราเคยเห็นตลกคาเฟ่ มักจะหยิบประเด็นรูปลักษณ์มาเล่นตลกมากมาย บางคนใช้รูปร่างหน้าตา อาการป่วย ก็ยังเอามาเล่น ดังนั้น ผมเชื่อว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเหล่านี้อยู่เยอะ”

ทั้งนี้แล้วสังคมทุกสังคมต้องมาทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าการหยิบยกรูปร่างหน้าตา เรื่องลักษณะใด ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของบุคคลนั้น ๆ มาใช้เป็นเรื่องล้อเลียน หรือล้อเล่นนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องตลกอีกต่อไป เมื่อเราต้องเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวตลกในครั้งนั้นด้วย โดยโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวไว้อีกว่า การล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์นั้น เรามักเข้าใจว่า เป็นการที่เราไปทำกับคนอื่น แต่หากพิจารณานิยาม หมายถึง การกระทำกับตัวเองด้วย หลายคนดูถูก เหยียดหยาม ตัวเอง เอามาเป็นเรื่องตลก คนอื่นจึงเข้าใจผิดว่า “เป็นเรื่องปกติและยอมรับได้” หรือ จะไปทักทายคนอื่น ด้วยคำที่บ่งบอกถึงรูปร่างหน้าตา และรูปลักษณ์ ก็ไม่มีใครว่า ก็เลยมองว่าเป็นบรรทัดฐานของสังคม ยิ่งคนๆ นั้นทำหน้าที่พิธีกรด้วย ไปทำกับหลายคน แล้วไม่มีใครว่า ก็คิดว่าทำได้ แต่บางครั้งไปทำกับโอกาสที่ไม่เหมาะสม “คนอื่นไม่ตลกด้วย” (ไทยรัฐออนไลน์, 2565)

แต่ทั้งนี้แล้วการใช้ความรุนแรงของ “วิลล์ สมิธ” ก็ไม่ใช่เรื่องถูกอีกเช่นกัน ในการบรรยายเรื่อง ความขัดแย้ง/ การป้องกันความขัดแย้ง และแนวทางเสริมสร้างสังคมสันติสุขสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดย ดร.อภิญญา ดิสสะมาน สํานักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้า (2563) ได้กล่าวไว้ว่า การสื่อสารอย่างสันติ (Non Violence Communication) นั้นก่อนจะสื่อสารกับคนอื่นเราต้องสื่อสารให้เข้าใจกับตนเองก่อน โดยรู้จักตนเองและสามารถจัดการ กับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองให้ได้ก่อน สุดท้ายเราก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งได้ ความขัดแย้งนั้นมาจากการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง

และยังได้นำเสนอ องค์ประกอบหลักของกํารสื่อสารอย่างสันติ

1. สังเกต เช่น การใช้ภาษา วิธีการของพวกเขา

การสังเกต คือ การพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้อีกฝ่ายทราบว่า เรากำลังจะพูดถึงอะไร เป้าหมายของเราก็คือ พยายามบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เฉพาะเจาะจง และเป็นกลาง

2. ความรู้สึกดีหรือไม่ดี

ความรู้สึกแสดงถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางกายและใจ จุดมุ่งหมายก็คือ จับความรู้สึกและให้เชื่อความรู้สึกนั้น กุญแจหลักในการแสดงความรู้สึกคือ ใช้คำพูดที่แสดงความรู้สึกของเรา ไม่ใช่คำตีความการกระทำของผู้อื่น

3. ความต้องการ

ในการสื่อสารอย่างสันติ ความต้องการหมายถึง สิ่งที่มีชีวิตชีวาที่สุดในตัวเรา เป็นคุณค่าและความต้องการที่ลึกซึ้งที่สุดที่มนุษย์มีร่วมกัน

4. การขอร้อง ต้องการให้เขาทำชอะไร

การขอรัองเป็นการบอกให้อีกฝ่ายรู้ว่า อะไรจะทำให้ความต้องการของเราได้รับการตอบสนองบ้าง

สุดท้ายแล้ว ความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากพื้นที่ใดก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ต้องมีผู้ที่กระทำและผู้ถูกกระทำเสมอ ดังนั้นแล้วการลดความรุนแรงและทำให้สังคมเรียนรู้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะมาจากคำพูดหรือการกระทำก็ตาม ก็ต้องมีผู้เจ็บปวดด้วยกันเสมอ 

กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของสังคมโลกที่ควรหันมาให้ความสนใจในเรื่องความรุนแรงนี้ และตระหนักถึงสภาวะจิตใจของผู้กระทำเป็นหลัก มากกว่ามาโต้เถียงว่าใครผิดใครถูก และแบ่งขั้วว่าโลกตะวันตกยอมรับในเรื่องนี้ แต่ในขณะที่โลกตะวันออกกลับยอมรับในอีกเรื่องแทน แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหนก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีผู้เจ็บปวดเสมอ โลกควรตระหนักและยุติความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตนี้

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า