fbpx

ภาษาฟุ่มเฟือย ออนไลน์ กับโลกที่ท้าทายของวรรณกรรม

กลายเป็นการตั้งคำถามแบบเล็กๆน้อยๆ ขึ้นมาในโลกโซเชี่ยล เรื่องของการที่นักอ่านให้คอมเมนต์งานเขียนวรรณกรรมในช่วงนี้ขึ้นมาว่า ไม่เข้าใจความหมายของ “สุนัขไม่รับประทาน” และ “เหยเก” ซึ่งก็ทำเอานักแปล นักเขียนที่ทำงานอยู่ในแวดวงการหาคำ ถึงกับตกอกตกใจ นี่เรามาถึงจุดนี้กันแล้วหรือ

แต่ทว่าพอมองลึกไปในเรื่องการใช้ภาษาในปัจจุบัน ที่กำแพงของโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์เริ่มแคบลง ความสละสลวยแบบภาษาไทย ถูกกร่อนให้เรียบง่ายเพื่อสื่อสารกันอย่างสะดวกสบาย การตั้งคำถามกลับไปยังความฟุ่มเฟือยของภาษาไทย และวิวัฒนการของภาษา ควรจะถูกจำกัดไหม หรือเราจะสามารถบิด ลดทอน เอาให้เหลือแต่ใจความสำคัญเพียงเท่านั้น

จึงกลายเป็นสิ่งที่น่าคิด น่าเขียนถึงอยู่ไม่น้อย

ภาษาสวย หรือ ฟุ่มเฟือย

พื้นฐานเดิมของภาษาไทย เป็นภาษาที่ผสมมาจากหลายท้องถิ่น ทั้งบาลี สันสกฤต จีน เขมร หรือแม้แต่คำไทยแท้ และด้วยพื้นฐานของคำที่หลากหลาย ทำให้ภาษาไทยสามารถมีลำดับขั้น มีชั้นเชิง มีคำอุปมา และลูกเล่นที่หลากหลายให้เลือกใช้ในการทำงานในหลายระดับ ทั้งภาษาทางการ ภาษาสื่อสาร และภาษาในงานวรรณกรรม

แน่นอนว่าในหมวดของภาษาทางการ ที่ถูกผูกเข้ากับราชการไทย ประเด็นเรื่องคำลิเก คำฟุ่มเฟือยในภาษาราชการ คำลำดับขั้นของไทย นั้นถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือยไปมาก ยิ่งผนวกเข้ากับความราชการไทยที่เชื่องช้า และพยายามเบี่ยงประเด็นอ้อมค้อม ภาษาสวยงามแบบไทย จึงกลายเป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐไทย ในการสร้างความสับสน ให้คำตอบแบบไม่ให้คำตอบกับประชาชนในลักษณะที่หลายคนคงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี 

อย่างไรก็ตาม แม้ในเชิงความฟุ่มเฟือยของภาษาไทยในลักษณะนั้นจะทำงานกับระบบแบบไทย แต่ความสละสลวยลุ่มลึกทางภาษา ก็เป็นสเน่ห์อย่างนึงที่ทำให้วรรณกรรมไทย มีอรรถรสในแบบไทยๆ ที่ทำให้นักอ่านยังคงหลงใหลในภาษาที่สวยงามในหมวดหมู่ของวรรณกรรม ที่ถึงแม้จะผ่านไปหลายยุคหลายสมัยแล้ว และภาษาเหล่านั้นไม่ถูกใช้ในการสื่อสารได้จริงก็ตาม

การมาถึงของภาษาออนไลน์

ไม่ใช่แค่ตลาดทางสื่อเท่านั้นที่โดนรบกวนจากเทคโนโลยีจนทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป ในแง่ของการใช้ภาษาสื่อสารผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ยิ่งทำให้การใช้ภาษาไทยยิ่งวิวัฒน์มากขึ้นไปอีก ซึ่งการสื่อสารผ่านโลกโซเชี่ยลมีปัจจัยด้านความไวเข้ามาเป็นแรงผลักดัน การกร่อนให้ภาษาหรือคำ มาอยู่ในฟอร์มที่ง่าย สะดวก เข้าใจง่าย จึงได้รับความนิยมมากที่สุด ชนิดแบบ “โอเค รู้เรื่อง”

นอกจากนั้น ความเป็นออนไลน์ ยังสื่อถึงความไม่มีกำแพงเซนเซอร์ของความสุภาพ มีเพียงอัลกริทึ่มที่ตรวจจับ Crime Speech หรือคำพูดส่อการเหยียดที่จำกัดไว้บนข้อบังคับของแต่ละแพลตฟอร์ม นั่นทำให้กรอบของการใช้ภาษาจึงไม่จำเป็นต้องเป็นทางการ ทุกคนต่างใช้สำนวนที่แปรผันไปตามกระแสธารแห่งโซเชี่ยลมีเดีย ที่ไหลปนเปไป เป็นวาไรตี้ที่แล้วแต่ใครก็ตามจะถูกนำไปใช้ และใช้ต่อๆกัน

อย่างประโยคด้านต้นในย่อหน้าที่ผ่านมา ก็เป็นการเล่นคำที่หยิบยืมทั้งการพรรณนา ความสุภาพ และความฉับไวให้มาอยู่ในประโยคเดียวกัน “ทุกคนต่างใช้สำนวนที่แปรผันไปตามกระแสธารแห่งโซเชี่ยลมีเดีย ที่ไหลปนเปไป” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีกรอบ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของการเขียนคอลัมน์ที่ปรากฎในบทความโดยทั่วไปในยุคนึงด้วยซ้ำ

จากสิ่งนี้ ยังรวมถึงการเพิ่มสิ่งที่เป็นอรรถรส อย่างคำหยาบที่ไม่ถึงกับส่อความเกลียดชัง การลดระดับขั้นของผู้สนทนาระหว่างกัน ให้เหลือเพียงอิสระของการส่งสาสน์ รวมถึง Media ต่างๆที่ถูกปรับให้สั้น กระชับ เข้าสู่ประเด็นเลย ตัดอารัมภบทออกไป เหลือแก่นสาระสำคัญเข้าไว้ และถ้ามีการเพิ่มความอารมณ์ดี มุกตลก ไม่ต้องมีสาระมาก หรือาจจะมีสาระ แต่ปรับแต่งให้มีความสนุกสนานกว่าเดิม ก็จะยิ่งถูกจริตของความออนไลน์มากขึ้นไป

ชนิดที่เรียกว่า “จึ้ง ปัง แต่ไม่ต้องยาวมาก”

โลกของวรรณกรรมใหม่ที่ถูกท้าทาย

เมื่ออัลกริทึ่ม กำหนดให้นักท่องโซเชี่ยลมีความอดทนที่สั้นลงในการเสพย์สื่อ พฤติกรรมการอ่านรวมถึงระดับทางภาษาที่จะรับได้ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน การเขียนและการแปล จึงเข้าสู่กระบวนการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย

การปรับตัวในสายอาชีพ จึงมีการลดทอนและต่อเติมงานเขียนให้ถูกจริตของออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาของตัวเองให้ง่ายขึ้น เพราะจริงๆแล้ว คุณค่าทางวรรณกรรมเอง มีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอยู่แล้ว ในสมัยหนึ่ง “กู มึง” หรือ อีโมติค่อน >’’’< มีการมองว่า เป็นสิ่งไม่ควรอยู่ในนิยายหรือวรรณกรรม เพราะมันคือความไม่สุภาพไร้ความสละสลวย และสัญลักษณ์ทดแทน ไม่ถูกนับรวมเป็นภาษา แต่ทว่าในปัจจุบัน นิยายที่ได้รับการตีพิมพ์หลายเล่ม มีทั้งกูมึงและอีโมติค่อนอยู่ในไดอาล็อค ซึ่งจะให้จะมองว่านี่ไม่ใช่ความสวยงามทางวรรณกรรมเลย ก็อาจจะต้องมานั่งกรอบและทบทวนกันใหม่

แต่สิ่งที่กระทบโดยตรง คือทางเลือกของการเสพย์สำหรับงานวรรณกรรมภาษาดีดีจรรโลงใจแต่เป็นเนื้อหาสมัยใหม่นั้นน้อยลง การเติบโตของโซเชี่ยลมีเดีย มาพร้อมกับเนื้อหานิยายที่มากขึ้น และเป็นภาษาออนไลน์ที่ค่อนไปทางวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานออนไลน์หลักมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้กลุ่มคนที่อยากเสพย์ความลิเก ความสละสลวยทางภาษาในเนื้อหาสมัยใหม่ ถูกต้อนกลับไปอ่านสมัยเก่าแทน ในขณะที่งานเขียนที่ละเมียดละไมทางภาษาจะมีขึ้นมาติดตลาดซักชิ้น ก็ยากมากขึ้น รวมถึงการแปลแบบบ้าพลังอย่าง หนึ่งลักษณ์เหนี่ยวสวรรค์ หรือ พลังพสุธากัมปนาท ก็จะหาได้ยากมากขึ้นเช่นกัน

อาจจะกล่าวได้ว่า เราอยู่ท่ามกลางยุคของฟิคที่ดังมาจากออนไลน์ ภาษาแบบ ปังมาก งุ้ยๆ งั่มๆ จึ้งๆ แบบโนสนโนแคร์ นั่นเอง

ภาษาส่วนตัว ที่ไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป

เมื่อกำแพงการสื่อสารส่วนตัวถูกท้าทายมากขึ้น จนกลายเป็นคำถามสากล “Privacy vs. Security” การสื่อสารส่วนตัว ช่องแชท การคุยไลน์ พิมพ์ด่ากันในกรุ๊ปลับ ฟิคในบอร์ดวาย จะถูกนับเป็นเนื้อหาส่วนตัว อ่านกันเองได้หรือไม่ ทุกคนในโลกออนไลน์ สามารถอ่านได้ทุกอย่าง เขียนได้ทุกอย่าง แบบไม่จำกัดขอบเขตได้จริงหรือไม่

เราจะสามารถแยกข้อถกเถียงระหว่างภาษาที่ฟุ่มเฟือย และเป็นเครื่องมือการเบี่ยงประเด็นของราชการไทย ออกจากปัญหาคลังคำศัพท์ที่เป็นพื้นฐานของการเข้าใจการสื่อสารน้อยเกินไป หรือการใช้ภาษาที่แบบ “โนสนโนแคร์” ใครเก็ทก็เก็ท ใครไม่เก็ทก็ปล่อยใจ ฟีลๆจ้า ในกลุ่มคนชาวออนไลน์ได้หรือไม่

หลายๆครั้งการสนทนาโดยไม่มีการเซนเซอร์ การคุยกันส่วนตัว เมื่อถูกลากมาเป็นประเด็นสาธารณะ ก็ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นประเด็นสาธารณะได้อีกต่อไป ซึ่งมันเหมือนโลกที่เสรีภาพในโลกออนไลน์แบบไร้ขอบเขต แล้วมาวัดกันที่ใครจะประสบความสำเร็จทางการสื่อสารได้มากกว่ากัน

หลักคิดที่อาจจะสามารถย่อความซับซ้อนในวงกว้างของประเด็นนี้ ย่อลงให้เข้าใจปรากฎการณ์นี้ได้ง่ายขึ้น อาจจะผ่านการใช้การประเมิณว่า สิ่งที่เราเขียนในปัจจุบัน จะถูกบันทึกไว้อย่างไรในอนาคต ฉะนั้นวิวัฒน์ของภาษา อาจจะต้องกลับมาสู่หัวใจสำคัญของการสื่อสาร ว่าทุกครั้งที่เราพยายามจะส่งสาสน์นั้น มันส่งไปถึงผู้รับสาสน์ได้ครบถ้วนหรือไม่

ปี 2050 : ทันทีที่ต้าวตะเร้ก เดินสับแบบสับแบบใหม่ เข้ามาในโรงเรียน, “เกินปุยมุ้ยปุ้มปุ้ย” ไอ้ต้าวแว่นสุดหล่อ นักบาส ทักครัชแบบน้วยๆ หน้าตามุงิมุงิ ทำให้แก้มของต้าวตะเร้กเริ่มแดงอมชมแบบที่แบบครือออออแบบเลือดแบบฝาด “วันนี้มันจึ้งมันปังปุไปเลอ เริ่มเลอ” ต้าวตะเร้กคิดในใจ

แม้ว่าความเป็นจริง อาจจะไม่ได้เป็นไปลักษณะสุดทางแบบในย่อหน้าข้างต้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่า มันคือความท้าทายใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้แต่โลกของวรรณกรรมนั่นเอง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า