fbpx

รำลึกเหตุการณ์ 9/11 ด้วย United 93 ภาพยนตร์ที่พาคนดูเข้าสู่เหตุการณ์บนเครื่องบินลำสุดท้าย

เช้าวันที่ 11 กันยายน 2001 เครื่องบินพาณิชย์สายการบินอเมริกันจำนวนสี่ลำได้ถูกจี้ ประกอบด้วยเครื่องบินสายการบิน American Airlines 11, United Airlines 175, American Airlines 77 และ  United Airlines 93 เครื่องบินสามลำแรกได้ไปถึงเป้าหมายของผู้ก่อการร้าย แต่เครื่องบินลำสุดท้ายกลับเสียการควบคุม และได้ตกลงที่ทุ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวของเครื่องบินลำสุดท้าย ที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย

เสียงกรีดร้องในเช้าวันนั้น

เช้าวันนั้นเป็นเช้าวันอังคารวันหนึ่ง ที่ผู้คนในแมนฮัตตันได้ออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง บางคนตื่นมาทำงานในตอนเช้า รถไฟใต้ดินในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินทางไปทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครคาดคิดว่าวันนี้จะเป็นอีกวันที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติอเมริกัน ที่ส่งผลให้เกิดเรื่องวุ่นวายตามออกมาอีกมาก เหตุการณ์ที่ทำให้ทำให้ชนชาติอเมริกันได้ตื่นมาฝันมาพบโลกความจริง จากความทะนงตนในความเป็นมหาอำนาจหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น 

ในขณะที่คนบางคนกำลังซื้อฮ็อกด็อกเป็นอาหารเช้าในร้านข้างทาง ในขณะที่หญิงสาวบางคนกำลังวิ่งออกกำลังกายอยู่ในสวนสาธารณะ และในขณะที่ชายหนุ่มบางคนกำลังขึ้นลิฟต์เพื่อเข้าไปทำงานบนอาคารตึกแฝดที่ชื่อว่า World Trade Center เสียงระเบิดดั่งสนั่นก็ดังขึ้นกลางเมือง เกิดแรงสั่นสะเทือนไปถึงพื้นล่าง ไฟที่โหมกระหน่ำพร้อมกับควันพวยพุ่งบนตึกสูงปรากฏให้เห็นต่อสายตาชาวแมนฮัตตันที่ได้แต่กำลังช็อคและกรีดร้องอย่างหวาดกลัวสุดขีด 

นาฬิกาข้อมือของชายหนุ่มที่กำลังตื่นตระหนกในลิฟต์บนตึกนั้น ปรากฏเวลา 8.46 น. 

ท่ามกลางความวุ่นวายที่เรียกได้ว่าเป็นความโกลาหล เสียงรถฉุกเฉินจากทั้งรถตำรวจและรถกู้ภัยฉุกเฉินดังขึ้นทั่วเมืองนิวยอร์ก และในช่วงเวลาที่ไม่นานนัก ภาพที่ไม่มีใครคาดฝันว่าจะได้เห็นได้ประจักษ์ต่อสายตาชาวอเมริกันอีกครั้ง เมื่อเครื่องบินอีกลำได้มุ่งตรงเข้ามาด้วยระยะความสูงที่ต่ำกว่าปกติ และพุ่งชนตึกอีกตึกหนึ่งด้วยความเร็วเต็มสูบ เสียงระเบิดดังสนั่นพร้อมกับเสียงกรีดร้องอย่างหวาดกลัวของผู้คนที่เห็นเหตุการณ์ที่ดังขึ้นมากกว่าเดิม 

หญิงสาวที่ออกวิ่งออกกำลังกายในสวนที่กำลังยืนสังเกตเหตุการณ์ทั้งหมดได้แต่ตกตะลึงจนทำอะไรไม่ถูก เธอเอามือปิดปากพร้อมกับน้ำตาที่ไหลออกมาอย่างห้ามไม่ได้ 

นาฬิกาบนข้อมือของเธอ ปรากฏเวลา 9.03 น.

เรื่องราวบนเครื่องบิน

‘ผมต้องการกลับไปเล่าเรื่องราวคนธรรมดาเดินดิน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น มันเริ่มต้นในเช้าวันนั้น ลองกลับมาดูกัน ดูกันถึงรายละเอียด เราจะได้เห็นว่าอะไรเกิดขึ้นกันแน่ และพวกเรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร’ 

นี่คือคำพูดของ พอล กรีนกราส ผู้กำกับหนังที่เลือกที่จะหยิบเรื่องราวของเครื่องบินลำที่สี่ที่ตกลงในรัฐเพนซิลเวเนีย มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง United 93 (2006) แทนที่จะไปเล่าถึงเรื่องอื่น ๆ ในเหตุการณ์นั้น ทั้งที่ในแง่มุมอื่นดูจะมีเนื้อหาที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า เป็นเหตุการณ์ที่เป็นประจักษ์ต่อสายตาและอยู่ในความสนใจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ตึกแฝดในแมนฮัตตัน หรือเครื่องบินลำที่สามที่พุ่งเข้าชนอาคารเพนตากอน ที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย มากกว่าจะเป็นเรื่องราวของเครื่องบินลำสุดท้ายที่คาดว่าเป้าหมายคืออาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดีซี แต่กลับตกลงกลางทางบนทุ่งในรัฐเพนซิลเวเนียที่ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่นัก 

แน่นอนว่าไม่มีใครรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินลำนั้น กรีนกราสจึงต้องหาข้อมูลอย่างหนักเพื่อเขียนบทหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดจากหอบังคับการบินในการสื่อสารกับนักบินและบรรยากาศการทำงานของหอบังคับการบินในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ออกไปสัมภาษณ์ญาติ สามี หรือภรรยาของผู้เสียชีวิตในเครื่องบินลำนั้น ว่าใครทำอะไรที่ไหนบ้าง และก่อนที่เครื่องบินจะตก มีใครได้ติดต่อสื่อสารกับคนบนเครื่องบินหรือไม่ และได้พูดคุยอะไรกัน 

กรีสกราสต้องรวบรวมข้อมูลมหาศาลทั้งหมดและเขียนบทภาพยนตร์ออกมา และด้วยความที่เขาเป็นนักทำสารคดีมาก่อนทำให้เขาเลือกที่จะเล่าเรื่องหนังเรื่องนี้ในรูปแบบภาพยนตร์กึ่งสารคดี (Docu-Drama) ที่เป็นการเล่าเรื่องที่แต่งขึ้น แต่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบหนังสารคดี ที่ไม่ได้เน้นเรื่องราวตัวละครมากนัก แต่จะเน้นถ่ายทอดบรรยากาศของเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยความสมจริงและปรุงแต่งให้น้อยที่สุด 

แต่แน่นอนว่าการขอทุนจากสตูดิโอไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากวิธีการเล่าเรื่องที่กรีนกราสเลือกจะทำ ทำให้หนังเรื่องนี้จะไร้ชื่อดาราที่มีชื่อเสียง เพราะต้องการให้คนดูเห็นตัวละครในหนังเป็นคนธรรมดาสามัญที่สุด รวมถึงการเล่าเรื่องที่ไม่ได้สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมนัก เพราะกรีสกราสเลือกที่จะให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดความสมจริงอันตึงเครียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง นั่นหมายถึงโอกาสที่หนังจะทำเงินนั้นมีน้อยเหลือเกิน

แต่โชคยังดีที่งานหนังก่อนหน้านั้นของกรีสกราสอย่างหนังแอ็คชั่นภาคต่อจารชนคนอันตรายอย่าง The Bourne Supremacy (2004) นั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ทำให้สตูดิโอเชื่อใจและเปิดโอกาสให้กรีนกราสได้ทำหนังเรื่องนี้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินไปอย่างที่กรีนกราสตั้งใจ ในช่วงแรกของหนังเต็มไปด้วยการปูเรื่องที่เหมือนจะไม่มีจุดหมาย เพราะมันเป็นการเล่าเรื่องแบบสลับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเช้าวันนั้นที่เกิดขึ้นอย่างปกติ ไม่ว่าจะเหตุการณ์ผู้คนรอคอยไฟล์ทบินที่ล่าช้า ความวุ่นวายของหอบังคับการบินที่ต้องคอยจัดการไฟล์ทบินนับไม่ถ้วนตรงหน้าที่รอขึ้นบิน ชีวิตคนธรรมดาบนไฟล์ทบินที่ดำเนินไปอย่างปกติ รวมถึงชีวิตของผู้ก่อการร้ายที่ตื่นมาตอนเช้า สวดมนต์ และเตรียมตัวไปทำภารกิจพลีชีพวันนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมา ได้ถูกถ่ายทอดอย่างปกติที่สุด กรีนกราสวางสถานะของคนดูเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปเท่านั้น คล้ายกับดูสารคดีติดตามชีวิตคนสลับ ๆ กันไป ซึ่งอาจเป็นยาขมสำหรับคนดูหนังที่ไม่ชินกับการเล่าเรื่องแบบนี้ จนอาจส่งผลให้หลับกลางทางก่อนก็เป็นได้

แต่ทันทีที่เรื่องเดินเข้าสู่เหตุการณ์ในนิวยอร์กเกิดขึ้น เมื่อคนดูเริ่มเห็นบรรยากาศสุดช็อคและวุ่นวายในหอบังคับการบิน นั่นเป็นสัญญาณที่ปลุกคนดูให้ตื่นจากอาการง่วงหงาวหาวนอน ให้โสตประสาทตื่นขึ้นทันทีด้วยเหตุการณ์ที่เริ่มตึงเครียดขึ้นหลังจากนั้น ที่หนังจะเริ่มโฟกัสเรื่องไปที่เหตุการณ์บนเที่ยวบิน 93 อย่างจริงจังในช่วงครึ่งหลังของหนัง

สิ่งที่กรีนกราสเลือกทำประสบความสำเร็จอย่างยิ่งต่อคนดู มุมกล้องแบบสั่น ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของกรีนกราสเริ่มทำงานต่อความรู้สึกคนดูมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไต่ระดับความตึงเครียดมากขึ้นไปตามลำดับ เริ่มจากที่ผู้คนบนเครื่องบินเริ่มสังเกตเห็นถึงความผิดปกติเมื่อพบว่ามีผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน ไปจนถึงภาวะสับสนที่ไม่ทราบถึงเป้าหมายในการกระทำของผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ 

และทันทีที่ทราบข่าวว่า ที่นิวยอร์กมีการขับเครื่องบินชนตึกแฝดจากโทรศัพท์บนเครื่องที่ผู้โดยสารแอบติดต่อกับคนทางบ้าน และเริ่มส่งข่าวต่อกันในหมู่ผู้โดยสาร ไปจนถึงการตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันขัดขวางผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าโอกาสรอดชีวิตนั้นริบหรี่จนเป็นไปไม่ได้ ภาพคู่รักสูงอายุคอยปลอบใจกัน ภาพการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในการให้กำลังใจกันและกัน และภาพการส่งโทรศัพท์ให้คนบนเครื่องโทรไปหาคนที่รักเพื่อบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย

จังหวะการเล่าเรื่องช่วงนี้คล้ายกับการร่ายมนต์สะกดคนดูให้เกิดความรู้สึกทั้งลุ้นระทึก หดหู่ และตึงเครียดได้ถึงขีดสุด จากทั้งมุมกล้องที่สมจริง จังหวะการตัดต่อที่ยิ่งเน้นความวุ่นวาย และฝีมือการกำกับของกรีนกราสในการสร้างเหตุการณ์สุดโกลาหลบนเครื่องบินที่มีแต่การต่อสู้กันของคนสองฝั่งเพียงเพราะความเชื่อและเพื่อจุดหมายของตนเองเท่านั้น มันจึงเป็นไคลแมกซ์ที่ตึงเครียดจนลืมหายใจ และแม้เราจะรู้ตอนจบของหนังอยู่แล้ว ก็ยังอดที่จะใจหายไม่ได้ 

แม้จะดูเหมือนว่าหนังจะมีความเชิดชูอเมริกันชนในวีรกรรมการเสียสละครั้งนี้ แต่หากดูจริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ไม่ได้พยายามจะสร้างความเชื่อที่เชิดชูอเมริกันชนอย่างโจ่งแจ้ง เพราะมันได้พยายามถ่ายทอดหัวจิตหัวใจในสัญชาตญาณการเอาตัวรอดและการตัดสินใจในภาวะความเป็นความตายของมนุษย์มากกว่า อีกทั้งในแง่ของตัวละครกลุ่มผู้ก่อการร้ายในหนังก็ไม่ได้ถูกถ่ายทอดในมุมมองแบบตัวร้ายที่ไร้หัวจิตหัวใจ ตรงกันข้าม หนังกลับมอบแง่มุมความเป็นมนุษย์ให้อย่างเท่าเทียม เราได้เห็นผู้ก่อการร้ายในหนังมีความทุกข์ใจ หวาดกลัว และตื่นตระหนกไม่แพ้ผู้โดยสารในเครื่องบิน สิ่งเดียวที่ต่าง คือความเชื่อที่ถูกปลูกฝังและจุดหมายของการกระทำที่แตกต่างกันของมนุษย์เท่านั้นเอง ผ่านสายตาของผู้เล่าเรื่องที่มองว่าทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่ต้องทำในสิ่งที่ตัวเองต้องทำ มิใช่เป็นการตัดสินแทนว่า ใครเป็นคนดี ใครเป็นคนเลว 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จพอสมควรในแง่ของรายได้ หนังปิดรายได้ทั่วโลกไว้ที่ 76 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้าง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับเสียงวิจารณ์ในแง่บวกอย่างท่วมท้น ในฐานะหนึ่งในภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์ 11 กันยา ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง และได้ไปถึงเวทีออสการ์กับการเข้าชิง 2 รางวัล ได้แก่สาขาตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ที่เป็นการมีชื่อเข้าชิงเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวจนถึงตอนนี้ของพอล กรีนกราส อีกด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเครื่องบินถึงเป้าหมาย

เหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นจำนวนมากกว่า 3000 คน ประกอบด้วยการพลเรือนที่เสียชีวิตที่นิวยอร์กบนอาคารตึกแฝดและภาคพื้นดินราว ๆ 2600 คน ทหารและพลเรือนที่เสียชีวิตที่อาคารเพนตากอน 125 คน นักดับเพลิงที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในนิวยอร์กราว ๆ 340 คน ผู้ก่อการร้ายที่ทำการจี้เครื่องบิน 19 คน และผู้โดยสารบนเครื่องบินทั้งสี่ลำ 246 คน (ไม่มีผู้ใดบนเครื่องบินทั้งสี่ลำรอดชีวิตแม้แต่คนเดียว) 

มันได้ปลุกอเมริกันชนจากฝันที่หลงมัวเมาว่าประเทศตนนั้นยิ่งใหญ่ เพราะไม่เคยมีใครกล้าคิดว่าจะมีผู้ก่อการร้ายกลุ่มใดกล้ากระทำการอันอุกอาจขนาดนี้บนแผ่นดินสหรัฐฯ หลังจากนั้นจึงเกิดการปฏิรูปแบบระเบียบการบินบนแผ่นดินสหรัฐฯ อย่างเข้มงวด รวมถึงหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองระหว่างประเทศ และเกิดสงครามครั้งประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกับประเทศอิรักและประเทศอัฟกานิสถานจากเหตุผลที่อ้างว่าทั้งสองประเทศนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงให้ที่พักพิงและช่วยเหลือ โอซามา บิน ลาเดน หัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ ที่ได้รับการเปิดเผยในภายหลังว่าคือตัวการก่อวินาศกรรมครั้งนี้ด้วยเหตุผลว่าสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนประเทศอิสราเอล รวมถึงส่งทหารไปประจำการที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยสงครามครั้งนี้มีชื่อว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror)

หลังจากลอยนวลไปได้หลายปี ในปี 2011 บิน ลาเดนก็เสียชีวิตในบ้านพักที่เป็นแหล่งกบดานในเมืองแอบบอตทาบัต ประเทศปากีสถาน จากการปฏิบัติการปลิดชีพของหน่วยซีล โดยคำสั่งของประธานาธิบดี บารัก โอบามา 

นอกจากนั้นเหตุการณ์นี้ยังเป็นชนวนชั้นดีในการเปิดเผยเบื้องลึกและเบื้องหลังความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ถึงภาวะความเป็นผู้นำ เบื้องลึกเบื้องหลังผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องธุรกิจ ความลับลมคมในในการก่อสงครามอิรัก และสงครามกับตาลีบันในประเทศอัฟกานิสถาน โดยตัวการสำคัญคือ ไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีตัวแสบที่ออกมาแฉเรื่องราวทั้งหมดผ่านภาพยนตร์สารคดีชื่อว่า Fahrenhiet 9/11 ในปี 2004 ซึ่งประสบความสำเร็จจนสามารถคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีเดียวกันได้เลยทีเดียว 

หลังคราบเขม่าควันได้หายไป สิ่งที่เหลือไว้อาจเป็นคำถามสำคัญถึงเหตุการณ์นี้ ว่าเหตุใดเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น? กลุ่มผู้ก่อการร้าย ศาสนา ความเชื่อ หรือความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์? ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ผู้ที่สูญเสียคือชีวิตประชาชนคนธรรมดา ที่ต้องรับกรรมจากการกระทำของผู้มีอำนาจเท่านั้นเอง


อ้างอิง

https://blackfilm.com/20060421/features/paulgreengrass.shtml

https://www.imdb.com/title/tt0475276/

ภาพยนตร์ Zero Dark Thirty กำกับภาพยนตร์โดย แคธลิน บิเกโลว์
ภาพยนตร์สารคดี Fahrenhiet 9/11 กำกับภาพยนตร์โดย ไมเคิล มัวร์

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า