fbpx

ชวนศึกษาการแก้ปัญหา ‘สัมปทาน-ตั๋วร่วม’ จากกรุงลอนดอน

Mind the Gap!”
“โปรดระวังช่องว่าง! (ระหว่างรถไฟและชานชาลา)”

เรากำลังยืนทรงตัวอยู่ในรถไฟใต้ดินที่กำลังชะลอความเร็วจอดรถเทียบชานชะลา มือข้างหนึ่งหยิบ Oyster Card หรือบัตรโดยสารแบบเติมเงินสีฟ้าสดใสเตรียมแตะบัตรออกจากสถานี เสร็จแล้วเดินข้ามทางม้าลาย ขึ้นรถบัสสองชั้น พร้อมกับแตะบัตร Oyster Card ในราคาประมาณ 1.50 ปอนด์ เพื่อเดินทางท่องเที่ยวในกรุงลอนดอน

เรารู้สึกสนุกกับการเดินทางในลอนดอนมาก ไม่น่าเชื่อว่าขนส่งสาธารณะสามารถพาเราเดินทางได้ทั่วเมือง ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในซอยเล็ก ๆ ไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง โดยไม่ต้องนั่งรถรับจ้างราคาแพงเลย

เมืองหลวงของอังกฤษแห่งนี้เป็นเมืองที่มีโครงข่ายคมนาคมเก่าแก่ที่สุดในโลก ย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ลอนดอนเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้าเมืองผ่านทางรถไฟสายต่าง ๆ จำนวนประชากรจึงเพิ่มขึ้น การโดยสารรถยนต์ รถรับจ้าง ไปจนถึงรถบัสก็เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้การจราจรในเมืองหาแน่นตามไปด้วย รัฐบาลจึงออกกฎหมายหยุดการสร้างสถานีรถไฟเข้าลอนดอน

ชาร์ล เพียร์สัน (Charles Pearson) นักการเมืองอังกฤษ เสนอให้รัฐบาลสร้างสถานีรถไฟใต้ดินเชื่อมเข้าสู่ลอนดอนและมอบสัมปทานการเดินรถให้กับบริษัทเอกชน เพื่อแก้ปัญหารถติด รัฐบาลปฏิเสธแผนของเพียร์สัน แต่เสนอให้สร้างรถไฟเชื่อมต่อกับที่ทำการไปรษณีย์แทน เพียร์สันไม่ยอมแพ้ ในปี 1854 เขาช่วยบริษัทเอกชนระดมทุนราว 1 ล้านปอนด์เพื่อทำเส้นทางการเดิมรถในฝันของเขาให้เกิดขึ้นจริง

วันที่ 10 มกราคม 1863 รถไฟใต้ดินขบวนแรกล้อหมุน เดินทางรับส่งผู้โดยสารจาก Paddington to Farringdon อย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในสถานีรถไฟใต้ดินแห่งแรกของลอนดอนคือสถานีถนนเบเกอร์ (Baker Street Station) บ้านของเชอร์ล็อก โฮมส์นั่นเอง

สมัยก่อน เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเดินรถขนส่งสาธารณะทั้งหมด กรุงลอนดอนต้องรับมือกับจำนวนผู้ที่เดินทางเข้ามาในลอนดอนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับปัญหาการแย่งผู้โดยสารของภาคเอกชนจนเกิดปัญหามากมาย  ในปี 1933 คณะกรรมการขนส่งผู้โดยสารลอนดอน (London Passenger Transport Board) จึงออกกฎหมายควบรวมกิจการขนส่งสาธารณะทางราง ทั้งรถไฟ รถไฟรางเบา รถราง และรถบัสเข้ามาเป็นกิจการของรัฐทั้งหมด

ปัจจุบัน ขนส่งสาธารณะของลอนดอนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถบัส รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า รถราง รถไฟรางเบา เรือโดยสาร ไปจนถึงการจราจรบนถนนทั้งหมดอยู่ในการกำกับดูแลของ ‘กรมการขนส่งกรุงลอนดอน’ (Transport for London; Tfl) หนึ่งในหน่วยงานในความดูแลของนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน

เมื่ออำนาจทั้งหมดอยู่ที่เทศบาล การวางแผนขนส่งสาธารณะก็สามารถตอบโจทย์เมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ การคิดราคาค่าโดยสารก็สามารถคิดรวมกันได้ในคราวเดียวผ่าน Oyster Card ขนส่งยังสามารถควบคุมปริมาณรถยนต์บนถนนผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรหนานแน่น (congestion charging) พร้อมกับสนับสนุนการเดินเท้า การปั่นจักรยานและการใช้บริการรถแท็กซี่ได้อีกด้วย

หนึ่งในบทเรียนสำคัญได้รับคือเรื่องงบประมาณ พวกเขาใช้งบประมาณน้อยลงจากการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร เนื่องจากประหยัดค่าทำสัญญาสัมปทาน และยังสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้อย่างยืดหยุ่น เทศบาลมองว่าพวกเขาสามารถนำเงินที่จ่ายส่วนแบ่งให้เอกชน กลับมาลงทุนและพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรามีโอกาสเดินชมพิพิธภัณฑ์การขนส่งลอนดอน (London transport museum) ที่เล่าเรื่องระบบขนส่งมวลชนตลอด 2 ร้อยปีที่ผ่านมาของเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง พบว่าลอนดอนเคยประสบปัญหาคล้ายกับกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหารถติด การมอบใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถ จนเกิดปัญหาการแย่งผู้โดยสารกันเอง ไปจนถึงการคำนวณต้นทุนการสร้างสถานีรถไฟใต้ดินผิดพลาด จนเกิดสถานีรถไฟร้าง ปัจจัยที่ทำใหลอนดอนสามารถแก้ปัญหาได้ อาจเป็นเพราะมีการกระจายอำนาจลงท้องถิ่นอย่างเหมาะสม การให้ประชาชนทุกกลุ่มในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และมีความโปร่งใสในการบริหารงาน รัฐบาลท้องถิ่นหลายประเทศจึงนำระบบขนส่งสาธารณะของลอนไปเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการเมืองของตัวเอง

ส่วนตัวเรามองว่าปัญหาขนส่งมวลชนของไทยไม่ต่างจากลอนดอนในอดีตมากนัก ลอนดอนใช้เวลานับร้อยปี (ตั้งแต่ช่วงปี 1800 – 1993) ให้เอกชนดำเนินงาน เมื่อเห็นปัญหาจึงรวมระบบเข้าสู่ศูนย์กลาง กว่าระบบจะลงตัวเป็นระบบที่ครอบคลุมการเดินทางทั้งหมดของประชาชนก็ใช้เวลายาวนานกว่า 70 ปี (1933 – 2000)

‘ลอนดอนโมเดล’ อาจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับปัญหารถติด สัมปทานรถไฟฟ้า และดราม่าระหว่างรัฐบาลส่วนกลางและกรุงเทพฯก็ได้


Source :
https://www.ltmuseum.co.uk/collections/stories/transport/londons-horse-bus-era-1829-1910
https://www.ltmuseum.co.uk/collections/stories/transport/very-short-history-underground
https://www.ltmuseum.co.uk/collections/stories/transport/public-transport-victorian-london-underground
https://issuu.com/itf_rpc/docs/300721_tfl_case_study_pptp
https://www.railnews.co.uk/content/documents/A%20brief%20history%20LT%20Chap%201%20v1%20FULL.pdf
https://www.londonfirst.co.uk/sites/default/files/documents/2021-01/TransportInLondon.pdf
https://thestandard.co/tips-and-tricks-when-riding-train-in-london/
https://www.theguardian.com/cities/gallery/2014/sep/10/-sp-history-metro-pictures-london-underground-new-york-beijing-seoul
https://www.ltmuseum.co.uk/visit/museum-guide/worlds-first-underground
https://brandinside.asia/mangmum-one-card-for-mass-transit/
https://www.scribd.com/document/289292665/10FACTSBKK-Revised-as-of-10Nov58

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า