fbpx

Twenty-One กับประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงรายการเกมโชว์ครั้งใหญ่

“การโกง” ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะวงการไหน ๆ ก็ตาม ซึ่งบางครั้งก็ต้องมีกฎหมายมารองรับพฤติกรรมการกระทำผิดของผู้ที่กระทำการโกง แต่ถ้าตอนนั้นมันไม่มีขึ้นมาหละ? ก็จะเกิดกรณีสุดอื้อฉาวขึ้น อย่างเรื่องที่เราจะนำมาเล่าในบทความนี้

Twenty-One คือรายการอะไร

ก่อนที่จะมาเล่าเรื่องราว เรามาเท้าความกันก่อนว่ารายการนี้มีที่มาอย่างไร

Twenty-One คือรายการที่ออกอากาศในช่วงปี 1950s ในช่อง NBC โดยในตอนนั้นได้ Jack Berry มาเป็นพิธีกร

รายการนี้คือควิซโชว์ที่ผู้เล่น 2 คน (คนหนึ่งที่เป็นแชมป์ กับอีกคนที่เป็นผู้ท้าชิง) ต้องมาตอบคำถามความรู้ทั่วไป ที่มีระดับความยากแตกต่างกันถึง 11 ระดับ โดยที่แต่ละระดับจะให้แต้มยากง่ายตามลำดับ (ง่าย 1-11 ยาก) ซึ่งตัวผู้เล่นจะต้องอยู่ในห้องเก็บเสียง ในขณะที่ผู้เล่นคนหนึ่งตอบคำถาม อีกคนจะโดนปิดเสียงจากภายนอก ไม่ได้ยินเสียงคำถามใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะการเลือกคำถามนั้นผู้เล่นสามารถเลือกคำถามในระดับความยากเดียวกัน ที่เป็นคำถามเดิมได้ ตอบถูกแต้มจะเพิ่มตามที่เลือกระดับความยากไว้ ตอบผิดแต้มจะลดตามระดับที่เลือกไว้เช่นเดียวกัน แต่แต้มจะไม่มีทางลงไปต่ำกว่า 0 อย่างแน่นอน ซึ่งถ้ามีใครผู้เข้าแข่งขันคนใดทำ 21 แต้มก่อน โอกาสชนะจะสูงมาก

ซึ่งความพิเศษของรายการอยู่ตรงที่ว่า ถ้าผู้ท้าชิงทำถึง 21 แต้มก่อน ห้องเก็บเสียงจะถูกเปิดให้ได้ยินแชมป์ตอบคำถาม รอลุ้นผลว่าแชมป์จะตอบถูกรึเปล่า หากถูก เกมเสมอ รีเซ็ตแต้ม เริ่มใหม่กันอีกรอบ หากแชมป์ตอบผิด เกมจบ ผู้ท้าชิงเป็นแชมป์คนใหม่ทันที

โดยที่ผู้ชนะจะได้เงินรางวัลตามแต้มต่างที่ได้รับแต้มละ $500 ยกตัวอย่างเช่น ผลแต้มคือ 21-10 ผู้ชนะจะได้รับเงิน $5,500 แต่ถ้าหากเกมดันเสมอกัน เงินรางวัลต่อแต้มก็จะเพิ่มขึ้นอีก $500 เกมก็ดำเนินต่อ

โดยที่แชมป์ขอหยุดได้ ซึ่งถ้าหยุด แชมป์จะได้รับเงินที่สะสมไว้กลับบ้านไป หากไม่ขอหยุดแชมป์จะได้รับข้อมูลเบื้องต้นของผู้ท้าชิงและเล่นกันต่อ แล้วเกิดเหตุการณ์ที่แชมป์แพ้ผู้ถ้าชิงคนใหม่ขึ้นมา เงินรางวัลของแชมป์จะตกเป็นของผู้ท้าชิงทันที

Host Jack Barry conducts questioning of contestants James Snodgrass (left) and Hank Bloomgarden (right) in supposed isolation booths during the program Twenty-One. Albert Freedman, producer of the show, died on April 11 at age 95. [Image – NBC]

จุดเริ่มต้นของความบรรลัย

ในเดือนกันยายน ปี 1956 Twenty-One ผุดขึ้นมาโผล่ในหน้าจอแก้วในสหรัฐอเมริกา โดยได้ Jack Barry เป็นพิธีกรของรายการ โดยที่รายการในช่วงแรกทุกอย่างถูกจริยธรรมดี ผู้เล่นซื่อสัตย์ ไม่มีการเชิดหุ่นโดยทีมงานแต่อย่างใด

แต่ในตอนนั้นโปรดิวเซอร์ร่วมของรายการนี้อย่าง Dan Enright ออกมาให้คำนิยามบรรยากาศของรายการในตอนนั้นว่า “มันเป็นความผิดหวังจนอดห่วงไม่ได้” เพราะผู้เล่นสองคนแรกของรายการทิ้งภาระจนสามารถเรียกได้ว่าเทปนั้น “ฉิบหาย” เลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามได้แค่นิดเดียว (ประมาณว่าเลือก 3 เลือก 4 ยังผิดอีก) โชว์สินค้าสปอนเซอร์เป็นทีวีไทยขายตรงยุคนี้เลย

หลังจากที่เห็นประสิทธิภาพของตอนแรกของรายการแล้ว Enright เล็งเห็นแล้วว่าหากเป็นอย่างนี้ต่อไปเรตติ้งรายการบรรลัยแน่นอน เขาเลยตัดสินใจว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราจะเตี๊ยม Twenty-One กัน” โดยจะเรียกผู้เล่นที่ผ่านการคัดเลือก มารับคำถามและคำตอบที่ใช้ในแต่รอบ และจะถูกแนะนำเสมือนว่าเป็นนักแสดงคนนึง ไม่ว่าจะเป็นบอกว่าข้อไหนควรตอบถูก ข้อไหนควรตอบผิด และการวางตัวระหว่างรายการ [4]

Image – NBC

ชายผู้จุดประกายประวัติศาสตร์

Twenty-One เริ่มออกอากาศไปได้ประมาณสามเดือน ก็ได้มีชายคนหนึ่งสนใจรายการนี้เป็นอย่างมาก จนขนาดที่ทึ่งกับคำถามในรายการก็ว่าได้ ชายคนนั่นคือ Herb Stempel (จำชื่อคนนี้ให้ดีนะครับ) เขาเลยเขียนจดหมายไปหาโปรดิวเซอร์ของรายการในตอนนั้นอย่าง Dan Enright บอกว่าอยากเป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการ ทีมงานเลยทดสอบว่าพอแข่งได้รึเปล่า หากเทียบกับรายการในบ้านเราอย่างแฟนพันธุ์แท้ที่ให้เขียนถาม-ตอบ 50 ข้อแล้วนั่น รายการนี้เรียกได้ว่าลากเลือดเลยก็ว่าได้ เพราะ Stampel ต้องตอบคำถาม 363 ข้อ ให้หมดซึ่งใช้เวลาไปสามชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเขาทำได้ 251 ข้อ (ซึ่งเขาบอกว่าน่าจะเป็นสถิติที่สูงสุดของรายการเลยก็ว่าได้) [1][2]

หลังจากที่ทดสอบเสร็จไม่กี่สัปดาห์ต่อมา Enright ไปเยี่ยม Stampel ที่บ้านโดยในขณะที่ภรรยาของ Stampel ไปโรงละครและเห็นว่าเขามีลูกชายตัวน้อยอยู่แล้ว Enright เลยยิงคำถามไปสั้น ๆ ว่า “อยากจะได้ $25,000 ไหมละ” Stampel เข้าใจทั้งที่เลยว่า Enright คงไม่จ่ายเงินให้หรอกถ้าหากไปยืนอยู่ในรายการแล้วโดนตบกลับง่าย ๆ [1]

“หลังจากที่ผมบอกเขาไปว่า “ใครบ้างหล่ะที่ไม่อยากได้”
ผมกลายเป็นหนึ่งในมหากาพย์ของเรื่องนี้ทันที”

– Herb Stempel, 2004

นอกจากเรื่องคำแนะนำที่เล่าไปในหัวข้อที่แล้ว Stampel ยังได้รับอีกสิ่งหนึ่งคือการแต่งเรื่องเปลี่ยนเขาเป็นคนละคน โดยปกติแล้ว Stampel เป็นชายที่แต่งงานแล้วโดยที่ครอบครัวเขาก็ไม่ได้ลำบากอะไรมาก แต่ Enright ก็มอบคาแรกเตอร์ใหม่ให้เขา โดยให้ภาพลักษณ์ออกมาเป็นอดีตทหารสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันกลายเป็นไอ้ขี้แพ้ สิ้นเนื้อประดาตัว ที่ทำงานอยู่ในมหา’ลัย นอกจากนั้น Enright ยังปั้นคาแรกเตอร์เขายันการแต่งกาย โดยเลือกเป็นสูทโอเวอร์ไซด์เก่าๆ ที่เป็นของพ่อตาเขา เสื้อเชิ้ตสีออกน้ำเงิน ๆ เนคไทที่ดูเชยต่อยุค[3] และนาฬิกา Timex เรือนเก่าที่เมื่อเข็มนาฬิกาขยับครั้งหนึ่ง เสียงมันจะได้ยินจนไมค์โครโฟนของสตูดิโอจับได้ (เขาบอกว่ามันจะสร้างบรรยากาศตึงเครียดให้กับรายการ)

“วันแรกที่อยู่ในสตูดิโอ ผมอยู่แค่ประมาณ 4 นาที และผมก็ได้เงินประมาณ $9,000 แล้ว ผมไม่เคยได้เงินมาขนาดนี้ในชีวิตนี้มาก่อน และผมก็โคตรตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น” [4]

– Herb Stempel, 2004

หลังจากนั้นไม่นาน Dan Enright ก็ออกมาอธิบายที่เหตุผลในหนังสือพิมพ์ The New Yorker ว่า

“คุณต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกอินไปกับผู้เล่น ไม่จำเป็นต้องสนว่าจะมีคนชอบหรือไม่ก็ตามแต่ แต่ที่ที่จำเป็นคือผู้ชมต้องรู้สึกว่าเขาเห็นคนนี้ เขาหวังว่าคนนี้ต้องชนะ แล้วเห็นอีกคน หวังว่าให้เขาแพ้ไปเลย และ Stampel ผมรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของเขาเป็นแบบหลังเสียมากกว่าที่ผู้ชมเนี่ยเห็นเขาและอวยพรให้ฝั่งตรงข้ามชนะเขาให้ได้ ตอนที่เขามาสมัครเป็นผู้เข้าแข่งขันและเข้าทดสอบ เขาทำคะแนนไว้สูงมาก เขาจะเป็นประเภทที่น่าจะทำให้ผู้ชมไม่ชอบขี้หน้าเขาเป็นอย่างดีเลย” [4]

Image – NBC [ภาพระหว่างการแข่งขันในรายการ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา]

มีเกิดก็ต้องมีดับ

หลังจากเทปแรกที่ Stampel เป็นผู้เล่น รายการก็ได้รับเรทติ้งถล่มทลาย คนตามดูรายการตลอด แต่ Twenty-One ก็ไม่ได้ดังขนาดนั้น Stampel ได้เงินรางวัลในรายการไปถึง $69,500 กลายเป็นว่ามันเยอะกว่าที่ Dan Enright ตกลงเอาไว้ ซึ่งเขาได้เล่าเหตุการณ์นี้แบบรวม ๆ ไว่ว่า

“สัปดาห์ต่อสัปดาห์ที่รายการนี้ได้ฉายออกอากาศ ผู้คนก็เริ่มจำหน้าผมได้มากขึ้นและมากขึ้น ผมได้รับจดหมายจากแฟน ๆ รายการที่ตามผมมากขึ้น เพื่อนร่วมชั้นและอาจารย์ในมหา’ลัยต่างภูมิใจในตัวผม ผมไม่สามารถเก็บความรู้สึกแบบนี้ในตัวผม เพราะผมมีความสุขกับการได้เป็นคนดัง การได้รับรางวัล และเรื่องอื่นใดก็ตาม ผมมีความสุขนะในตอนนั้น หลังจากนั้น Enright ก็มาบอกกับผมว่า ‘คุณรู้ดีนะ Stampel ว่าคุณไม่มีทางที่จะได้เงินรางวัลทั้งหมดที่คุณชนะไปหรือที่คุณจะได้เพิ่มก็ตาม’ ผมก็พูดไปว่า ‘หะ? หมายความว่ายังไง?’ เขาก็บอกว่า ‘ไม่ พวกเราก็มีการระวังในตัวพวกเราเองเหมือนกัน ดังนั้นแล้วผมมีเอกสารให้คุณเซ็น’ ผมนึกได้ทันทีว่าหากผมไม่เซ็นเอกสารตรงนั้น ผมคงไม่มีทางอยู่ในรายการนี้ต่อไปแน่ ผมเลยตัดสินใจเซ็นเอกสารนี้ทันที” [4]

ถึงแม้ว่าเขาจะเซ็นยินยอมรับเงินน้อยกว่าที่เขาทำไว้ในรายการ (ที่แทบจะไม่ต่างกันเลย) เรทติ้งในตัวเขาก็ลงฮวบ และเหล่าโปรดิวเซอร์ก็ได้ตกลงกันแล้วว่าถึงเวลาแล้วที่เขาต้องลงจากแท่นที่เขายืนอยู่

ผู้ท้าชิงที่ถูกคัดมาเพื่อโค่นแชมป์

Charles Van Doren โผล่ขึ้นมาในรายการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1956 ในฐานะผู้เล่นที่จะมาตบ Stampel ที่ ณ ตอนนั้นกลายเป็นแชมป์ที่ทั้งผู้ชมและสปอนเซอร์เบื่อขี้หน้าเต็มทนแล้ว

โดยก่อนหน้านี้เขาให้ความสนใจกับรายการ Tic-Tac-Dough เป็นอย่างมากจนถึงขนาดที่เขาบุกไปคุยกับ Albert Freedman โปรดิวเซอร์ของรายการเพื่อที่จะเป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการ และ Enright ที่รู้จักกับ Freedman จากเพื่อนในวงการก็รู้จักกับ Van Doren จากการที่ Freedman มาเล่าเกี่ยวกับไอเดียที่ Van Doren เคยเสนอให้กับ Freedman [4]

โดยที่วันที่ Van Doren ปรากฏตัวให้ทั้งคู่เห็น โปรดิวเซอร์ทั้งสองต่างสนใจในคาแรกเตอร์ที่เป็นคนสุภาพและภาพลักษณ์ดูขึ้นจอแก้ว และเห็นพ้องต้องกันว่า ชายคนนี้นี่แหละคือผู้ที่จะมาคว้าแชมป์คนใหม่ในรายการ Twenty-One และเพิ่มเรตติ้งให้กับรายการอีกครั้งตามที่ Stampel เคยทำไว้ ซึ่งแน่นอนว่า Enright ก็ยังปั้นคาแรกเตอร์ให้กับ Van Doren ว่าเขาจะเป็นคนที่ทำให้รายการดูน่าสนใจและทำให้ผู้ชมดูเหมือนว่าเขาเป็นผู้มีความรู้

Image – NBC [ภาพระหว่างการแข่งขันในรายการ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา]

จุดหักดิบเพื่อเรทติ้งที่สูงกว่า

การปรากฏตัวของ Van Doren ดึงดูดผู้ชมในทันที และชื่อของเขาก็กลายเป็นที่จดจำไปกับรายการโดยปริยาย หลังจากที่แข่งกันมาหลายสัปดาห์โดยที่แต่ละสัปดาห์พวกเขาแข่งกันถึง 4 รอบ โดยที่แต่ละรอบเขาเสมอกันที่ 21-21 โดยที่ผู้ชมนับสิบล้านหวังให้ Van Doren ชนะ Stempel ให้ได้

โดยคำถามที่ทำให้ Van Doren กลายเป็นผู้ชนะนั้นก็คือ “ภาพยนตร์เรื่องใดที่ชนะ Academy Award ในปี 1955” โดยที่ Stampel เล่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นในตอนนั้นให้ฟังว่า

“ผมรู้ว่าคำตอบมันคือ ‘Marty’ นะ แต่ Enright เขาอยากให้ผมตอบผิด มันทำให้ผมเจ็บปวดลึก ๆ ในใจเพราะว่าหนังนี้คือเรื่องที่ชอบมากที่สุดและผมก็ไม่มีทางลืมมันอย่างแน่นอน ก่อนที่ผมจะตอบนั้นมันมีช่วงเวลาหนึ่งที่ผมอยากจะเปลี่ยนใจ แล้วพูดขึ้นมาว่า ‘คำตอบคือ Marty’ แทนที่จะตอบ On the Waterfront ผมน่าจะชนะแล้วก็ได้ แล้วตอนนั้นน่าจะไม่มี Charles Van Doren ไม่มีคนดังคนนั้นแล้วก็ได้ เขาน่าจะกลับไปสอนหนังสือต่อในมหา’ลัยตามเดิม แล้วชีวิตผมก็จะเปลี่ยนไป

วันนั้น วันที่ผมต้องแพ้ Charles ผมนั่งอยู่หน้าจอทีวีในตอนเช้า ผู้ประกาศจะเบรกรายการในช่อง WNBC แล้วพูดขึ้นมาว่า “คืนนี้ Herb Stempel จะชนะและรับเงินรางวัลเกิน $100,000 ได้หรือไม่” แล้วผมก็พูดประมาณว่า “ไม่อ่ะ เขาไม่มีทางที่จะได้เงินแสนกลับบ้านไป เขากำลังจบมัน” [4]

ในวันที่ 5 ธันวาคม 1956 Van Doren ชนะ Stempel โดยจำนวนผู้ชมที่สูงถึง 15 ล้านคน หลัวจากนั้นเขาก็กลายเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่โด่งดังที่สุดในช่วงนั้น เขาก็ชนะมาเรื่อยจนถึงเดือนมกราคม 1957 และชนะเงินรางวัลไปถึง $129,000 ยิ่งทำให้เขาโด่งดังขึ้นไปอีก จนถึงขั้นขึ้นบนหน้าปกนิตยสาร Time ฉบับตอน 11 กุมภาพันธ์ 1957 จนกระทั่งเส้นทางแชมป์เขาต้องสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม เมื่อเขาแพ้ Vivienne Nearing ทนายความที่สามีเขาเคยมาแข่งแล้วแพ้ไป

หลังจากเขาแพ้เขาก็ได้เซ็นสัญญา 3 ปีกับทาง NBC ด้วยเงินเดือนละ $150,000 [5]

กลับกัน Herb Stampel กลับกลายเป็นคนที่ถูกลืมไปโดยปริยาย โดยในช่วงสุดท้ายของรายการพิธีกรถามเขาว่าเขาจะเอาเงินตรงนี้ไปทำอะไร เขาก็ตอบประมาณว่าจะเอาเงินส่วนหนึ่งใช้ภายในครอบครัวอีกส่วนเอาไปทำกองทุนเพื่อการศึกษา “เพื่อจ่ายเงินนี้คืนให้กับชาวนิวยอร์กเพื่อการศึกษาฟรี ๆ ที่พวกเขาเคยให้ผม”

Image – NBC [ภาพระหว่างการแข่งขันในรายการ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา]

หลังจากที่เขาแพ้ ก่อนหน้านี้ Dan Enright เคยให้สัญญากับ Stampel ไว้ว่าเขาจะหางานในวงการบันเทิงให้ทำหลังจากเส้นทางของการเป็นแชมป์จบลง แต่สัญญาที่ให้ไว้ว่าหลังจาก Stampel เรียนจบ เขาจะหาช่วงเวลาว่าง ๆ ในผังมาทำรายการให้ กลับล่มหลังจากชื่อเสียงของ Stampel หายไปหลังจากจบรายการ

ต่อจากนั้น Stampel ก็เรียกร้องให้ Enright ทำตามสัญญาที่เขาเคยให้ไว้ในตอนแรก ซึ่งนั้นก็คือข้อเรียกร้องให้เขาจะต้องไม่เตี๊ยมใครอีกในรายการ แต่หลักฐานมันก็หายไปซะดื้อ ๆ

ยิ่งไปกว่านั้นหลังรายการจบเขาได้ยินฝ่ายเทคนิคคนหนึ่งพูดขึ้นมาหลังจากแยกย้ายกันไปในวันนั้นว่า “อย่างน้อย เราก็ได้คนมีความรู้ที่ดูดีสักที ไม่ใช่ไอ้งั่งกับสมองฟองน้ำของมัน” ประกอบกับสัญญาที่ให้ไว้ก็พังไม่เป็นท่า เมื่อ Enright ขายรายการให้กับ NBC ไปแล้ว ทำให้ Stampel เดือดขึ้นจนทำให้เกิดเรื่องที่เล่าต่อในบทความหน้าครับ

การกลับมาอีกครั้งของรายการ

Twenty-One พยายามจะกลับมาอีกรอบในปี 1982 โดยมีการ Pilot ก่อนแต่ก็ไม่สำเร็จ โดยใน Pilot นั้นได้มีรอบโบนัสโดยที่จะใช้การเล่นที่คล้ายคลึง Blackjack (ง่ายคือป๊อก 21 ที่คุณคุ้นเคยนั่นแหละ) แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ว่าจะมีการสุ่มเลขระหว่าง 1-11 ผู้เล่นจะต้องเลือกก่อนหยุดว่าเอาเลขที่ถูกสุ่มขึ้นมาหลังจากนี้โยนเข้าตัวเองหรือจะโยนเข้าฝั่งคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้าหากฝั่งคอมพิวเตอร์มีแต้มมากกว่าหรือเท่ากับ 17 แต้มจะค้างไว้ทันที ผู้เล่นมีหน้าที่แค่ชนะคอมพิวเตอร์ให้ได้โดยที่ตัวเองห้ามเลย 21 แต้ม ของรางวัลในตอนนั้นจะเป็นเงิน $2,000 กับทริปที่ทางรายกรจัดเตรียมไว้ให้

ในปี 2000 มีการชุบชีวิตอีก 1 รอบ แต่ครั้งนี้สำเร็จโดย NBC (ที่เก่าที่คุ้นเคย) เนื่องมาจากว่า Who Wants to Be a Millionaire ของ ABC ดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมา NBC เลยต้องงัดของเด็ดขึ้นมาสู้เรตติ้ง กติกาของเวอร์ชั่นนี้มีการเพิ่มความน่าสนในและปรับให้เข้ากับยุคสมัยด้วย

โดยที่กติกายังมีคำถาม 1 – 11 แต้มเหมือนเดิม แต่คำถาม 1-6 แต้ม มี 1 คำตอบจาก 3 ตัวเลือก คำถาม 7-10 แต้ม มี 1 คำตอบจาก 4 ตัวเลือก โดยที่ 10 แต้มจะมีตัวเลือก “ไม่มีข้อไหนถูกต้อง” โผล่มาให้ผู้เล่นงงไปอีกขั้น และข้อ 11 แต้มจะมี 2 คำตอบจาก 5 ตัวเลือก หากผู้เล่นตอบผิด ในเวอร์ชั่นนี้จะให้กากบาทขึ้นมาแทน ครบ 3 เมื่อไหร่ไปทันที (ซึ่งแน่นอนว่ากติกานี้มีสิทธิที่เทปนั้นจะไม่มีผู้ชนะเลยสักคนเดียว)

ซึ่งเหมือนรายการยังใจดีให้ตัวช่วย “โอกาสที่สอง” ให้ผู้เล่นขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือครอบครัวสำหรับคำตอบ แต่ในความใจดีแฝงไปด้วยความโหดเหี้ยม หากผู้เล่นดันตอบผิดหลังจากใช้ตัวช่วยขึ้นมา แทนที่จะโดน 1 กากบาท กลายเป็นว่าจะโดน 2 กากบาทแทน

เกมยังเล่นกันสูงสุดที่ 5 รอบ โดนในตอนของการเป็นแชมป์ ตัวแชมป์เองสามารถขอหยุดได้ตั้งแต่รอบที่ 2 ของเกมเป็นต้นไป และถ้าเวลาเกิดหมดหลังจากที่เล่นกันครบสองรอบแล้ว ใครแต้มนำ คนนั้นเป็นผู้ชนะทันที ยิ่งถ้าหากแต้มเสมอกันก็มีคำถามตัดสินให้กดไฟตอบ คนกดตอบผิดอีกฝั่งมีสิทธิ หากอีกฝั่งผิดอีกก็มีคำถามใหม่ขึ้นมาแทน

การแจกเงินรางวัลในเวอร์ชั่นนี้จะแตกต่างจากของเดิมอีก หากชนะ 1 เกม ได้เงินจำนวนหนึ่ง หากชนะไปเรื่อย ๆ ก็จะได้เงินเรื่อย ๆ จนถึงจำนวนเกมที่รายการกำหนดแล้วมันจะกลับมานับเพิ่มที่จำนวนเดิม เช่นชนะ 1 เกมได้ $50,000 ชนะ 2 เกมได้เพิ่มอีก $100,000 ชนะ 3 เกมได้เพิ่มอีก $150,000 ชนะ 4 เกมได้เพิ่มอีก $200,000 แล้วเริ่มกลับไปเพิ่มใหม่ที่จำนวน $50,000

สังเกตได้ว่าทางเรายิ่งเขียนบทความไป ยิ่งยาวขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ ในบทความหน้า เราจะมาเล่าต่อจากตอนที่ทิ้งไว้ ในเรื่องราวของ เรื่องอื้อฉาวในปี 1950s เรื่องที่ทำให้ผู้ผลิตรายการและกฎหมายของสหรัฐอเมริกาต้องสั่นสะเทือนจากชายเพียงคนเดียว ที่อยากจะแก้แค้นแค่คนกลุ่มเดียว พบกันใหม่ในบทความหน้าครับ


[1] บทสัมภาษณ์ของ Herb Stempel
[2] Charles Von Dolen, All The Answer จาก The Newyorker
[3] Kent Anderson, Television fraud: the history and implications of the quiz show scandals, Greenwood Press, 1979, หน้าที่ 49
[4] American Experience, The Quiz Show Scandal
[5] The New York Times, Charles Van Doren, a Quiz Show Whiz Who Wasn’t, Dies at 93
[6] Wink Martindale, 21 Pilot

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า