“ซาร์นิโคลัสที่ 2” กับ “การปฏิวัติรัสเซีย”

การปฏิวัติรัสเซีย เกิดขึ้นใน  ค.ศ. 1917 ซึ่งทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกถอดจากตำแหน่งกษัตริย์และแทนที่ด้วยรัฐบาลเฉพาะกาลในการปฏิวัติครั้งแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 และในการปฏิวัติครั้งที่สองในเดือนตุลาคม รัฐบาลเฉพาะกาลถูกโค่นล้ม แทนที่ด้วยรัฐบาลพรรคบอลเชวิก

ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรหม

สาเหตุของการปฏิวัติใช่ว่าจะเกิดจากปัญหาในรัชสมัยเดียว แต่ที่จริงแล้ว การปฏิวัติรัสเซียเปรียบเสมือนหม้อน้ำเดือดที่ถูกฝาหม้อปิดกดทับเอาไว้ ทำให้ปัญหาต่างๆ ถูกเก็บไว้รอวันที่จะระเบิดออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรวบตึงอำนาจการปกครองไว้ที่ราชวงศ์โรมานอฟมากเกินไป เช่นในสมัยพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช ที่ยกเลิกสภาขุนนางศักดินา ถึงแม้ในแง่การบริหารและการเมืองจะทำให้ตำแหน่งซาร์รวมถึงราชวงศ์โรมานอฟมั่นคงยิ่งขึ้น แต่ขุนนางไม่สามารถมีอำนาจต่อรองอะไรกับซาร์ได้ แต่ในทางกลับกันทำให้ไม่มีพื้นที่แห่งการแบ่งสรรอำนาจ รวมถึงไม่มีพื้นที่ให้พูดคุยปรึกษาระหว่างเจ้าชีวิตกับขุนนาง ในแง่นี้ทำให้คนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นได้รับผลประโยชน์จากการใกล้ชิดซาร์และราชวงศ์ ขณะที่หลายกลุ่มมีความห่างเหินมากขึ้น

หรือในสมัยซารีน่าแคทเธอรีน ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิรูปรัสเซีย นำความทันสมัยของตะวันตกเข้าสู่รัสเซียมากมาย ความร่ำรวยรสนิยมที่ทันสมัยจึงเกิดขึ้นภายในรัสเซีย ทำให้เราเห็นภาพความหรูหราของราชวงศ์โรมานอฟ สถาปัตยกรรมที่สวยงามของรัสเซีย แต่กระนั้นทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เมื่อเข้าสู่สมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 ปัญหาต่างๆ ก็เริ่มปะทุขึ้น กลุ่มทหาร ขุนนาง รวมถึงชนชั้นสูงบางกลุ่มเริ่มคิดปฏิวัติเพราะได้รับแนวคิดการปกครองและปรัชญาการเมืองแบบตะวันตกเข้ามาภายหลังที่รัสเซียปฏิรูปตามตะวันตก ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการความเปลี่ยนแปลงให้มีการใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ถึงขนาดคิดก่อการปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์ แต่แผนการดังกล่าวดันหลุดรั่วออกไป ทำให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 ทำการปราบปรามกบฏได้ทันการ แต่กระนั้นใช่ว่าปัญหาจะหมดไป เพราะปรากฏว่าในสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 ได้มีการก่อกบฏของชาวนาถึง 547 ครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1828 – 1854 สาเหตุส่วนใหญ่คือปัญหาทาสติดที่ดิน ขณะที่ยุโรปได้ยกเลิกระบบดังกล่าวไปแล้ว ชาวนาไร้ที่ดินทำกิน รวมถึงอากาศที่เลวร้าย พืชผลได้รับความเสียหาย ทำให้ประชาชนอดอยาก ขณะที่ชนชั้นสูงยังสุขสบาย ทำให้ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องคอยปราบปรามการก่อกบฏ ถึงขนาดที่ปัญญาชนที่วิจารณ์การปกครองหรือต่อต้านการปกครองก็พลอยถูกลงโทษไปด้วย

ต่อมาเมื่อซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ก็พยายามปฏิรูประบบต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์ภายในสงบ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาส การจัดการปกครองในท้องถิ่นชนบท แต่กระนั้นก็ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศพอใจได้ เพราะปัญหาต่างๆ สะสมมากมาย รอวันปะทุออกมา โดยเฉพาะกลุ่มฝ่ายซ้ายที่ต้องการต่อต้านระบอบซาร์อย่างเด็ดขาดและรุนแรง ทำให้ในที่สุดพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นซาร์นักปฏิรูป มีความหัวก้าวหน้า ก็ถูกลอบปลงพระชนม์

เมื่อซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ถูกลอบปลงพระชนม์ ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา พระองค์มองว่าการปฏิรูปของพระราชบิดาไม่สามารถทำให้ปกครองประเทศได้อย่างมั่นคง พระองค์มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแตกต่างจากพระราชบิดา ทำให้เมื่อเกิดการกบฏต่อต้านพระองค์ พระองค์มักจะใช้กำลังทหารและความรุนแรงปราบปรามกบฏและผู้ต่อต้าน ทำให้ปัญหาความไม่พอใจต่อระบอบซาร์ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์เริ่มสุกงอมนำไปสู่การปฏิวัติ

พอมาถึงสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เหตุการณ์ยิ่งสุขงอมขณะที่ซาร์อ่อนแอ ตกอยู่ใต้อำนาจเชื้อพระวงศ์ และบุคคลในราชสำนัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รัสปูติน ซาร์ไม่สามารถควบคุมปัญหาภายในได้ ขณะที่ปัญหาภายนอกประเทศได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซียภายใต้การนำของซาร์นิโคลัสที่ 2 เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงแม้จะอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต่อมาได้รับชัยชนะ แต่กองทัพรัสเซียซึ่งขาดการปฏิรูป ขาดยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ขณะที่ระบบขนส่งเสบียงไปสู่แนวหน้าก็มีปัญหา ทำให้กองทัพรัสเซียพ่ายแพ้ต่อกองทัพปรัสเซียเสียกองกำลังทหารเป็นจำนวนมาก ด้านภาพลักษณ์ผู้นำของซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็เริ่มตกต่ำลงทุกขณะ เพราะกองทัพรัสเซียไม่สามารถชนะกองทัพศัตรูได้เลย แถมยังทำให้ประชาชนและครอบครัวของผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเริ่มไม่พอใจในตัวซาร์ ทำให้ในเวลาต่อมาการปฏิวัติล้มระบอบซาร์จึงเกิดขึ้น

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการปฏิวัติในเฉพาะบริเวณนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ภายใต้ภาวะความวุ่นวายนั้นเอง สมาชิกรัฐสภาหลวงดูมาถือโอกาสเข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น เหล่าผู้นำกองทัพต่างรู้สึกว่าความพยายามปราบปรามการจลาจลของตนนั้นไร้ผล และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียองค์สุดท้ายก็ทำการสละราชสมบัติ ในตอนแรกเริ่ม พวกโซเวียต (สภาแรงงาน) ซึ่งนำโดยพวกสังคมนิยมหัวรุนแรงอนุญาตให้รัฐบาลเฉพาะกาลเข้าบริหารประเทศ แต่ยืนยันให้พวกตนได้รับอภิสิทธิ์ในการแทรกแซงรัฐบาลและควบคุมกองกำลังต่าง ๆ มากมาย กล่าวได้ว่าการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เกิดขึ้นในบริบทของความพ่ายแพ้ทางทหารอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้กองทัพส่วนมากอยู่ในสภาพของการก่อกบฏ

ช่วงเวลาของอำนาจคู่  จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเฉพาะกาลครอบครองอำนาจรัฐ ขณะที่เครือข่ายโซเวียตแห่งชาติซึ่งนำโดยพวกสังคมนิยมก็ได้รับการสวามิภักดิ์จากเหล่าชนชั้นล่างและพวกฝ่ายซ้าย และตลอดช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายนี้มีการก่อกบฏ ประท้วง และนัดหยุดงานมากมายหลายครั้ง 

ต่อมารัฐบาลเฉพาะกาลตัดสินใจที่จะยังคงทำสงครามกับเยอรมนีต่อไป ส่งผลให้พวกบอลเชวิกและนักสังคมนิยมกลุ่มต่าง ๆ เริ่มออกมารณรงค์ให้ยุติการสู้รบกับเยอรมนี บอลเชวิกได้ทำการเปลี่ยนกองกำลังจากชนชั้นแรงงานให้ไปเป็น เรดการ์ด ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นกองทัพแดง และกองกำลังนี้เองที่บอลเชวิกควบคุมเอาใจใส่อย่างมีนัยสำคัญ

ถัดมาในการปฏิวัติเดือนตุลาคม พรรคบอลเชวิกภายใต้การนำของวลาดีมีร์ เลนิน และเหล่าชนชั้นแรงงานโซเวียต เข้าล้มล้างการปกครองของรัฐบาลเฉพาะกาล ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พวกบอลเชวิกแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้นำในกระทรวงต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงการเข้ายึดอำนาจตามชนบทต่าง ๆ จัดตั้งหน่วย เชกา เพื่อปราบปรามการต่อต้านการปฏิวัติ และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการยุติสงครามกับเยอรมนี บอลเชวิกได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์กับเยอรมนีในเดือนมีนาคม ค.ศ.1918

สังเกตได้ว่าการปฏิวัติรัสเซีย เป็นการล้มระบบทั้งระบบก้าวสู่ระบบใหม่ กล่าวคือ เป็นการล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยความรุนแรง สังหารหมู่ครอบครัวซาร์ และก่อตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อเริ่มต้นระบบใหม่ โดยกำจัดอำนาจเก่าโดยสิ้นเชิง นำประเทศเข้าสู่สังคมนิยม และได้นำแนวคิดมาร์กซิสต์มาใช้ปฏิบัติที่รัสเซีย ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ก้าวสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการเมืองรูปแบบใหม่ ณ ขณะนั้น และเป็นต้นทางจากรัสเซียที่ค่อยๆ กระจายออกไปทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากชนชั้นกรรมกรหรือผู้เห็นด้วยกับระบบใหม่ๆ นักศึกษา แล้วค่อยๆกระจายผ่านสังคมไปสู่พรรคการเมืองและเป็นขั้วอำนาจในสภาที่สำคัญๆในหลายๆประเทศในที่สุด

แหล่งอ้างอิง : silpa-mag / library.polsci.chula.ac.th

Content Creator