fbpx

เมื่อความเร็ว… มาก่อน ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ปัจจุบันโลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมไทยและสังคมโลกเป็นอย่างมาก สามารถย่อระยะทาง และระยะเวลาในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี แต่ว่าข้อดีต่าง ๆ เหล่านี้ ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงในการสื่อสารด้วยเช่นกัน ในงานวิจัยของ สกุลศรี ศรีสารคาม (2554) เรื่อง สื่อสังคม (Social Media) กับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสื่อข่าว โดยได้อธิบายถึงกระบวนการสื่อสารในสื่อสังคมในอยู่สมัยใหม่นี้ว่า ผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการเริ่มหันมาใช้สื่อสังคมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสื่อข่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยลักษณะของสื่อสังคมที่มีความรวดเร็ว ทำให้รูปแบบวิธีการรายงานข่าวและการรับข่าวสารในสังคมปรับเปลี่ยนไปด้วย

ผลการศึกษาจากการวิจัยชิ้นดังกล่าวพบว่า กระบวนการสื่อข่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่องหลักสำคัญ ประการแรกรูปแบบการสื่อข่าวที่มีช่องทางเพิ่มขึ้น ประเด็นข่าวที่มาจากหลายทาง มีมิติหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ประการที่สองบทบาทของผู้สื่อข่าวที่ต้องทำหน้าที่เป็นนายทวารข่าวสารในการคัดกรองข้อมูลและตัดสินใจเลือกข่าวที่จะเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมด้วยตัวเองนำไปสู่คำถามเรื่องความรอบคอบและจริยธรรม จรรยาบรรณที่ต้องเน้นหนักมากขึ้น และประการสุดท้ายคือความสัมพันธ์กับผู้รับสารที่เปลี่ยนไปสู่การสื่อสารสองทางแบบเรียลไทม์ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล การร่วมกันทำงานในกระบวนการข่าว ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของการทำข่าวสู่ความหลากหลายที่ต่างจากกระบวนการสื่อข่าวแบบดั้งเดิม (สกุลศรี ศรีสารคาม, 2554)

แต่จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ยังพบว่าสื่อข่าวทุกวันนี้ เน้นความเร็วจนลืมตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาข่าว ในบทความเรื่อง การแบนสื่อจากการนำเสนอข่าวที่บิดเบือน : จากวันที่มี #แบนสื่อ ในโลกออนไลน์ สู่วันที่สื่อเริ่มเปลี่ยนทาง [ส่องสื่อ X COFACT EP.2] เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ได้กล่าวว่า

การนำเสนอข่าวจากเหตุการณ์หนึ่งนั้นมีคนตั้งข้อสงสัยจนสามารถสืบได้ว่าคลิปเสียงที่รายการข่าวนั้นนำมาเผยแพร่นั้นเป็นการตัดต่อ จนเกิดกระแสเรียกร้องต่อความรับผิดชอบและเกิด #……โป๊ะแตก ติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ ซึ่งในตอนนั้นเริ่มมีกระแสแบนรายการ แต่กระแสยังไม่แรงมาก จากกรณีดังกล่าว เราจะเห็นว่า มีนำเสนอข่าว Fake News ขึ้นมา โดยการตัดต่อ ดัดแปลง (Manipulated Content) และทำให้เข้าใจผิด (Misleading) เช่น การนำคลิปเสียงการสนทนากันระหว่างบุคคลสองคนมาเปิดพร้อมขึ้นรูปภาพของคนสองคน แต่ทำให้เป็นสีดำมาเปิดในรายการและมีการโทรศัพท์สัมภาษณ์ ซึ่งทำให้ทุกคนเข้าใจว่าคนในคลิปเสียงเป็นนักการเมืองท่านหนึ่ง (COFACT, 2564)

ทั้งนี้แล้วข้อมูลข่าวสารที่เน้นความรวดเร็วที่ต้องการนำเสนอ มักมาพร้อมกับความเชื่อที่ผิด ๆ และปราศจากการตรวจสอบข้อมูลนั้นอย่างแท้จริงก่อนมานำเสนอ ทำให้การนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นสร้างความเสียหายต่อสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสร้างความเข้าใจผิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง และเป็นผลมาซึ่งความแตกต่างแบ่งแยกกันในสังคม

ดังนั้นผู้สื่อข่าวหรือนักข่าวควรมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง และความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นก่อนที่จะเลือกนำเสนอ จากงานวิจัยเรื่อง ข่าวปลอมกับการทำงานของนักข่าวในยุคดิจิทัล โดย สุนันทา แย้มทัพ และ อรัญญา ศิริผล (2563) ได้นำเสนอว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางการเกิดขึ้นของข่าวปลอมจำนวนมาก หลักการสำคัญที่นักข่าวควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในฐานะนักข่าวมืออาชีพที่รับผิดชอบต่อสังคมและทำงานบริการให้แก่สังคมสาธารณะ ได้แก่ หลักการแรก การนำเสนอข้อเท็จจริง ซื่อสัตย์ต่อประชาชน ต้องนำเสนอข่าว/รายงานข่าวที่เป็นกลางและยุติธรรม รักษาความเป็นอิสระจากการถูกครอบงำหรือชักจูงผลประโยชน์ใด ๆ  ไม่เอนเอียงต่ออำนาจและผลประโยชน์  รวมทั้งต้องรักษาหน้าที่เป็นเวทีเปิดความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกลุ่มอำนาจให้แก่สาธารณชน หลักการที่สอง การตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง (fact-checking/verification) ความถูกต้องของข้อมูลหรือข้อความที่น่าสงสัย ไม่ว่าจะเป็นคำปราศรัยของนักการเมือง สำหรับเว็บไซต์ที่อาจช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงได้  เช่น  factcheck.org,  fullfact.org, politifact.com, snope.com เป็นต้น

นอกจากนี้ในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังได้มีการกล่าวว่า ปัจจุบันนักข่าวทำงานได้ง่ายขึ้น  เพราะใช้เครือข่ายออนไลน์หาข่าวและพัฒนาเนื้อหาข่าวเพื่อตีพิมพ์เป็นของตัวเอง  แต่นักข่าวและห้องข่าวยุคใหม่อาจทำให้ตัวเองกลายสภาพเป็นเหมือน “โรงงานข่าว” ที่นักข่าวตระเวนค้นหาเว็บไซต์เพื่อเขียนเรื่อง และใช้เวลาทั้งวันเขียนข่าวแถลงมากกว่าจะยกหูโทรศัพท์คุย หรือออกไปพบแหล่งข่าวด้วยตัวเอง  ซึ่งทำให้ปัจจุบันข่าวไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการก็อปปี้กันไปมา หรือการรายงานข่าวลวงไปลวงมา การทำงานของนักข่าวที่สะดวกขึ้นเหล่านี้ไม่ควรแสดงความ  “มักง่าย”  ใช้เครือข่ายออนไลน์หาข่าวพึ่งพิงแหล่งข้อมูลหรือที่มาของข้อมูลจากเครือข่ายออนไลน์ทางเดียว  แล้วนำมาโพสต์ต่อในแพลตฟอร์มของตน วิธีการที่ง่าย ๆ ไม่ลำบากแต่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้ดี และแสดงศักยภาพของความเป็นนักข่าวได้ดี ก็คือ การยืนยันตรวจสอบข้อมูลที่ได้มา  เช่น  การโทรศัพท์หรือเดินทางไปพบแหล่งข่าวที่เป็นต้นเรื่องเพื่อยืนยันข้อมูล จะเป็นวิธีที่ง่ายและยืนยันได้ดีที่สุดว่า เขาเป็นใคร ได้กล่าวเช่นนั้นหรือไม่และสามารถขยายความเนื้อหาข่าวต่อไปได้อย่างไร (สุนันทา แย้มทัพ และอรัญญา ศิริผล, 2563)

สุดท้ายแล้ว แม้ว่าจะมีแนวทางที่ดีในการที่ผู้สื่อข่าวเลือกนำมาใช้เป็นตัวแบบในการนำเสนอข่าวสารในยุคดิจิทัลเช่นในบทความเรื่อง ข่าวในยุคสื่อดิจิทัล โดย ชนิดา รอดหยู่ (2562) กล่าวว่า ด้วยธรรมชาติและคุณสมบัติของสื่อดิจิทัล สามารถตอบสนองการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันได้อย่างดี ทำให้คนหันมาบริโภคและส่งข่าวสารกันผ่านสื่อดิจิทัลกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยคุณสมบัติของสื่อประเภทนี้ที่แตกต่างไปจากสื่อดั้งเดิมในหลายด้าน การนำเสนอข่าวจึงควรใช้หลักการที่เหมาะสม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น โดยหลักการนำเสนอข่าวทางสื่อดิจิทัลนั้นมีเทคนิค คือ การนำเสนอข้อมูลให้สั้นและกระชับ โดยการเลือกใช้ข้อมูล (ข้อความ/ภาพนิ่ง/ภาพเคลื่อนไหว/กราฟิก) อย่างเหมาะสม ตลอดจนใช้คุณสมบัติด้าน ความรวดเร็วให้คุ้มค่า ขณะเดียวกันก็ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างระมัดระวัง และใช้ประโยชน์จาก คุณสมบัติการสื่อสารสองทางของสื่อ

แต่ผู้สื่อข่าวเองต้องคำนึงถึงเนื้อหาที่นำเสนอออกไป ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และตามแนวคิดเรื่อง ผู้เฝ้าประตูสาร (Gatekeeper) กล่าวว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่เลือกสรร ปรับข้อความ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะนำเสนอไปยังผู้รับสารต่อไป ซึ่งหน้าที่เช่นนี้คล้ายกับการทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตู Gatekeeper) หรือบางแห่งก็เรียกกันว่านายทวารข่าวสาร หรือผู้ปิดและเปิดประตู ซึ่งก็คือ ผู้คัดกรองข่าวสารก่อนที่นำเสนอไปสู่ผู้อ่าน สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญที่ผู้สื่อข่าวทุกคนควรพึงระลึกไว้เสมอว่าตนเองมีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญ หากข้อมูลข่าวสารนั้นเผยแพร่ออกไปโดนปราศจากการตรวจสอบที่ดีแล้ว ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งกระทบในวงกว้างได้เช่นกัน

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า