fbpx

#เรียนผู้ว่ามหานคร : ขยะเยอะ ทั้งกลบ ทั้งเผา ยังไง๊ ยังไงก็แก้ไม่จบ

MODERNIST x ไทยรัฐทีวี ช่อง 32


พูดถึงกรุงเทพมหานคร ปัญหาหนึ่งที่สำคัญและแก้กันไม่ตกเลยก็คือขยะ โดยเฉพาะกระบวนการจัดการขยะและการใช้งบประมาณด้านขยะที่ถูกสะสมมาอย่างยาวนาน ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีขยะล้นเมืองมากที่สุดที่หนึ่ง บางครั้งปัญหาขยะยังส่งผลต่อประชาชนคนเมืองกรุงฯ ในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ มลพิษเน่าเสีย ภูมิทัศน์ของตัวเมืองทั้งหมด และอื่นๆ อีกมากมาย 

นี่เลยเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายคนเข้ามาแก้ไขก็ไม่จบเสียที เกิดปัญหานี้ที แก้ปัญหาโน้นที เรียกได้ว่าถ้าจะยกเป็นวาระแห่งเมืองกรุงฯ ได้ก็คงจะยกไปแล้วด้วยซ้ำ

คำถามคือ เราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร และปัญหานี้ถูกแก้มามากน้อยแค่ไหนบ้าง?

ต้นตอขยะล้นเมือง คือการไม่แยกขยะ – จัดการไม่ถูกวิธี

หากจะพูดถึงเรื่องราวของขยะนั้น ข้อมูลจาก Greenpeace บอกว่า สาเหตุของปัญหาซ้ำซากของกรุงเทพฯ อย่างปัญหาขยะล้นเมืองนั้น มาจากการจัดการขยะอย่างไม่ถูกวิธี หรือคือการไม่แยกขยะนั่นเอง โดยที่ผ่านมาสิ่งที่ทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนก่อนๆ หรือหน่วยงานภาครัฐพยายามทำเสมอมาก็คือ การสร้างจิตสำนึกให้คนกรุงฯ รู้จักการแยกขยะและทำให้เป็นนิสัยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเมือง

แต่วิธีการมองแบบนี้จากหน่วยงานภาครัฐค่อนข้างจะเป็นการโยนความผิดไปให้ประชาชนไปสักหน่อย เป็นการมองปัญหาไปที่จิตสำนึกของประชาชน ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นนามธรรมและจับต้องได้ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาการแยก (และไม่แยก) ขยะ และการจัดการอย่างไม่ถูกวิธีเป็นปัญหาของโครงสร้างการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครเสียมากกว่า ซึ่งกรุงเทพมหานครยังขาดซึ่งสถานที่และวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการขยะ หนำซ้ำระบบการจัดการที่มีอยู่ ในมุมองของประชาชนก็ขาดซึ่งความชัดเจน จนทำให้เกิดชุดความคิดที่ว่า “แยกไปเขาก็เทรวมอยู่ดี” ซึ่งแม้ว่าชุดความคิดดังกล่าวจะไม่ได้ตรงตามความเป็นจริงนัก แต่การขาดซึ่งความชัดเจนในระบบการจัดการ ก็ทำให้ประชาชนมีชุดความเชื่อเช่นนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมในการจัดการขยะในระดับปัจเจกตามมา

ดังนั้นเราอาจต้องเริ่มจากการมาดูที่ระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครว่าเป็นอย่างไร และมีประสิทธิภาพมากเพียงใด

ระบบที่เหมือนไม่มีระบบ – จึงไปจบที่การโยนภาระให้ผู้อื่น 

ขยะในกรุงเทพฯ เฉลี่ยแล้วมีจำนวน 12,281 ตัน/วัน โดยชาวกรุงเทพมหานคร 1 คนสร้างขยะ 2.2 กิโลกรัมต่อวัน หากจะพูดว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่สร้างขยะสูงที่สุดในประเทศไทยก็คงไม่ผิดนัก แต่ระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครนั้น กลับมีประสิทธิภาพต่ำอย่างน่าใจหาย จนอาจเรียกได้ว่าไม่มีระบบการจัดการจะถูกต้องกว่า 

จากขยะจำนวนทั้งหมด 12,281 ตันนั้น แบ่งเป็นขยะรีไซเคิล 3,672 ตัน และขยะที่ต้องนำไปกำจัดอีก 8,609 ตัน ซึ่งขยะรีไซเคิลทั้งหมดจะไปจบที่โรงงานรีไซเคิล แม้ว่าจะมีปัญหาเชิงเทคนิคของการรีไซเคิล ที่อาจทำให้ไม่สามารถนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพได้ทั้งหมด แต่การจัดการขยะรีไซเคิลนั้น ไม่ใช่ปัญหาหลักที่ชวนปวดหัวมากนัก เราจึงขอให้ความสนใจกันที่ขยะที่ต้องนำไปกำจัด ซึ่งถือว่าเป็น 70.10 % ของขยะทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร

ซึ่งขยะประเภทนี้ก็แยกย่อยออกได้อีกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือขยะอินทรีย์ พวกเศษอาหาร หรือพวกต้นไม้ที่ถูกตัด จำนวน 3,874 ตันต่อวัน  คิดเป็น 45% ของขยะที่ต้องนำไปกำจัดของ กทม. วิธีการจัดการคือการนำไปหมักปุ๋ย และผลิตเป็นพลังงาน โดยนำไปหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่โรงหมักอินทรีย์อ่อนนุช โรงงานผลิตปุ๋ยอ่อนนุช และโรงงานผลิตปุ๋ยหนองแขม 

หากนับรวมโรงงานกำจัดขยะ MBT อ่อนนุชที่โดนพักใบอนุญาตไปด้วยนั้น กรุงเทพมหานครสามารถกำจัดขยะอินทรีย์ได้ราวๆ 2,600 ตันต่อวัน คิดเป็น 67.11% ของขยะอินทรีย์ต่อวันทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร แม้จะยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก แต่ก็จะเห็นได้ว่าการจัดการขยะอินทรีย์ของกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ใช่ปัญหาที่หนักหนาสาหัสเท่าไร

ขยะที่ชวนปวดหัวของกรุงเทพมหานครก็คือ ขยะประเภทที่สอง ขยะมูลฝอย ซึ่งมีจำนวน 4,735 ตันต่อวัน คิดเป็น 55% ของขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัด เป็นขยะที่ถือได้ว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของเมืองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยวิธีการจัดการมีด้วยกันสองวิธี วิธีแรกคือการนำไปเข้าเตาเผาพลังงาน และวิธีที่สองคือการนับไปฝังกลบ

โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเตาเผาพลังงาน เพียง 1 เตา และรับขยะได้ไม่เกิน 500 ตันจากจำนวนขยะมูลฝอย 4,735 ตันต่อวัน หมายความว่ากรุงเทพมหานครสามารถกำจัดขยะมูลฝอยโดยเพียงแค่ 10.56% ของจำนวนขยะมูลฝอยทั้งหมดที่เหลือต้องนำไปฝังกลบและการนำขยะมูลฝอยไปฝังกลบนั้น ก็ไม่ได้นำไปฝังกลบในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเอง แต่นำไปฝั่งกลบที่บ่อขยะฝั่งกลบที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดฉะเชิงเทรา 

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร เป็นระบบที่มีขีดความสามารถในการจัดการขยะที่ต่ำมากจนแทบจะไม่มีระบบก็ว่าได้ และเมื่อระบบที่มีอยู่ไม่สามารถจัดการได้ สุดท้ายกรุงเทพมหานครจึงต้องผลักภาระของตนไปให้เมืองอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ผลักภาระการจัดการไปให้เท่านั้น แต่ยังผลักความเสี่ยงของเมืองตัวเองจะต้องเผชิญกับความเสื่อมโทรมทางภูมิทัศน์และคุณภาพชีวิตที่ต่ำของประชาชน ไปให้คนเมืองอื่นต้องเผชิญแทนอีกด้วย

ดังนั้นจากนี้ไป เวลาที่เราพูดถึงขยะล้นเมือง ขอให้เข้าใจตรงกันว่าไม่ได้ล้นเมืองกรุงเทพมหานคร แต่ไปล้นเมืองอื่นๆ แทน

มรดกการจัดขยะจากผู้ว่าฯ ในอดีต

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในอดีตแม้จะมาจากต่างพรรคการเมืองกัน แต่ก็มีนโยบายการจัดการขยะที่ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไรนัก โดยเฉพาะผู้ว่าในยุคหลังๆ ที่ต่างก็ดำเนินนโยบายจัดการขยะโดยอิงจากแผนพัฒนากรุงเทพมหานครทั้งสิ้น โดยนโยบายก็มีทั้งนโยบายที่เน้นไปที่ตัวระบบการจัดการ เช่น การก่อสร้างเตาเผามูลฝอยติดเชื้อขนาด 10 ตันต่อวัน จำนวน 2 เตาในสมัยกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (2535-2539) และนโยบายที่เน้นไปที่รณรงค์สร้างจิตสำนึกของประชาชนอย่าง “ขยะในมือท่านลงถังเถอะครับ” ในสมัยพิจิตต รัตตกุล (2539-2543)

แต่นอกจากโรงเผาขยะต่างๆ และจิตสำนึกบางชุดที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพยายามปลูกฝังแล้ว มรดกอีกอย่างที่ส่งผลอย่างมากมาจนถึงปัจจุบันคงต้องย้อนไปในสมัยเทียม มกรานนท์ (2524-2527) ที่ดึงเอาภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะในกรุงเทพมหานครจนกลายมาเป็นโมเดลหลักที่กรุงเทพมหานครพึ่งพิงภาคเอกชนในการจัดการขยะเป็นส่วนใหญ่จนถึงทุกวันนี้  

ย้อนดูงบประมาณมหาศาลที่ไม่ก่อให้เกิดระบบการจัดการที่เข้มแข็ง

เป็นที่น่าเสียดายว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณไปมหาศาลกับเรื่องการจัดการขยะ แต่กลับไม่ได้ทำให้กรุงเทพมหานครมีระบบการจัดการขยะที่เข้มแข็งมากขึ้นเลยแม้แต่น้อย เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำใช้ไปในการว่าจ้างภาคเอกชนให้เข้ามาจัดการขยะแทน ทั้งในเรื่องการจัดเก็บและการจัดการ โดยในด้านการจัดเก็บ ที่สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ว่าจ้างรถเก็บขยะจากเอกชนมาจัดการเก็บขยะ และในด้านการจัดการ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) กรุงเทพมหานครได้อนุมัติโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดขยะมูลฝอยไปแล้ว 2 จาก 6 โครงการ โดยระยะสัญญาของโครงการนั้นยาวนานถึง 24 ปี

การว่าจ้างเอกชนที่มีความชำนาญเข้ามาจัดการนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ในฐานะเมืองหลวงที่ถูกยกให้เป็นเมืองต้นแบบของเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย กรุงเทพมหานครต้องมีความสามารถในการจัดการขยะของตัวเองได้ดีในระดับหนึ่งก่อน จากนั้นจึงค่อยดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดการในส่วนที่ขาดตกบกพร่อง ไม่ใช่ผลักภาระให้ภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ เพราะแม้จะดีในระยะสั้น (เพราะรวดเร็วกว่าการต้องมานั่งปรับโครงสร้างทั้งระบบ) แต่ในระยะยาวนั้นไม่ก่อให้เกิดผลดีเลยแม้แต่น้อย 

งบประมาณมหาศาลที่ทุ่มลงไปในการจัดการขยะของกรุงเทพฯ นอกจากจะต้องจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะต้องสร้างระบบจัดการขยะของตัวเองให้ได้ด้วย ไม่งั้นจะยังไง๊ ยังไงปัญหาขยะก็จะเป็นปัญหาซ้ำซากของกรุงเทพมหานครอยู่วันยังค่ำ

การจัดการขยะของกรุงเทพฯ กับภาพสะท้อนอำนาจรวมศูนย์แบบเมืองพ่อเมืองลูก

การจัดการขยะของกรุงเทพมหานครสะท้อนภาพของอำนาจที่รวมศูนย์เข้ามาในกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี ประโยคที่ว่า “ความเจริญทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ” คงเป็นสิ่งที่ทุกคนคิดกันมาช้านานไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการดึงความเจริญเข้ามาสู่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการผลักความไม่เจริญ ความเสื่อมโทรม และภาระต่างๆ ไปสู่เมืองอื่นๆ อีกด้วย 

จะเห็นได้จากการส่งขยะมูลฝอยไปฝังกลบที่จังหวัดนครปฐมและฉะเชิงเทรา จนทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ทำให้ประชาชนในบริเวณนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ เป็นการสะท้อนแนวคิดของผู้นำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และเป็นเมืองศูนย์กลางของประเทศ จะต้องสวยงาม สบายตา ดูมีอารยะอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นแล้ว ขยะและความเสื่อมโทรมเหล่านี้ เมืองอื่นๆ ซึ่งเป็นเสมือนเมืองลูกจะต้องช่วยกันรับไป เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้เมืองพ่ออย่างกรุงเทพมหานครยังคงสวยงามและยิ่งใหญ่อยู่เรื่อยไป 

เรื่องนี้ยังสะท้อนแนวคิดที่กรุงเทพมหานครไม่เคยมองการจัดการปัญหาขยะเป็นเรื่องเร่งด่วน และไม่เคยคิดจะสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพ  กรุงเทพฯ ยังมองว่าเมืองอื่นๆ ยังสามารถรับหน้าที่จัดการตรงนี้ได้ในขณะที่กรุงเทพฯ เตรียมพร้อมอยู่เสมอในการเปิดรับความเจริญที่จะเข้ามา เมืองอื่นๆ ก็ต้องเตรียมพร้อมเสมอในการจะรับความไม่เจริญที่ถูกส่งไปเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าปัญหาหลักของกรุงเทพฯ ในการจัดการกับขยะนั้นอาจไม่ใช่แค่ ‘ระบบที่ไม่ดี’ เท่านั้น แต่อาจเป็นเรื่อง ‘ระบบที่ไม่มี’ ด้วย ในขณะที่ทั้งตัวผู้นำและหน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานครมักจะโยนภาระไปที่จิตสำนึกของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาอาจไม่ใช่จิตสำนึกของประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่เป็นจิตสำนึกของกรุงเทพมหานครเองต่างหากที่เป็นปัญหา

อาจถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องผลักดันให้เกิดการปรับจิตสำนึกของเมืองเสียใหม่ ไม่ใช่แค่ทำระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จะต้องเลิกผลักภาระไปให้เมืองอื่นๆ และหันมาจัดการภาระของตัวเองด้วยตัวเอง

ไม่งั้นจะยังไง๊ ยังไงก็แก้กันไม่จบไม่สิ้นเสียที

22 พฤษภาคม 2565 คนกรุงเทพฯ ออกมาใช้ 1 เสียง เพื่อเป็นหนึ่งพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงไปร่วมกัน และถ้าคิดว่ามีปัญหาที่เกี่ยวข้องหรือนอกเหนือจากนี้อีกสามารถติด #เรียนผู้ว่ามหานคร และ #ไทยรัฐทีวี32 เพื่อส่งปัญหาถึงผู้ว่าคนต่อไปของกรุงเทพมหานคร และอย่าลืมติดตามโครงการ Modernist Next บางกอก 2022 ได้ทาง Facebook / YouTube / Twitter / TikTok ของ Modernist เพียงพิมพ์คำว่า lifeatmodernist และอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง themodernist.in.th/nextbangkok2022

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #เรียนผู้ว่ามหานคร ภายใต้ความร่วมมือของเว็บไซต์โมเดิร์นนิสต์และไทยรัฐทีวี ช่อง 32

อ้างอิงข้อมูล Greenpeace และ Rocket Media Lab

Content Creator

Photographer

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า