fbpx

เพศกำเนิด : บททดสอบและความท้าทายจากสังคมที่ทรานส์แมนต้องเผชิญ

แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะมีการปรากฏตัวขึ้นของทรานส์แมน (Transman) ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกผู้หญิงที่รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย ซึ่งมีจำนวนหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนแปลงร่างกายของตนเองเป็นผู้ชายด้วยการรับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายและ/หรือการผ่าตัดตามกระบวนการทางการแพทย์ เพื่อเปลี่ยนร่างกายให้ตรงกับใจหรือที่หลายคนเรียกว่า การเกิดใหม่ในร่างใหม่ในฐานะร่างกายที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับทรานส์แมนที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงร่างกายของตนเองเป็นผู้ชาย หลายสิ่งที่ต้องเผชิญหลังจากการได้มาซึ่งร่างกายใหม่ นอกเหนือจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับการศัลยกรรมปรับเปลี่ยนร่างกาย หรือปัญหาสุขภาพแล้ว กลับไม่ใช่เรื่องราวใหม่ หากแต่เป็นบททดสอบทางสังคมที่สร้างความท้าทายมากยิ่งขึ้นบนร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปของทรานส์แมนที่ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ของคนส่วนใหญ่ในสังคมยังคงยึดติดกับเพศทางชีววิทยาหรือเพศกำเนิดในการกำหนดวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้เพศกำเนิดของทรานส์แมนในฐานะเพศหญิง ต้องเผชิญกับการถูกแปะป้ายให้กลายเป็นความปกติ (abnormal) ภายใต้กฎเกณฑ์ทางสังคม

การถูกท้าทายกับความเป็นหญิง

หลังจากการได้มาซึ่งร่างกายแบบผู้ชายจากการต้องแบกรับความเสี่ยงทางสุขภาพ ค่าใช้จ่ายทางการเงินแล้ว เมื่อทรานส์แมนต้องก้าวเข้าสู่โลกความเป็นจริงที่แบ่งแยกคนจากอวัยวะเพศ ปัญหาที่มาจากการมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบผู้ชายที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดในฐานะเพศหญิง กลับส่งผลกระทบต่อการดำรงตัวตนของทรานส์แมนที่ต้องการใช้ชีวิตไม่ต่างจากผู้ชายคนหนึ่ง ทั้งนี้เพราะสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วเพศกำเนิดไม่ได้เป็นเพียงเพศทางร่างกายที่ใช้ระบุตอนเกิด หากแต่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดเส้นทางการใช้ชีวิตของบุคคลให้เป็นไปตามค่านิยมของสังคมวัฒนธรรม โดยเฉพาะบทบาททางเพศของผู้หญิงที่ถูกจัดวางบทบาทเป็นเมียและแม่ในครอบครัว ทำให้คนที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบผู้หญิงหรือเลือกดำเนินชีวิตในเส้นทางดังกล่าว ต้องเผชิญกับความยากลำบากและความเหน็ดเหนื่อย

ลูกสาวในใจของพ่อแม่

แม้ทรานส์แมนหลายคนจะมีรูปลักษณ์ภายนอกแบบผู้ชาย และเลือกที่จะดำรงตัวตนวิถีชีวิตในฐานะผู้ชาย แต่สำหรับในบางครอบครัวแล้วพวกเขายังคงมีสถานะการเป็นลูกสาวตามเพศกำเนิดในความคิดของพ่อแม่ บทบาทการเป็นลูกสาวนั้น ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่จุนเจือสถานะทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัว และดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่ามากกว่าลูกชาย และหากเป็นผู้ชายข้ามเพศที่ไม่ได้รับฮอร์โมนและยังคงมีรูปลักษณ์แบบผู้หญิงด้วยแล้วนั้น แรงกดดันที่มีต่อการถูกบังคับให้ต้องแต่งงานกับผู้ชายรักต่างเพศ มีทายาทสืบสกุล ทำหน้าที่เป็นเมียและแม่ก็กลายเป็นหนึ่งในบทบาทหน้าที่การเป็นลูกสาวที่ดี เนื่องจากร่างกายของผู้หญิง (female body) ถูกนิยามว่าเป็นร่างกายที่สามารถสืบพันธุ์ได้เป็นอย่างแรก (Alexandra Howson, 2004, p. 45) ทำให้ทรานส์แมนหลายคนต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการมีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิง

นางสาวกับสถานะการเป็นผู้หญิง

แม้ผู้ชายข้ามเพศที่รับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน และ/หรือผ่าตัดเต้านม มดลูกรังไข่ รวมถึงกระบวนการอื่น ๆ ทางการแพทย์ จะทำการรื้อสัญลักษณ์การสืบพันธุ์ของเพศหญิงในร่างกาย อย่างการมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ การให้นม เพื่อเปลี่ยนแปลงร่างกายจากผู้หญิงเป็นผู้ชาย อันส่งผลให้รูปลักษณ์ภายนอกของทรานส์แมนมีลักษณะไม่แตกต่างกับผู้ชายที่มีเพศกำเนิดเป็นชายโดยทั่วไป ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติได้ในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง

แต่การยังคงมีคำนำหน้านามในฐานะนางสาว ที่เปิดเผยถึงเพศกำเนิดซึ่งเคยเป็นผู้หญิง กลับกลายเป็นปัญหาที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้แก่ทรานส์แมนจำนวนมากเมื่อกับต้องเผชิญกับสายตา คำพูดที่สร้างความเจ็บปวดทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น “คิดว่าเป็นผู้ชาย” “หรือเหมือนผู้ชายมาก” ไม่ใช่ผู้ชายเหรอ? รวมไปถึงการขำขันซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย (กนกพร อริยา, 2561, น.81)

พร้อมกับอีกหลายคำถามที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวอย่าง มีตรงนั้น (อวัยวะเพศชาย) แล้วหรือยัง? ใช้งานเป็นยังไงบ้าง? ด้วยความอยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะบรรยากาศในสถานที่ทำงานที่ไม่เข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในหลายที่ยังคงต้องการให้แต่งกายตามเพศกำเนิด (กนกพร อริยา, 2561, น. 77) และนำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติที่ต่างออกไปจากช่วงเวลาก่อนหน้า ส่งผลให้ทรานส์แมนหลายคนเลือกที่จะเปลี่ยนชื่อของตนเองให้สอดคล้องกับร่างกายแบบผู้ชาย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางคำพูดจากคนรอบข้างในฐานะผู้หญิง

Visible Yet InVisible ร่างใหม่กับตัวตนใหม่ที่ไม่ถูกมองเห็น

เมื่อทรานส์แมนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะรับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายและทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงร่างกายจากผู้หญิงเป็นผู้ชาย การประกอบสร้างการรับรู้ถึงตัวตนแบบใหม่ในฐานะผู้ชายกับบุคคลรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ตนเองได้ใช้ชีวิตในฐานะผู้ชายทั่วไปตามที่ปรารถนา การพาร่างกายแบบใหม่ไปรู้จักกับเพื่อนเก่าที่รับรู้ว่าตนเคยเป็นผู้หญิงมาก่อน อาจทำให้หลายคนถูกปฏิบัติในฐานะผู้หญิง โดยเฉพาะกับเพื่อนที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย ขณะที่เพื่อนใหม่ที่ไม่เคยรับรู้ถึงรูปลักษณ์ก่อนหน้า ก็ปฏิบัติกับพวกเขาในฐานะผู้ชาย แต่หากในกรณีที่รับรู้ว่าเพื่อนทรานส์แมนเคยเป็นผู้หญิงมาก่อน การถูกท้าทายจากการมีเพศกำเนิดเป็นหญิงกลับเป็นสิ่งที่ทรานส์แมนต้องเผชิญ

ความเชื่อที่ยากจะเปลี่ยนแปลงของสังคม

แม้การเปลี่ยนแปลงร่างกายจากผู้หญิงเป็นผู้ชายของทรานส์แมนที่สัมพันธ์กับฮอร์โมน จะเป็นสิ่งที่ยากลำบากและไม่มีจุดสิ้นสุด แต่สังคมที่ให้ความสำคัญกับเพศกำเนิด ด้วยการผูกติดความหมายของคำว่าผู้ชายและความเป็นชายกับอวัยวะเพศมากกว่าอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ส่งผลให้ทรานส์แมนถูกมองว่าไม่ใช่ผู้ชายแท้ และแม้ว่าทรานส์แมนหลายคนจะอยู่ในขั้นตอนการสร้างอวัยวะเพศชาย แต่ข้ออ้างที่กล่าวถึงการเป็นผู้ชายแท้ที่มีอวัยวะเพศชายแต่กำเนิดกลับยังคงถูกตอกย้ำ เพื่อต่อต้านความเป็นชายของผู้ข้ามเพศไม่ให้ถูกนับรวมในฐานะผู้ชาย เพศที่ถูกกำหนดมาแต่กำเนิด จึงกลับกลายเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญเหนือตัวตนที่แท้จริงของบุคคล

ยินดีที่ได้รู้จัก ทำความรู้จักกับทรานส์แมน

เมื่อการเปลี่ยนแปลงร่างกายจากผู้หญิงไปเป็นผู้ชายคือความปรารถนาของทรานส์แมนที่เข้ารับกระบวนการทางการแพทย์ และกว่าจะก้าวข้ามมาถึงจุดนั้นหลายคนต้องสูญเสียสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น หน้าที่การทำงาน เงิน สุขภาพ หรือแม้แต่การถูกคุกคามทางวาจาและร่างกาย เพื่อที่จะได้ชีวิตอยู่ในร่างกายแบบผู้ชาย เพศกำเนิดในฐานะเพศหญิงจึงไม่ควรมีบทบาทสำคัญเหนืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นการรับรู้ถึงความรู้สึกตัวตนของบุคคล การปฏิบัติต่อทรานส์แมนในฐานะผู้ชาย อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะเปิดใจยอมรับและทำความเข้าใจถึงความหลากหลายของผู้คนในสังคม แม้หลายคนอาจรับรู้ว่าทรานส์แมนเคยเป็นผู้หญิงมาก่อนหรือมีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิง แต่ในวันนี้เขาคือผู้ชายคนหนึ่งเช่นเดียวกับผู้ชายคนอื่นในสังคม แต่ภายใต้ความหลากหลายย่อมมีความหลากหลาย บางครั้งคนที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงที่ใช้ฮอร์โมนอาจไม่สะดวกใจต่อการนิยามตัวตนในฐานะผู้ชาย ความหลากหลายเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยสอบถามถึงการนิยามตัวตนของคู่สนทนา เพื่อที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างที่ควรจะเป็น


อ้างอิง
กนกพร อริยา. (2561) การศึกษาความต้องการพื้นฐานของผู้ชายข้ามเพศในประเทศไทย สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
Howson, Alexandra. (2004) The Body in Society: An Introduction. Polity Press: UK.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า