fbpx

“ชีวิตต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับคนอื่น” บทเรียนจากการทดลองในโลกสื่อของทศลอง-ทศพล

“ผม ทศพล เหลืองศุภภรณ์ ชื่อเล่นชื่อทศ ตอนนี้อายุ 33 ส่วนสูง 176 หนัก 65 กรุ๊ปเลือด O นะฮะ ถามว่าผมเป็นอะไรใช่มั้ยฮะ ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะตอบง่ายมากเพราะงานมันเฉพาะตัว ทุกวันนี้คิดว่าน่าจะเป็นนักเล่าเรื่องครับ”

เพราะด้วยความเป็น “นักเล่าเรื่อง” ​อย่างที่เขานิยามตัวเอง เราเลยให้คู่สนทนาตรงหน้าแนะนำตัวเองอย่างที่เขาอยาก “เล่า” เรื่องของเขาให้เราฟังแล้วกัน

จริงๆ นอกจากนักเล่าเรื่องแล้ว เส้นทางในวงการสื่อของเขานั้นหวือหวาและน่าสนใจมาก จากการเริ่มงานในตำแหน่งประสานงานของสำนักพิมพ์เล็กๆ สู่การทำงานหลากหลายหน้าที่ในนิตยสารแจกฟรีเล่มหนึ่งที่ย้ายเขตคามไปยังสำนักคอนเทนต์ออนไลน์ นำไปสู่การย้ายพื้นที่ทำงานในสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ขึ้น จนตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือบรรณาธิการบริหาร Creative Talk แบรนด์ที่เล่าเรื่อง “ความสร้างสรรค์” และการทำคอนเทนต์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่ถึงแม้เขาจะลาออกแล้ว แต่เขายังจัดรายการพอดแคสต์ร่วมกับแบรนด์ในชื่อ I Will จะทำทั้งที ต้องทำให้ได้ 

นักเล่าเรื่องตรงหน้าบอกเราว่า เขาเพิ่งลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการใหญ่มาได้ไม่นานเพื่อกลับมาทบทวนตัวเอง ก่อนจะเริ่มการเดินทางครั้งใหม่อีกครั้งในพื้นฐานเดิมของความเป็นนักเล่าเรื่องที่เขาคุ้นชิน เราจึงใช้โอกาสนี้นัดหมายพี่ทศเป็นพิเศษ เพื่อชวนเขาทบทวนเรื่องราวรายทางที่ผ่านมาของการเป็นนักเล่าเรื่องผ่านเครื่องมือและพื้นที่ต่างๆ 

ซึ่งเรื่องเล่าของนักเล่าเรื่องคนนี้ มีหลายมิติที่เราสามารถถอดบทเรียนมาเป็นวิธีคิดในการใช้ชีวิตได้ 

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

จุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ทศสนใจความคิดสร้างสรรค์

เล่าอย่างนี้แล้วกัน พี่ทศเนี่ย ชีวิตนี้เริ่มทำอะไรก็ช้ากว่าคนอื่นเขาหมด เราเริ่มเข้าเรียนช้ากว่าคนอื่น แล้วพอเราเริ่มต้นช้าเราตามคนอื่นเขาไม่ค่อยทัน แล้วกว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไรก็ช้าอีก อย่างตอนนั้นพี่ทศเรียนสายศิลป์มา 3 ปี เราว่ามันไม่ใช่ก็เลยย้ายไปเรียนสายวิทย์ เข้ามหาวิทยาลัยไปก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เลยซิ่วไปเรียนอีกที่นึง พอเรียนจบมาทำงาน ก็มาทำงานสายที่ไม่ตรงกับที่เรียนมาอีก มันก็เลยช้าไปหมดเลย

 แล้วจะใช้วิธีไหนที่เราจะทันเพื่อน ถ้าเราเชื่อในกฎ 2 หมื่นชั่วโมง ที่ว่าถ้าเราทำอะไรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เราจะเก่งขึ้นมาในสิ่งๆ นั้น เราคิดว่ามันช้าไปหลายหมื่นชั่วโมงเลย วิธีเดียวที่เราจะแซงคนอื่นได้คือเราต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนอื่น ทำยังไงก็ได้ให้คนซื้อไอเดียเราก่อน ฝีมือเราอาจจะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเรามีไอเดียมากกว่า ตรงนี้จะช่วยเติมช่องว่างที่เราขาดไปได้

ทำไมถึงลาออกจากที่ทำงานเก่า ทั้งๆที่งานก็ดูจะเหมาะกับตัวเองและใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบที่สนใจ 

เราทดลองมาเยอะนะ เยอะจนเมื่อทำงานมาถึงจุดนึง เรารู้ว่าเราอยากได้อะไรและไม่อยากได้อะไร มันอาจจะดูแรงนะ แต่เอาตรงๆ เรารู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ งานที่ Creative Talk เนี่ยจะมีกรอบประมาณนึง แล้วก็มีที่โล่งประมาณนึงที่ให้เราเล่น แต่ที่โล่งตรงนั้นมันไม่ได้ตรงกับเราซะทีเดียว แล้วเรารู้สึกว่าการทำงานมันต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากการค้นคว้า ความเอาใจ ใส่ข้อเท็จจริงต่างๆ ความสงสัย คือพอรวมกันทั้งหมดแล้ว มันทำให้เราคิดได้ว่าเราอาจจะไม่เหมาะกับที่นี่จริงๆ เอาจริงๆการได้ลองเป็นเรื่องที่ดีนะ นอกจากเราได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะกับเรา ก็ได้รู้ด้วยว่าสิ่งนั้นมันเหมาะกับเขาหรือเปล่าเช่นกัน 

เล่าให้ฟังหน่อยได้มั้ยว่าทดลองอะไรไปบ้าง

เยอะนะ เยอะมาก เยอะฉิบหายเลยถ้าถามตอนนี้ เรารู้แล้วว่าที่ผ่านมาเราเจอเรื่องดีเรื่องแย่อะไรมา แต่ในตอนนั้นเราไม่รู้ไง งงมาก แล้วก็กลัวเหมือนกัน คือมันไม่มั่นคงเพราะเราชอบเปลี่ยนสายไปเรื่อยๆ เปลี่ยนจนเจอคนถามว่า “ถามจริง มึงชอบอะไรวะ” เราคิดว่าเราตัดสินใจถูกแล้วแต่มันก็ผิด 

เราพบว่าสิ่งที่เราลองมากที่สุดคือท้าทายกับความเชื่อของตัวเอง 

เราเคยคิดว่าสายศิลป์ดี เราชอบวาดการ์ตูน แต่พอเข้าไปเรียนแล้วเจอประวัติศาสตร์ศิลป์ปุ๊บ เราไม่ชอบ มันก็เป็นการท้าทายความเชื่ออย่างหนึ่ง แล้วเราก็ทดลองซ้ำไปซ้ำมาจนเราได้รู้ว่า คนเราเปลี่ยนตัวเองได้เรื่อยๆ มันไม่ผิดเลยที่เราจะไม่ชอบสิ่งๆนั้น หลายคนชอบพูดว่าให้หาสิ่งที่ชอบที่ทำไปตลอดชีวิตให้ได้ ถ้าสูตรนี้ดีสำหรับคุณก็ใช้ไป แต่สำหรับเรา เราพบว่าไม่ใช่ เรามีชีวิตเดียว เราอยากใช้ชีวิตเราให้มีความสุข 

คุณทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่เหมือนพูดว่าไม่ใช่สิ่งที่เรียนมาเลย ขอถามได้มั้ยว่าเรียนจบอะไรมา 

วิทยาศาสตร์อาหารและโภชนาการ ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

 เรียนมาเพื่อให้รู้ว่ากินอาหารอะไรดีไม่ดี เรียนจบมาสายนี้มันจะไปทำได้ประมาณ 2 อย่าง ขานึงไปเป็นนักโภชนาการอยู่ในโรงพยาบาล กับอีกอันนึงคือเป็น QC ในโรงงานผลิตอาหาร แต่เราว่าเราไม่ชอบอะ เราชอบเรื่องอาหารเรื่องสุขภาพนะ แต่เราไม่ชอบทำงานด้านนี้ ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำยังไง แม่ก็เลยฝากเราเข้าไปทำงานในบริษัทนึง แต่พอเข้าไปทำแล้วยิ่งรู้สึกว่าเราไม่มีอะไรเลย เราเป็นแค่ลูกจ้างคนนึงเฉยๆ ตอนนั้นอายุ 23 ไปทำงานแล้วเรารู้สึก แม่ง เกลียดวันจันทร์ว่ะ ไม่อยากทำงานแล้วว่ะ คืนวันเสาร์ก็นอยด์แล้ว เพราะเหลือเวลาพักแค่วันเดียว เป็นแบบนี้อยู่ 2 เดือน จนมีความคิดในใจว่ามนุษย์เราเนี่ย ตายตอนอายุเท่าไหร่วะ คือตอนนั้นอายุ 23 แต่นอยด์เรื่องนี้แล้วอะ แล้วเจ้าจะใช้ชีวิตต่อจากนี้ไปอีก 30 – 40 ปีได้ยังไง ตอนนั้นเลยรู้สึกว่าไม่ได้ละ เราต้องหาสิ่งที่เราจะอยู่กับมันได้นานๆ พี่ทศคิดไปถึงจุดที่ว่า ถ้ามันแย่มาก การจบชีวิตอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็ได้แค่คิด คือเรารู้สึกว่าถ้าเราลาออกไปทำอย่างอื่น ยังไงเราก็ต้องเจอลูปความรู้สึกนอยด์นี้อยู่ดี  เราเลยมีคำถามกับตัวเองว่า เราจบชีวิตเพื่อหยุดวังวนแห่งความน่าเบื่อนี้ได้มั้ย แต่เราก็ไม่ได้อยากทำ เราเลยมาทบทวนถึงต้นตอของปัญหา ถ้าเราไม่ชอบงานแบบนี้ แล้วเราจะทำอะไร ตอนนั้นเลยเขียน Brain Dump ขึ้นมา ให้ฝั่งซ้ายเป็นงานที่อยากจะทำ ฝั่งขวาเป็นทักษะที่เราทำได้ เขียนไปแล้วมันมาเจอกันตรงกลางที่งานหนังสือ ก็เลยตัดสินใจไปสมัครงานที่ Salmon Book

หลังจากตัดสินใจได้แล้วว่างานหนังสือเหมาะกับเราจนไปสมัคร Salmon Book ผลตอนนั้นเป็นยังไง

เราสมัครงานที่นี่ 4 ครั้ง ไม่ผ่านเลยสักครั้ง แม้กระทั่งครั้งที่ 4 จนพี่แบงค์ (ณัฐชนน มหาอิทธิดล) ซึ่งเป็น บ.ก. ตอนนั้นบอกกับเราว่า มาทำงานด้วยกันมั้ย เขาเห็นว่าเรามีความตั้งใจ แต่ทักษะยังต้องฝึกอีกเยอะ มาลองทำงานด้วยกันมั้ยเป็น Project Coordinator ที่นั่นทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างในการทำสื่อ ในเมื่อเราเก่งไม่พอที่จะเป็นกองบรรณาธิการ แต่เรามีใจรัก เราพร้อมที่จะเรียนรู้ ก็เลยได้ลองทำในตำแหน่งประสานงาน ซึ่งตำแหน่งนี้มันสอนให้เรารู้วิธีคิด สอนการมองภาพรวมของงาน บางทีเราคิดว่ามันสวยแล้วนะ แต่มันอาจจะขาดการสื่อสาร หรือ branding บางอย่าง หรือแบบทุกอย่างได้หมดเลย แต่ Salmon Book ไม่น่าจะทำปกแบบนี้นะ คือพอเราทำไปนานๆ เราก็เริ่มจะมองออก รู้แนวทาง รู้สึกได้ว่านี่คือสิ่งที่ฝั่ง Art Director ต้องการจะสื่อออกมา การทำตรงนี้ช่วยเพิ่มทักษะให้เราหลายอย่างมาก

จากนั้นพอบริษัทเริ่มโตขึ้น เราก็มีการขยับขยายไปทำ Giraffe Magazine ซึ่งเป็นยูนิตใหม่ เราก็ต้องมาทำประสานงานและทำครีเอทีฟ ก็คือคิดปก ใครจะขึ้นปก ไอเดียเป็นยังไง คือระดมความคิดกับทีม แล้วบางทีก็ต้องมาทำ stylist ด้วย ตรงนั้นแหละที่เราเติมความรู้ไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นเราก็ย้ายไปทำที่ The Matter ไปเป็น Content Producer ดูแลงานโฆษณา ในยุคนั้นทุกคนยังเสพสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ สื่อออนไลน์ยังไม่ได้บูมอะไรมาก เป็นแค่อีกตัวเลือกนึง The Matter เกิดขึ้นมาบนความเชื่อว่าเส้นทางนี้จะเติบโตได้ จะเป็นทางเลือกในการหารายได้ใหม่ๆ เราก็เข้าไปทำในส่วนที่เป็นการโฆษณา ตอนนั้นเราได้คุยกับลูกค้ามากขึ้น เรารู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร คือการทำงานกับลูกค้าสำหรับเรามันใหม่มากนะ เพราะเมื่อก่อนเราทำงานแค่กับคนภายในเท่านั้น ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำยังไงให้ออกมาดีที่สุด แต่พอเราทำงานกับลูกค้า เราต้องปรับตัว ซึ่งเราแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกมาจากแบรนด์ของเราเอง อีกส่วนนึงคือคนอ่านหรือผู้รับชมของเรา และอีกฝั่งนึงคือลูกค้า การวางสมดุลของ 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก The Matter ตอนนั้นได้ทำหลายอย่างมากนะ เหมือนเสริมประสบการณ์น่ะ เริ่มได้สัมภาษณ์คน ได้ทำคอนเทนต์ พอเราได้ลองทำมันก็รู้สึกละว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เรารู้สึกว่าสื่อต่างๆมักจะนำเสนอสังคมเมือง แล้วเป็นไปได้มั้ยที่เขาจะเข้าใจคนต่างจังหวัดหรือคนชายขอบมากขึ้น เราอยากให้คนเหล่านั้นเขาได้ความรู้แบบนี้บ้าง ก็เลยอยากไปทำอะไรที่ใหญ่ขึ้นกว้างขึ้นกว่านี้ เราเลยตัดสินใจย้ายมาทำ Marketing Director ที่มติชน

เราอยากรู้ว่าคนทั้งประเทศกำลังอ่านอะไร เลยตัดสินใจไปสมัครที่นั่น แต่เข้าไปแล้ว culture shock เลยครับ เพราะเราไม่เคยเจอแบบนั้นมาก่อน คือเขามีวิธีคิดของเขาอยู่แล้ว ตอนนั้นเราเข้าไปแล้วเครียดมาก ทุกข์มาก เหมือนอยู่ดีๆก็ออกไปพายเรือกลางทะเล ตอนนั้นเราต้องลดอัตตาเราลงมา ฟังคนอื่นมากขึ้น ลองทำตามที่เขาบอก จนเราเจอทางใหม่ๆ ได้ลองทำหนังสือ ได้จับธุรกิจมากขึ้น ได้ลองทำอีเวนต์ระดับมหภาคใหญ่ๆ เรารู้สึกว่ามันสนุกมาก เราได้ความรู้มากขึ้น เราได้ทำอะไรหลายอย่างมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็มีคำถามเกิดขึ้นด้วยว่า “มันใช่สำหรับเรามั้ย” ตอนนั้นแหละที่ตัดสินใจเข้าไปทำที่ Creative Talk 

เรามองว่ามันเข้าล็อกเรา เพราะมันเป็น community ที่ใช้คอนเทนต์นำ มันยังเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่และเป็นพื้นที่ใหม่ที่เรายังทำไม่เป็น เราก็เลยเข้าไปลองทำดู คือเขาไม่ได้มีแค่งาน forum conferece อย่างเดียว เขามี agency ด้วย แล้วเราก็ได้ทำทั้ง 2 อย่าง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราสามารถช่วยเขาอุดรูเติมช่องว่างที่เขาขาดไปได้ ทำให้มันมีเม็ดเงินกับโปรดักส์งอกออกมาจริงๆ โดยเฉพาะงานที่เราชอบที่สุดคืองานที่ทำกับ Cigna เราคิดว่ามันน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการใช้ชีวิตของเราหลังจากนี้อันนึง โดยที่ Cigna เนี่ยเป็นประกัน เขาดูแลเรื่องกาย ใจ  การเงิน บนความคิดว่ามนุษย์เราจะมีความมั่นใจ ก็ต้องมีความปลอดภัยใน 3 สิ่งนี้ก่อน 3 สิ่งนี้ต้องดี ถึงจะพร้อมที่จะทำสิ่งต่างๆ แล้ว Creative Talk เชื่อในเรื่องของ Forward Thinking Community มันลงตัวเลย คนจะเดินหน้าได้ยังไงถ้าหลังเรายังไม่แข็งแรง Cigna จะช่วย support หลังให้ Creative Talk จะช่วยให้คุณไปข้างหน้า ตอนนั้นแหละมันเลยเกิดเป็น I Will จะทำทั้งที ต้องทำให้ได้

มันชวนให้คิดว่าเราจะทำสิ่งไหน ถ้าเรามั่นใจแล้ว เราคิดไปข้างหน้าแล้ว เราก็ลงมือทำเถอะ แล้วมันก็เป็นรายการที่ประสบความสำเร็จ เกิดเป็นชุมชนขึ้นมาจริงๆ จนเรารู้สึกว่าเออ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ มันก็เลยคิดต่อว่า แล้วหลังจากนี้จะเป็นยังไงต่อ ในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่าสถานการณ์ในโลกธุรกิจมันเปลี่ยนไปเยอะ แบรนด์เริ่มสนใจการทำ creative marketing เริ่มทำแคมเปญที่เข้าถึงคนได้มากขึ้น เขามี social media ที่ต้องสื่อสาร มีนโยบายที่อยากให้คนทั้งประเทศเข้าถึงได้ เวลาจ้างสื่อมาทำ เขาแค่เข้ามาแล้วก็ผ่านไป แล้วทำไมแบรนด์ไม่สื่อสารด้วยตัวเองให้มากขึ้น เราพบนะว่าการที่แบรนด์สื่อสารด้วยตัวเอง engage มันกลับมาที่ตัวแบรนด์จริงๆ มันก็กลับไปที่คำถามละว่า ทำไมเราทำงานที่ Creative Talk ในระยะเวลาสั้นๆ แต่กลับไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเลย เพราะมันทำให้เราได้เจอเส้นทางใหม่ๆ เจอความเป็นไปได้ใหม่ๆในการทำงาน และทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเราไม่เคยลองผิดลองถูกมาก่อนหน้านี้ 

ณ วันที่ Creative Talk ติดต่อมา ด้วยตำแหน่ง Editor-in-Chief คำนี้มีความหมายกับพี่มั้ย

จริงๆ แล้ว เป็นตัวเราที่ไปเสนอเขานะ ไม่ได้ขิงนะ ชีวิตนี้เราไม่เคยยื่นใบสมัครกับใคร แต่เราเข้าไปหาเขาด้วยไอเดีย เรารู้สึกว่าเขาน่าจะทำสิ่งนี้นะ ไม่รู้ว่าเขาเห็นหรือเปล่า  ถ้าเขาเห็นเราก็จะได้พัฒนาต่อด้วยกัน แต่ถ้าเขาไม่เห็น เขาจะได้รู้ว่ามันมีพื้นที่นี้ มันทำให้พี่ทศตัดสินใจบอกกับพี่เก่ง (สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม) พี่โจ้ (ฉวีวรรณ คงโชคสมัย) ว่า มันมีพื้นที่ตรงนี้ที่น่าสนใจและพี่น่าจะได้ทำ แล้วก็คุยกันจากตรงนั้น

Editor-in-Chief มีผลกับเรามั้ย บอกตรงๆ ว่าอันนี้มาทีหลังสุดเลย เรามาดูว่าถ้ามีความเป็นไปได้ตรงนี้เราจะทำงานยังไงได้บ้าง คือพอคุยมาถึงตรงนี้อะ มันเป็นคำตอบให้กับคำถามที่ว่าทำไมเราถึงออกได้แล้วนะ เพราะ ณ วันนั้นที่เราคุยกัน เราเห็นแผนและทิศทางที่ตรงกัน เราชอบสิ่งนี้ แต่สุดท้ายมันไม่ได้เป็นไปตามนั้น ซึ่งเราไม่โทษใคร เพราะมันมีความไม่สะดวกด้วยสถานการณ์ของโรคระบาดเข้ามา  แล้วถามว่า Editor-in-Chief มีผลต่อเรามั้ย มีผลต่อเรามาก เราเป็นคนที่ไม่ได้เรียนจบสายนี้ เราแค่ชอบอ่านหนังสือเฉยๆ ตอนที่เราได้เข้ามาทำงานสื่อ เราแค่อยากเป็นคนที่ได้อ่านหนังสือทุกวัน ได้เจอนักเขียนดีๆ แล้วหวังว่าวันนึงคงมีหนังสือของเรา พอมีความคิดแบบนี้สิ่งที่เราอยากเป็นก็คือ บ.ก. วันที่เราได้รู้ว่าตัวเองจะได้เป็นบรรณาธิการเรามีความสุขมาก แต่มันก็เจ็บมาก ถ้าเป็นหนังคือมันจบแล้ว End Credit ขึ้นแล้ว แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้จบแค่นั้น เราพบว่าความจริงมันไม่ได้น่ายินดีตลอดเวลา ตัวงานมันจะถามเราเองว่าเราชอบอะไร เราเหมาะกับมันมั้ย มันกำลังบอกเราว่าเรารับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดีแค่ไหน มันทำให้เราฉุกคิดได้ว่า สิ่งที่เราถวิลหา เมื่อเราได้มันมาแล้ว เราคิดเห็นกับมันยังไง

ตอนนั้นที่ย้ายมาทำงานในบริษัทที่เข้าถึงคนได้มากขึ้น มหาชนมากขึ้น ปรับตัวยังไง 

ตอนนั้นก็เหมือนหมาตกน้ำอะ ช่วงแรกๆคือแพนิคเลย กลัวมาก แล้วมันไม่ได้กลัวแค่วันจันทร์นะ กลัวทุกวันเลยตอนนั้น แต่ถึงจะเครียดแค่ไหน เราก็ไม่อยากตายไง เราอยากมีชีวิตแล้วก็อยากมีความสุขด้วย แล้วจะทำยังไงดี เราก็ทำมันทั้งหมดนั่นแหละ ใช้ทักษะทั้งหมดที่มี จำเรื่อง Negotiations ได้มะ นั่นแหละ  เราก็กลับมาทำแบบนั้น ตัดสมองของเราออกไปเลย เอาใจเขาก่อน ลองทำแบบเขาดู เราเรียนรู้ว่าถ้าเราทำเองแล้วมันไม่ดี ไม่เวิร์ค แต่ถ้าเราทำตามเขาแล้วมันราบรื่น เราก็ทำตามเขา แต่แอบหยอดสิ่งใหม่ๆ ลงไปเรื่อยๆ แค่นี้เลย 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยของการทำงาน คือการรักษาใจไม่ให้ปั่นป่วนไปมากกว่านี้ ถ้ามันเครียด มันทนไม่ไหวก็ระบายออกมานะ อย่าไปเก็บไว้ เพื่อให้เรามีพื้นที่ที่จะเติมสิ่งใหม่ๆเข้าไป และอีกอย่างนึงครับ จงอ่อนน้อมเข้าไว้ มันเป็นสิ่งที่ดีเสมอไม่ว่าจะยุคไหน บางคนบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องถ่อมตัวเลยถ้าเรามั่นใจว่าเราเก่งพอ แต่เชื่อมั้ยว่าไม่มีใครหรอกที่จะไม่ชอบคนถ่อมตัว เราเป็นแบบนั้นน่ะดีแล้ว เราแค่บอกเขาว่า พี่ ผมต้องทำยังไง ไอเดียนี้ดีมั้ย พี่อยากได้อะไรช่วยบอกผมหน่อย  แค่นี้เลยแล้วมันจะดีขึ้น แล้วเราจะเจอทางออกที่มีเฉพาะที่นี่เท่านั้น

Learning by Doing มันดียังไงจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

เอาจริงๆมันแล้วแต่คน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเรียนรู้ไม่เหมือนกัน เราเห็นว่าช่วงนี้มีคนเรียนออนไลน์เสริมเยอะมาก คำถามคือจะรู้ได้ไงว่าคุณจะได้ความรู้จากการเรียนแบบนี้ บางครั้งสำหรับการสัมภาษณ์ ไปนั่งคุยกับคนเก่งๆ ก็ได้ความรู้เพิ่มแล้ว  หรือโยนตัวเองไปหาประสบการณ์แบบนั้นจริงๆ หรืออาจจะซื้อหนังสือมาอ่าน ทำแบบฝึกหัดก็ได้ความรู้นั้นมาแล้ว วิธีการเรียนรู้คือมันปัจเจกมากๆ พี่ทศมองว่าพี่ทศเองโชคร้ายนะ  มองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนมันยังไม่มีคอร์สเรียนแบบนี้ เราจะทำยังได้ล่ะ วิธีที่ดีที่สุดคือโดดลงไปทำด้วยตัวเอง แล้วพอมันเวิร์คก็ทำให้เราได้เรียนรู้ เราบอกแล้วนะว่ามันปัจเจก ไม่ได้แนะนำให้ทุกคนทำตาม แต่สำหรับใครที่ทำเหมือนกัน เราอยากบอกว่า ถ้ามันเป็นวิธีที่คุณเคยทำมา แล้วมันเวิร์ค อย่าเพิ่งท้อ คุณอาจจะรู้สึกว่าเป็นเราก็พูดได้สิ ใช่ครับเราอาจจะโตขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ ณ วันนั้นกว่าเราจะโตมาถึงทุกวันนี้ มันเครียดมาก ทุกข์มาก อดทนมากเลยนะ มันอับจนหนทางประมาณนึงเลย แต่เรานึกเสมอว่าเรามาทำอะไร เราชอบสิ่งนั้นรึเปล่า เราอยากเรียนรู้มันจริงๆ ใช่มั้ย แล้วนี่คือวิธีที่เราต้องเรียนรู้รึเปล่า 

เพราะการเรียนรู้ของแต่ละคนผ่านความเจ็บปวดมาไม่เหมือนกัน ถ้าอย่างนั้น Learning by Doing สำหรับพี่ทศ มีความสุขหรือทุกข์มากกว่ากัน 

ผลลัพธ์ครั้งสุดท้ายจะบอกเรื่องนี้ได้ มีหลายครั้งเลยที่เรา suffer แล้วผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาดี การเดินทางของเราอาจจะดูสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่หลายๆ ครั้งมันก็พัง ตำแหน่งหน้าที่อาจจะดูดีขึ้น แต่ความสัมพันธ์แตกหักก็มีนะ เราไม่สามารถบอกได้จริงๆว่าอะไรมันดีหรือแย่ มันบอกได้แค่ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากมัน หลายคนชอบพูดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ แต่เราขอเติมวงเล็บว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว (และเรียนรู้ได้) ดีเสมอ ถ้าเราเรียนรู้จากสิ่งนั้นไม่ได้ ไม่มีอะไรให้เรียนรู้เลย มันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดี แต่ถ้าเราเรียนรู้ได้ มันอาจจะสร้างประโยชน์และเกิดสิ่งดีๆกับเราก็ได้เหมือนกัน แต่สุดท้ายถ้าเราทุกข์ เราก็จะกลับมาถามตัวเองว่ายังอยากทำอยู่มั้ย ถ้าเราอยากทำก็แค่ลงมือต่อ ถึงมันจะเกิดเรื่องดีหรือไม่ดีตามมา มันก็อาจจะสร้างความอดทนหรืออะไรขึ้นมาใหม่ก็ได้ เหมือนกับการตีปิงปอง ทุกอย่างมันเกิดขึ้นสลับไปมา ไม่มีทางที่ทุกอย่างจะแย่หรือดีตลอดไป มันสลับกันไปมาเสมอ มีแค่เราที่ต้องถามตัวเองเรื่อยๆว่าอยากทำต่อมั้ย 

หลังจากที่เฝ้าถามตัวเองมาตลอดว่าอยากทำงานนั้นมั้ย จนถึงวันที่ได้สัมผัสสิ่งที่อยากทำจริงๆ พี่ทศมองเห็นอะไรบ้างจากช่วงเวลานั้น 

พ่อเราชอบพูดเวลาจะห้ามเราทำอะไรว่า “โตขึ้นเดี๋ยวก็รู้เอง” แล้วพอเรามาเจอ เราเข้าใจกับการกระทำบางอย่างของหัวหน้าที่เคยคิดว่ามันไม่ใช่อะ จริงๆมันมีเหตุผล มันทำให้เรารู้ว่าวันนั้นเขาทำแบบนั้นทำไม พอเราใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ มันเหมือนจิ๊กซอว์ที่เราเคยมีคำถามตรงนั้นมันถูกเติมเต็ม หลายคนอาจจะมองว่าก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้น แต่สำหรับเรามันคือการเข้าใจสิ่งที่ผ่านมา เราจะไม่เข้าใจมันหรอกถ้าเราไปไม่ถึงจุดนั้น แต่พอเราได้มาอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงมากที่สุด เราก็จะเข้าใจ 

วันที่พี่ทศได้เข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหาร วันนั้นพี่ทศเข้าใจเลยว่าทำไมสมัคร 4 ครั้งแล้วถึงไม่ผ่าน  “เพราะเรามันกระจอกไง” (หัวเราะ)  แค่ใจอย่างเดียวมันไม่ได้หรอก ธุรกิจอะครับ มันมีเม็ดเงิน มีคนเข้าก็ต้องมีคนออก ทุกคนต้องช่วยพัฒนาองค์กร แค่ความใจสู้มันการันตีอะไรไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน การที่เขาให้ความหวัง ให้โอกาสกับใครสักคน มันก็คือการที่เขายอมรับความเสี่ยงนะ มันหมายความว่าเขาใจถึงมาก นั่นคือสิ่งที่เราเห็นเมื่อมายืนในจุดนี้ ในอนาคตเราอาจจะเจอเด็กที่เหมือนกับเราเลย เขาอาจจะมีใจมาเต็มที่ ก็อยู่ที่เราแล้วว่าจะตัดสินใจยังไง จะรับมั้ย ให้โอกาสมั้ย เชื่อใจเขามั้ย ไว้ใจเขามั้ย กล้ามั้ย คิดถึงองค์กรแค่ไหน คำถามพวกนี้จะกลับมาท้าทายเรา 

แสดงว่าคนเราต้องมีทั้งฝีมือและโอกาสคู่กันไป ถ้าอย่างนั้นในมุมมองพี่ทศ คำว่าโอกาสและความหวังสำคัญแค่ไหนทั้งกับคนให้และคนที่ได้รับ 

เราว่าการทำงานร่วมกันคือการรักกัน อารมณ์เหมือนเราคบใครสักคน เราไม่มีทางที่จะรู้จักตัวตนของเขาจริงๆ ในระยะเวลาไม่ถึงปี หรือบางทีอาจจะนานกว่านั้นก็ตาม การที่เราตั้งเงื่อนไขเพื่อรับสมัครคน มันเป็นเพียงโอกาสเดียวที่เราจะเชื่อมความเป็นไปได้ในการรู้จักคนๆนี้ มันเหมือนเอาใจไปแลกใจ อย่างเวลาที่เราไปสมัครงานที่ไหน เราก็เหมือนเอาใจไปแลกนะ ใจที่อยากสมัครงานนี้กับบริษัทนี้ เขาก็เอาใจมาแลกกับเรา คือการให้โอกาสเราได้ทำงานที่นี่ พอถึงจุดที่เราได้เป็นหัวหน้าคน เราเริ่มรับคน เราก็เอาใจไปแลกกับคนที่จะเข้ามาทำงาน เรื่องนี้บอกว่า ไม่ว่าจะสมหวังหรือผิดหวัง มันคือการทำงานร่วมกัน แต่คนก็จะรู้เองว่าใช่หรือไม่ อยู่ที่จะรับความจริงได้แค่ไหน ถ้าใช่แล้วพึงพอใจแค่นั้นรึเปล่า เขาอาจจะมีอีกตัวเลือกในใจก็ได้ แต่ไม่ว่าเราจะได้ทำงานร่วมกันยาวนานแค่ไหน แต่เวลาเลือกน่ะ มากกว่าแค่เงื่อนไข ความสามารถ มันคือใจที่ใช้ทำงานร่วมกัน 

กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ มีทั้งเรื่องที่สุขและทุกข์ พี่ทศรักษาใจยังไง

เรามีชีวิตได้เพราะคนอื่นๆ เราจะไม่สามารถมาอยู่ตรงนี้ มีคุณค่าพอให้คนอื่นมาสัมภาษณ์ ถ้าวันนั้นพี่แบงค์ไม่ชวนเราเข้ามาทำงาน เราคงไม่เข้าใจโลกการตลาด เศรษฐกิจ ธุรกิจ หรือถ้าเราไม่ได้โอกาสจากมติชนเราก็คงไม่เข้าใจหลายๆอย่าง ดังนั้นทุกอย่างที่เรามีตอนนี้ เกิดขึ้นจากคนรอบข้างเสมอ เราอับจนหนทางมากๆ ถ้าพ่อแม่เราไม่บอกเราว่า สู้หน่อยลูก ลูกทำสิ่งนี้ได้นะ เราก็คงไม่มีความมั่นใจมาแบบนี้ เราเชื่อว่าคนอื่นๆและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนประกอบที่ดีสำหรับเราเสมอ เรากลับไปดูได้เลย เราอาจจะมีเพื่อนที่ไม่ใช่กลุ่มเดิมแล้ว แต่ต่อให้คนกลุ่มนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงก็ตาม เขาเป็นคนที่ทำให้เราเป็นเรา ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จ หรือจะล้มเหลว มันเกิดจากคนรอบข้างที่ช่วยผลักดันเราเสมอ เราเคยพูดเล่นๆ ว่าชีวิตนี้ไม่ขออะไรมาก แค่อยากประสบความสำเร็จแล้วขึ้นไปพูดบนเวทีเพื่อขอบคุณทุกคน ไล่ชื่อไปเลย เพราะเราอยากให้เขารู้ว่าเขาสำคัญกับชีวิตเรามาก เด็กคนนึงที่โลเลมาทั้งชีวิต จะมีวันนี้ได้ยังไงถ้าไม่ได้โอกาสจากคนรอบข้าง

ในฐานะนักเล่าเรื่อง แต่ละเรื่องที่เคยเล่าสำคัญกับสังคมยังไง 

เราคิดว่าโลกนี้พัฒนาขึ้นเพื่อสื่อสารระหว่างกัน ณ วันนี้ที่เทคโนโลยีก้าวหน้า  เราเชื่อว่ามันจะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น แต่เราจะรู้ได้ไงว่ามันจะง่ายกับคนที่อยู่ภายนอก ดังนั้นเราต้องสื่อสารกัน แต่ถ้าทุกคนมีอุปกรณ์เหมือนกัน สามารถเข้าถึงและเข้าใจสิ่งสิ่งนี้ได้เท่ากัน สิ่งที่จะวัดกันคือการเล่าเรื่อง เมื่อก่อนใครที่มีข้อมูลมากกว่าคนนั้นก็ได้เปรียบ แต่ตอนนี้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้หมด ฉะนั้นสิ่งที่ต่างกันนั่นคือความคิดสร้างสรรค์กับการเล่าเรื่อง มันจะกลายเป็นตัวเลือกเดียวที่ทำให้คนรู้ว่าของบางอย่างมันต่างกัน

สำหรับตอนนี้ที่ผันตัวมาเป็นนักเล่าเรื่องอิสระ วางแผนยังไงกับอนาคต

มันบอกไม่ถูกเหมือนกัน คือช่วงนี้มันชุลมุน เราชอบสิ่งนี้แหละแต่เม็ดเงินมันเริ่มหายากขึ้นในสายนี้ ค่าใช้จ่ายของเราก็มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นนะ เรารู้ว่าเราอยากถูกจดจำในเรื่องไหนมากขึ้น มันคือการหาคุณค่าครับ หาว่าทำไมเขาถึงต้องการเรา ทำไมเรายังอยากทำสิ่งนี้ เราให้อะไรใครได้บ้าง ท้ายที่สุดทุกคนอยากได้สิ่งนี้จากคนอื่น เพื่อให้ตัวเองกลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น เรามอบสิ่งนั้นให้ใครได้บ้าง

นอกจากนั้นเราพบว่าเรายังอยากเล่าเรื่องต่อ เราคิดว่าการเล่าเรื่องมันจำเป็น น้ำเสียง ท่าที ทักษะบางอย่าง มันยังเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์ยังคงทำได้ แล้ว AI ยังต้องใช้เวลาอีกมากถึงจะเรียนรู้สิ่งนี้ ดังนั้นเรายังมีเวลากับสิ่งนี้อยู่ ชวนคิดแบบนี้แล้วกัน เราเริ่มจากการทำหนังสือที่ไม่มีโฆษณาสักหน้า ทุกคนซื้อมันด้วยคุณค่าของตัวมัน จนมาทำนิตยสาร free copy ไม่มีราคาในการซื้อ มีโฆษณามากขึ้น จนเรามาทำออนไลน์ที่มีโฆษณาแทบจะทุกวินาทีเลย  เราพบว่าถ้าเรายังยึดถือกับรูปแบบเดิมๆ มันไม่ช่วยอะไร เพราะสุดท้ายรูปแบบมันจะถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่การเล่าเรื่องมันยังคงดำเนินต่อ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเรายังอยากทำสิ่งนี้ อยากเป็นนักเล่าเรื่องที่ยังเล่าได้ต่อไป สื่อจะไปที่ไหน แบรนด์ต้องการอะไร คนอยากรู้อะไร เราก็จะเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น 

จากวันแรกที่เริ่มทำงานในเส้นทางนี้จนถึงปัจจุบัน พี่ทศเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

เรารักคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มรู้สึกว่าเราจริงใจมากขึ้น เรากล้าให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ของเรามากขึ้น แล้วก็เข้าใจว่าคนอื่นต้องการเราแค่ไหนในพื้นที่ของเขา ช่วงที่เราเก่งไม่พอ ความรู้ที่เราได้มา มันไม่ได้ได้มาง่ายๆ เราหวงมาก แต่เมื่อเรารู้มากขึ้นเรื่อยๆ เราทำความเข้าใจใหม่ว่าความรู้พวกนี้ไม่ได้เกิดจากตัวเราเอง มันเกิดจากการที่เราได้ไปเจอคนมากขึ้น พูดคุยมากขึ้น มีข้อเท็จจริงเต็มไปหมดเลย แล้วทำไมเราจะต้องหวง เราควรแบ่งปันกับคนอื่นต่อมั้ย ควรจริงใจกับคนอื่นมากขึ้นหรือเปล่า  พูดง่ายๆคือเราเรียนรู้ที่จะยอมรับคนอื่นมากขึ้น ถ่อมตัวมากขึ้น ยิ่งเราเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่น เรายิ่งต้องอ่อนน้อมให้มาก มากพอที่เขาจะสอนเรา  สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราได้เรียนรู้ ทำให้เราเติบโต 

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็พบความจริงบางอย่าง เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้และทำไม่ได้ กลับไปที่ brain dump ตอนนั้น ฝั่งซ้ายมือเรามีสิ่งที่เราต้องขีดฆ่ามากขึ้น เพราะเรารู้ว่ามีบางอย่างที่เราไม่มีวันทำได้ ไม่ใช่ว่าเราไม่รักมัน แต่เราไม่มีเวลาสำหรับมันอีกแล้ว แต่ในฝั่งขวา ทักษะที่เราทำได้มันมีเพิ่มมากขึ้น เพราะเรามีประสบการณ์มากขึ้น และสิ่งนี้จะกลับมาเป็นคำถามที่ตัวเรา ว่าสุดท้ายแล้วเราอยากทำมันมั้ย

นอกจากการเรียนรู้โดยคนอื่นแล้ว ความไม่พร้อมในวัยเด็กสอนเรายังไง 

มันสอนให้เรารู้ว่า ทุกวินาทีมันมีคุณค่า อย่าใช้อย่างสิ้นเปลือง อย่างตอนเด็กๆ บ้านเราไม่ได้มีเงินมาก เวลาไปเที่ยวห้างเราไม่ได้ไปบ่อย เวลาไปทีนึงพ่อแม่จะเอาเงินที่ได้มาไปซื้อของเข้าบ้านเพื่อใช้ชีวิตต่ออีกเดือน เราต้องใช้เวลานั้นให้คุ้มค่าที่สุดเลย อยากไปดูหนังสือไป อยากไปดูของเล่นไป อยากจะทำอะไรก็ไปทำ เดินให้ทั่วทุกซอกทุกมุม จำไว้เลยว่าตรงไหนเป็นอะไรยังไง เพราะกว่าจะได้มาอีกทีมันนานมาเลยนะ แล้วความทุกข์ใจที่สุดเลยตอนที่พ่อแม่ไปแล้วเราป่วยอะ ฉะนั้นทุกวินาทีมีค่า ใช้ให้เต็มที่ 

แล้วการเรียนรู้จากคนรอบตัวที่ทำงานด้วยล่ะ 

ได้เรียนรู้ว่าคนเก่งก็อาจจะไม่ใช่คนดี คนดีก็อาจจะไม่ใช่คนเก่ง คนเก่งและดีมีอยู่จริง คนไม่เก่งและไม่ดีก็มีอยู่จริง มันทำให้เรารู้ว่าอย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินคนรอบตัว ไม่ว่าการทำงาน นิสัย หรืออายุ คือมันไม่แปลกเลยที่เราจะผิดหวังซ้ำไปซ้ำมากับการที่เราได้เจอคนพวกนั้น มนุษย์ทุกคนเป็นที่รักของคนอื่นได้เสมอ แค่เขาอาจจะไม่ใช่คนนั้นของเรา เรามองเขาเป็นมนุษย์คนนึง เขาหันมุมไหนมาหาเรา ก็ยังมีมุมอื่นที่เรายังไม่ได้เห็น เราก็จะวางใจลงครึ่งหนึ่ง 

แนวคิดแบบนี้ใช้ได้กับการทำงานหลายอย่างมากเลยนะ อย่างการทำงานยุคนี้ที่มีหลายอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องอายุ เราเคยคุยกับคุณดุ๊กดิ๊ก (นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์) เจ้าของ Flo Furniture เขาเป็นลูกชายที่มาทำธุรกิจต่อจากที่บ้าน ลองคิดตามนะ เด็กคนนึง ซึ่งมารับช่วงต่อธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทุกคนในบริษัทยังคงอยู่ ทุกคนฟังพ่อเขา แต่ไม่ฟังเขาเลย ทีนี้ต้องทำยังไงล่ะ ถ้าเขากลัวพังก็แค่กลับไปบอกพ่อว่าเขาทำไม่ไหว แต่ถ้าไม่อยากเจ๊ง อยากเอาชนะสิ่งนี้ อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง ก็ต้องทำให้ได้ ลองไปคุยกับคนอื่นดู พวกเขาฟังมั้ย ถ้าไม่มีใครฟังแสดงว่าคนที่มีปัญหาคือตัวเขาเอง ก็ต้องกลับมาถามตัวเราเองว่าต้องทำยังไง สุดท้ายก็กลับมาเรื่องเดิมคืออ่อนน้อมเข้าไว้ ไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งเลย เพราะถ้าคุณเป็นเจ้านายคนคุณต้องมีทักษะการจัดการคนอยู่แล้ว อย่าไปตัดสินที่อายุ อายุไม่เกี่ยวเลย เอาจริงๆเจ้านายเด็กก็มีข้อดีนะ เขาให้โอกาส เขายืดหยุ่น แต่เขาอาจจะขาดการจัดการ ขาดความเข้าใจอะไรบางอย่าง ถ้าลูกน้องอยู่มานานแล้วเห็นว่าเจ้านายคนนี้น่าสนใจ ก็ต้องคิดแหละว่าเราควรจะให้อะไรเขาบ้าง   

ในอีกทางถ้าเป็นลูกน้อง คือเราเริ่มมาจากการเป็นประสานงาน จนได้มาเป็น Editor in Chief เราเห็นมันมาหมดแล้ว เราเป็นลูกน้องมาก่อน แล้วขึ้นมาเป็นหัวหน้าคน สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากตรงนี้คือ อย่าไปตัดสินอะไรด้วยอารมณ์ ใช้เหตุผลดีกว่า คุณค่าของงานคืออะไร มาทำงานทุกวันทำไม ทำเพราะเงิน แค่นั้นหรือเปล่า หรือเพราะโอกาสก้าวหน้า ที่ทำอยู่มันก้าวหน้ามั้ย หัวหน้ารับฟังเรามั้ย มันเกี่ยวกับความก้าวหน้าเราหรือเปล่า เกี่ยวแล้วเราโน้มน้าวเขาได้มั้ย ถ้าไม่ได้เราอาจจะต้องไปหาที่อื่น แค่นั้น แต่ถ้ามันไม่เกี่ยวก็ไม่ต้องสนใจครับ

อย่าคิดว่าเรารู้ทุกอย่าง มันไม่ใช่แบบนั้นน่ะ ให้นึงถึงภาพภูเขาน้ำแข็งอะ มันมีสิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำเยอะมากที่เราไม่รู้ และส่วนหัวหน้า ไม่ว่าคุณจะมาเป็นหัวหน้าได้ยังไง ก็อย่าคิดว่านี่คือพื้นที่ของคุณ อย่าคิดว่าฉันมาเพื่อทำสิ่งนี้อย่างเดียว คือจะคิดแบบนั้นก็ได้นะ คุณมีหน้าที่บริหารให้ธุรกิจไปข้างหน้า แต่ต้องคิดเพิ่มว่าจะทำยังไงให้คนที่มีอยู่ทำตามเป้าหมายนี้ด้วย นี่คือสิ่งที่หัวหน้าต้องคิดให้มากขึ้น 

ถ้าให้สรุปเส้นทางการทำงานสื่อของคุณเป็นบทเรียนได้หนึ่งข้อ การทำสื่อสอนให้รู้ว่า?

ชีวิตต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับคนอื่น

หลายคนชอบพูดว่ายุคนี้เราต้องพัฒนาตัวเองหน่อย แต่เราว่าดีที่สุดต้องพัฒนาสังคม เราเก่งคนเดียวไม่ได้ ถ้าเราเก่งคนเดียวได้ จะเปิดบริษัททำไม ก็รับงานคนเดียว รวยคนเดียวไม่ดีกว่าหรอ ทำไมเราต้องแบ่งสันปันส่วนให้คนอื่นด้วย ก็เพราะเราทำไม่ไหวไง สังคมต้องโตด้วยกัน ทีมต้องโตด้วยกัน มันสอนให้เรารู้ว่าเราโตคนเดียวไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับทุกคน เจ็บปวดไปพร้อมกัน สำเร็จไปพร้อมกัน นั่นแหละคือความยั่งยืน มันไม่มีไอเดียไหนที่เราเชื่อว่ามันถูกต้องอยู่เพียงคนเดียว แล้วมันจะเวิร์คกับทุกๆ คน ฉะนั้นจงหาเพื่อนของเราให้เจอ ไปกับเพื่อนของเรา สำเร็จไปด้วยกัน ร้องไห้ด้วยกัน นั่นแหละจะทำให้เราไม่เหงา แล้วจะไม่อยากตาย 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า