fbpx

เทยเที่ยวไทย : 10 ปีกับเส้นทางรายการท่องเที่ยวของ LGBT ที่เรียนรู้ทัศนคติของผู้ชมไปพร้อมกับความสนุก

“เหนื่อยไหมแก”
“เหนื่อย”
“เหนื่อยที่เกิดมาใช่ไหม?”

หนึ่งในประโยคที่ผมจำได้และรอคอยรายการนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งในยุคนั้นการออกอากาศรายการที่มีตัวหลักอย่าง LGBT เป็นสิ่งที่ยากมากในวงการโทรทัศน์ในประเทศไทย ซึ่งถ้าไม่นับแนวประเภทรายการสดที่เน้นคุยเรื่อง Sex ขายอาหารเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศชาย ก็คงจะหารายการที่ LGBT เป็นตัวยืนพื้นหลักของรายการได้ยากมากจริง ๆ แต่นี่คือสิ่งที่ GMMTV ปลุกปั้นขึ้นมา ภายใต้แนวคิด “รายการท่องเที่ยวที่ทุกคนไปเที่ยวตามได้ เสมือนว่าไปเที่ยวกับเพื่อน” และนี่คือรายการ “เทยเที่ยวไทย” ที่เวียนบรรจบครบปีที่ 10 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564

เทยเที่ยวไทย คือการผสมผสานระหว่างความสนุกของชาว LGBT ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กับการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างลงตัว ผ่าน 4 พิธีกรตัวหลักอย่าง “ป๋อมแป๋ม – ก็อตจิ – กอล์ฟ – เจนนี่” โดยเน้นการเที่ยวแบบเพื่อนพาไปกันเอง ซึ่งทำให้ผลตอบรับดีตั้งแต่ลงตัวอย่างรายการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 เลยทีเดียว หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากดูรายการนี้”

ป๋อมแป๋ม – นิติ ชัยชิตาทร Executive Producer ของรายการ เล่าให้ Positioning Magazine ฟังถึงที่มาของรายการว่า “เมื่อกรกฎาคม 2554 ทางผู้บริหารช่อง Bang Channel (ในขณะนั้น) ให้โจทย์มานั้นว่าอยากได้รายการท่องเที่ยวที่สนุกเพื่อออกอากาศในปี 2555 และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนไทยโดยเฉพาะคนเมืองที่นิยมท่องเที่ยวกันมากขึ้น เราก็มองที่ตัวเราว่าเวลาเที่ยวก็อยากไปกับเพื่อน ไม่ใช่กับใครก็ไม่รู้พูดนั่นพูดนี่ พาไปนั่นไปนี่แล้วเรานั่งดูแบบไม่มีส่วนร่วม เพื่อนที่ไปด้วยก็ต้องเป็นกะเทยเหมือนกัน มันถึงจะสนุก เลยออกมาเป็นเทยเที่ยวไทย พอเสนอไปปุ๊ป ก็ไม่ติดขัดอะไร และยังเลื่อนมาออกอากาศในปีนี้เลย”

เทยเที่ยวไทยจนถึงวันนี้ก็ผ่านพ้นการออกอากาศมาทั้งหมด 500 ครั้ง ซึ่งในหลายๆ ครั้งผู้ผลิตรายการก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ชมแบบมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในช่วง 100 ตอนแรกของรายการที่เป็นช่วงพิสูจน์ถึงความอยู่รอดของรายการเลยทีเดียว โดยช่วงที่รายการเจอมรสุมหนักที่สุด คือช่วงตอนที่ 70 ที่ “ก็อตจิ” และทีมเทยเที่ยวไทยได้มีการล้อเลียนคุณยายที่มีปัญหาที่หลัง โดยก่อนหน้านี้ทีมงานรายการได้ไปเรียนรู้การทำ “กุ้งเหยียด” และจึงเป็นคำพูดล้อเลียนที่ว่า “น่าจะจับคุณยายไปเหยียดเหมือนกุ้งนะ ตัวจะได้ตรง”

หลังจากรายการตอนนั้นได้ออกอากาศ ก็ได้มีเสียงของผู้ชมในสังคมออนไลน์ออกมาวิจารณ์ถึงการกระทำนี้ในแง่ลบ จนทำให้ป๋อมแป๋ม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเอาฉากนั้นออกอากาศต้องออกมาขอโทษผ่านสื่อออนไลน์ และในตอนถัดมาทีมงานรายการจึงเดินทางไปขอโทษคุณยายที่ถูกพาดพิงถึงสถานที่จริง และนำคลิปในตอนนั้นออกทันที

หลังจากนั้นทีมงานก็รับคำแนะนำและคำติชมของผู้ชมมาเรียนรู้ในการทำรายการมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการขยับช่วง “พ่อค้าแซ่บ” ออกมาเพื่อเน้นจุดขายของ 4 เทยแทน รวมไปถึงการกระชับมิตรระหว่างแฟนคลับกับผู้ผลิตรายการ ซึ่งถือเป็นรายการแรกๆ ที่จัดกิจกรรมหลากหลาย มากกว่าแค่การพาผู้ชมไปเที่ยวด้วยกัน เพราะถ้านับดูก็มีตั้งแต่คอนเสิร์ต กีฬาสี ไปจนถึงการจัดกิจกรรมร่วมกับผู้สนับสนุนที่นับไปนับมาเยอะซะยิ่งกว่าหลายรายการเลยทีเดียว

แต่ช่วงที่ถือว่าเป็นจุดขายที่ทำให้ผมไปเอามาเล่นบ่อยๆ นั่นก็คือช่วงท้ายของรายการ เป็นช่วงผู้สนับสนุนรองใจดี ซึ่งรายการเทยเที่ยวไทยพลิกสถานการณ์จากการไม่มีผู้สนับสนุนในช่วงแรก แปลงเป็นช่วงตลกในหยดสุดท้ายจนฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง หรือการที่เทปที่ 4 แปลงเป็นรวมมิตรในรอบ 3 เดือน ซึ่งไม่เคยมีใครเคยทำ เพราะคนตัดต่อถูกน้ำท่วมที่บ้าน ซึ่งแปลงจากความโชคร้ายเป็นความโชคดีได้ทัน รวมไปถึงช่วงที่ยังอยู่ปัจจุบันอย่าง “คำคมกาละแมร์” ที่ล้อกับ TV culture ในรายการ “เก็บตก” ซึ่งกลายมาเป็นไอเดียหนึ่งรายการ “ต่อปาก ต่อคำ ติดไฟแดง” และช่วง “คำคมจาก 4 เทย” ที่ทุกประโยคเป็นเรื่องจริงที่ถูกล้อมาเป็นคำคมได้โดนใจผู้ชม

นอกจากนั้น เทยเที่ยวไทยยังเป็นหมุดหมายแรกให้ GMMTV ใส่ใจกับช่องทางออนไลน์ที่ตัวเองถืออยู่ และแตกแขนงรายการออนไลน์ออกมาอีกมากมาย อีกแง่หนึ่งคือทำให้พื้นที่ของ LGBT ไม่ได้อยู่แค่ในออนไลน์ เพราะเมื่อปี 2557 รายการเทยเที่ยวไทยก็ได้เผยแพร่ออกสู่หน้าจอโทรทัศน์ระดับชาติเป็นรายการแรกในไทย ซึ่งก็ลงสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 ก่อนที่ถัดมาจะเปลี่ยนแปลงช่องออกอากาศไปเป็นจีเอ็มเอ็ม 25 แทน

รวมไปถึงการจัดการประกวดที่หาทำมากที่สุด อย่าง Wannabe Contest ที่ให้นักศึกษาในสาขาแฟชั่นส่งเสื้อผ้ามาประกวดและลงพื้นที่ถ่ายทำจริงจังพร้อมกับ 4 เทย และจัดการประกวดจนได้ชุดของผู้ชนะมาใส่ในวันจริง นอกจากนั้นในบางช่วงของรายการที่ออกอากาศผ่านทางดาวเทียม เคยขยายวันออกอากาศถึง 2 วัน (เสาร์-อาทิตย์) หลังจากนั้นปรับเป็นออกอากาศ 90 นาทีเต็ม ก่อนที่จะปรับเหลือ 60 นาทีในช่วงหลัง ซึ่งเป็นการปรับรูปแบบตามที่ผู้ชมร้องขอมา

นอกจากนั้นยังต่อยอดไปเป็นรายการอื่นๆ เช่น “ต่อปาก ต่อคำ ติดไฟแดง” “เสน่ห์ห้องเครื่อง” “เจนจัด ก็อตจิก” “ก็กูทำไม่เป็น” “หนูนก” และรายการ “ทอล์ก กะ เทย” รวมไปถึงแจ้งเกิดทีมงานรายการ ไม่ว่าจะเป็น “ฝน” “ไนเจล” “มั่ม” หรือแม้กระทั่งการที่เทยเที่ยวไทยทำซีรีส์เป็นของตนเอง 2 ตอนจบอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เพราะรายการออนไลน์หลายรายการก็นำรูปแบบของเทยเที่ยวไทยมาทำในแบบของตนเอง ไม่บอกชื่อละกัน ไปดูๆ กันเอานะครับ

จากรถตู้ขนเฟอร์ในวันนั้น สู่โชว์ในวันโน้น และสู่รายการที่หลากหลายในวันนี้ สิ่งหนึ่งที่เทยเที่ยวไทยพยายามทำเสมอมา คือการช่วยเหลือสังคมเท่าที่ตนเองช่วยไหว และการสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนไทย พร้อมๆ กับสร้างตัวตนของ LGBT ในประเทศไทยให้มีพื้นที่มากกว่าแค่ตัวตลกในละครโทรทัศน์ และเป็นแค่คนที่พูดเรื่องเพศ แต่เทยเที่ยวไทยได้สลัดภาพลักษณ์กะเทยพูดเรื่องหีๆ ควยๆ ออกมาได้เกือบจะหมด (ถึงบางครั้งจะมีบ้างก็ตาม) ให้แต่ละคนในทีมงานรายการสามารถสร้างสรรค์รูปแบบออกมาได้แบบไม่จำเจอีกด้วย

เหนือสิ่งอื่นใด คอนเทนต์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องตลอด 10 ปี ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนรายการ และผู้ชมรายการที่คอยให้คำแนะนำรายการ ที่สำคัญบทเรียนที่เทยเที่ยวไทยได้เรียนรู้ คือการฟังเสียงผู้ชมเสมอ เพราะจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีงานวิจัยเด่นชัดว่ากลุ่ม LGBT ชอบคอนเทนต์แบบไหน นอกจากเสียงผู้ชมทางออนไลน์ที่ส่งเข้ามา และทีมงานรายการปรับเสมอมา

ว่าแล้ว ก็นัดเพื่อนเลียนแบบช่วง Wannabe On Top ก่อนละกัน ฉันจองพี่กอล์ฟละกันนะ เธอเป็นพี่ก็อตจิไป ส่วนคนนั้นเอาเจนนี่ไปนะ พร้อมละ ถ่ายไปค่า!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า