fbpx

ไทยประกันชีวิต กับการก้าวสู่ IPO ในด้านธุรกิจประกันชีวิต

หากพูดถึงกลุ่มธุรกิจประกันที่เน้นสร้างหนังโฆษณาแนวซึ้งๆ สะท้อนสังคมชีวิตของคนไทย แล้วได้สร้างความประทับใจให้กับคนไทยทั่วประเทศและทั่วโลก จนกวาดมาหลายรางวัลแล้วนับไม่ถ้วน และทำธุรกิจประกันชีวิตที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 80 ปี คุณคงนึกถึง “ไทยประกันชีวิต” หรือ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (TLI)

วันนี้ทาง Modernist จะพามาลงรายละเอียดข้อมูลของไทยประกันชีวิตว่ามีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นบริษัทที่ทำประกันชีวิตของคนไทย ตลอดจนถึงผลประกอบการที่ผ่านมา เป้าหมายที่สำคัญเป็นอย่างไร

80 ปี บนเส้นทางธุรกิจประกันชีวิตแห่งแรกในไทย

ก่อนจะมาเป็นไทยประกันชิวิตอย่างที่เคยเป็นอยู่ในปัจจุบัน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีบุคคลชาวต่างชาติมาบุกเบิกธุรกิจประกันชีวิตในสยามเป็นครั้งแรก จากตัวแทนบริษัทประกันภัย จากประเทศอังกฤษเข้ามาเข้ามาดำเนินกิจการ มีการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนเสนอขายประกันชีวิต และออกกรมธรรม์ฉบับแรกในชื่อ “Tonetine” จนกระทั่งในปี 2472 ในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้จัดตั้ง “กองควบคุมบริษัทประกันภัย” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเป็นที่แพร่หลาย และการจัดตั้งบริษัทประกันชีวิตจากชาวต่างชาติที่มาทำในสยาม ณ ขณะนั้น 

ตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทประกันชีวิตจากต่างชาติ เกิดประสบปัญหาในการทำธุรกิจด้านประกันชีวิต จนทำให้ต้องปิดกิจการและสร้างความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างมาก จึงต้องก่อตั้งบริษัทที่จัดตั้งโดยกลุ่มคนไทยและข้าราชการ ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ก่อตั้งขึ้นวันที่ 22 มกราคม 2485 จึงยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน 

ไทยประกันชีวิต เป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกและรายใหญ่ที่สุดในไทยที่เป็นแบรนด์ก่อตั้งโดยคนไทย โดยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000,000 บาท มีสำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่บนถนนเยาวราช กรุงเทพฯ ต่อมาในปี 2500 ได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ตึกสหธนาคาร และในปี 2502 ได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ถนนราชดำเนิน

จนกระทั่งต่อมาในปี 2513 ไทยประกันชีวิตได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานขององค์กรครั้งใหญ่ โดยขยายธุรกิจประกันชีวิตให้มีความครอบคลุมครบวงจร พร้อมมีการปรับเปลี่ยน Logo และย้ายสำนักงานไปอยู่ถนนรัชดาภิเษก ตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่องในหลายยุคเพื่อสอดรับในทุกสถานการณ์ให้ตามทันโลก จนก้าวมาสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นแนวหน้าในไทยจนถึงทุกวันนี้ 

ไทยประกันชีวิต ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 80 ปี โดยในปัจจุบันมีเครือข่ายตัวแทนประกันชีวิตที่แข็งแกร่งและสาขาและศูนย์บริการลูกค้าจำนวน 264 แห่ง และตัวแทนประกันชีวิตจำนวน 64,000 คน โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มลูกค้า และได้รับการสนับสนุนจาก Meiji Yasuda Life Insurance Company (MY) 

การสร้างภาพลักษณ์ของไทยประกันชีวิตผ่านหนังโฆษณา

นอกจากการทำธุรกิจประกันชีวิตในสิ่งที่ทำอยู่โดยทั่วไป แต่มีจุดเด่นที่สำคัญที่สร้างความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครในธุรกิจประกันชีวิต คือหนังโฆษณาที่สร้างสะท้อนชีวิตของคนในสังคมไทยในหลายยุคหลายสมัย ในหลากหลายอารมณ์ที่สร้างความประทับใจและสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต โดยได้ผลิตโฆษณาแนวนี้เป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นที่พูดถึงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วโลกแบบ Talk of the town จนนำมาถูกไปการล้อโฆษณา หรือพูดถึงเขียนกระทู้ เขียนบทความ ผ่านสื่อออนไลน์หลายแห่ง ถือเป็นแบรนด์เดียวที่สร้างภาพลักษณ์และเป็นที่น่าจดจำของไทยประกันชีวิต 

สำหรับผลงานในหนังโฆษณาของไทยประกันชีวิต เริ่มออกโฆษณามาตั้งแต่ปี 2530 โดยในระยะแรกจะเป็นภาพยนตร์โฆษณาสั้นพร้อมบทบรรยายในระหว่างช่วงโฆษณากับประเด็นที่เข้ากับประกันชีวิต ต่อมาในปี 2546 ได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาครั้งแรกคือ “Peace of Mind” เป็นอีกหนึ่งผลงานสำคัญที่สร้างสะท้อนถึงคุณค่าของชีวิต จนนึกถึงตามผู้ชมให้คิดตามไปด้วยว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร จนกระทั่งได้ผลิตโฆษณาแนว Emotional Advertising มาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ “Everlasting Love”, “My son”, “My Girl”, “Que Sera Sera”, “Silence of Love” เป็นต้น สามารถสร้างสะท้อนการใช้ชีวิตในสังคม คุณค่าความเป็นมนุษย์ แล้วยังสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ไทยประกันชีวิต จนได้คว้ารางวัลมาอย่างต่อเนื่องหลายรางวัลทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Bronze Awards, International Business Awards, Adman Awards & Symposium เป็นต้น

มุ่งสู่การเป็น Life Solutions Provider ตอบโจทย์ทุกด้านของประกันชีวิต

นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้กำหนด Business Purpose ในการดำเนินธุรกิจสู่การเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิตในแบบ Life Solutions Provider เพื่อสร้างความมั่นคงในทุกช่วงของชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของคนไทย จนต่อยอดสู่การเป็น Data Driven Company โดยได้วางแผนเป้าหมายจากการระดมทุนเข้าหุ้น IPO คือ การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) และการทำตลาด, เสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตร และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน และสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ 

ผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของไทยประกันชีวิต

สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี ของ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2562-2564 ที่ผ่านมา พบว่าบริษัทฯ มีรายได้ 108,388 ล้านบาท (กำไร 6,777 ล้านบาท), 107,642 ล้านบาท (กำไร 7,692 ล้านบาท) และ 109,246 ล้านบาท (กำไร 8,394 ล้านบาท) ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการได้รับผลกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขาย และดอกเบี้ยจากค่าเบี้ยประกันค้างรับเกินกำหนดเพิ่มสูงขึ้น

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของไทยประกันชีวิต (TLI)

สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลังจากเข้า IPO ใน 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม วี.ซี.สมบัติ ร้อยละ 50.79% (5,815,555,500 หุ้น) Meiji Yasuda Life Insurance Company ร้อยละ 15.00% (1,717,500,000 หุ้น) และ Her Sing (H.K.) Limited ร้อยละ 6.19% (708,526,000 หุ้น)

เสนอขายหุ้น IPO 2,155 ล้านหุ้น

TLI มีทุนชำระแล้ว 11,450 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยเสนอหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,155,068,900 หุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 850,000,000 หุ้น, หุ้นเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท วี.ซี.สมบัติ จำกัด (บริษัทของครอบครัวไชยวรรณ) จำนวน 1,166,575,300 หุ้น และหุ้นเดิมที่เสนอขายโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 138,493,600 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็น 18.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้  

TLI มีมูลค่าเสนอขายมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการตลาดหุ้นไทย

TLI เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกกำหนดราคาเสนอขายที่ราคา 16 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 37,067.18 ล้านบาท และมูลค่าระดมทุน 13,600 ล้านบาท ณ ราคา IPO อยู่ที่ 183,200 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการในการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

และยังมีบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการ การจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าเสนอขายมากที่สุดในปี 2565 รวมถึงมากที่สุดในหมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต นับตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี 2543 อีกด้วย 

นอกจากนี้ TLI มีโอกาสที่จะได้รับการจัดเข้าไปรวมอยู่ในดัชนี SET50 และ SET100 ด้วยเกณฑ์ Fast-Track ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่หุ้นเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

TLI มีนโยบายจ่ายเงินปันผล 30%

ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นของไทยประกันชีวิต (TLI) มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและหักสำรองตามที่กฎหมายและข้อบังคับตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องไม่เกินกว่ากำไรสะสมของบริษัทฯ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่กำกับธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต

TLI ปิดตลาดวันแรก ราคาต่ำกว่าราคาจอง IPO

บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (TLI) ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรกในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 โดยตลอดทั้งวันในวันแรกของหุ้น TLI ปิดที่ระดับ 15.90 ซึ่งราคาต่ำกว่าราคาจอง IPO จากราคา 16 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.63%

งานนี้คงต้องจับตากันต่อไปสำหรับไทยประกันชีวิตว่าจะสามารถสร้างฐานลูกค้าที่นำเทคโนโลยีในการสร้างฐานข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อสอดคล้องกับลูกค้าในการทำประกันอย่างไร ตลอดจนการสร้างเครือข่ายร่วมกับพันธมิตรต่างๆในการจัดจำหน่ายครบเครื่องเรื่องประกันชีวิตอย่างครบวงจรได้ตามแผนหรือไม่ 

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า